เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 58 ความงามของศิลปะ กับ คำสาบแห่งกาลเวลา : ตอนที่ 2 –  Pavilion นานาชาติ

หลังจากที่เราได้ชมงานศิลปะมากมายใน เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 58 ( The 58th International Art Exhibition of La Biennale di Venezia) ที่มีชื่อเล่นสั้นๆว่า ‘Biennale Arte’ ในโซน Arsenale กันไปบ้างแล้ว วันนี้ บ้านและสวน ขอพาทุกท่านไปพบ Pavilion นานาชาติ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่ง Highlight ที่ไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวง 

ใน เวนิส เบียนนาเล่ครั้งนี้ มีประเทศที่เข้าร่วมแสดงผลงานในส่วนของ Pavilion นานาชาติทั้งหมด 90 ประเทศ  โดยมี 4 ประเทศที่ได้เข้ามาร่วมแสดงในงาน เวนิส เบียนาเล่ เป็นครั้งแรก ได้แก่ กานา มาดากัสการ์  มาเลเซีย และ ปากีสถาน

ซึ่งก่อนที่เราจะไปชมกันว่าแต่ละประเทศตีโจทย์ “May You Live in Interesting Times” หรือ คำสาบแห่งกาลเวลาที่เป็นแนวคิดหลักของการจัดงานครั้งนี้อย่างไร ยังมีงานในส่วนนิทรรศการหลักให้ชมกันต่อจากตอนที่แล้ว

ผลงาน Aubade V, 2019 ของ อีบุล

ต่อจากความเดิมตอนที่แล้ว ตรงข้ามกับผลงาน Aubade V, 2019 ของ อี บุล  และ Dear (2015) โดยศิลปินคู่หูชาวจีน Sun Yuan และ Peng Yu  เราจะพบกับ ผลงานของ กรกฤต อรุณานนท์ชัย หนึ่งในสองศิลปินไทยที่ได้รับเกียรติถูกเชิญให้มาร่วมแสดงงานในนิทรรศการส่วนกลาง (อีกท่านหนึ่งเป็นศิลปิน สาย ภาพยนตร์ และ VDO Art ที่คว้ารางวัลมามากมาย “อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล”)โดย กรกฤต ยังคงร่วมมือ กับ อเล็กซ์ กวอจิค (ร่วมกับ บอยไชลด์) นำเสนอชุดผลงาน No History In A Room Filled With People With Funny Names ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า”ไม่มีประวัติศาสตร์ในห้องที่เต็มไปด้วยผู้คนทีมีชื่อตลกๆ”)ที่สร้างชื่อให้กับเขาเป็นอย่างมากตั้งแต่ปี 2013 ในเวนิส เบียนนาเล่ ครั้งนี้้เขา นำเสนอผลงานศิลปะ VDO 3 จอต่อเนื่องในห้องที่แต่งไปด้วยศิลปะจัดวางที่สร้างจากวัสดุหลากหลาย เช่น กิ่งไม้ เปลือกหอยแตกๆ ไปจนถึงแสง Laser เพื่อสื่อสะท้อนถึงสังคมไทยในหลายแง่มุมผ่านเหตุการณ์ต่างๆ โดยเฉพาะกรณีที่เกิดขึ้นระหว่างการช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมู่ป่าออกจากถ้ำ บริเวณ วนอุทยาน ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงรายในปี 2561 ที่ผ่านมา 

ผลงาน No History In A Room Filled With People With Funny Names 5, 2018 ซึ่งขณะที่ผู้เขียนเข้าไปนั้น มีผู้ชมเนื่องแน่อยู่เต็มห้อง

ต่อมาเราได้พบกับ สายโซ่หลายเส้นที่ห้องระโยงระยางมาจากด้านบนโกดังของ Arsenale ซึ่งบนโซ่นั้ันมีสิ่งที่คล้ายของเหลวสีน้ำผึ้งกำลังหยดไหลย้อยลงมา แต่หากสังเกตุดีๆ ….รูปทรงของสิ่งที่ไหลย้อยลงมานั้นกลับนิ่งอยู่กลางอากาศ…มันคืออะไรกันแน่ ไปชมคลิปพร้อมๆกันครับ

นี่คือผลงานประติมากรรมจัดวาง Etudes-Lento IV(2017-2019) โดย ศิลปิน จีน Yu Ji ที่จากสร้างโซ่ และ เรซิ่น โดยศิลปินใช้งานชิ้นนี้สื่อร่างกายของมนุษย์ ซึ่งหากมองดีๆจะเห็น แขน และ ขา (เล็กๆ) ยื่นออกจากโซ่  โดยผลงานเชิงนามธรรมชิ้นนี้ศิลปินต้องการสื่อถึงภาวะปัจจุบันนั้นมนุษย์ต้องทำงานจนทิ้งร่องรอยของความเหนื่อยล้าเอาไว้

ผลงาน ของ Etudes-Lento IV(2017-2019) ของ Yu Ji ที่สวย ยันเงา

ไม่ไกลกับความเหนื่อยล้าของ Yu Ji เราได้พบผลงาน Liu Wei ศิลปินจีนอีกท่านผู้ที่แต่เดิมมีผลงานมากมายซึ่งสะท้อนถึงการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมในเมือง แต่สำหรับงานนี้เขาละทิ้งความใหญ่โตของบ้านเมือง แล้ว พาผู้ชมเข้าสู่โลกขนาดเล็ก “Micro World” ซึ่งเป็นห้องขนาดใหญ่สูงราว 2 เมตรกว่า ที่อัดแน่นไปด้วยประติมากรรมรูปทรงเรขาคณิตขนาดใหญ่มากมาย โดยศิลปินต้องการจะสื่อถึงภาพของสิ่งขนาดเล็กระดับอนุภาค (แต่ขนาดของผลงานนั้นไม่เล็กเลย) ไม่ว่าจะเป็น โมเลกุล หรือ โปรตอน และ สิ่งที่เรามักจะเห็นได้เมื่อส่องกล้องจุลทรรศน์  สิ่งเล็กๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งที่มาประกอบรวมกันเป็นสิ่งที่ใหญ่กว่าตัวมันเอง โดยเขาสร้างผลงานทั้งหมดนี้จากแผ่นอลูมิเนียมที่นำมาขัดให้ผิวมันวาว

ในช่วงท้ายๆของนิทรรศการหลักใน Arsenale ก่อนที่จะเข้าไปสู่โกดังที่เป็น Pavilion ของประเทศต่างๆ เราได้พบกับมุมหนึ่ง ที่มองไกลๆแล้วคล้ายมุมออกกำลังในฟิตเนส ซึ่งเป็นความจงใจของ Neil Beloufa ศิลปินชาวฝรั่งเศสเชื่อสายอัลจิเรีย ที่ต้องการให้ผลงานศิลปะจัดวาง “Global Agreement” ของเขาชิ้นนี้นั้นมีลักษณะคล้ายกับเครื่องออกกำลังกาย เนื่องจากเขาต้องการให้ผู้ที่เข้าชมผลงานนั้นนั่งในท่าที่เหมือนๆกัน และ รู้สึกอึดอัดเล็กน้อยที่ไม่สามารถขยับร่างกายทุกส่วนได้ตามต้องการ (ประหนึ่งเวลาที่เราบริหารกล้ามเนื้อโดยเครื่องออกกำลังกายต่างๆในยิมที่จะขยับได้แค่บางส่วนเท่านั้น) เมื่อเรานั่งแล้วปรับตำแหน่งใบหน้าของเราให้ตรงกับบริเวณที่คล้ายหน้ากากแล้ว ภาพวิดิโอจะปรากฏขึ้นบนหน้าจอ โดยวิดิโอเหล่านี้ Beloufa ได้ VDO Call ไปสัมภาษณ์เหล่าทหารวัยหนุ่มเกี่ยวกับเรื่องสัพเพเหระในชีวิตประจำวันของพวกเขา ซึ่งศิลปินเชื่อว่า ภาพเหล่านี้ของบรรดาเหล่าทหารนั้นพบเห็นได้น้อยในสังคม เนื่องจากประชาชนในประเทศต่างๆมักจะได้สัมผัสแต่ภาพลักษณ์ของทหารที่ถูกสื่อออกมาจากสื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลเท่านั้น

คลิปวิดิโอระหว่างที่ผู้เขียนเข้าชม (ใช้งาน) ผลงานจัดวางชิ้นนี้ ซึ่งสามารถกดเปลี่ยนสลับภาพบนจอได้ด้วย

เมื่อสิ้นสุดส่วนนิทรรศการหลัก แล้ว ถึงเวลาที่เราจะพบกับ Pavilion ของประเทศต่างๆ ที่อยู่โซน Arsenale นี้ ซึ่งจะมี Highlight อะไรบ้าง เชิญไปชมกัน

Philippines Pavilion | Island Weather

เวนิส เบียนนาเล่ ในปี้นี้ต้องบอกว่า Pavilion ของประเทศ  Philippines ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก และ มีผู้เข้าชมอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งศิลปินเดี่ยวที่ได้มาโชว์ฝีมือในงานนี้ก็ไม่ใช่ใครไหน Mark Justiniani หนึ่งในศิลปิน บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่มาแสดงงานที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งหากใครที่ได้ชมก็ก็ต้องทึ่งในความสามารถของเขา ที่ใช้เทคนิคทำภาพสะท้อน ทำให้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าของเรานั้น ดูเหมือนเรียงต่อยาวกันไปไกลอย่างไม่มีสิ้นสุด โดย Biennale Arte ครั้งนี้เขาได้สร้างเกาะขึ้นมา 3 เกาะใน Pavilion เพื่อสื่อประวัติศาสตร์ของประเทศ โดยใช้สัญลักษณ์ต่างๆเช่น ประภาคารในยุคล่าอนานิคม หรือ อุตสาหกรรมน้ำตาล หนึ่งในภาคการผลิตที่สำคัญของ Philippines

สำหรับการสำรวจเกาะทั้ง 3 ของ Justiniani นั้นสามารถเดินขึ้นไปบนกระจกใส แล้วมองลงมาก็จะเห็นภาพลวงหน้าที่น่าตื่นตาตื่นใจ บ้านและสวน ไม่พลาดที่จะพาผู้อ่านทุกท่านไปเดินสำรวจเกาะที่เต็มไปด้วยเวทมนตร์แห่งภาพลวงตา

Italy Pavilion | Neither Nor: The challenge to the Labyrinth

Italy ปีนี้นำเสนอผลงานของ 3 ศิลปิน Enrico David, Chiara Fumai และ Liliana Moro ในรูปแบบของเขาวงกต ที่เราจะไม่รู้เลยว่าภายในแต่ละห้องนั้นจะมีอะไรจนกว่าจะไปถึง (ซึ่งนั้นหมายความว่าเราจะไม่เห็นผลงานจากระยะไกลนั้นเอง) ซึ่งผลงานใน Pavilion นี้ชวนให้ผู้ชมได้ลองมองย้อนผ่านกาลเวลา มองลึกลงไปในจิตใจท่ามกลางบริบทของสภาพแวดล้อมของชีวิตประจำวันที่มีความซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

Ghana Pavilion | Ghana Freedom

ปีนี้เป็นปีแรกที่ Ghana ได้เข้ามาร่วมเปิด Pavilion ใน เวนิส เบียนนาเล่  และ ได้เลือกหยิบยกเรื่องราวเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพในประเทศ โดยได้ตั้งชื่อนิทรรศการจากชื่อเพลงของ E.T. Mensah ที่ แต่งไว้เพื่อฉลองการประกาศเอกราชเมื่อปี ค.ศ. 1957  โดยโซนที่เป็น Highlight ของ Pavilion นี้คือห้องที่อุทิศให้กับงานของ El Anatsui ศิลปินระดับตำนานของชาว Ghana วัย 75 ปี ได้ที่ได้สร้างประติมากรรมจัดวางขนาดใหญ่จากแผ่นฟอยล์ที่ไว้คุ้มขวดไวน์มาสานต่อกันด้วยลวดทองแดง จึงทำให้ได้ผลงานตระกานตาอย่าง “Opening of Time” 2019  ที่ใช้แผ่นฟอยล์ฝาขวดเครื่องดื่มยี่ห้อ Chelsea ซึ่งจากที่เราได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ประจำ Pavilion เขาคิดว่าเครื่องดื่มยี่ห้อนี้น่าจะเป็นยี่ห้อแรกๆที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ  และได้พัฒนาเป็นอุตสาหกรรมการผลิตขวด และ บรรจุขวดในประเทศต่อมา โดยเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าฝาขวดที่ใช้ทั้งหมดในงานนี้มีจำนวนเท่าไร แต่น่าจะอยู่ในหลักหมื่นชิ้น นอกจากนี้ภายในห้องเดียวกัน ยังมีผลงานลักษณะเดียวกัน(แต่ขนาดเล็กกว่าเล็กน้อย) อีก 2 ผลงาน

Slovenia Pavilion| Here we go again… SYSTEM 317

เมื่อมาภายใน Pavilion ของ Slovenia เราได้พบกับพาหนะคล้ายกับยานอวกาศ แต่สำหรับ Marko Peljhan ศิลปินผู้คลั่งไคล้ เทคโนโลยี และ อวกาศ ผลงานศิลปะที่เขาสร้างชิ้นนี้คือ ต้นแบบทางความคิดของเขาจะช่วยให้ผู้คนสามารถหลุดพ้นจากอันตรายในวันที่โลกใกล้ถึงวันวิบัติ โดยเจ้าระบบ SYSTEM 317 มาพร้อมกับระบบพลขับอัตโนมัติ ที่ถูกโปรแกรมมาแล้วเมื่อวันถึงวันดังกล่าวจะต้องทำอย่างไร โดยแรงบันดาลใจทึ่ Peljhan ได้ทำผลงานชุดนี้นั้นมาจาก สิ่งแวดล้อม และ สภาพสังคมในปัจจุบันที่เขามองว่ากำลังเสื่อมถอยลงทุกวัน 

 

Giardini 

จาก Arsenale เดินไปประมาณ 15 นาที จะถึงบริเวณ “Giardini” ซึ่งในส่วนนี้ เรียกได้ว่าเป็นจุดรวมของ Pavilion นานาชาติ ซึ่งลักษณะการชมนั้น ผู้ชมจะเลือกชมที่ใดก่อนก็ได้ เพราะเป็นอาคารแยกกันไป  เราแนะนำว่า ควรจะเริ่มชมจากส่วนนิทรรศการหลักก่อน แม้ว่าจำนวนผลงานในส่วนกลางจะไม่มีมากเท่า Arsenale แต่ความอาร์ตระอุอบอวลไม่แพ้กัน ในบรรยากาศที่เหล่าบรรดางานศิลป์อาบไปด้วยแสงแดดแห่งเมืองสายน้ำ  ซึ่งเรามีตัวอย่างมาให้ชมกันสักเล็กน้อย

ทุกท่านที่เดินเข้ามาใน ส่วนนิทรรศการหลักที่ Giardini จะต้องผ่านทางเดินแห่งแสงขาว กับ ผลงาน Spectra III, 2018/2019 ของ Ryoji Ikeda ที่เล่นกับการรับรู้คนผู้ชม โดยเขาได้ติดตั้ง หลอด LED ไว้ใต้แผ่นไม้ลามิเนทสีขาว ซึ่งเมื่อเดินเข้าไปแล้วจะพบกับแสงสว่างจ้ารอบตัว ผู้เขียนรู้สึกราวกับว่ากำลังเดินทางผ่านกาลเวลาจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่งเลยที่เดียว (เหมือนนั่ง Time Machine แล้วมีแสงวาบๆออกมาก)

ผลงาน “Can’t Help Myself (2016)”  แขนเครื่องจักรกลที่บริเวณมีลักษณะคล้ายกับแปรงขนาดใหญ่ ซึ่งผลงานชิ้นนี้ขยับและสะบัดของเหลวสีเลือดไปรอบๆ ในรูปแบบการเคลื่อนไหวแบบสุ่มที่ได้ถูกโปรแกรมไว้ 32 แบบ ซึ่งสองศิลปินผู้สร้างผลงานนี้ก็ไม่ใช่ใครทื่ไหน Sun Yuan and Peng Yu ผู้สร้างผลงาน Dear (2015) ที่บริเวณ Arsenale นั้นเอง 

โปรแกรมทำงานของ Can’t Help Myself (2016) ที่อยู่ในห้องควบคุม

ผลงาน 1199 (2019) ของ Alexandra Bircken ที่ต้องการแสดงให้เห็นถึงสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่าง มนุษย์ สัตว์ และ เครื่องจักร โดยศิลปินได้ผ่า มอเตอร์ไซต์เครื่อง 200 แรงม้า ให้เห็นภายในราวกับสัตว์สตัฟฟ์ และ เอาชุดนักบิด ไปติดบนผนังแผ่ประหนึ่งเป็นหนังสัตว์ Bircken ต้องการจะสื่อว่ามนุษย์นั้น สามารถคร่าชีวิต และ มีอำนาจเหนือสัตว์ร่วมโลก แต่ขณะเดียวกัน มนุษย์เองก็มีความเปราะบางต่อเครื่องจักรกล

หนึ่งในผลงานชุดภาพถ่ายล่าสุดของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เจ้าตัวได้เดินทางเก็บภาพในเขต Quindio ประเทศ Colombia ซึ่งเป็นพื้นที่มีความย้อนแย้งระหว่าง สาธารณูปโภคในเมืองที่กำลังพัฒนา ท่ามกลางธรรมชาติที่เต็มไปด้วยภูเขาไฟ ผลงานนี้เป็นภาพของผิวหนังของคนผู้หนึ่งที่คล้ายกับถูกยุงกัดจนเป็นรอยด่าง

ผลงานชุดภาพถ่าย Acts of Apperance (2015 – จนถึงปัจจุบัน) ของ Gauri Gill ที่เราอาจจะคุ้นตาผลงานนี้ในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018 ที่ผ่านมา(ซึ่งเคยจัดแสดงที่หอศิลป์กรุงเทพฯ) ใน Biennale Arte 2019 ศิลปินภาพถ่ายจากอินเดียคนนี้ยังนำเสนอเรื่องราวของชนเผ่า Konkana ที่เป็นชุมชนทำหน้ากากกระดาษ ใน Jawhar เขตยากจนที่สุดแห่งหนึ่งของ Maharashtra ซึ่งปกติแล้วชุมชนนี้มักจะทำแต่หน้ากากที่เกี่ยวกับเทพเจ้าฮินดู และ หน้ากากสำหรับการประกอบพิธีกรรมต่างๆทางศาสนาและความเชื่อในพื้นถิ่น แต่ Gill ได้ลองให้พวกเขาทำหน้ากากที่สะท้อนความเป็นตัวเอง และ ให้พวกเขาใส่ถ่ายรูป จนออกมาเป็นภาพผลงานชุดนี้

Untitled (2009) ผลงานประติมากรรมจัดวางที่มีกลไก บังคับ ให้รั้วประตูเหล็กขนาดใหญ่ ไปกระแทกกับกำแพงทั้งสองข้าง โดยเหล็กที่ลักษณะเป็นขอบที่ยื่นออกมาตรงกลางประตู เป็นตัวกระแทกกำแพง ก่อให้เกิดล่องลึกลงไปเรื่อยๆ Shilpa Gupta ศิลปินจากเมืองมุมไบ ประเทศ India ผู้สร้างผลงานนี้ัต้องการสะท้อนถึงปัญหา ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม โดยเล่นกับความย้อนแย้งที่ว่า ประตูนั้นเป็นสิ่งที่สื่อถึงความปลอดภัย แต่ในเดียวกันประตูนี้กำลังทรยศหน้าที่ของตัวเอง และ ต่อสู้เพื่อให้ตัวเองหลุดไปสู่อิสรภาพ

เอาหละเราชมนิทรรศการส่วนกลางที่ Giardini กันไปแล้ว ไปชม Pavilion ซึ่งเราบอกได้เลยว่ามาแล้วไม่ควรพลาด

Russia Pavilion | Lc. 15:11-32

ใน Biennale Arte ปีนี้ Russian ตีโจทย์แห่งกาลเวลา โดยใช้แรงบันดาลใจจาก The Hermitage  พิพิธภัณฑ์เก่าแก่ในเมือง Saint Petersburg ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานมามากกว่าสองร้อยกว่าปี ซึ่งปัจจุบันเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของโลก (เป็นรองแค่พิพิธภัณฑ์ Louvre ที่กรุง Paris) ซึ่งภาพที่ถือว่าเป็นหนึ่งในสุดยอด Highlight ของ The Hermitage คือภาพ The Return of the Prodigal Son ที่วาดในปี ค.ศ. 1663-1666 โดย ศิลปินชาวดัชต์ (Flemish)  Rembrandt van Rijn ซึ่งภาพนี้อธิบายถึงเรื่องราวของลูกที่ขอสมบัติของครอบครัว แล้วไปเที่ยวผลาญทรัพย์จนหมดสิ้นแล้วกลับมาขออภัยต่อคุณพ่อ(ซึ่งท่านก็ให้อภัย) โดยเรื่องนี้มาจาก พระวรสารนักบุญลูกาในบท ลูกา 15:11-32 (ภาษาอังกฤษย่อด้วย LC) จึงเป็นที่มาของชื่อนิทรรศการนี้ โดยส่วนหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างมากของ Pavilion นี้คือส่วนชั้นใต้ดินที่ศิลปินรัสเซียชื่อดังระดับโลก Alexander Shishkin-Hokusai ได้สร้างผลงาน “The Flemish School” อาณาจักรแห่งศิลปะที่ผสานอัตลักษณ์ของ The Hermitage เข้ากับศิลปะแบบ Flemish ที่ผสมกลไกบางอย่างที่ต้องสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชม ซึ่งจะเป็นอย่างไรบ้าง ไปชมพร้อมๆกันครับ

ภาพ The Return of the Prodigal Son ของ Rembrandt van Rijn | Source : 5QFIEhic3owZ-A at Google Cultural Institute

บริเวณชั้นแรก ศิลปินรัสเซีย Alexander Sokurov ได้สร้างผลงานศิลปะจัดวางและสื่อผสมที่ใช้ทั้งภาพวาด ภาพวิดิโอ และ ประติมากรรม อุทิศให้กับ Rembrandt และ ภาพ The Return of the Prodigal Son  

เมื่อลงมาชั้นล่าง เราจะพบกับผลงานของ Alexander Shishkin-Hokusai ที่ได้จำลองการชมภาพในพิพิธภัณฑ์ โดยกรอบภาพนั้นค่อยเคลื่อนที่ไปมาช้าๆ พร้อมกับ Standy เด็กที่กำลังชมภาพดังกล่าวอยู่

ขณะที่เรากำลังชมผลงานอยู่นั้น อยู่ๆทั้งห้องก็กลายเป็นสีแดง ไฟไซเรนหมุนรอบได้เปิดขึ้น และ การแสดงของหุ่นกลไกที่ติดตั้งไว้ก็ทำงาน เราได้เก็บภาพการแสดงแบบเต็มๆเกือบ 4 นาที มาให้ทุกท่านชมกัน

(คำเตือน คลิปการแสดงนี้ไม่เหมาะกับผู้ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี และ อาจมีภาพและเสียงที่ก่อให้เกิดความไม่สบายใจ)

 

Great Britain Pavilion | (ไม่มีชือนิทรรศการ)

แม้ว่า Pavilion ต่างๆในเทศกาลนี้ จะจัดหนักจัดเต็มแสงสีเสียง แต่ สหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่ กลับนำเสนอผลงานศิลปะแนว Minimalism แบบเบาๆ ของ Cathy Wilkes ที่นำเสนอเรื่องราวของความเศร้าหมอง ความรัก และความทุกข์ทรมาน ของผู้หญิง ผ่านผลงานหลากหลายทั้ง ประติมากรรม ภาพวาด ภาพถ่าย และ ภาพพิมพ์ ในห้องต่างๆของ Pavilion นี้ ทั้งหมด 4 ห้อง โดยในห้องแรกนั้น ตัวหุ่นที่มีลักษณะท้องยื่นออกมาเหมือนคนตั้งครรภ์นั้น กำลังยืนอยู่ห้อมล้อม ศิลปะจัดวางรูปทรงสีเหลี่ยมที่บุผิวด้วยผ้าขาว ซึ่งตกแต่งด้วย กิ่งไม้ ดอกไม้ และ ซากแมลงที่แห้งกรอบ โดย Wilkes ได้อธิบายไว้ว่า หุ่นของเธอนั้นกำลังอยู่ในห้องนี้ราวกับเป็นงานศพ ซึ่งเธอก็ได้ทิ้งเป็นคำปลายเปิดไว้ให้ผู้ชมได้คิดต่อไปว่า งานศพนี้เป็นของใคร และ เกิดขึ้นในเวลาใด

Thailand  Pavilion | “โลกยังคงหมุนไป” (The Revolving World)

ณ บริเวณหน้าทางออก (และทางเข้า) ของ Giardini เราจะพบกับ InParadiso Gallery ซึ่งเป็นสถานที่จัดแสดงงานของ Pavilion ประเทศไทย  โดยปีนี้ได้จัดนิทรรศกาศ “โลกยังคงหมุนไป” (The Revolving World) เพื่อบอก เรื่องเล่า และ ประวัติศาสตร์ชาติไทย ด้วยผลงาน ของศิลปินไทย 3 ท่านได้แก่ สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พศ 2560,  ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี พศ 2557 และ กฤช งามสม ศิลปินบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2018  

ถึงแม้ว่าผลงานของทั้ง 3 ท่านนั้นจะมีท่วงทำนองที่แตกต่างกัน แต่ก็สามารถสื่อสารแก่นของนิทรรศการได้เป็นอย่างดี เราขอนำเสนอผลงานศิลปะสุดเด็ดของแต่ละท่าน โดยเริ่มจาก สมศักดิ์ เชาวน์ธาดาพงศ์ ที่นำเสนอผลงานภาพพิมพ์บนกล่องไฟ  “P E A C E”  ที่พิมพ์ภาพไว้ทั้งสองด้าน โดยด้านหนึ่งเป็นภาพสีอะคริลิค ที่วาดจาก ภาพถ่ายบริเวณเส้นทางรถไฟสายมรณะ  จังหวัด กาญจนบุรี จำนวน 5 ภาพ ส่วนอีกด้าน ใช้ภาพของหน้ามาทำเทคนิคสลับสี Negative และ ใส่ตัวอักษรคำว่า PEACE หนึ่งอักษรต่อหนึ่งภาพ เผื่อที่ต้องการสื่อสารว่าถึงเหตุการณ์การก่อสร้างทางรถไฟสายนี้ในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งแรงงานเชลยศึกฝ่ายสัมพันธมิตรและกรรมกรชาวเอเชียต้องทำงานก่อสร้างในสภาพแวดล้อม ที่เต็มไปด้วยความแร้นแค้นและทารุณจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยศิลปินรุ่นใหญ่ท่านนี้ใส่คำว่า P E A C E ไว้ด้านหลัง เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ความโหดร้ายของสงคราม และ สันติสุข (PEACE) นั้นเป็นเหมือนเส้นขนานที่ยากจะบรรจบกัน

ผลงาน P E A C E ด้านหน้า
ผลงาน P E A C E ด้านหลังที่มีตัวอักษร 1 ตัว ต่อ 1 ภาพ

ทางด้าน ปัญญา วิจินธนสาร ที่ทำให้ผู้ชมชาวต่างชาติถึงกับทึ่งด้วยผลงาน “A Half Past Six” ผลงานการจำลอง หอไตร วัดบางแคใหญ่ จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังที่ตกแต่งภายในวัดนั้น วาดขึ้นในปี ค.ศ. 1787 ระหว่างรัชสมัยของรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นช่วงที่ สยาม ต้องรับมือกับสถานการณ์ การล่าอาณานิคมจากตะวันตก โดยกลางห้องจะเห็นประติมากรรมหุ่นทหารที่ยืนถือปืน และด้วยทักษะขั้นสูงของศิลปินแห่งชาติท่านนี้ ทำให้ระหว่างที่เราชมงานอยู่นั้น พบว่ามีชาวต่างชาติเป็นจำนวนมากเข้ามาชม และ แยกไม่ออกเลยว่าผลงานที่วาดขึ้นมาใหม่ของ ปัญญา นั้น เป็นของใหม่ หรือ ของเก่าเมื่อ 200 กว่าปีที่แล้วกันแน่ เราลองไปชมผลงานชิ้นนี้กัน

ผลงานที่ดูเหมือนจะสะดุดตาผู้ชมชาวต่างประเทศมากที่สุดใน Thai Pavilion หนีไม่พ้นผลงาน Cabinet of History, 2019 ของ กฤช งามสม ผลงานประติมากรรม Kineitc Art ประดับไฟ LED ที่มีกลไกซ่อนไกอยู่ภายในทำให้องค์ประกอบต่างๆอย่างเช่น ชิงช้าสวรรค์ หรือ ช้างหมุน สามารถขยับได้ ซึ่งเรื่องราวเบื้องหลังตู้แห่งประวัติศาสตร์นี้มีทีมาที่ไปอย่างไร กฤช ได้เล่าให้เราฟังว่า 

“พอได้โจทย์มา เป็นเรื่องของ เวลาและประวัติศาสตร์ ผมนึกย้อนไปถึงสมัย การเปลี่ยนถ่ายวัฒนธรรมระหว่างไทยกับอิตาลี ในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งท่านได้เคยเสด็จประพาส มาที่เทศกาลศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 2 และ หลังจากนั้นศิลปินจากอิตาลีหลายท่าน อาทิ มาริโอ มาญโญ, อันนิบาเล ริกอตติ หรือ กาลิเลโอ คีนี  ได้เข้ามามีส่วนในการออกแบบและตกแต่งแต่งภายในอาคารต่างๆในประเทศไทย อาทิ สถานีรถไฟหัวลำโพง และ ตึกไทยคู่ฟ้าทำเนียบรัฐบาล ผมจึง อยากสร้างตู้เก็บความทรงจำแห่งประวัติศาสตร์ และ ความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมระหว่างไทย -อิตาลี เลยกลายออกมาเป็นผลงานชิ้นนี้”

 

Icelandic  Pavilion | Chromo Sapiens 

จาก Giardini นั่งเรือข้ามมาที่เกาะ Giudecca เราจะได้พบกับผลงานของศิลปิน Hrafnhildur Arnardóttir หรือ Shoplifter ที่เปลียนโฉมของโกดังเก่าที่แต่เดิมเอาไว้เก็บเบียร์และไวน์ ให้เป็นโลกภายในของพุงสัตว์ประหลาด ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับถ้ำที่เพดาน และ ผนังรอบด้าน ตกแต่งไปด้วยเส้นขนสังเคราะห์หลากสีสัน อีกท้ังภายในพุง ยังเปิดเสียงเพลงบรรเลงที่ฟังแล้วให้ความรู้สึกประหนึ่งอยู่ในแดนสนธยา แถมในบางจังหวะยังมีเสียงทุ้มใหญ่ราวกับเจ้าสัตว์ประหลาดตัวมหึมากำลังกระแอมอยู่ในลำคอ  

 Shoplifter เป็นศิลปินชาว ไอซ์แลนด์ ที่ทำงานอยู่ใน New York เธอมีความหลงใหลในวัสดุเส้นขน(ทั้งแบบธรรมชาติ และ แบบสังเคราะห์) เธอได้เล่าถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบผลงาน Chromo Sapiens ไว้ว่า เธออยากจะให้ Homo Sapeins (มนุษย์ในยุควิวัฒนาการปัจจุบัน) ได้กลายเป็น Chromo Sapiens ซึ่งนั้นหมายความว่าผู้ที่เข้ามาชมผลงานทุกท่าน จะเป็นจุดเริ่มต้น และ จุดมุ่งหมายในการเดินทาง ของงานศิลปะชิ้นนี้ 

หลายคนอาจจะคิดว่าคำอธิบายของเธอนั้นฟังแล้วดูมึนงง ซึ่งไม่ต่างอะไรกับประสบการณ์ในการชมงานของเธอ ที่ชมแล้วต้องบอกว่ามึน…มึนไปด้วย ความสวยงามของสีสันราวกับว่าเธอได้สร้างพื้นที่เหนือกาลเวลาในพุงของสัตว์ประหลาดตัวนี้แล้วจริงๆ  (หรือผู้ชมที่อยู่ในนั้น อาจจะเดินทางผ่านกาลเวลา วิวัฒนาการ เป็น Chromo Sapiens ไปแล้ว…ก็เป็นได้)

Lithuania Pavilion | Sun & Sea (Marina)

ในทุกๆปีงาน Biennale Arte จะมีการมอบรางวัล Golden Lion for Best National Participation ซึ่งมอบให้แก่ประเทศที่นำเสนอ Pavilion ได้ตรงใจคณะกรรมการผู้จัดงานมากที่สุด โดยในปีนี้ ผู้ที่คว้ารางวัลอันทรงเกียรตินี้ได้แก่ประเทศ Lithuania ที่ได้เสียงชื่นชมเสียงชื่นชมจากทั้งศิลปิน และ สื่อจากนานาประเทศมากมาย

ทางเข้า Marina Militare Complex

อาคารริมน้ำ Marina Militare Complex ซึ่งอยู่ติดกับบริเวณ Aresenale ซึ่งหากมองจากภายนอกแล้วลักษณะอาคารไม่ได้แตกต่างจากอาคารทั่วๆไปในเวนิส แต่เมื่อเข้าไปชมงาน เราต้องตะลึงกับเมื่อได้เห็นหาดทรายจำลอง พร้อมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆติดตั้ง ไว้ชั้นที่ล่าง โดยผู้ชมงานจะมองลงมาได้แบบ Bird Eyes View บ้านและสวน ได้สอบกับเจ้าหน้าที่ดูผู้ดูแลผลงานศิลปะชิ้นนี้ ทำให้เราทราบว่า ผลงานชิ้นจริงๆแล้วคือสถานที่การแสดงศิลปะการแสดงสด โดยทุกวันพุธ และ เสาร์ จะมีนักแสดงราว 20 ชีวิต มาร้องเพลงแสดงโอเปรากันแบบสดๆ ในอริยาบถแบบเที่ยวชายหาด ไม่ว่าจะนอนเองกายอยู่บนเก้าอี้ชายหาด นั่งก่อกองทราย หรือ นอนคุยกัน ส่วนวันไหนที่ไม่มีการแสดง เราก็จะได้เห็นร่องรอยของการแสดง ประกอบทำนองเพลงที่ใช้ในการแสดงสด(ในรูป) ซึ่งเป็นอีกอรรถรสหนึ่งของการชมผลงานศิลปะนี้

บรรยากาศเมื่อมีนักแสดง Photo Courtesy to © Andrej Vasilenko

เนื้อร้องประกอบการแสดงโอเปรา ที่แขวนไว้ให้ผู้ชมงานได้อ่าน
บทเพลงการแสดงโอเปรา ในรูปแบบแผ่นเสียง ราคา 28 Euro หรือ ประมาณ 965 บาท

ผลงานสุดสร้างสรรค์นี้เกิดขึ้นโดยศิลปิน จาก 3 สาขา Rugilė Barzdžiukaitė ผู้กำกับภาพยนตร์ และ ละครเวที, Vaiva Grainytė นักเขียนบทละคร และ Lina Lapelytė นักแต่งเพลง ซึ่งได้ร่วมกันจำลองภาพชีวิตประจำวันของมนุษย์บนชายหาดในสถานที่ที่ไม่มีใครคาดคิด และ ยังแฝงเรื่องราวเกี่ยวกับ การตระหนักถึงสภาวะสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันที่กำลังเป็นปัญหา(ในบทเพลงโอเปร่า) เราลองไปชมตัวอย่างของการแสดงนี้กัน

เบื้องหลังของผลงานระดับรางวัลสิงโตทองคำชิ้นนี้

เราขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามมาถึงช่วงท้ายนี้ จากงานเวนิส เบียนนาเล่ ครั้ง 58 หรือ Biennale Arte 2019 เราได้เห็นแล้วว่าศิลปินจากประเทศต่างๆเลือกที่จะตีความสภาวะการที่พวกเราทุกคนต่างต้องประสบกับปัญหา ไม่ว่าจะปัญหาใหญ่หรือเล็กในชีวิตประจำวัน ซึ่งสุดท้ายแล้วอยู่ที่ตัวเราเองว่า เราจะเลือกมองโลกมุมไหน และ มีความสุขกับชีวิตได้อย่างไร โดยที่ไม่ต้องถูกเหนี่ยวรั้งไว้ด้วยคำสาบแห่งกาลเวลา

 

เรื่อง ภาพ และ วิดิโอ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

ท่านสามารถรับชมรายงานพิเศษ “เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 58 ความงามของศิลปะ กับ คำสาบแห่งกาลเวลา : ตอนที่ 1 ได้ที่นี่”