เมื่อเยาวชนนับล้านเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ปกป้องโลก

“พวกคุณบอกว่าคุณรักลูกหลานของคุณเหนือสิ่งอื่นใด แต่คุณกลับขโมยอนาคตของพวกเขาไปต่อหน้าต่อตา…พวกคุณไม่มีวุฒิภาวะพอที่จะยอมรับความจริงและทิ้งปัญหาไว้ให้กับพวกเรา เด็กๆ ทั้งหลาย”

บางส่วนของสุนทรพจน์อันลือลั่นของ เกรต้า ธุนเบิร์ก (Greta Thunberg) ในการประชุมภาคีแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 (COP 24) เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว

เกรต้าเป็นเด็กวัยรุ่นหญิงชาวสวีเดนอายุ 16 ปี ผู้ป่วยโรคแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม และนักรณรงค์เพื่อต่อสู้สภาวะโลกร้อน เธอเริ่มออกมาประท้วงหน้าอาคารรัฐสภาสวีเดนคนเดียวเมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว โดยเรียกร้องให้รัฐบาลสวีเดนมีมาตรการเด็ดขาดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามที่ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้ในข้อตกลงปารีส (Paris Climate Agreement) เพื่อไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

“ถ้าประเทศที่ร่ำรวยและมีทุกอย่างอย่างสวีเดนยังทำไม่ได้ เราจะคาดหวังให้ประเทศกำลังพัฒนาเสียสละได้อย่างไรในข้อตกลงปารีสมีการพูดถึงเรื่องความยุติธรรมและความเท่าเทียมในการแก้ปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice and Equity) ไว้อย่างชัดเจน”

คำกล่าวปราศรัยของเธอทุกครั้งเป็นที่โด่งดังเพราะความตรงไปตรงมา และไม่ประนีประนอม เธอบอกว่าคนที่มีอาการออทิสติกแบบเธอมักจะมองโลกแบบขาวดำ “เราโกหกไม่เป็น เล่นเกมใส่หน้ากากเข้าหากันไม่เป็น และไม่แคร์ที่จะไม่เป็นที่ชื่นชอบ จริงๆ แล้วเรามีความรู้และข้อมูลอยู่มากมายเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน เรารู้ว่าทางออกคืออะไร สิ่งที่ต้องทำคือ ตื่นขึ้นมาอยู่กับความจริงและลงมือเปลี่ยนแปลงมัน”

การหยุดเรียนประท้วงของเกรต้า กลายเป็นแรงบันดาลใจให้เด็กนักเรียนทั่วโลกลุกขึ้นมาหยุดเรียนประท้วงทุกวันศุกร์เพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง หรือที่เรียกว่า School Strike for Climate Change และ Fridays for the Future การเรียกร้องดังกล่าว กำลังพัฒนากลายเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมเรื่องโลกร้อนที่กว้างขวางที่สุดในรอบทศวรรษ

วันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา เป็นการนัดประท้วงครั้งใหญ่รอบโลกโดยมีกิจกรรมในเมืองและโรงเรียนต่างๆ กว่า 2,000 แห่งใน 125 ประเทศทั่วโลก มีคนออกมาร่วมกิจกรรมกว่า 1.6 ล้านคน แม้นักการเมืองหลายคนรวมทั้งนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรี ประเทศอังกฤษออกมาวิจารณ์ว่าเด็กๆ ควรกลับไปเรียนหนังสือ และไม่ควรเสียเวลามาประท้วง แต่นักวิทยาศาสตร์ในยุโรปกว่า 12,000 คน ออกมาลงชื่อสนับสนุนการประท้วงครั้งนี้ และยืนยันว่าสิ่งที่เยาวชนเหล่านี้ทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วเมื่อคำนึงถึงความวิกฤตของสถานการณ์

เกรต้าบอกว่า การเปลี่ยนแปลงจะเกิดเร็วขึ้นกว่านี้อีกมาก ถ้าผู้ใหญ่ไม่ปล่อยให้เด็กๆ ต้องต่อสู้กันอย่างลำพัง พวกเขาไม่ได้ต่อสู้เพื่ออนาคตของเด็กๆ เท่านั้น แต่มันเป็นอนาคตของทุกๆ คนในหลายประเทศเยาวชนไม่ได้เพียงแสดงออกในเชิงสัญลักษณ์แต่มีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนเป็นข้อๆ เลย เช่น

  • ประกาศเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นภาวะฉุกเฉินแห่งชาติ
  • หยุดสร้างโครงการพลังงานที่ยังคงใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหิน
  • มีหลักสูตรบังคับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตั้งแต่ชั้นมัธยมเป็นต้นไป
  • ปกป้องธรรมชาติ สัตว์ป่าและระบบนิเวศที่เหลืออยู่
  • รักษาแหล่งน้ำสะอาดและอากาศบริสุทธิ์
  • นโยบายของรัฐต้องสอดคล้องกับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์

ในสหรัฐอเมริกา กลุ่มเยาวชน Sunrise Movement ยังเรียกร้องให้รัฐบาลรับรองข้อเสนอ Green New Deal การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ภายใน 10 ปี ที่นำเสนอโดย อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ-คอร์เตซ (Alexandria Ocasio-Cortez) หรือ AOC ส.ส.อายุน้อยที่สุดในวัย 29 ปี สังกัดพรรคเดโมแครต

จะเห็นว่าตอนนี้ในหลายประเทศการเคลื่อนไหวครั้งนี้จุดติดแล้ว และกำลังเป็นการเคลื่อนไหวทางสังคมระดับโลกที่น่าจับตาที่สุด การรณรงค์ในหลายประเทศทำให้เห็นว่าเด็กรุ่นใหม่เหล่านี้เข้าใจว่าการแก้ปัญหาให้ได้ผลไม่ใช่แค่เรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของระดับปัจเจกเท่านั้นแต่เป็นการต่อสู้เรื่องความเท่าเทียม ความยุติธรรม และระบบทุนนิยมที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนข้ามชาติ ทุกอย่างโยงใยกันไปหมด ถ้าจะแก้ต้องแก้ทั้งระบบ ถ้าระบบในปัจจุบันแก้ไม่ได้ ก็ต้องสร้างระบบใหม่ขึ้นมา

เกรต้าบอกว่า นี่เพิ่งเป็นจุดเริ่มต้นเท่านั้น “เพราะเมื่อคุณลงมือทำ คุณจะเห็นความหวังเกิดขึ้นทุกหนแห่ง”