สวนภายในบ้านของ คุณดิ๋ง-เทพศักดิ์ มะเปี่ยมและครอบครัวอยู่ภายในหมู่บ้านจัดสรรแห่งหนึ่งย่านคันนายาว ซึ่งตกแต่งให้เป็น สวนทรอปิคัล ผ่านการออกแบบของ คุณพุทธิพจน์ พงษไพโรจน์ แห่ง TTT Tree Landscape โดยเลือกใช้พรรณไม้จำพวกเฟิน อย่าง ทรีเฟินออสเตรเลีย คู่กับไม้ยืนต้นและไม้พุ่มขนาดใหญ่ที่มีฟอร์มสวยงาม ทั้งพุดกังหัน ตีนเป็ดแดง และสร้อยระย้า แทรกไปกับหินฟองน้ำที่วางประดับตามพื้นคู่กับไม้คลุมดินที่ช่วยให้เกิดมอสส์ได้ง่ายมากขึ้น นอกจากนี้บริเวณพื้นทางเดินยังปูแผ่นหินกาบคู่กับกรวดแม่น้ำนำไปสู่บริเวณด้านหลังบ้านซึ่งเป็นบ่อปลาคาร์ปที่เป็นไฮไลต์ของสวน
“ผมอยากได้สวนแนวทรอปิคัล โดยให้ลำธารไหลจากหน้าบ้านไปหลังบ้าน แต่ด้วยขนาดพื้นที่ที่มีจำกัดทำให้เหลือเพียงบ่อบริเวณหลังบ้าน โดยปกติคนเลี้ยงปลาคาร์ปจะไม่ชอบปลูกต้นไม้ เนื่องจากต้องดูแลรักษามาก แต่ผมกลับอยากเสพบรรยากาศสีเขียวแบบนี้ไปพร้อมกันด้วย” คุณดิ๋งเล่า
บริเวณรอบบ่อเลี้ยงปลาคาร์ปจัดเป็นสวนน้ำตกแทรกไปกับพรรณไม้ได้อย่างลงตัว ตัวบ่อออกแบบให้ลึก 1.50 เมตร ซึ่งในการก่อสร้างต้องใช้รถแม็กโครเข้าไปจากทางด้านข้างบ้านซึ่งมีขนาดกว้าง 1.80 เมตร และตอกเสาเข็มทำโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก โดยใช้หินแกรนิตเป็นวัสดุกรุผิวและตกแต่งขอบบ่อด้วยหินฟองน้ำ เพื่อเชื่อมบรรยากาศกับสวนในบริเวณอื่น ริมบ่อด้านที่ติดกับตัวบ้านออกแบบเป็นระเบียงไม้เพื่อให้สามารถออกไปนั่งเล่นชมปลาคาร์ปและน้ำตกได้สะดวก ทั้งยังซ่อนบ่อกรองยาว 5 เมตร และกว้าง 1 เมตรเอาไว้ ซึ่งใช้เม็ดไบโอบอลเป็นตัวกรอง โดยมีคุณสมบัติเป็นที่อยู่ของแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อการกำจัดของเสีย ทั้งยังอัดแน่นทำให้ตะกอนไม่สามารถผ่านออกไปได้ โดยในทุกวันเมื่อปิดระบบกรอง ตะกอนเหล่านั้นก็จะตกลงมาข้างล่าง จากนั้นระบบก็จะตั้งเวลาให้ปั๊มน้ำทำหน้าที่ดูดตะกอนและของเสียทิ้งไปประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน ทั้งนี้ระบบกรองดังกล่าวจะดีกว่าระบบแบบเก่าตรงที่ไม่จำเป็นต้องล้างทำความสะอาด
“ปกติคนเลี้ยงปลาคาร์ปจะมีเป้าหมายให้ปลาของตัวเองยาวให้ได้ถึง 1 เมตรโดยประมาณ เราจะเห็นเหมือนกับหมอนข้างลอยอยู่ในน้ำ แต่ปลาคาร์ปที่พบเห็นทั่วไปจะมีลักษณะเป็นทรงเฮลิคอปเตอร์คือมีพุงป่อง ซึ่งนอกจากสายพันธุ์แล้วความลึกของน้ำก็มีผล ถ้าความลึกไม่เกิน 1.50 เมตร มันจะทำให้แรงกดของน้ำที่มีต่อตัวปลาน้อย ปลาก็จะว่ายอยู่แต่ผิวน้ำไม่ได้ออกกำลังลงไปด้านล่าง
“ปลาของเรานำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งชินกับอากาศหนาวและอบอุ่น โดยทั่วไปน้ำจะเย็นกว่าอุณหภูมิห้อง 2-3 องศาเซลเซียส หากน้ำอุ่นไปปลาจะกินอาหารได้ดีและไม่ผลิตเมือกมาเคลือบตัว ทำให้ปลาคาร์ปในเมืองไทยผิวแห้งและสีไม่เข้ม อุณหภูมิที่เราทดลองแล้วได้สีที่ดีที่สุดคือประมาณ 25 องศาเซลเซียส อีกอย่างถ้าอุณหภูมิเปลี่ยนแปลงบ่อย ปลาจะปรับตัวไม่ทันและไม่คลายเมือกออกมาเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องติดเครื่องปรับอุณหภูมิภายในบ่อด้วย”
คุณดิ๋งและคนในครอบครัวกำลังสนุกสนานอยู่กับการชมและเล่นกับปลาคาร์ปในบ่อ แม้เสียงน้ำตกจะสร้างความรู้สึกสดชื่นได้ แต่หากไร้ซึ่งสิ่งมีชิวตแสนสวยงามอย่างปลาคาร์ปแหวกว่ายอยู่ในนั้นก็ยากที่สวนแห่งนี้จะมีชีวิตชีวาได้สมบูรณ์อย่างภาพที่เราเห็นในตอนนี้
เจ้าของ : คุณเทพศักดิ์ มะเปี่ยม
ออกแบบ : TTT Tree Landscape โดยคุณพุทธิพจน์ พงษไพโรจน์
โทรศัพท์ 09-4784-9393, 08-6363-4536นิตยสารบ้านและสวน เดือนพฤษภาคม 2562
เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ : อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม