SACICT Signature Collection 2019 แสงไฟที่ส่องสว่างให้งานเบญจรงค์โชติช่วงอีกครั้ง
“อุไร” เป็นการรวมรวมลวดลายเอกลักษณ์ของงานเบญจรงค์สมัยรัชกาลที่ 2 มาจัดเรียงใหม่ให้มีความร่วมสมัยมากขึ้น แต่ยังคงสีและเทคนิคดั้งเดิมไว้ เป็นชุดจานรับประทานอาหาร ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ในทุกโอกาส
อุไร แตงเอี่ยม x ease studio
“เบญจธาตุ” ลวดลายเขียนสีที่ได้แรงบันดาลใจจากการดึงศาสตร์ฮวงจุ้ยของจีน ที่เกี่ยวกับเบญจธาตุ หรือธาตุทั้ง 5 ประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไม้ ธาตุไฟ และธาตุทอง บรรจงวาดลวดลายบนพื้นผิวเซรามิก (งานแต้มฮูปดินเผา) ด้วยเทคนิควาดสีบนเคลือบ ผ่านการเผา 2 ครั้งที่อุณหภูมิ 700 และ 750 องศาเซลเซียส มีฟังก์ชันเป็นกระจกเงาใช้ส่องหน้าแต่งตัวเสริมสิริมงคลตามธาตุประจำตัวได้ทุกวัน
วิรัช ทะไกรเนตร x Salt and Pepper Design Studio
“พลิก” (Flip) ต่อยอดจากถ้วยรางวัล ซึ่งจะมีฝาที่ไม่ได้นำไปใช้เหลืออยู่มาก โดยนำมาพลิกฟังก์ชันและมิติการมองที่คุ้นชินกับการวางแนวราบและมองในระยะใกล้ ให้กลายเป็นงานศิลปะตกแต่งผนังที่วางในแนวตั้งและมองระยะไกล ใช้สีน้ำเงิน ขาว และทอง วาดลวดลายชิโน-โปรตุกีสที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งมีความลงตัวระหว่างความเป็นตะวันออกกับตะวันตก
พนิดา แต้มจันทร์ x ease studio
“ไทยแปลงรูป” ผลงานที่ผ่านการทดลองงานสีเบญจรงค์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อสร้างชุดสีแบบ CMYK ให้ดูร่วมสมัยแตกต่างจากที่มีอยู่ วาดลวดลาย Old School Tatoo ซึ่งเป็นสไตล์ของลายสักสองมิติที่นิยมในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นลายเส้นแบบสากลที่ผสมกับลวดลายแบบไทยๆ แต่มีความเป็นแฟชั่น
บุญญารัตน์ ลิ้มวัชราวงศ์ x Salt and Pepper Design Studio
“ผสมและผสาน” เครื่องเคลือบศิลาดลจากภาคเหนือ ผสมผสานการทำเครื่องเบญจรงค์จากภาคกลาง จนเกิดเครื่องเคลือบที่เรียกว่า “เบญจศิลาดล” เป็นการทำด้วยเทคนิคการชุบเคลือบน้ำเคลือบศิลาดล โดยให้เหลือเนื้อดินเป็นพื้นที่ว่าง แล้วนำเข้าเตาเผาด้วยความร้อนสูง 1,250 องศาเซลเซียส เป็นการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์นาน 10 ชั่วโมง เมื่อได้ตัวผลิตภัณฑ์ศิลาดลแล้วจึงนำมาเขียนลวดลายเบญจรงค์แบบสมัยใหม่ ด้วยลายเส้นสีแดงที่เป็นสีเฉพาะของบ้านเบญจรงค์บางช้าง
ธนวรรธน์ ชยุทวาณิชกุล x ease studio
“ศิลปะแห่งการผสาน” (Blending Movement) ใช้สีและเทคนิคการเขียนภาพแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ นำมาทดลองสร้างผลงานเซรามิก ตั้งแต่การผสมดินให้มีสีแตกต่างกัน นำดินสีมาผสมผสาน และสร้างความเคลื่อนไหวของสีในเนื้อดินอย่างไม่จงใจ ด้วยเทคนิคการขึ้นรูปด้วยแม่พิมพ์ เกิดเป็นชิ้นงานที่มีความงามไม่ซ้ำกัน วาดลายเบญจรงค์ สร้างและผูกลายใหม่ แล้วจัดวางแบบเรียบง่าย
สุเมษ ง้วนจินดา x Salt and Pepper Design Studio
“หนุมาน-นิลพัท” เล่าเรื่องราวเบญจรงค์ผ่านมหากาพย์รามเกียรติ์ที่มีตัวละครมากมาย ทั้งเทวดา มนุษย์ ยักษ์ และลิง ออกมาเป็นผลงานเขียนลายเบญจรงค์บนงานปั้นตุ๊กตาลิง 2 สี ขาวและดำ แทนตัวละคร 2 ตัว คือ หนุมานและนิลพัทที่ถือธูปหอม พร้อมถาดวางกำยาน และที่หยดน้ำมันหอมระเหย ซึ่งออกแบบเป็นภูเขาจำลองเล็กๆ วางคู่กัน
อภิชัย สินธุ์พูล x Salt and Pepper Design Studio
“ผสาน” (Blended) “กี๋” เป็นได้ทั้งที่นั่งและที่วางของ โดยยังคงรูปทรงเดิม แต่ผสาน 2 เทคนิคให้อยู่ในงานชิ้นเดียวกัน คือ การเขียนลายคราม ซึ่งเป็นการเขียนสีใต้เคลือบ และการเขียนลายเบญจรงค์ ที่เป็นการเขียนลายน้ำทองบนเคลือบ โชว์ลวดลาย “เหล่าบัว” แบบไม่ลงสี ซึ่งเป็นลายเอกลักษณ์ของไทยเบญจรงค์
หัสยา ปรีชารัตน์ x ease studio
“มารดาลาย” จากลวดลายที่ครูอึ่ง – สุวรรณี ปิ่นสุวรรณ มารดาของคุณสรัญญาได้ออกแบบวาดลายก้นขดลงบนผืนผ้าใบคล้ายกับลายแมนดาลา ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจ ให้คุณสรัญญานำมาอยู่บนเครื่องประดับที่ทำจากเครื่องกระเบื้องพอร์ซเลนเขียนลายเบญจรงค์บนพื้นผิว สามารถพกติดตัวไปได้ทุกหนทุกแห่ง
สรัญญา สายศิริ x ease studio
“เปลี่ยน” นำเสนอเบญจรงค์ในรูปแบบเครื่องประดับที่มีรูปทรงเรขาคณิตผสานการเขียนลายสามแบบ คือ ลายเส้นกราฟิกที่ทิ้งลายเส้นพู่กัน ลายเส้นที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเอง และลวดลายแบบดั้งเดิม เช่น ลายดอกพิกุล โดยใช้โทนสีสดใสให้ความรู้สึกเป็นมิตร
จิระพงษ์ เดชรัตน์ x Salt and Pepper Design Studio
ร่วมสัมผัสความละเมียดละไมของลายเขียนสีและนิยามใหม่ของเบญจรงค์ SACICT Signature Collection 2019 ทั้ง 10 คอลเล็กชั่นได้อย่างเต็มตา โดยผลงานทั้งหมดนี้จะจัดแสดงอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 12-14 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 ณ โซน ICONCRAFT ห้างสรรพสินค้า ICON SIAM