เปิดประตูสู่ 11 ห้องสุดอาร์ต ใน Hotel Art Fair 2019

เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในไฮไลท์นิทรรศการศิลปะของเดือน มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา กับ Hotel Art Fair 2019 – Breaking Boundaries” ซึ่งได้จัดขึ้นที่ โรงแรม W Hotel Bangkok ระหว่างวันที่ 21-23 มิถุนายน 2562 ในปีนี้ Hotel Art Fair ได้เดินทางมาถึงปีที่ 6 แล้ว โดยทางฟาร์มกรุ๊ปผู้จัดนิทรรศการนี้ เปิดเผยว่าปีนี้มีผู้เข้าชมมากที่สุด กว่า 5,000 คน ตั้งแต่ได้เริ่มจัดงานเป็นครั้งแรกในปี 2556

ห้องพักในชั้น 7 และ 8 ของโรงแรมรวม 36 ห้อง ได้กลายสภาพเป็นห้องแสดงผลงานศิลปะ ของ 36 ศิลปิน และ แกลลอรี่ชื่อดังจากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจำนวนนี้รวมถึงแขกรับเชิญสุดพิเศษ ได้นำผลงานสุด Exclusive มาแสดง ซึ่งต้องบอกว่าหาชมได้ไม่ง่ายนัก จะมีใครบ้างไปชมกัน

ห้อง 714: นิธิ สถาปิตานนท์ 

นิธิ สถาปิตานนท์ ผู้ก่อตั้ง บริษัทสถาปนิก 49 (A49)  และ ศิลปินแห่งชาติ สาขา ทัศนศิลป์ (ศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบร่วมสมัย)) ประจำปี พ.ศ. 2545

ไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็น Collection ภาพวาดสายเส้น มารวมกันเป็นจำนวนมากขนาดนี้ ของ นิธิ สถาปิตานนท์ ผู้ก่อตั้ง บริษัทสถาปนิก 49 (A49)  และ ศิลปินแห่งชาติ สาขา ทัศนศิลป์ (ศิลปะสถาปัตยกรรม (แบบร่วมสมัย)) ประจำปี พ.ศ. 2545 ซึ่งนอกจาก ฝีมือการออกแบบงานสถาปัตยกรรมซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติแล้ว ฝีไม้ลายมือในการวาดเส้นนั้นไม่เป็นรองความสามารถการออกแบบเลยทีเดียว โดยปัจจุบัน นิธิ ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่หลังเกษียณ วาดภาพลายเส้นเหล่านี้ ที่ส่วนมากจะเป็นเรื่องราวของวิวทิวทัศน์ ธรรมชาติ และ สัตว์ต่างๆ ซึ่งหากใครได้เคยชมภาพจริงต้องบอกได้ว่า ผลงานของ นิธิ เก็บรายละเอียดได้ …ละเอียดมากๆ

“ผมใช้เวลาวาดประมาณ 7-10 วันต่อหนึ่งภาพ โดยเลือกใช้ปากกาหัวเล็กที่สุด เท่าที่ผมจะหาได้ ขนาด 0.005 มม และจะใช้เส้นขนาดเดียวกันตลอดทั้งภาพ กว่าจะได้ภาพนึง ปากกาหมึกหมดไปหลายแท่ง (หัวเราะ) ผมรู้สึกว่าถ้าเปลี่ยนหัวปากกาไปมา มันจะทำให้เส้นเดี๋ยวใหญ่บ้าง เล็กบ้าง ภาพโดยรวมมันจะดูแข็งๆ”  นอกจากนี้เขายังอธิบายว่าสำหรับภาพสีเขาจะ ร่างเส้น แล้วลงสีน้ำเบาๆ ไม่ต้องหนามาก เพื่อรักษาลายเส้นให้ยังคงอยู่ไม่ให้จมลงไปกับสี ด้วยเหตุผล ที่ว่า “เสียดายลายเส้น” 

เราได้ถามศิลปินแห่งชาติท่านนี้ต่อไปว่า ความรู้สึกที่ได้มาทำงานศิลปะวาดเส้นเช่นนี้ ต่างจากที่ทำงานเคยทำงานเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมอย่างไร

“ตอนเป็นสถาปนิก ผมออกแบบงาน เขียนงาน เพื่อลูกค้า มันมีแรงกดดันและข้อจำกัดพอสมควร ผิดกับตอนเขียนรูปที่ผมมาทำตอนเกษียณแล้ว ผมอยากเขียนอะไรก็เขียน ไม่ต้องมานั่งคิดถึงเรื่องกำหนดเวลา เรื่องเงินเรื่องทอง อยากเขียนอะไรก็เขียน มันสบายใจกว่ากันเยอะ”

ห้อง 712: ภูริน พานิชพันธ์

ภูริน พานิชพันธ์ ศิลปินไทยที่บินตรงมาจากซานฟรานซิสโก เขาเป็นนักออกแบบมากความสามารถที่ทิ้งตำแหน่งงานที่ไมโครซอฟท์ ออกมาตามหาฝันในเส้นทางสายการออกแบบและศิลปะอย่างเข้มข้น ในงานนี้เขาเปลี่ยนบรรยากาศของห้อง 712 ให้เป็นโลกแห่งโทน ขาว-เทา-ดำ ซึ่ง ภูริน ได้พาเราชมผลงานทีละชิ้นพร้อมกับอธิบายแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังซึ่งต้องบอกว่าน่าสนใจมากๆ

เมื่อนึกถึงคำภาษาอังกฤษที่ประกอบไปด้วยตัวอักษร 4 ตัว คุณนึกถึงคำว่าอะไร?

ผลงาน Four Letter Word (คำที่มีอักษร 4 ตัว) เป็นผลงาน interactive ที่ผู้ชมสามารกดคียบอรด์พิมพ์อักษรให้ปรากฏบนหน้าจอ โดยมีทั้งหมด 4 จอด้วยกัน ภูรินเล่าให้ บ้านและสวน ฟังว่า

“ในภาษาอังกฤษ เมื่อพูดถึง Four Letter Word คนมักจะถึงนึกคำๆนั้น (คำที่เริ่มต้นด้วยตัว F) แต่จริงๆแล้วมันมีคำอื่นๆอีกมากมายที่มีความหมายดีๆ อย่างเช่น L O V E หรือ H O P E ซึ่งตอนผมคิดงานชิ้นนี้ผมนึกไปถึงว่า เวลาที่คนมาชมงานเยอะ แบบมาเป็นกลุ่มเขาอาจจะกดเปลี่ยนคำกันไปมา ซึ่งจะก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กันระหว่างคนที่มาชมงาน และ งานที่พิมพ์ไว้ก่อนหน้านี้อาจจะมีอิทธิพลต่อคนที่จะมาชม (หรือกดเล่น) คนต่อไป  ”

เหตุผลที่ ภูรินเลือกใช้ โทน ขาว เทา ดำ ในครั้งนี้ เป็นเพราะว่าเขาต้องการให้ ผู้ชมได้โฟกัสแนวคิดที่อยู่เบื้องหลังของงาน อีกทั้งเขาต้องการให้ผลงานดูเรียบง่ายเพื่อสื่อถึงแก่นของงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น

ผลงาน “ความจริง”  ผลงานที่นำเสนอความหมายแฝงไว้อย่างมีขั้นเชิง เพราะเมื่อเรามอจากตรงกลาง(ภาพบน) เราจะเห็น คำว่าความจริง ล้อมรอบไปด้วยสีขาวและสีดำ แต่หากมองจากมุมขวา(ภาพข้างล่าง) เราจะทุกอย่างเป็นสีขาว เช่นกันเมื่อเรามองจากมุมซ้าย ทุกอย่างจะกลายเป็นสีดำ

“ผลงานชิ้นนี้ใช้เวลาสร้างเกือบ 80 ชั่วโมง โดยการพับกระดาษแผ่นเล็กๆแล้วนำมาเรียงต่อกัน จริงๆผมอยากให้คนได้ดูผลงานนี้ทั้งสองมุม แล้วจะเห็นว่า งานชิ้นเดียวกันแต่ถ้ามองต่างมุม สิ่งที่เห็นก็จะต่างกันไปอย่างสิ้นเชิง ” ภูริน กล่าวถึงผลงานชิ้นนี้

ภาพ: สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

 

ห้อง 701: ARTIST + RUN

อังกฤษ อัจฉริยโสภณ แห่ง ARTIST+ RUN

ปีนี้เป็นครัั้ง 4 แล้ว ที่ ARTIST+RUN ได้มาร่วมในงาน Hotel Art Fair ซึ่งในห้องนั้นเรียงรายไปด้วยผลงานศิลปะนามธรรม ซึ่ง อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ศิลปินผู้เป็นเจ้าของแกลลอรี่ นี้ ได้พูดคุยเกี่ยวกับ บ้านและสวน อธิบายถึงเสน่ห์ของผลงานเชิงนามธรรมที่เขาหลงใหล

“ผลงานที่เอามาวันนี้ส่วนมากเป็นผลงาน Abstract เกือบทั้งหมด อย่างเช่นผลงานของ อ.สมยศ หาญอนันทสุข, อ.ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์ หรือ มิตร ใจอินทร์ ซึ่งหลักการเลือกผลงานมาแสดงก็ไม่มีอะไรมาก เลือกชิ้นที่่ตัวเองชอบ (หัวเราะ) ผมคิดว่างาน Abstract นั้นมันดูได้นาน มันไม่มีกรอบของกาลเวลา มันไม่เชยไม่เก่า โดยที่ไม่ต้องมาเล่าเรื่องอะไร ผมว่าการตัดสินใจ การหยุด การทอน หรือ การสร้าง Layer (ชั้น)ของสี มันบอกบุคลิกลักษณะของศิลปินแต่ละคน โดยที่ไม่ได้ผ่านเรื่องราวหรือความคิด แต่มันเป็นความรู้สึกที่ค่อนข้างเพียว อย่างการวาดรูปทรง อย่างเช่น คน หรือ ต้นไม้ มันต้องผ่านความคิดที่เป็นตรรกะ แต่ศิลปินที่ทำงาน Abstract ไม่ได้ใช้ตรรกะแบบนั้น ซึ่งผมว่ามันทำให้ศิลปะ Abstract เป็นสิ่งที่ไม่ล้าสมัย และ มีเสน่ห์มากๆ”

ผลงานสีน้ำมันบนผ้าใบของ มิตร ใจอินทร์ จากชุดผลงาน WETT ที่ อังกฤษ ได้เล่าให้ฟังถึงเบื้องหลังกว่าจะเป็นผลงานชิ้นนี้คือ ศิลปินจะวางผ้าใบขนานกับพื้น จากนั้น โบกสีเข้าไปแล้วทิ้งไว้จนแห่ง จึงได้คราบของสีและน้ำมันที่แห้งติดผ้าใบ จนกลายมาเป็นผลงานศิลปะชิ้นนี้

 

ห้อง 703: Clear Gallery Tokyo

เมื่อเราก้าวเข้ามาในห้องของ Clear Gallery Tokyo จากประเทศญี่ปุ่น เราได้พบกับศิลปินสองท่านที่นำผลงานมาร่วมแสดงในห้องนี้ ท่านแรกไม่ใช่ใครที่ไหน พิชัย แก้ววิชิต วินมอไซค์ย่านราชเทวี ที่ได้โชว์ฝีมือการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม และ ภูมิทัศน์ของเมือง ไปเมื่อเดือนมีนาคม 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบัน พิชัย ได้อัพเดทกับเราว่า ในวันที่เขาไม่ต้องไปพูดคุย หรือ ทำงานเกี่ยวกับศิลปะ ปัจจุบันก็ไปยังทำงานที่วินอยู่

พิชัย แก้ววิชิต กับ ภาพถ่ายของเขาที่เล่นกับ เส้น สี และ รูปทรงที่ชัดเจน

นท พนายางกูร นักร้องเสียงดีที่หลายท่านคงได้เคยฟังเพลงของเธอไปแล้ว มาวันนี้ นท มาในบทบาทของจิตรกร ที่วาดรูปด้วยลมหายใจ …ท่านไม่ได้อ่านผิด …ไม่ได้วาดด้วยมือ แต่วาดด้วยลมหายใจ  ซึ่งจะเป็นอย่างไร ไปฟังจากเจ้าตัวกันครับ

“มันเริ่มมาจากว่า นท อยากจะวาดภาพโดยไม่ใช้มือ แต่อยากใช้หัวใจและความรู้สึกวาดภาพ เลยนึกได้ว่าที่มหาวิทยาลัยเคยสอนประกอบมอเตอร์ เลยไปซื้อชิ้นส่วนมาแล้วให้รุ่นน้องมาช่วยเขียนโปรแกรมลงบอร์ด Arduino เพื่อทำให้มอเตอร์ขยับเมื่อได้รับแรงดันจากลมหายใจ ซึ่งภาพที่ได้ออกมานั้นจะเป็นภาพเชิงนามธรรม นท คิดว่า มันเป็นภาพที่สามารถทิ้งพื้นทางความคิดให้คนตีความได้ต่อไปอีกมาก”

โดย นท ยังบอกกับเราอีกว่า โดยปกติเธอจะใช้สีอะคริลิค 3-5 สี ซึ่งบีบไว้ก่อนบนผ้าใบ  จากนั้นเมื่อกลไกทำงานพู่กันก็จะปาดสีบนผ้าใบ เพื่อให้เห็นภาพการทำงานศิลปะลักษณะนี้มากยิ่งขึ้น ลองไปชมคลิปที่ นท กำลังวาดภาพด้วยลมหายใจกัน

 

ห้อง 705: Joyman Gallery

ที่ห้องนี้เราได้พบกับผลงานศิลปะสีสันสดใสจากหลากหลายศิลปิน หนึ่งในนั้นคือ  เทิดธันวา คะนะมะ ลูกชายของ อ.ธีระวัฒน์ คะนะมะ  1 ใน 8 ศิลปินที่ได้ร่วมเขียนภาพประกอบพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ฝีมือจิตรกรรมไทยแบบประเพณี ของ อ.ธีระวัฒน์ นั้นอยู่ในระดับแนวหน้าของประเทศ เราไปคุยกับ เทิดธันวา กันว่าสไตล์การสร้างผลงานของเขานั้นจะเหมือน หรือ แตกต่างจากคุณพ่อ ธีระวัฒน์ อย่างไร

เทิดธันวา คะนะมะ กับผลงานภาพวาด “พ่อ กับ ผม” ที่สะท้อนถึงความสัมพันธ์ในบางมุมระหว่างตัวเขากับคุณพ่อ

“โดยส่วนตัวแล้วผมชอบ Modern Art (ศิลปะสมัยใหม่) แต่เลือกเรียนศิลปะไทย เพราะว่าผมอยากจะผสมผสานแนวความคิดของศิลปะสองประเภทนี้ ผมคิดว่างานศิลปะไทยแบบประเพณีนั้นอยู่สูง คนจับต้องได้อยาก ผมอยากจะลองผสม Pop Art หรือ Graffiti เข้าไปด้วยดู เพื่อหาจุดตรงกลางของมัน ซึ่งตอนแรกๆที่ผมลองผสมงานสองประเภทนี้เข้าด้วยกัน มันเหมือนสีคู่ตรงข้ามที่เราลองเอามาชนกัน แต่มันไม่เข้ากันเลย เลยลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ จนได้คำตอบว่า ต้องเริ่มจากการหาจุดเชื่อมโยงระหว่างกันก่อน แล้วจากนั้นก็ค่อยพัฒนาจากตรงนั้นมาเรื่อยๆ”

เราถามต่อว่า เมื่อศิลปะไทยแบบประเพณีซึ่งเป็นแนวถนัดของคุณพ่อ มีองค์ประกอบของวัฒนธรรมสมัยใหม่อย่างเพลง Hiphop หรือ Graffiti หรืออะไรพวกนี้เข้าไปด้วย คุณพ่อว่าอย่างไรบ้าง

“ตอนแรกคุณพ่อก็ไม่เข้าใจเท่าไหร่ ก็พยายามให้คำแนะนำเราว่าควรลองแบบนั้นแบบนี้ แต่มันเหมือนกับว่าเราพูดกันละภาษา แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผมรู้สึกได้ตลอดว่าคุณพ่อห่วงใยผมเสมอ ที่เขาพูดเพราะเขารัก ผมเลยวาดภาพ “พ่อกับผม” เพื่อสื่อถึงเรื่องราวและความรู้สึกตรงนี้”

ภายในห้องของ Joyman Gallery ยังมีผลงานศิลปะนามธรรมในโทนสีร้อนแรง ของ กำศักดิ์ อติพิบูลย์สิน
Philosophy of Tree Miracle “รุกขปรัชญา” ชุดผลงานจิตรกรรมไทยขนาดเล็ก โดย สุบรรณกริช ไกรคุ้ม

อีก Highlight ของห้องนี้คือ ชุดผลงานจิตรกรรมไทยขนาดเล็ก Philosophy of Tree Miracle “รุกขปรัชญา” ของ สุบรรณกริช ไกรคุ้ม ที่เจ้าตัวเชื่อว่าผลงานขนาดเล็กนี้ จะทำให้ผู้ชมต้องพินิจพิจารณากับรายละเอียดและความสวยงามต่างๆ ซึ่งทั้งหมดที่เห็นนี้เป็นผลงานสีฝุ่นบนแผ่นไม้ ที่หลายชิ้นเสริมกลิ่นอายสุนทรีย์แบบไทยด้วยการลงรักปิดทอง ในบางผลงานดูเผินๆลายเส้นนั้นจะมีลักษณะคล้ายกับจิตรกรรมไทยประเพณีแต่ท่วาเรื่องราวหรือองค์ประกอบของภาพนั้นได้ใจแรงบันดาลใจจากผลงานศิลปะต่างประเทศ อย่างชิ้นที่ สุบรรณกริช กำลังถืออยู่นั้น วาดโดยใช้องค์ประกอบภาพจากเหตุการณ์สำคัญ ในศาสนาคริสต์  “แม่พระรับสาร” (Annunciation) ซึ่งเป็นเรื่องราวในพระวรสารนักบุญลูกา อธิบายถีงเหตุการณ์ที่ ทูตสวรรค์กาเบรียล ได้ส่งมาส่งสารให้พระแม่มารีย์ทราบว่าจะตั้งครรภ์พระบุตรพระเป็นเจ้า ซึ่งเหตุการณ์ Annunciation นี้ได้ถูกหยิบยกนำไปสร้างเป็นผลงานจิตรกรรมมากมายในช่วงศตววรษที่ 14-15 ในแวดวงการศิลปะตะวันตก ใน Version ของ สุบรรณกริช นั้นเขาต้องการสื่อถึงความสงบ ที่ให้เทพยดานางฟ้าต่างๆ(ไม่ว่าจะเทพไทย หรือ ฝรั่ง) สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ซึ่งจะเห็นว่าเมื่อสงบสุข ต้นไม้วิเศษที่เติมไปด้วยแก้วแหวนเงินทอง ไม่จำเป็นอีกต่อไป และ ด้านขวา(หลังนางฟ้าแบบไทย) ยังเผยฉากที่ซ่อนไว้เป็นภาพวาดจากภาพ Wanderer above the Sea of Fog ของ  Caspar David Friedrich เพื่อทำให้เห็นว่ามนุษย์ที่สุดแล้วของทุกศาสนานั้นก็ต้องการเพียงแค่ความสุข ประหนึ่งชายในภาพ ที่แค่มายืนดูหมู่มวลหมอกก็มีความสุขแล้ว

….ถึงขนาดผลงานจะขนาดเล็ก แต่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมายเลยทีเดียว

 

ห้อง 706: 333 GALLERY

ธริศา วานิชธีระนนท์ เจ้าของ 333 GALLERY

ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ 333 GALLERY ที่มีชื่อเสียงในการนำเสนอผลงานศิลปะของศิลปินเวียดนาม และ ไทย ได้มาร่วมแสดงานใน Hotel Art Fair โดย ธริศา วานิชธีระนนท์ เจ้าของ 333 GALLERY ได้เล่าให้ฟังถึงนิทรรศการในครั้งนี้ว่า

“เพื่อตอบโจทย์คำว่า Breaking Bourndaries ของงานนี้ เราเลือกนำ นำเสนอผลงานของศิลปิน Rookie รุ่นใหม่ของยุคนี้ทั้งหมด 8 ท่าน ซึ่งผลงานของแต่ละท่านนั้นแตกต่างกันมาก แทบไม่น่าจะมาอยู่รวมกันได้ เพื่อก้าวข้ามกรอบการจัดนิทรรศการแบบปกติ Gallery ซึ่งต้องเลือกแสดงผลงานของศิลปินที่มีเรื่องราว (Theme) ไปในทางเดียวกัน มาครั้งแรกนี้เราเลยอยากลองอะไรใหม่ๆดูบ้าง และ คิดว่าความหลากหลาย และ การจัดแสดงงานในห้องโรงแรมแบบนี้เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของ Hotel Art Fair”

นอกจากผลงานศิลปินไทย 8 ท่านแล้ว ยังมีผลงาน ศิลปะแลคเกอร์  จากศิลปิน เวียดนาม ซึ่งหาชมได้ไม่ง่ายนัก มาให้ชมกันอีกด้วย (สามภาพด้านล่าง)

ต้องซึ่งต้องบอกว่าศิลปินรุ่นใหม่ในห้องนี้นั้น เป็นศิลปินระดับมือรางวัลที่ฝีมือไม่ธรรมดา วันนี้เรามีตัวอย่างมาฝากกัน

ชื่อนี้คงไม่ต้องอธิบายอะไรกันมาก หากใครเป็นแฟนบ้านและสวนแฟร์ คงจะคุ้นหน้าคุ้นตากับศิลปินท่านนี้ อ.จักรี คงแก้ว ที่ปีแล้วได้มาเป็นวิทยากรใน BAB Workshop สอนทำภาพพิมพ์ ทั้งใน บ้านและสวนแฟร์ 2018 “Massclusive และ บ้านและสวนแฟร์ Midyear 2018  ในงานนี้ อ.จักรี ได้นำศิลปะภาพพิมพ์มาร่วมจัดแสดงด้วยเช่นกัน

รัตนา สุจริต หรือ “ตากลม” ศิลปินภาพพิมพ์ที่คว้ารางวัลจากทั้งในและต่างประเทศมามากมาย โดยแค่เฉพาะในปีนี้ เธอได้รางวัลจากโครงการประกวดศิลปะด้านภาพพิมพ์จากทั้งประเทศจีน และ อินโดนีเซีย ผลงานภาพพิมพ์ร่องลึกที่ใช้เทคนิค Aquatint ของตากลม นั้น เล่นกับแสงและเงาได้อย่างน่าสนใจ โดยผลงานขนาดใหญ่เธอ (วางแล้วยาวเกือบเต็มเตียง) ดึงดูดให้ผู้คนที่มาชมงานต่างต้องไล่ชมรายละเอียดของแสงเงาซึ่งเป็นผลงานที่ต้องอาศัยความชำนาญเป็นอย่างมาก

ธีรพล  สีสังข์ ผู้ชนะรางวัลชนะเลิศการประกวด “ศิลปกรรมช้างเผือก ครั้งที่ 8” ไปหมาดๆเมื่อต้นปีนี้ด้วยเทคนิคการสร้าง ผลงานประติมากรรมด้วยการถักเส้นใยโลหะทองแดง เงิน และทองคำ เมื่อนำเสนอร่วมกับการแสง ทำให้ผลงานศิลปะของเขาที่มีความละเอียด และ บางเบา ดูโดดเด่นมากยิ่งขึ้น

 

มาถึงจุดนี้เราเดินขึ้นมาที่ชั้น 8 ซึ่งยังมีงานศิลปะรอให้เราเข้าไปค้นหาอีกมาก เรามาเริ่มกันที่ห้อง 802 ซึ่งเป็นห้องของ หนึ่งในสอง Celebrity Guest Curators ภัณฑารักษ์พิเศษของ Hotel Art Fair ในปีนี้ (ท่านแรกคือ นิธิ สถาปิตานนท์ แห่ง A49)

ห้อง 802: ประณิธาน พรประภา

ประณิธาน พรประภา ผู้ก่อตั้งเทศกาล Wonder Fruit และหนึ่งในสอง Celebrity Guest Curators ภัณฑารักษ์พิเศษของ Hotel Art Fair ในปีนี้

ถ้าใครคุ้น กับเทศกาลดนตรี ศิลปะ และ ไลฟ์สไตล์ อย่าง Wonder Fruit ที่มักจะจัดช่วงปลายปี เมื่อเข้ามาในห้อง 802 แล้ว จะรู้สึกราวกับว่า เทศกาล Wonder Fruit ได้ย่อส่วนมาอยู่ในห้องนี้ ซึ่งบ้านและสวน ไม่รอช้าที่จะพาท่านไปพูดคุยกับ ประณิธาน พรประภา ผู้ก่อตั้งเทศกาล Wonder Fruit ไปฟังกันว่าเขานำอะไรมาแสดงในงานนี้บ้าง

“สำหรับวันนี้ผมมาในนามของ Wonder Fruit ซึ่งยังคง Concept ดนตรี ศิลปะ และ งานออกแบบ เพื่อทำให้คนตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม ใน Hotel Art Fair วันนี้ผมได้เปลี่ยนห้องพักให้กลายเป็นพื้นที่แสดงผลงานศิลปะจัดวางประกอบวิดิโออาร์ตและดนตรี ซึ่งเราได้นำผลงาน Puppet ประติมากรรมหุ่นขนาดใหญ่ที่สร้างจากขยะพลาสติก เจ้า 2 ตัวนี้ได้ไปเต้นในเทศกาล Wonder Fruit ปีที่ผ่านมา วันนี้เราลองเอามาจัดแสดงในห้องของโรงแรมดูบ้าง ”

ห้องนำภายในห้องพักของโรงแรมที่ถูกแปลงโฉมให้กลายเป็นสถานที่แสดงงานศิลปะ และ มุมผสมเครื่องดื่ม

ผลงาน Puppet ประติมากรรมหุ่นขนาดใหญ่ที่สร้างจากขยะพลาสติก ซึ่ง Puppet 2 ตัวนี้ได้ไปเต้นในเทศกาล Wonder Fruit ปีที่ผ่านมา วันนี้เปลี่ยนบรรยากาศมานั่งทักทายผู้ชมงานศิลปะบนเตียงในโรงแรม (ซึ่งหัวเกือบชนเพดาน)
ภายในห้องมีผู้ควบคุมแสงสีเสียง เปลี่ยนเพลงกันแบบสดๆ

ห้อง 804: ATCHALINEE

ห้องนี้เป็นห้องที่ 4 ศิลปิน เริ่มจาก 3 สาว(จากภาพซ้ายไปขวา) อัชลินี เกษรศุกร์, , อรอนงค์ แก้วสมบูรณ์, ต้องจิตต์ ต่อสุวรรณ และแขกรับเชิญหนุ่มหนึ่งเดียว ณเรศ จึง ทั้ง 4 ร่วมกันใช้ผลงานจิตรกรรม สร้างบรรยากาศในแนวคิด “Circus” ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งสีคนชื่นชอบ จะเป็นอย่างไรบ้างเราไปชมกัน

ภายในห้องที่เต็มไปด้วยภาพวาดสีสันสดใส ตุุ๊กตาสัตว์ และ ดอกไม้ ซึ่งสร้างบรรยากศของความสนุกได้เป็นอย่างดี
บนเตียงที่มีตุ๊กตากระต่ายซึ่งเข้ากับภาพ Portrait สไตล์ของ อัชลินี และ อรอนงค์

ณเรศ จึง ยังคงสไตล์ศิลปะหยิบยืม (Appropriation Art อธิบายคร่าวๆหมายถึง แนวคิดการสร้างงานศิลปะโดยหยิบยืมองค์ประกอบบางส่วนจากศิลปะชิ้นอื่นๆแล้วมาสร้างเป็นงานใหม่) ซึ่งงานเขาได้นำเสนอผลงานสีอะคริลิค 5 ภาพ ซึ่งในแต่ละภาพจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบต่างๆจากสิ่งที่เขาชอบและเกี่ยวเนื่องกับแนวคิด Circus จึงทำให้ได้ผลงานที่เต็มไปด้วย องค์ประกอบจากภาพ The Last Judgment ของ มีเกลันเจโล ที่วิหาร ซิสทีน อยุ่ร่วมเฟรมกับ ตัว การ์ตูน Billy Bat อุลตราแมน และ มังกรจีน(ที่เป็นของเล่นอยู่บนกรอบรูป และ วาดในภาพ)

ภายในบริเวณห้องน้ำนั้นเต็มไปด้วยผลงานสีน้ำบนผ้าใบของ ต้องจิตต์ ต่อสุวรรณ

ผลงาน Invisible 02 ที่เล่นมุมสะท้อนกับกระจกอ่างล้างหน้า
ผลงานของ ต้องจิตต์ นั้นมักจะสะท้อนมุมมองผ่านสัตว์ และ ดอกไม้ที่ปรากฏอยู่ในภาพ

ห้อง 814:  Spectrum

ในวันที่เราไปเยี่ยมชมงานนั้น ต้องบอกว่าห้องที่คนแน่นมากที่สุด คือห้องหมายเลข 814 ของ Spectrum โปรเจกต์พิเศษที่เกิดจากความร่วมมือของมูลนิธิออทิสติกไทยและมูลนิธิ ณ กิตติคุณ ซึ่งนำเสนอผลงานศิลปะที่เต็มไปด้วยความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการจากเด็กพิเศษ  

บ้านและสวนได้พูดคุยกับ ครูพิงค์ เพียงกาญจน์ สุวรรณปัทม ครูสอนศิลปะแห่งมูลนิธิออทิสติกไทย ที่ได้ทุ่มเทและอุทิศตนเองใช้ศิลปะเป็นเครื่องเยียวยาจิตใจนักเรียนของเธอ

ครูพิงค์ เพียงกาญจน์ สุวรรณปัทม กับ น้อง ทิว (Tiw) ที่ได้นำวาดรูปสวยๆ มาแสดงในงานนี้มากมาย โดยเฉพาะ รูปโรงแรม W Hotel (ด้านหลังของครูพิงค์) และ  รูปปลาในกรอบบ่อบัว  ได้รับคำชมจากจากผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชมอย่างต่อเนื่อง

“ครูเชื่อว่า ศิลปะ สามารถช่วยเยียวยาจิตใจให้กับคนได้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใคร โดยเฉพาะเด็กพิเศษ ศิลปะสามารถเอามาช่วยได้ง่าย เพราะมันไม่น่ากลัว เด็กๆอยากวาดอะไรก็วาดอยากทำอะไรก็ทำ คือลองคิดว่าเด็กพิเศษบางคนไม่สามารถจะสื่อสารได้ออกมาเป็นคำพูด มันคงอึดอัด ซึ่งในจุดนี้ศิลปะก็สามารถช่วยเยียวยาตรงนี้ได้เช่นกัน” 

เราได้ถามครูพิงค์ต่อไปว่า จากการประสบการณ์การสอนเด็กพิเศษ พบว่า ความพิเศษทางด้านศิลปะของพวกเขาที่แตกต่างจากคนทั่วไปเป็นอย่างไรบ้าง?

“ที่เห็นได้ชัดเลยคือการใช้สี คนทั่วไปมักจะกล้าๆกลัว คิดถึงทฤษฎีสี คิดเฉดสี ว่าจะใช้แบบบางหรือเข้ม คิดแล้วคิดอีก แต่กับน้องๆเด็กพิเศษ มันออกมาจากข้างในล้วนๆ แล้วผลงานที่ได้ออกมานั้นมันจะมีพลังมาก มันเป็นการลงสีแบบไม่มีการลังเลอะไรทั้งนั้น เรื่องสีนี่จะเห็นได้ชัดมาก รวมถึงลายเส้นก็เหมือนกันไม่ต้องมาคิดว่าจะวาดอะไรก่อนหลัง อยากวาดอะไรวาด”

นอกจากนี้ครูพิงค์ยังบอกว่า เธอสังเกตว่าพัฒนาการของน้องๆหลังจากฝึกศิลปะนั้นเป็นไปในทางที่ดีขึ้น อย่างบางคนที่พูดเป็นคำๆก็เริ่มพูดเป็นประโยค บางคนที่วาดเส้นตรงไม่ได้ จุดได้อย่างเดียว ก็เริ่มขีดเขียนเป็นเส้นได้

ภาพปลาในกรอบบ่อบัว ของ ทิว

เราได้พูดคุยกับทิว ทิวเล่าให้ฟังถึงภาพของเขาว่า วันนี้เขาวาดภาพของโรงแรม W Hotel ซึ่งในภาพเป็นเวลาหนึ่งทุ่ม โดยเราถามเขาว่า ตอนวาดภาพรู้สึกอย่างไร ทิวตอบว่า

“รู้สึกสนุกมากครับ”

เราลองไปชมภาพวาดอีกมากมาย โดย ฝีมือของน้องๆจาก Spectrum กัน

 

สำหรับใครที่อยากสนับสนุนโครงการดีๆเช่นนี้สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่เพจ Artstory By AutisticThai

ห้อง 806:  De’ Lapae Art Space จังหวัดนราธิวาส

เป็นอีกครั้งที่ได้มาร่วมกับ Hotel Art Fair ในปีนี้ De’ Lapae Art Space จังหวัดนราธิวาส ยังนำเสนอเรื่องราวและวิถีชีวิต ในจังหวัดนราธิวาส หนึ่งใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เรามักจะเห็นข่าวความไม่สงบปรากฏอยู่ตามหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้ง ในครั้งนี้ทางแกลลอรี่นำเสนอภาพและเรื่องราวในจังหวัดของตน ผ่านนิทรรศการ Under The Line ใต้เส้นเขตแดน ผ่านผลงานศิลปะ โดย 11 ศิลปิน เชิญชมตัวอย่างผลงานในห้องนี้กัน

ผลงาน ศรัทธา โดย อิมรอน ยูนุ  ที่ พูดถึงความรักความผูกพัน และความทรงจำที่มีต่อคนในครอบครัว และผู้คนในละแวก บ้านในพื้นที่ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งใช้ทั้งสีน้ำมันและสีอะครีลิค วาดลงบนผ้าใบที่ถูกสานเป็นเส้นขึ้นมาใหม่เพื่อแสดงร่องรอย จากการละลึกถึงความสัมพันธ์จากสิ่งที่สูญหายไปในความทรงจำและสร้างความรู้สึกทางความทรงจำขึ้นมาใหม่ โดยตัวอักษรภาษามลายูที่เห็นนูนออกมานั้น อาจจะดูคล้ายกับการพิมพ์นูน แต่เมื่อมองๆดีแล้วจะเห็นว่าศิลปินวาดมือด้วยสีขาวทั้งหมดทั่วผ้าใบ

 

ผลงาน ผูกพัน ที่สร้างจากหญ้าแห้ง และ วัสดุธรรมชาติ โดย ฮิดายะห์ มะหะวี หนึ่งในศิลปินกลุ่ม Muslimah Collective ที่เข้าร่วมแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Bangkok Art Biennale 2018 ที่ผ่านมาในผลงานนี้ เธอได้นำเสนอ เรื่องราวของตนเอง กับ เรื่องราวของแม่ผู้อันเป็นที่รัก วัสดุอย่าง หญ้าแห้ง(ผ่านการทำความสะอาดแล้ว) นำมาสานถักทอเข้าเข้าไว้ด้วยกัน แสดงถึงความผูกพันอันแน่นแฟ้น ที่เกิดจากการ รวมตัวกันของความความรักที่ฮิดายะห์รับรู้ได้ในพื้นที่ที่ตนอยู่อาศัย

ห้อง 818:  SERINDIA Gallery

 

ออย ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้ง ART for CANCER by Irea

ในห้องนี้เราได้พบกับ ออย ไอรีล ไตรสารศรี ผู้ก่อตั้ง ART for CANCER by Ireal โครงการดีๆที่ใช้ศิลปะมาช่วยสร้างพลังบวกกับผู้ป่วยมะเร็ง ในงานนี้นอกจากเธอจะนำอาร์ตไอเทมมาจำหน่ายเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งแล้ว เรายังได้เห็นผลงานศิลปะภาพวาดสไตล์ใหม่ของ ออย ที่ตัวเธอกำลังทดลองทำ เราไปฟังจากสาวเก่งคนนี้ว่าผลงานชุดนี้มีความคิดอยู่เบื้องหลังอย่างไร

“นี่คือผลงานชุด Ocean Kiss, Ocean Hug ออย ได้แรงบันดาลใจมาจากท้องทะเล เกลียวคลื่น โดยปกติแล้วออยชอบทำงานภาพพิมพ์ ช่วงนี้อยากลองเทคนิคใหม่ๆเลยลองเทสีอะคริลิคผสมน้ำ น้ำมัน และ กาว แล้วเทลงบนผ้าใบแล้วขยับผ้าใบไปมา เพื่อให้เกิดรูปทรงนามธรรม แถม บางชิ้นงานพ่นไฟสร้างพื้นผิวลงไปด้วย ซึ่งงานประเภทนี้เราต้องจดจ่ออยู่กับปัจจุบันขณะมากๆ มันช่วยเยียวยาจิตใจ ออยได้ดี เพราะมันช่วยสอนให้ตัวเองมีสติ อยู่เวลาในปัจจุบันที่กำลังอยู่ตรงหน้าเรา”

 

 

เสน่ห์หนึ่งของงาน Hotel Art Fair นั้นคือการจะได้พบเจอกับงานศิลปะหลากหลายรูปแบบในที่เดียว  ไม่ว่าจะเป็นเทคนิค หรือ แนวคิดการสร้างงานนั้นมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก เป็นที่น่าจับต่อไปว่าปีหน้า Hotel Art Fair จะไปกันที่ไหน จะมีใครมาบ้าง ซึ่งท่าน ไม่จะพลาดทุกการอัพเดทติดตามได้ที่ baanlaesuan.com/arts

 

เรื่อง สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ