ระบบกันซึม เป็นสิ่งจำเป็นในกระบวนการก่อสร้างบ้าน โดยเฉพาะส่วนห้องน้ำและพื้นดาดฟ้า แต่ละประเภทต่างกันอย่างไร เราควรเลือกใช้แบบไหน ไปดูกัน
ระบบกันซึม แบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลักๆ ได้แก่ น้ำยากันซึมแบบผสมในคอนกรีต น้ำยากันซึมแบบเหลวใช้ทา และ ระบบกันซึมแบบแผ่น ไปดูกันว่าแต่ละประเภทแตกต่างกันอย่างไร
น้ำยากันซึม แบบผสมในคอนกรีต
ใช้เทเป็นโครงสร้างหรือเอามาฉาบผิวเพื่อกันซึม แต่สำหรับที่มักพูดกันหรือเขียนในแบบก่อสร้างว่า “คอนกรีตผสม น้ำยากันซึม ” ตัวนั้นเป็นแค่เคมีที่ช่วยลดน้ำในคอนกรีตเพื่อหวังผลให้น้ำในคอนกรีตน้อยลงจนทำให้คอนกรีตหนาแน่นมากขึ้น แล้วจะกันน้ำได้มากขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงใช้งานไม่ได้เพราะป้องกันน้ำซึมไม่ได้เลย จึงไม่แนะนำให้ใช้ระบบนี้
ส่วนที่ใช้งานได้ดีคือการใช้สารประเภท Crystalline ที่เมื่อผสมในคอนกรีตแล้วจะทำให้คอนกรีตทำปฏิกิริยากับน้ำจนก่อเป็นผลึกขนาดจิ๋ว อุดตามช่องว่างภายในคอนกรีตจนสนิท ทำให้คอนกรีตทึบน้ำจนกันน้ำกันซึมได้ดี ระบบนี้ใช้ได้ทั้งแบบใช้ผสมในคอนกรีตก่อนเทหรือพ่นที่ผิวคอนกรีตก็ได้
- ข้อดี ทำงานง่าย ราคาถูก
- ข้อจำกัด ควบคุมคุณภาพยาก เพราะสารเคมีนี้ใสมากและไม่มีสี ทำให้ยากที่จะตรวจสอบว่าพ่นหรือผสมในคอนกรีตแล้วหรือไม่ และผสมในปริมาณที่ถูกต้องหรือไม่ นอกจากนี้ยังใช้ได้กับคอนกรีตเท่านั้น ใช้กับวัสดุอื่น เช่น โลหะ กระเบื้อง ปูนฉาบ ไม่ได้เลย
น้ำยากันซึม แบบเหลวใช้ทา (Liquid Applied)
มีลักษณะเป็นของเหลวใช้ทาหรือพ่นที่ผิวที่ต้องการใช้กันซึม จะป้องกันคอนกรีตไม่ให้โดนความชื้นหรือสารเคมีจากด้านนอก สมัยก่อนนิยมใช้เป็นสารพวกยางมะตอย แต่ปัจจุบันเลิกใช้แล้วเพราะเมื่อโดนแดดจะเสื่อมสภาพเร็วมาก สารเคมีที่นิยมใช้ในปัจจุบันเป็นประเภทพอลิยูรีเทน เช่น พอลิยูเรีย
- ข้อดี ทำงานง่าย ทนต่อสารเคมี ตรวจสอบได้ง่ายว่าบริเวณไหนทำกันซึมแล้วหรือยัง
- ข้อจำกัด ราคาแพงกว่าแบบแรก และตอนทำงานพื้นที่ต้องแห้งสนิท ใช้ทำกันซึมบริเวณห้องใต้ดินไม่ได้เพราะเป็นการทำที่ผิวด้านนอก ต้องใช้เครื่องมือเฉพาะสำหรับตรวจสอบความหนาของผิวกันซึม ว่าทาหรือพ่นได้ตามที่กำหนดแล้วหรือยัง
ระบบกันซึมแบบแผ่น (Sheet Membrane)
เป็นการนำแผ่นกันซึมมาติดตั้งบนพื้นผิวด้วยหมุด กาว หรือความร้อน วัสดุที่ใช้ทำมีหลากหลายมาก เช่น บีทูแมน พีวีซี ทีพีโอ อีพีดีเอ็ม ฯลฯ
- ข้อดี แน่ใจได้ว่าติดตั้งแล้วจะได้ความหนาของระบบกันซึมเท่ากันทั้งหมด เพราะเป็นแผ่นที่ผลิตมาจากโรงงาน ตรวจสอบสภาพความเรียบร้อยของงานได้ง่าย เพราะเห็นสภาพหน้างาน มีหลายสีให้เลือก ทั้งสีขาว เทา ดำ
- ข้อจำกัด รอยต่อและจุดยึดเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้น้ำรั่วซึมเสมอ ต้องใช้ช่างที่มีความชำนาญและฝีมือสูงมากในการติดตั้ง โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อและการเข้ามุม ถ้าอาคารหรือบ้านที่มีรูปเหลี่ยมมุมมากๆ ไม่แนะนำระบบนี้ อีกทั้งถ้ามีการรูเจาะภายหลังจะซ่อมแซมยาก
สรุป
ระบบกันซึมมีหลายแบบ แต่ละแบบยังแบ่งวัสดุไปได้อีกเป็นหลากหลายชนิด ไม่ว่าจะเลือกแบบไหนมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ที่ระบบกันซึมล้มเหลวนั้น ร้อยละ 90 ไม่ได้มาจากตัวระบบหรือตัววัสดุ แต่เกิดจากการเตรียมผิวที่ไม่สะอาดและผิดพลาด เช่น บางระบบต้องการให้พื้นผิวชื้นก่อนติดตั้งแต่กลับไปทำให้ผิวแห้งเกินไป หรือบางระบบที่ผิวต้องแห้งแต่กลับมีความชื้นแล้วยังฝืนติดตั้งลงไป
อีกปัญหาใหญ่คือช่างติดตั้งทำงานไม่ประณีต ไม่เข้าใจระบบ ไม่ทำตามมาตรฐานของผู้ผลิตสินค้า ฯลฯ เรื่องพวกนี้เป็นปัญหาใหญ่กว่าการเลือกใช้วัสดุหรือระบบเลยทีเดียว ดังนั้นวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้คือ สำหรับหลังคาที่รับน้ำต้องมีพื้นฐานของผิวที่ดีเสมอ คือต้องมีความลาดเอียงให้น้ำไหลออกได้ตามที่ควรจะเป็น ไม่หวังพึ่งระบบกันซึมอย่างเดียวในการป้องกันน้ำรั่ว
เรื่องต่อไปคือต้องเลือกระบบให้ถูกต้องกับพื้นที่และการใช้งานเป็นสำคัญ อย่าเชื่อคนขายรายใดรายหนึ่งให้คุยกับหลาย ๆ เจ้าเพื่อหาข้อมูล อย่าใช้เพียงเพราะราคาถูกที่ฟันหัวแล้วจากไป ต้องหาผู้ขายและผู้ติดตั้งที่เชื่อถือได้ มีประสบการณ์มานานพอสมควร เรื่องสุดท้ายคือไม่มีระบบกันซึมแบบไหนที่คงทน ชั่วกัลปาวสาน ทุกระบบมีอายุทั้งสิ้นแค่ช้าหรือเร็วเท่านั้น จึงต้องเตรียมงบประมาณทำระบบใหม่เมื่อถึงเวลานั้นด้วยครับ
เรื่อง วิญญู วานิชศิริโรจน์
ภาพประกอบ สินีนาฎ ตากระโทก