“Signature Collection”  นิยามใหม่ของเครื่องเบญจรงค์

ในอดีต เครื่องเบญจรงค์ เป็นข้าวของเครื่องใช้ในครัวที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งมีทางสังคม คนไทยรู้จักเครื่องเบญจรงค์ตั้งแต่เริ่มมีการมีการติดต่อค้าขายกับชาวจีนและนำเข้าเครื่องปั้นดินเผาจากแดนมังกรเข้าสู่ดินแดนสยาม และมีการสั่งทำไกลถึงเมืองจีน

การขนส่ง เครื่องเบญจรงค์ ส่งทางเรือที่ต้องใช้เวลาเดินทางยาวนาน ทำให้เครื่องเบญจรงค์ มีมูลค่าราคาสูงและเป็นเครื่องใช้สำหรับใส่สำรับข้าวปลาอาหารในเรือนขุนนางคหบดีและชนชั้นสูงผู้มีอันจะกินเพียงเท่านั้น จวบจนเริ่มมีผลิตเครื่องเบญจรงค์ในเมืองไทย ความนิยมแพร่หลายได้กระจายตัวออกไปทั่วและกลายเป็นเครื่องใช้จำเป็นภายในครัวเรือน ตราบจนกลายเป็นงานหัตถศิลป์ที่เป็นหน้าเป็นตาให้ประเทศในสายตาชาวต่างชาติ

ปัจจุบัน เครื่องเคลือบเขียนลายลงยา 5 สีที่เราเรียกว่า เครื่องเบญจรงค์ นี้ถูกยกเป็นงานหัตถกรรมชั้นสูงที่มีคุณค่าทางศิลปะวัฒนะธรรม ยังคงสืบสานและอนุรักษ์งานหัตถกรรมชั้นครูยังคงอยู่จากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ได้มองเห็นถึงความสำคัญตรงนี้โดยจัดทำโครงการ ” Signature Collection “ เพื่อให้ผู้ผลิตแต่ละรายพัฒนารูปแบบเบญจรงค์ให้สามารถแข่งขันในตลาดและสร้างสรรค์ผลงานได้ถูกใจผู้บริโภคมากขึ้น

Signature Collection “ เริ่มขึ้นปี 2560 ที่มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักในคุณค่าของเครื่องเบญจรงค์ สร้างกระแสนิยมในกลุ่มผู้ซื้อให้หันมาสนใจและตัดสินใจซื้องานเบญจรงค์มากขึ้น ต่อยอดไปถึงปี 2561 ที่พัฒนา Collection ยังเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายในด้านการผลิตผลิตภัณฑ์เบญจรงค์สู่ระดับสากล จบจนปี 2562 สานต่อภายใต้แนวคิด “Retelling the Detailing” ที่เน้นตอกย้ำถึงคุณค่าเครื่องเบญจรงค์ ผ่านการเล่าเรื่องราวเชิงลึก ไม่ว่าจะเป็นการเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของแบรนด์ ผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือชุมชน ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น พัฒนาและออกแบบเครื่องเบญจรงค์ในรูปแบบใหม่ร่วมกับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ เป็นอีกก้าวขั้นของเครื่องเบญจรงค์ที่พัฒนาต่อยอดจนได้ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวและแตกต่างจากภาพที่คุ้นเคย

เครื่องเบญจรงค์ สมัยใหม่

คอลเลคชั่น : ผสาน (Blended) โดยหัสยา ปรีชารัตน์ x ease studio

เครื่องเบญจรงค์ไม่ใช่แค่โถจานชามเท่านั้น แต่ยังเป็นของตกแต่งบ้านได้ด้วย ซึ่งคุณหัสยา ปรีชารัตน์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมปี พ.ศ.2560 เลือกใช้ “กี๋” ซึ่งเป็นได้ทั้งที่นั่งและที่วางของ พัฒนาควบคู่กับเทคนิคการเขียนลาย  2 เทคนิคให้อยู่ในงานชิ้นเดียวกัน คือ การเขียนลายคราม ซึ่งเป็นการเขียนสีใต้เคลือบ และการเขียนลายเบญจรงค์ เป็นการเขียนลายน้ำทองบนเคลือบ ออกแบบโชว์ลวดลายแบบไม่ลงสี ด้วยลวดลาย “เหล่าบัว” ซึ่งเป็นลายเอกลักษณ์ของไทยเบญจรงค์ เป็นเทคนิคการผสานให้เกิดความแปลกใหม่และมีความร่วมสมัยมากยิ่งขึ้น

เครื่องเบญจรงค์ สมัยใหม่

คอลเลคชั่น : หนุมาน-นิลพัท โดยอภิชัย สินธุ์พูล x Salt and Pepper Design Studio

ด้วยความชำนาญในงานปั้น จึงต่อยอดผลงานเดิมที่ชื่นชอบ และต้องการให้ผลงานนั้นได้พัฒนาขึ้นทั้งในด้านงานฝีมือ ศิลปะและมีการใช้งานแบบต่างๆ  ออกมาเป็นผลงานเขียนลายเบญจรงค์บนงานปั้นตุ๊กตาลิง 2 สี ขาวและดำ แทนตัวละคร 2 ตัว คือ หนุมานและ นิลพัท ถือธูปหอม พร้อมถาดวางกำยาน และที่หยดน้ำมันหอมระเหยซึ่งออกแบบเป็นภูเขาจำลองเล็กๆ วางคู่กัน

เครื่องเบญจรงค์ สมัยใหม่

คอลเลคชั่น : “อุไร” โดยอุไร แตงเอี่ยม x ease studio

เป็นการรวมรวมลวดลายเอกลักษณ์ของงานเบญจรงค์สมัยรัชกาลที่ 2 ที่เปรียบเสมือนเอกลักษณ์ของอุไรเบญจรงค์ มาจัดเรียงใหม่ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น โดยการนำลักษณะเด่นของแต่ละลวดลายมาจัดเรียง แต่ยังคงสีและเทคนิคดั้งเดิมไว้ เป็นชุดจานรับประทานอาหาร ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในทุกโอกาส

นอกจากผลงานของทั้ง 3 ท่านที่เป็นทั้งคนรุ่นใหม่และฝีมือชั้นครูแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์เครื่องเบญจรงค์อีก 7 ชิ้นที่พร้อมจัดแสดงให้ชมในงาน SACICT Craft Trend Show “เบญจรงค์สู่นิยามใหม่” ณ ศูนย์ประชุมวายุภักษ์ แจ้งวัฒนะ วันที่ 18-21 มิถุนายน 2562 และบริเวณโซน ICONCRAFT ณ ห้างสรรพสินค้า ICON SAIM วันที่ 12-14 กรกฎาคม 2562

สอบถามเพิ่มเติม >>https://www.sacict.or.th/th