ว่าไปแล้วการเดินทางก็เหมือนชีวิตคนนะครับ อาจมีติดขัดบ้าง แต่สุดท้ายก็สามารถผ่านไปได้ด้วยดี เหมือนเช่นชีวิตของ นิ – รุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง ชายหนุ่มวัยสี่สิบต้นๆ ผู้เป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าดัง La Rocca
เรามีนัดคุยกันที่บ้านพักของเขาซึ่งตั้งอยู่ในชุมชนแถวโรงเรียนศีลาจารพิพัฒน์ ย่านบางซื่อ ผมมาถึงก่อนเวลานัดหมายเกือบครึ่งชั่วโมงด้วยอานิสงค์ของการจราจรในวันนี้ที่ไม่ค่อยติดขัดสักเท่าไร แบรนด์เสื้อผ้าของนิมีจุดเด่นที่การนำถุงผ้าเก่าที่ผ่านการใช้งานแล้วมาเป็นวัตถุดิบในการตัดเย็บ ส่วนใหญ่เป็นถุงผ้าเก่าจากประเทศเยอรมนี ซึ่งนิหาซื้อมาจากตลาดโรงเกลือ บ้านของเขาเป็นบ้านสองชั้นครึ่งปูนครึ่งไม้ตามแบบบ้านไทยในชุมชน ว่าไปแล้วที่นี่น่าจะเป็นโกดังเก็บเสื้อผ้าพร้อมขายและส่งออกไปญี่ปุ่น
“คุยกันสบายๆนะครับ” ผมบอกกับนิ
นิพยักหน้าเป็นการตอบรับ ก่อนหันไปมองบ้านของเขาแล้วบอกว่า “ส่วนใหญ่ผมจะใช้เวลาคิดงานอยู่ที่นี่ครับ เมื่อก่อนผมเป็นพ่อค้าขายเสื้อผ้ามือสองมาเกือบยี่สิบปี เริ่มทำแบรนด์เสื้อผ้าเองได้ประมาณห้าปีแล้ว ช่วงที่ขายเสื้อผ้ามือสองจะมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ผมเริ่มเบื่อ รู้สึกหมดไฟ และความคิดก็ตีบตัน การขายเสื้อผ้ามือสองทำให้เราต้องหาสินค้าที่ตามแฟชั่นอยู่ตลอดว่าเขาฮิตอะไรและชอบแบบไหนกัน โดยส่วนตัวเราไม่ใช่คนที่ชอบแบบนั้นอยู่แล้ว ผมอยากทำตามความต้องการของตัวเอง โดยไม่ต้องไปเหมือนคนอื่น
“ผมก็คนธรรมดาๆคนหนึ่งครับ แต่ไม่ชอบอยู่เฉยๆ เมื่อคิดจะทำแบรนด์เสื้อผ้าของเราเอง ผมมักหาซื้อวัตถุดิบมาไว้ก่อน แล้วค่อยมานั่งดูว่าเราจะทำอะไรได้ ในแต่ละวันหมดไปกับการคิดเรื่องแบบชิ้นงานตลอด ในที่สุดก็มาลงตัวที่การนำถุงผ้ามือสองจากต่างประเทศมาตัดเย็บเป็นเสื้อผ้า ลองทำขายดูก็ปรากฏว่ามันเติบโตได้ในระดับหนึ่ง
“ถ้าถามผมว่าทำไมถึงเลือกใช้วัสดุมือสอง ผมมองว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่มักใช้วัสดุใหม่ๆ ใช้ของใหม่ ผมจึงคิดว่าทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เหมือนคนอื่น เริ่มต้นตั้งแต่การผลิตชิ้นงาน ผมจะเลือกถุงผ้ามาสิบใบที่มีลวดลายไม่เหมือนกัน เมื่อนำมาตัดเย็บก็จะคงไว้ซึ่งบุคลิกและเอกลักษณ์ของแต่ละชิ้นงาน การจัดวางลายผ้าก็ต้องคิดให้แตกต่างจากคนอื่น เชื่อไหมว่าคนที่ต่อผ้าให้ผมนี่จัดว่าเป็นนักออกแบบคนหนึ่งได้เลยนะ เพราะผมให้อิสระพวกเขาในการวางลายผ้าเอง ส่วนผมวางแพตเทิร์นและโทนสี มีหลายคนถามผมว่าไม่ได้จบด้านศิลปะมาจะมีผลอะไรกับการทำงานเสื้อผ้าไหม เพราะสิ่งที่ผมทำเกี่ยวข้องกับศิลปะแทบจะทุกกระบวนการ ตอบได้เลยครับว่าไม่มี ผมคิดว่าถ้าทุกคนหาตัวเองเจอ รู้ว่าตัวเองรักชอบอะไร เวลาทำออกมามันก็จะดีเสมอ อีกอย่างการที่ไม่ได้เรียนด้านการออกแบบมาทำให้ไม่มีกฎเกณฑ์มาบังคับในงานของผม
“กว่าจะมาถึงวันนี้ได้ ผมโดนดูถูกมาเยอะมากว่าทำเสื้อผ้าสกปรกจะขายได้เหรอ ผมไม่เคยสนใจคำพูดเหล่านั้น ผมทำอย่างเดียวครับ ทำๆๆๆๆๆ ผมไม่ดูถูกตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตั้งราคาหรือการทำชิ้นงาน ถึงงานชิ้นนั้นจะขายไม่ได้ผมก็ยังทำ บางคนทำออกมาแล้วขายไม่ได้ก็หยุดทำ แต่ผมไม่หยุด เพราะนี่เป็นอาชีพของเรา เราต้องทำให้ดีที่สุด แต่ด้วยความโชคดีของผมคือส่วนใหญ่งานที่ทำออกมามักขายได้แทบทุกชิ้น เพราะแต่ละตัวที่ออกแบบมามันมีเรื่องราวที่แตกต่างกันออกไป ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเสื้อผ้าที่ผมทำส่วนใหญ่จะตามใจตัวเอง ไม่ได้ตามใจลูกค้า เพราะการตามใจลูกค้าคือการเดินตามแฟชั่น แต่การตามใจตัวเองทำให้เรามีความสุขและสร้างสรรค์ผลงานได้ดีกว่า
“ความโชคดีอีกอย่างของผมคือการมีช่างรู้ใจอย่างลุงแก้ว (เจริญศักดิ์ ภมรวรานนท์) สมัยก่อนบ้านผมอยู่ติดกับบ้านแกในชุมชนตึกแดง บางซื่อ จะว่าไปก็สลัมดีๆนี่เองครับ ผมไม่อายนะที่จะบอกว่าโรงงานผลิตเสื้อผ้าของผมอยู่ในสลัม ตอนที่ผมเริ่มทำงานเสื้อผ้า ก็ไม่รู้จะหาช่างที่ไหน ด้วยต้นทุนต่ำอย่างเรา ก็คิดว่าลุงแก้วน่าจะตอบโจทย์เราได้ เพราะแกมีประสบการณ์ตัดเย็บเสื้อผ้ามานานตั้งแต่สมัยวัยรุ่น ที่บ้านแกทำอาชีพนี้กันทั้งบ้านเลย ทุกครั้งที่แกตัดเย็บเสื้อผ้าตามแบบที่ผมสั่ง แกจะต้องนำมาทดลองสวมดูก่อนเสมอเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อยและความสมบูรณ์ของงาน
“อย่างที่บอกไว้ตอนต้นว่าเราคิดและตั้งใจเลือกวัตถุดิบรวมถึงวิธีการผลิต ฉะนั้นราคาค่าตัวของชิ้นงานจึงค่อนข้างสูง จะว่าไปงานของผมจัดว่าเป็นงานคราฟต์ชิ้นหนึ่งได้เลย เพราะทุกขั้นตอนใช้มือและภูมิปัญญาที่ผ่านประสบการณ์มายาวนาน มีคำพูดหนึ่งที่ผมชอบพูดอยู่เสมอคือ ราคาคือสิ่งที่คุณต้องจ่าย แต่คุณค่าคือสิ่งที่คุณได้รับจากเรา”
นิเป็นอีกคนหนึ่งที่ทำงานของเขาด้วยความรัก ซึ่งผลงานก็เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาคนไม่น้อย น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้คุณได้ลองค้นหาในสิ่งที่ตัวเองอยากทำดูบ้าง เริ่มลงมือทำตั้งแต่วันนี้ เชื่อว่าวันหนึ่งคุณก็จะประสบความสำเร็จได้เช่นกันครับ
La Rocca Royal Gallery Project
โทรศัพท์ 08-1720 – 0493 , 08-6060 – 8415
www.facebook.com/pages/category/Bags-Luggage/La-Rocca-Royalgalleryproject-944980578855681/
IG : larocca_studio
ขอขอบคุณ
คุณรุ่งโรจน์ จันทร์กระจ่าง
คุณเจริญศักดิ์ ภมรวรานนท์
เรื่องและภาพ : ไตรรัตน์ ทรงเผ่า