บ้านชายคายาวป้องกันแดด และแก้ข้อจำกัดแปลนรูปตัว U ด้วยคอร์ตโปร่ง
แม้ว่าเส้นสายที่เรียบเท่และชัดเจนจนดูโดดเด่นของบ้านสไตล์โมเดิร์น มักสร้างความประทับใจเมื่อแรกเห็นได้ดีเสมอ โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ๆ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภูมิปัญญาเชิงสถาปัตยกรรมท้องถิ่น ที่ผ่านการวิเคราะห์ศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม หรือภูมิอากาศเฉพาะถิ่นนั้นก็ยังเป็นแนวปฏิบัติที่ใช้ได้ดีจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหากนำข้อดีทั้งสองอย่างมาเชื่อมต่อผสมผสานให้กลมกล่อม ก็น่าจะเป็นทางเลือกของ บ้านไทยโมเดิร์น ที่ปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยได้ดีทีเดียว
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Normal Practice
เหมือนบ้านที่จังหวัดลพบุรีหลังนี้ คุณดีม-อุษวิช พันธ์วุฒิกร ต้องการสร้างขึ้นเพื่อให้คุณพ่อคุณแม่ได้อาศัยอยู่ภายใต้วิถีชีวิตสมัยใหม่ รูปแบบแรกที่เขาคิดถึงจึงเป็นบ้านสไตล์โมเดิร์น จนเมื่อได้พูดคุยปรึกษากับ คุณบูม- รัฐภรณ์ สุชาตานนท์ แห่ง NORMAL PRACTICE ผู้เป็นสถาปนิกแล้ว ก็เกิดแนวคิดถึงบ้านอยู่สบายแบบไทยๆ เข้ามาผสมผสาน ซึ่งเมื่อผนวกความชอบทั้งใหม่และเก่ารวมกันเข้า จึงกลายเป็นบ้านชั้นเดียวสไตล์รีสอร์ตที่ดูทันสมัยพร้อมกับสระว่ายน้ำที่มาช่วยเพิ่มความผ่อนคลาย
“ผมมีที่ดินเปล่าตั้งแต่สมัยคุณตา บ้านเดิมที่อยู่ในพื้นที่นี้ก็เก่าทรุดโทรมมาก เลยอยากสร้างบ้านหลังใหม่ให้พ่อกับแม่ เพราะผมทำงานอยู่อีกที่หนึ่ง ไม่ค่อยมีเวลาอยู่บ้านตรงนี้หรือชวนพ่อกับแม่ไปไหน และปกติท่านก็ชอบอยู่บ้านมากกว่า เลยคิดว่าทำบ้านให้เหมือนรีสอร์ตเลยก็ดี พ่อกับแม่จะได้รู้สึกผ่อนคลายเวลาได้อยู่บ้านทั้งวัน“
คุณบูมเล่าถึงแนวคิดการออกแบบไว้ว่า “ผมออกแบบแปลนบ้านเป็นรูปตัวยู (U) ในขนาดพื้นที่ใช้สอย 700 ตารางเมตร แล้วใช้วิธีคิดถึงปัญหาหรือข้อจำกัดของอาคารรูปทรงนี้ก่อนว่าจะแก้ไขด้วยงานออกแบบได้อย่างไรบ้าง แทนที่จะไปคิดถึงแต่คอนเซ็ปต์ เพราะบ้านรูปตัวยูนั้นมีสเปซค่อนข้างกว้าง เลยต้องกระชับพื้นที่เพื่อให้ผู้อาศัยมองเห็นกันได้อย่างอุ่นใจ หรือหาวิธีเปิดช่องให้ลมหมุนเวียนได้ดี ไม่อย่างนั้นตัวอาคารจะปิดทึบจนร้อน แล้วเปิดสเปซว่างเพื่อจัดวางฟังก์ชันเข้าไป โดยแยกให้ชัดเจนระหว่างฝั่งรับแขกนั่งเล่นกับฝั่งที่เป็นส่วนตัว“
นอกจากแปลนบ้านรูปตัวยูแล้ว คุณบูมยังนำองค์ประกอบของหลังคารูปทรงจั่วแบบบ้านไทยมาใช้ แต่เป็นจั่วที่มีองศาเชิดสูงโดดเด่นดูแตกต่างจากหน้าจั่วบ้านไทยอย่างชัดเจน
“เรามีหลังคาทรงจั่วไทยอยู่หลายแบบ แต่การใส่หน้าจั่วตรงๆ สำหรับบ้านนี้จะดูไม่สวย เพราะด้วยทิศทางการมองหลังคาบ้านจะมีรูปทรงแตกต่างกันไปในแต่ละด้าน อย่างด้านข้างดูเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า หลังคาที่เหมาะกับอาคารแนวยาวคือหลังคาเพิงหมาแหงน (Lean to roof) ขณะที่หน้าบ้านซึ่งหันไปทางทิศใต้ ได้รับลมก็จริงแต่จะมาพร้อมกับแดด หลังคาจั่วหน้าบ้านจึงต้องช่วยป้องกันแดดด้วย ทำให้ต้องมีชายคาที่ยื่นยาวขึ้น แต่ออกแบบให้ยื่นยาวเฉพาะปลายยอดหลังคา และที่ต้องเชิดหลังคาขึ้นอีกก็เพื่อเปิดพื้นที่หน้าบ้านให้เป็นสเปซต้อนรับ ทำให้เกิดมุมมองที่ดูร่วมสมัยขึ้นและยังตอบโจทย์เรื่องฟังก์ชันได้ด้วย“
หลังคาจั่วที่เชิดสูงจึงไม่เพียงแต่ช่วยป้องกันแสงแดดทางทิศใต้ แต่ยังสร้างสุนทรีที่เป็นเอกลักษณ์ให้บ้าน รวมทั้งส่งต่อถึงองค์ประกอบของงานออกแบบตัวอาคารด้านในอย่างต่อเนื่อง และเมื่อตัวอาคารเป็นรูปตัวยูจึงเกิดพื้นที่กลางบ้านซึ่งเป็นคอร์ตโล่งสำหรับเติมฟังก์ชัน ของสระว่ายน้ำและต้นไม้หลักเข้าไป ส่งผลให้ต้องออกแบบผนังรอบบ้านด้านในนี้ให้เป็นกระจกโปร่งโดยรอบ เพื่อเชื่อมมุมมองภายในออกมาสู่ภายนอกทั้งหมด
ขณะเดียวกันคุณบูมยังออกแบบสเปซที่ลื่นไหลจากภายนอกไปสู่ภายในให้รูปทรงและเส้นสายล้อกันด้วย เช่น งานสถาปัตยกรรมที่สะท้อนรูปทรงของฝ้าภายใน ซึ่งเปิดให้เห็นโครงเหล็กทรงจั่วรับกัน แต่ลดทอนความแข็งกระด้างของวัสดุด้วยงานไม้ เพิ่มคาแร็กเตอร์ของความเป็นไทยเข้าไปผสมผสาน กลมกลืนไปกับดีไซน์ของเฟอร์นิเจอร์ที่เน้นรูปทรงเรียบง่ายแบบโมเดิร์น แต่ผสมด้วยวัสดุไม้เพิ่มสัมผัสให้ผ่อนคลาย
คุณดีมบอกถึงเหตุผลว่า “เพราะผมไม่ค่อยได้มาอยู่มากเท่าพ่อกับแม่ เลยอยากเน้นให้เรียบโล่ง ดูแลรักษาง่ายๆ เฟอร์นิเจอร์บางส่วนก็เอามาจากบ้านเดิมผสมกัน โดยปกติผมจะพาลูกชายมาว่ายน้ำเล่นในสระช่วงวันเสาร์–อาทิตย์ เวลาขึ้นจากสระก็สามารถแยกเข้าห้องนอนได้เลย สะดวกดี เพราะมีสระว่ายน้ำเป็นศูนย์กลาง และก็รู้สึกสบายเหมือนเป็นรีสอร์ตส่วนตัว แถมได้อยู่พร้อมหน้ากับพ่อและแม่ด้วยครับ“
Thai Modern ทันสมัยแบบไทย
บ้านสวย ก.ค.62
ที่ตั้ง: จังหวัดลพบุรี
เจ้าของ: คุณอุษวิช พันธ์วุฒิกร
ออกแบบ – ตกแต่ง : NORMAL PRACTICE โดยคุณรัฐภรณ์ สุชาตานนท์ โทรศัพท์ 09-1789-5693
ออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม : Lana Studio
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์, ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล
สไตล์: Jeedwonder
ผู้ช่วยสไตลิสต์: มนสิการ เพชรรัตน์, วริศรา ทิพย์ธารัตน์, ทศวรรษ นวานุช
เรื่องที่น่าสนใจ