เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 58 ความงามของศิลปะ กับ คำสาบแห่งกาลเวลา : ตอนที่ 1 – Arsenale

เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 58 ( The 58th International Art Exhibition of La Biennale di Venezia) หรือที่เรียกชื่อเล่นสั้นๆว่า ‘Biennale Arte’  ในปี 2019 นี้ เรียกได้ว่าเป็นปีที่เกิดเรื่องราวน่าสนใจมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการจัดงานที่เปลี่ยนไปรวมถึงบรรดาผลงานศิลปะขั้นเทพ ที่ศิลปินทั่วโลกจากเกือบ 100 ประเทศได้นำมาจัดแสดง สร้างบรรยากาศอบอวลไปด้วยเสน่ห์แห่งความอาร์ตที่ไหลผ่านทั่วไปทั้งเมืองแห่งสายน้ำอย่างเมือง “เวนิส” ประเทศอิตาลี โดยงานนี้มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 พฤษภาคม – 24 พฤศจิกายน 2019

ทีมงาน บ้านและสวน ได้ลงพื้นที่ไปเจาะลึก เก็บข้อมูล เพื่อมาจัดทำรายงานชุดพิเศษ เวนิส เบียนนาเล่ ความงามของศิลปะ กับ คำสาบแห่งกาลเวลา โดยบ้านและสวน ที่จะพาให้ท่านผู้อ่านได้ไปสัมผัสกับนิทรรศการนี้อย่างอย่างเข้มข้น เสพย์ความสุนทรีย์กันให้เต็มถัง โดยวันนี้ขอนำเสนอเป็นตอนแรก ที่กล่าวถึง ผลงานศิลปะเด็ดๆ ในส่วนนิทรรศการหลัก และ เรื่องราวที่น่าสนใจของการจัดงานในครั้งนี้

ขึ้นชื่อว่าเมืองแห่งสายน้ำ การเดินทางในยังสถานที่ต่างๆในเวนิสนั้นใช้เรือเป็นหลัก
ขึ้นชื่อว่าเมืองแห่งสายน้ำ การเดินทางในยังสถานที่ต่างๆในเวนิสนั้นใช้เรือเป็นหลัก

สำหรับใครที่ยังไม่คุ้นชื่อกับงานนี้ เทศกาล เวนิส เบียนนาเล่ หรือ La Biennle di Venezia เป็นนิทรรศการด้านการออกแบบและศิลปะ ที่ได้รับการยอมรับร่วมกันจากนานาชาติว่าเป็นงานระดับ High End ที่สุดของงานหนึ่งของโลก โดย งานแสดงศิลปะในเทศกาล เวนิส เบียนนาเล่ หรือ ที่เรียกว่า Biennale Arte นั้น จะจัดสลับปีเว้นปี กับ เทศกาลงานแสดงสถาปัตยกรรมนานาชาติ Biennale Architettura (ท่านสามารถรับชมเรื่องราวของ Biennale Architettutra 2018 ได้ที่นี้

ใน Biennale Arte 2019 จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “May You Live in Interesting Times” ซึ่งหากแปลตรงตัวแล้วหมายถึง “ขอให้คุณอยู่ในช่วงเวลาที่น่าสนใจ” แต่ความหมายตามสำนวนของฝรั่งนั้นหมายถึง “ขอให้คุณอยู่ในช่วงเวลาที่วุ่นวายไม่จบไม่สิ้น” ซึ่ง Ralph Rugoff ภัณฑารักษ์ผู้เป็นหัวเรือใหญ่ของงานนี้ (ผู้อำนวยการจาก Hayward Gallery ใน กรุง ลอนดอน ที่ปีที่แล้ว ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนในวงการศิลป์ ในวาระที่ครบรอบ 50 ปี โดยให้ศิลปินเกาหลี “อี บุล” ไปแปลงโฉมทั้งภายในและภายนอกของ Gallery ให้กลายโลกแห่งนิยายวิทยาศาสตร์ )ด้กล่าวถึงที่มาของสำนวนนี้ ในแถลงการณ์ของการจัดงานมีใจความว่า สำนวนนี้น่าจะตีพิมพ์ครั้งแรกในบทความของหนังสือพิมพ์ The Yorkshire Post ช่วงเดือนมีนาคม 1938 โดยบทความดังกล่าวอ้างถึงคำพูดขอสมาชิกรัฐสภา และ รัฐบุรุษชาวอังกฤษ Sir Austen Chamberlain ที่ได้พูดถึงความวุ่นวายในช่วงสงครามโลกว่า “พวกเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาที่รอดพ้นจากวิกฤตหนึ่ง เพื่อไปเจออีกวิกฤตหนึ่ง เรากำลังทรมานจากความโกลาหล หลังจาก ความโกลาหล” Chamberlain ยังได้กล่าวอีกว่า เขาได้เรียนรู้คำสาบของชาวจีนจากทูตอังกฤษที่ไปปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเอเชีย ซึ่งสามารถกล่าวเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “May You Live in Interesting Times” 

ภัณฑารักษ์ของปีนี้ Ralph Rugoff | Photo by Andrea Avezzu’ | Courtesy of La Biennale di Venezia

“ในจุดนี้เองที่ผมคิดว่าโลกปัจจุบันเองก็ไม่ต่างกับยุคสมัยของ Chamberlain ที่พบแต่ปัญหาไม่เว้นแต่ละวัน ไม่ว่าจะเรื่องสิ่งแวดล้อม และ สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  ผลกระทบจากสื่อสังคมออนไลน์ ไปจนถึง การกระจายความมั่งคั่งที่ไม่เท่าเทียมกันในสังคม ผมจึงอยากให้ศิลปินที่มาร่วมในนิทรรศการนี้ได้ตีโจทย์ สะท้อนถึงปัญหาที่พวกเขาได้พบเจอในช่วงเวลาที่เรากำลังอาศัยอยู่ผ่านผลงานศิลปะใน Biennale Arte ครั้งนี้” Rugoff  อธิบายถึงถึงที่มาและแนวคิดของการจัดงาน

เทศกาล Biennale Arte 2019 สามารถแบ่งพื้นที่ชมงานได้ 3 ส่วน ได้แก่ 

Arsenale Biennale Arte 2019
ภายใน Arsenale อดีตศูนย์กลางอุตสาหกรรมการต่อเรือของ เวนิส

ส่วนแรก Arsenale แต่เดิมในช่วงปี 1303 บริเวณนี้เป็นเขตศูนย์กลางอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน และ การประกอบเรือ ซึ่งเป็นลักษณะโกดังสูงที่เชื่อมต่อยาวกันไป…ต่อกันไปยาวมาก ถึงขนาดที่ว่า สมัยก่อนสามารถรองรับคนงานได้พร้อมกันถึง 2,000 คนเลยทีเดียว การเดินเข้าชมใน Arsenale นั้นท่านจะได้เริ่มชมในส่วนนิทรรศการหลัก จนเมื่อเดินไปถึงโกดังท้ายๆ ก็จะพบกับ Pavillion ของประเทศต่างๆที่เรียงอยู่ต่อกันไป พร้อมให้เดินชมกันอย่างต่อเนื่อง

 Biennale Arte 2019 ณ บริเวณ Giardini
ทางเข้าชมงาน Biennale Arte 2019 ณ บริเวณ Giardini

ส่วนที่สองได้แก่ Giardini พื้นที่สวนสาธารณะที่รายล้อมไปด้วย Pavillion แสดงงานของประเทศต่างๆถึง 29 ประเทศ รวมถึงอาคารสถาปัตยกรรมสไตล์ Neo Classic ที่เป็นสถานที่แสดงนิทรรศการหลัก (Central Pavillion) และยังเป็นอาคารแสดงงานของเทศกาล Biennale Arte ครั้งแรกเมื่อปี 1895 พื้นที่ส่วน Giardini นี้ จักรพรรดิ นโปเลียน ได้สั่งให้สร้างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19  สำหรับการเดินชม ท่านจะสามารถเลือกเข้าชม Pavillion ใดก่อนก็ได้ตามสะดวก แต่เราแนะนำให้ท่านเริ่มชมที่อาคารนิทรรศการหลักก่อน

ในช่วงการจัดงาน Biennale Arte 2019 ตรอก ซอกซอยต่างๆ ในเวนิส มีสถานที่จัดแสดงงานศิลปะอยู่มากมาย ในภาพเป็นทางเดินเข้าไปในตรอกเพื่อไปชม Pavilion ของ ประเทศ มองโกเลีย

ส่วนสุดท้า่ย  Venetian Calli ซึ่งหมายถึง ตามตรอก ซอกซอย อาคารต่างๆที่กระจายอยู่ทั่วเมือง เวนิส ในส่วนนี้โดยมากจะเป็นสถานที่จัดงานของ Pavillion ประเทศต่างๆ และ งานนิทรรศการเดี่ยวขององค์กรต่างๆ ที่จัดร่วมกับเทศกาล Biennale Arte อย่างเป็นทางการ (และไม่เป็นทางการ)

สำหรับ Biennale Arte ในปีก่อนๆ ภัณฑารักษ์ประจำปี จะคัดเลือกศิลปินมาแสดงที่ Arsenale และ Giardini คนละชุดกัน แต่ในปีนี้ Rugoff ตัดสินใจเชิญศิลปินชุดเดียว 79 คน โดยให้แต่ละคน แสดงงานทั้งสองสถานที่ และ เขายังปฏิเสธที่จะแสดงผลงานของศิลปินที่ล่วงลับไปแล้ว โดยภัณฑารักษ์ชาวอเมริกันคนนี้ ให้เหตุผลว่า เพื่อสะท้อนถึงแนวคิดของ “May You Live in Interesting Times” ให้ชัดเจน เขาอยากจะให้ศิลปินร่วมสมัยผู้ที่เป็นประจักษ์พยานต่อเหตุการณ์ต่างๆในโลกปัจจุบัน ได้ร่วมสะท้อนถึงสภาวะเวลาที่พวกเขากำลังอาศัยอยู่ โดย Rugoff เชือว่าบรรยากาศของ Asenale และ Giardini ที่มีเสน่ห์แตกต่างกัน ย่อมทำให้ศิลปินเลือกนำเสนอแนวคิดที่เกี่ยวกับเวลา ด้วยชิ้นงานศิลปะที่ต่างไปเช่นกัน

มาถึงจุดนี้ ทุกท่านพอจะทราบรายละเอียดและแนวคิดของการจัดเทศกาล เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 58 กันไปพอสังเขปแล้ว ได้เวลาที่เราจะไปชมผลงานกันแล้ว โดยวันนี้เราขอนำเสนอผลงานศิลปะสุดเจ๋งที่จัดแสดงใน ในส่วนนิทรรศการหลักที่ Arsenale 

ระหว่างทางเดินเข้าไป บริเวณ Arsenale
ระหว่างทางเดินเข้าไป บริเวณ Arsenale
ประตูทางเข้า-ออก ของ Arsenale ซึ่งต้องสแกนบัตรเข้างาน ณ จุดนี้
ประตูทางเข้า-ออก ของ Arsenale ซึ่งต้องสแกนบัตรเข้างาน ณ จุดนี้
ผลงาน “Double Elvis (2019)”  ของ George Condo
ผลงาน “Double Elvis (2019)”  ของ George Condo

ทันที่ที่ก้าวเข้ามาในงาน เราได้รับการต้อนรับ จาก ผลงานของ George Condo ศิลปินชาวอเมริกัน วัย 62 ปี ที่มีประสบการณ์สร้างงานสายดาร์กและเสียดสีสังคม มาตลอด 40 ปี ในเทศกาลนี้ เขาได้นำผลงานล่าสุด “Double Elvis (2019)”  ที่สร้างจากแรงบันดาลใจเมื่อเขา หวนย้อนนึกไปถึงเมื่อสมัยตอนที่เขาไปอยู่ New York ใหม่ๆ ตอนอายุ 23 ปี และ ได้ร่วมงานกับศิลปินระดับตำนานอย่าง Andy Warhol ใน Studio “The Factory” ซึ่งเขาได้ช่วยงานทำภาพพิมพ์ชุด Myths ซึ่งถือว่าเป็นผลงานชุดที่ชื่อเสียงมากที่สุดชุดหนึ่งของ Warhol

เมื่อนำแรงบันดาลใจ สมัยเขาทำงานอยู่ที่ The Factory มาผสมกับความประทับใจที่ Condo ได้เห็นผลงานศิลปะภาพพิมพ์ “Double Elvis (1963)”  ของ Warhol ที่นำภาพของ ราชาเพลง Rock and Roll ตลอดกาล Elvis Presley มาสร้างงานศิลปะ ด้วยเทคนิคพิมพ์ภาพ Silkscreen สีดำบนพื้นสีเงิน ในขนาดเท่าตัวจริง Condo จึงเกิดแรงบันดาลใจเอาตัวละครจากชุด The Myths (The Shadow ซึ่งเป็นเงาของ Warhol กับ Howdy Doody) มาล้อเลียนภาพ “Double Elvis(1963)” ในแบบฉบับของเขาเอง จึงทำให้ได้ผลงานภาพวาดสีอะคริลิค สายดาร์กที่ใช้เส้นทึบหนาหนัก และ มีขนาดใหญ่ถึง 3.63 x 4.87 เมตร

48 Wars Movies , 2019
ผลงาน 48 Wars Movies , 2019

ผนังด้านหลังของผลงาน “Double Elvis(2019)” นั้นเป็นห้องมืดที่จัดแสดงผลงาน “48 Wars Movies , 2019″ ผลงาน Video Art ของ Christian Marclay อีกหนึ่งศิลปินอเมริกันที่เคยคว้ารางวัล สิงโตทองคำ ในงาน Biennale Arte เมื่อปี 2011 มาแล้ว มาในปีนี้ เขานำเสนอผลงานศิลปะวิดิโอ ฉายภาพให้เห็นถึงความโหดร้ายของสงครามจำนวน 48 เรื่อง พร้อมๆกัน ซึ่งจากภาพจะเห็นว่าแต่เรื่องถูกนำเสนอแค่กรอบ แล้วย่อขนาดไล่ลำดับกันลงมา ความน่าสนใจของผลงานอยู่ที่ ถึงแม้ว่าเราไม่ทราบว่าวิดิโอแต่ละเรื่องนั้นสื่อ เรื่องราวอะไร (เพราะเห็นแค่กรอบ) แต่เมื่อนำทั้งหมดมาซ้อนกันเช่นนี้ กลับสื่อสารความโหดร้าย และ ความหดหู่ในช่วงเวลาแห่งสงครามได้อย่างน่าอัศจรรย์ 

ระหว่างทางเดินไปโกดังที่ 2 จะพบกับ ผลงาน Phaphama, at Cassilhaus, North Carolina, 2016 โดย  Zalene Muholi ศิลปินจากประเทศ แอฟริกาใต้ ที่ได้สร้างผลงานชุด ถ่ายภาพตัวเองที่บางภาพนั้นเธอแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าผู้ชายเพื่อสื่อถึงความเท่าเทียม และ การยอมรับความหลากหลายทางเพศ (LGBT) รวมถึง ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน 

เมื่อเข้ามาใน โกดัง 2 ผู้เขียนเห็นห้องที่รายล้อมด้วยผนังสีดำ และ มีประติมากรรมนีออนรูปโครงกระดูก ที่ดูราวกับว่ากำลังลอยอยู่ในอวกาศ ทุกท่านลองไปชมคลิปกันครับ

เมื่อผู้เขียนเห็นแล้วแล้วต้องบอกเลยว่า การนำเอาหลอดนีออนซึ่งเป็นวัสดุที่มีความเปราะบาง(และแถมยังขนาดเล็ก) มาสร้างเป็นผลงานลักษณะนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยประสบการณ์ และ ทักษะชั้นสูง โดยศิลปินผู้มากฝีมือ ที่สร้างผลงานนี้คือ Tavares Strachan จากประเทศบาฮามาส ที่ได้สร้างโครงกระดูกนี้ จากสัดส่วนรูปร่างของ Robert Henry Lawrence Jr, นักบินอวกาศชาวแอฟริกัน-อเมริกันคนแรก ที่ได้เสียชีวิตขณะการฝึกในปี 1967 ผลงานนี้จึงถูกตั้งชื่อว่า Robert (2018)  และแม้ว่า Lawrence Jr จะจากไปแล้ว แต่ก็ยังมีผู้คนดูหมิ่นเหยียดผิวเขา เพียงเพราะเขาเป็นคนเชื้อชาติแอฟริกัน-อเมริกัน ประกอบกับในปัจจุบันศิลปินเองรู้สึกว่าเรื่องราวของ Lawrence Jr แทบจะไม่ปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์การบินของสหรัฐอเมริกาเท่าที่ควร  ดังนั้นเขาเลยอยากทำผลงานนี้เพื่อสื่อถึงนักบินอวกาศผู้ล่วงลับให้ดูเหมือนกับว่าลอยอยู่ในอวกาศไปชั่วนิรันดร์ นอกจากผลงาน Robert (2018) แล้ว ยังมีผลงานอื่นๆในชุดเดียวกันที่เขาอุทิศให้กับ Lawrence โดย Starchan ได้ไอเดียการทำงานชุดนี้ เมื่อเขาได้มีโอกาสไปร่วมงานกับบริษัท SpaceX (บริษัท นำเดินทางไปอวกาศ ของ Elon Musk มหาเศรษฐีและนักธุรกิจด้านเทคโนโลยีชั้นนำของโลก) สร้างผลงาน ENOCH (2018) ซึ่งมีลักษณะเป็น โถคาโนปิค (Canopic) ที่นิยมเอาไว้ใส่อวัยวะภายในระหว่างกระบวนการทำ มัมมี่ในอียิปต์โบราณ ซึ่งงานนี้สร้างจากทอง 24 กระรัต แล้วใส่รูปปั้นของ Lawrence Jr ไว้ข้างใน จากนั้นยิงขึ้นไปบนอวกาศ ในวันที่ 3 ธันวาคม 2018 ที่ผ่านมา (หากใครสนใจผลงานนี้เพิ่มเติม สามารถไปบรรยากาศการปล่อยจรวด SpaceX Falcon 9 ที่พาผลงานศิลปะของ Starchan ออกไปนอกโลกได้ทีนี่)

มุมแสดงผลงานของ Gabriel Rico, Photo by: Italo Rondinella | Courtesy: La Biennale di Venezia

เมื่อเดินออกมาจากห้วงอวกาศของ Starchan เราได้พบกับผลงานศิลปะที่ดู ติดดิน ดูบ้านๆ โดย Gabriel Rico ศิลปินเม็กซิกันผู้ที่สนใจ ความสัมพันธ์ระหว่าง มนุษย์และสิ่งของรอบๆตัว เป็นอย่างมาก เขามักเก็บสะสมสิ่งที่ถูกทิ้งตามชุมชนต่างๆมาสร้างเป็นผลงานศิลปะในสไตล์ Arte Povera (Poor Art) ซึ่งเป็นเป็นแนวคิดการสร้างงานศิลปะที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศอิตาลี ช่วงยุค 70s โดยจะเน้น การพิจารณา เจาะลึกถึงคุณค่าของสรรพสิ่งรอบตัวตั้งแต่ วัสดุธรรมชาติ ไปจนถึง สินค้าจากภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น สิ่งของที่ดูไร้ค่าในสายตาคนทั่วๆไป แต่สำหรับศิลปินสกุล Arte Povera สิ่งเหล่านี้คือ ขุมทรัพย์ทางจินตนาการที่ประเมินค่ามิได้ เราจึงมักจะเห็นผลงานของ Rico เต็มไปด้วยกิ่งไม้ ขากวาง หลอดไฟ และ อื่นๆ  ลองไปชมตัวอย่างผลงานของเขาใน Biennale Arte 2019 ครั้งนี้

BW43 จากชุดผลงาน La causay El efecto,2016 ซึ่งประกอบไปด้วย แจกันดินเผา จอ LCD แตกๆ และ ท่องท่องเหลือง 6 เหลี่ยม
ภาพรายละเอียดของผลงาน BW43
Naturaleza muerta (2016) หนึ่งในผลงานสร้างชื่อของ Rico ที่สร้างจาก หนังไก่ฟ้า ผลไม้พลาสติก ขวดโค้ก ตอไม้ และ หลอดนีออน Photo by: Italo Rondinella | Courtesy: La Biennale di Venezia
ผลงาน Seccion Aurea (2017) ที่ประกอบไปด้วยกิ่งไม้ ทอง และ ไก่ฟ้าสตัฟฟ์, Photo by: Italo Rondinella | Courtesy: La Biennale di Venezia

ผู้มาชมงานต่างแหงน หน้ามองขึ้นไป เมื่อเข้ามาถึงโกดังที่ 3 โดยผลงานประติมากรรมชิ้นสูงใหญ่ยักษ์ของศิลปินจากประเทศจีน Yin Xiuzhen ผู้ซึ่งโด่งดังจากการสร้างผลงานด้วย เสื้อผ้า และ เศษผ้าที่ทิ้งแล้ว โดยงานศิลปะของ Xiuzhen เน้นการตั้งคำถาม และ เสียดสี แนวคิดทุนนิยม และ บริโภคนิยม ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในสังคมของประเทศจีนอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จนเกิดคำถามว่า หากยังบริโภคนิยมกันเช่นนี้ และ ก้าวต่อไปจะเป็นอย่างไร หรือมนุษย์จะบริโภคมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ?

ผลงานประติมากรรมจัดวาง Nowhere to Land, 2012 ที่มีความสูง 3.3 เมตร ซึ่งสร้างจากดุมล้อขนาดใหญ่ 1 คู่ แล้วตกแต่งด้วยผ้าดำนำมาประกอบกับเหล็ก กระจก และ ไฟรถยนต์ จนได้ประติมากรรมขนาดใหญ่ 3.3  x 2.4 x 2.1 เมตร
ผลงาน  Trojan, 2016-2017  ซึ่งสร้างจากโครงเหล็ก และ เสื้อผ้ากับเศษผ้าที่ใช้แล้ว โดย ประติมากรรมชิ้นนี้มีขนาด 5.7 x 2.2 X 4.7 เมตร

เมื่อพิจารณาท่าทางของผลงานชิ้นนี้แล้ว ตัวแบบกำลัง ก้มหัว เก็บคาง กอดเข่า ราวกับทำไปเพื่อความปลอดภัยขณะนั่งอยู่บนเครื่องบิน ซึ่งศิลปินได้ทิ้งเป็นคำถามปลายเปิดไว้ว่า ประติมากรรมชิ้นนี้ กำลังบินไปสู่จุดหมายที่ใด แล้วระหว่างทางเจอกับอะไร ถึงทำให้ยักษ์ใหญ่ขนาด 6 เมตรต้องก้มลงทำท่านี้ และเมื่อเราเดินไปข้างหลัง เราได้พบกับ “ทางเข้า” เข้าไปภายในตัวหุ่น ซึ่งจะเป็นอย่างไรนั้น ไปชมกัน

บรรยากาศในภายในโกดังของ Arsenale ที่มีผลงานศิลปะให้ชมอย่างมากมาย
ผลงาน Pale Eyes, Paris, 2019 ซึ่งใช้ Aquaresin, plater และ แปะกระดาษแบบ Collage ของ ศิลปินชาวฝรั่งเศส Jean-Luc Moulène
ผลงาน Pale Eyes, Paris, 2019 ซึ่งใช้ Aquaresin, plater และ แปะกระดาษแบบ Collage ของ ศิลปินชาวฝรั่งเศส Jean-Luc Moulène

ต่อมาเราได้พบกับผลงานใหม่ล่าสุดของ เจ้าแม่แห่งอนาคต อย่าง อี บุล (Lee Bul) ที่เพิ่งได้จัดแสดงผลงาน Divlilum ที่อาคาร อีสต์เอเชียติก ในงาน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่กรุงเทพประเทศไทยตั้งแต่ปลายปี จนถึง ต้นปีที่ผ่านมา ที่ เวนิส ศิลปินรุ่นใหญ่ชาวเกาหลีคนนี้ นำเสนอผลงาน Aubade V, 2019 ประติมากรรมหล่อโลหะ ที่ใช้สร้างมาจาก การรวบรวมซากปรักหักพังบางส่วนจาก จุดตรวจ จุดแรกในบริเวณเขตปลอดทหารเกาหลี ซึ่งเป็นเขตกันชนระหว่างเกาหลีเหนือ และ เกาหลีใต้ ผลงานนี้มีรูปทรงคล้ายกับเสาส่งสัญญาณอะไรบางอย่าง โดยมีป้ายไฟ LED ขึ้นข้อความว่า “For the next 1 million years, the cycle will carry the obliquity between 22°13′44″ and 24°20′50″” (แปลได้ว่า ในอีก 1 ปีข้างหน้า องศาแกนหมุนของโลกยังจะอยู่ระหว่าง 22°13′44″ –  24°20′50) โดย ศิลปินมุ่งหมายจะบอกว่า ต่อสภาพแวดล้อมของโลกจะเลวร้ายมากขึ้นไปเท่าไหร่ โลกของเราก็ยังต้องมีชีวิตอยู่ต่อไป ถึงแม้หายนะเหล่านี้กำลังจะเริ่มต้นขึ้นก็ตาม (ดูเหมือนผลงานชิ้นนี้จะไม่ได้ชวนให้เรามองโลกมุมบวกสักเท่าไหร่ แต่อาจเป็นความจริงที่ศิลปินรู้สึกได้ถึงคำสาบแห่งกาลเวลา)

เมื่อเดินชมงานอยู่สักพัก เสียงที่คล้ายกับ แรงดันอากาศที่ถูกปล่อยออกมาอย่างรวดเร็ว และ เสืยงของวัตถุกระทบกัน ดังลั่นสนั่นไปทั้งโกดัง ทำให้ผู้เข้าชมงานต่างหันซ้ายหันขวา หาที่มาของเสียง จนกระทั่งเดินไปถึงตอนท้ายโกดัง 3 เราได้พบกับงานศิลปะจัดวางที่เป็นต้นกำเนิดของเสียงนี้ ไปชมพร้อมๆกันครับ (แนะนำให้ลดเสียงลำโพง หรือ หูฟัง ก่อนกดชมคลิป)

นี่คือผลงาน ‘Dear’ (2015) โดยศิลปินสองคู่หูชาวจีน Sun Yuan และ Peng Yu ที่มักจะใส่กลไกที่สร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชม ผลงานชิ้นนี้จำลองเก้าอี้จาก อนุสาวรีย์ลินคอล์น ซึ่งตั้งอยู่ที่ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐอเมริกา จากนั้นติดตั้งท่อยางไว้ เมื่อกลไกดันแรงลมที่ถูกตั้งเวลาไว้เป็นช่วงๆ เริ่มทำงาน ท่อยางจะฟาดไปที่กระจก Plexiglas และ ตัวเก้าอี้ที่ทำจากซิลิคอน อย่างไร้ทิศทางสักพักหนึ่งถึงและหยุด แม้ว่าทุกอย่างจะดูเงียบสงบลงไปแล้ว แต่ร่องรอยและบาดแผลที่เกิดจากการฟาดนั้นยังคงอยู่ตลอดไป

เอาหละ เดี๋ยวเราพักจิบกาแฟกันตรงนี้ก่อน ยังมีผลงานศิลปะชั้นเลิศอีกมากมายที่รอให้คุณได้ชมกันต่อ ทั้งในนิทรรศการส่วนกลาง และ Pavilion ของประเทศต่าง ซึ่งต้องบอกว่าพลาดแล้วจะเสียดาย ติดตามได้ตอนต่อไปของ รายงานชุดพิเศษ เวนิส เบียนนาเล่ ความงามของศิลปะ กับ คำสาบแห่งกาลเวลา โดยบ้านและสวน ตอนที่ 2 :  Pavilion นานาชาติ

ตัวอย่างผลงานศิลปะสุดอาร์ต ที่เราจะพาท่านไปชมในตอนต่อๆไป

 

 

เรื่อง ภาพ และ วิดิโอ :  สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

 

เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 58 ความงามของศิลปะ กับ คำสาบแห่งกาลเวลา : ตอนที่ 2 –  Pavilion นานาชาติ