“เบญจรงค์” คือ อีกหนึ่งงานหัตถศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะของเมืองไทย ซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อสืบสานให้คงอยู่ในสภาวะที่เวลาเปลี่ยน ความนิยมเปลี่ยน แต่ความประณีตของฝีมือช่างศิลป์ไม่ควรจะเลือนหาย การสืบทอดองค์ความรู้ และสนับสนุนให้งานหัตถศิลป์ชั้นครูที่เป็นดั่งสัญลักษณ์ของชาตินี้ดำรงอยู่จึงเป็นหนึ่งในพันธกิจที่ SACICT เล็งเห็น และเป็นต้นกำเนิดโครงการ SACICT Signature Collection ซึ่งดำเนินการเข้าสู่ปีที่ 3 ภายใต้แนวคิด “From Thai Heritage to Today Life’s Crafts”
10 คอลเล็กชั่นที่จัดแสดงในงาน SACICT Craft Trend Show 2020 ณ หอประชุมวายุภักษ์ แจ้งวัฒนะ สร้างความประหลาดใจแก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง ทั้งด้วยดีไซน์ รูปลักษณ์ และเฉดสีที่ฉีกไปจากถ้วยชามชุดเบญจรงค์ที่เป็นภาพจำมานานเนิ่น แต่ก็ไม่อาจปฎิเสธได้ว่า นี่คืองานเบญจรงค์โดยฝีมือช่างไทย ทั้งช่างรุ่นใหม่และช่างรุ่นใหญ่ฝีมือชั้นครูซึ่งร่วมออกแบบกับนักออกแบบมืออาชีพ ทำให้ชิ้นงานเบญจรงค์ใน SACICT Signature Collection 2019 แตกต่างแต่ตอบโจทย์ชีวิตประจำวันในหลากหลายมุมมอง
“Signature Collection คือ การหาอัตลักษณ์ของชิ้นงานศิลปหัตถกรรม ซึ่งเรามองว่างานเบญจรงค์อาจเป็นงานหนึ่งที่ถึงทางตันในแง่ที่ว่าคนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ คนซื้อเอาไปเก็บเอาไปโชว์ในตู้โชว์ ซึ่งไม่ได้ใช้จริงในชีวิตประจำวัน เพราะฉะนั้นหัวใจของมันคือทำอย่างไรให้การเขียนลวดลายหรือทักษะฝีมือเชิงช่างของครูทั้งหลายยังคงอยู่กับประเทศไทยและส่งต่อไปยังลูกหลาน สิ่งที่เราเจอคือทุกคนทำงานเบญจรงค์เหมือนกันหมด ก็คือการถมสี 5 สีเข้าไปในถ้วยโถโอชามและของใช้ แต่กลับไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง เพราะฉะนั้นโจทย์ก็คือว่าเราจะหาทางออกอย่างไรให้งานเบญจรงค์มาอยู่ในชีวิตจริงให้ได้” คุณอัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวให้ข้อมูลของโครงการนี้
“คำถามแรกคือ งานเบญจรงค์จำเป็นต้องเขียนสีให้ครบทั้ง 5 สีไหม เบญจรงค์ทำได้เฉพาะถ้วยโถโอชามหรือเปล่า หรือว่าสามารถทำเป็นของใช้อย่างอื่นได้ อย่างเช่น งานศิลปะ เครื่องประดับ หรือว่าจะเป็นแก้วที่มีรูปทรงแตกต่างกันไป จึงเกิดการทำงานในโครงการนี้ขึ้นมา โดยนำครูช่างและบุคคลที่อยู่ในวงการงานศิลปหัตถกรรมด้านเบญจรงค์มาทำงานร่วมกับนักออกแบบ เกิดเป็นงานเบญจรงค์รูปแบบใหม่ มีนักออกแบบอาชีพมาเปิดโลกทัศน์ทางความคิด ส่งเสริมให้เกิดชิ้นงานใหม่ๆ ซึ่งปีนี้ก็เข้าสู่ปีที่ 3 ของโครงการแล้ว”
ปี พ.ศ.2560 เป็นปีแรกของการคลอดคอลเล็กชั่น SACICT Signature Collection 2017 นำเสนองานเบญจรงค์ในรูปแบบที่ฉีกจากกรอบเดิมที่เคยเป็นมา แต่ยังคงมุ่งเน้นการสร้างความตระหนักในคุณค่างานเบญจรงค์ไทย การสร้าง Signature Collection ของผู้ผลิตงานเบญจรงค์จำนวน 10 ราย และนักออกแบบ ร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์จำนวน 12 คอลเล็กชั่น และจัดนิทรรศการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ในห้างสรรพสินค้าเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนรุ่นใหม่ ได้สัมผัสรูปแบบการใช้งานเบญจรงค์ในชีวิตประจำวัน
คุณอัมพวันกล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อปี พ.ศ. 2560 คือจุดเริ่มต้นของโครงการ Signature Collection ปีแรกเรามานั่งคิดทบทวนปัญหาอย่างจริงจัง พบว่าการศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่เคยสอนเรื่องนี้ก็มีน้อยลง เพราะมีผู้เรียนน้อยลง เช่นเดียวกับคนเขียนเบญจรงค์จะซื้อถ้วยขาวจากโรงงานอุตสาหกรรมแล้วนำมาเขียนลายเท่านั้น อีกส่วนหนึ่งก็คือภูมิปัญญาในเรื่องการเผา การขึ้นรูปเริ่มหายไป ที่ยังมีอยู่ก็เรื่องของการเขียน ช่างเบญจรงค์คนหนึ่งอาจเก่งด้านสี อีกคนอาจชำนาญเรื่องการเขียนทองหรือการเขียนลวดลายที่เป็นกราฟิก ซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะทาง เราต้องดึงความสามารถเฉพาะตัวของเขาออกมา ช่วงแรกก็จะคิดอะไรที่นอกกรอบแล้วลงมือทำจริง เช่น ปั้นเป็นรูปสัตว์ รูปแจกัน ทำลวดลายบนหูฟัง แล้วจึงพัฒนาต่อในปีที่ 2 ของโครงการ”
ในปี พ.ศ. 2561 SACICT มีการพัฒนาคอลเล็กชั่นใหม่ของงานเบญจรงค์จำนวน 11 คอลเล็กชั่น ภายใต้ โครงการ SACICT Signature Collection 2018 โดยศึกษาแนวทางและความเป็นไปได้ร่วมกับผู้ผลิตเบญจรงค์ที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการผลิต “หุ่น” หรือเครื่องขาว ที่ทำจากเครื่องปั้นดินเผาประเภทต่าง ๆ และเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตเครื่องขาวสำหรับใช้ในงานเบญจรงค์
“เมื่อเดินทางมาสู่ปีที่ 3 คือปี พ.ศ. 2562 สิ่งที่น่าภาคภูมิใจ คือ ผลงานที่ได้จากโครงการเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันในราคาที่จับต้องได้ ทั้งยังมีคนรุ่นใหม่สนใจหันมาเขียนเบญจรงค์มากขึ้น อันนี้ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จของโครงการ ซึ่งเราได้มีการเจรจาธุรกิจต่อยอดไปยังกลุ่มภัตตาคาร ร้านอาหาร โรงแรมทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อขยับขยายกลุ่มผู้ใช้ให้แพร่หลายออกไป” คุณอัมพวันกล่าวทิ้งท้าย
หากภาพจำของงานเบญจรงค์คือถ้วยโถจานชามที่มีลวดลายไทยโบราณเขียนลาย 5 สีและจะนำมาใช้เฉพาะงานพิธีการสำคัญเท่านั้น SACICT Signature Collection 2019 ได้ลบความคิดเหล่านั้นไปจนสิ้น ซึ่งเราจะพาไปชมกันว่าผลงานทั้ง 10 ชิ้นนั้นมีรูปลักษณ์เป็นเช่นใด