10 คอลเลคชั่นใหม่ เบญจรงค์ไทย ที่ก้าวไกลไปกว่าเดิม
อวดโฉมผลงานจากโครงการ SACICT Signature Collection โดยศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ในพัฒนาอัตลักษณ์เบญจรงค์ของไทยให้มีความร่วมสมัยยิ่งขึ้นเหมาะกับการใช้งานในรูปแบบใหม่ๆ หลังจากจัดกันมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ในปี 2019 นี้
10 ผู้ประกอบการเบญจรงค์ได้มีการทำงานร่วมกับ 2 สตูดิโอออกแบบไทย Salt and Pepper และ ease studio เพื่อดึงเอาจุดเด่นของแต่ละผู้ประกอบการมาต่อยอดเป็นผลงานภายใต้ธีม Retelling the Detailing โดยยังคงความเป็นตัวตนของผู้ผลิตไว้พร้อมกับการก้าวออกจากรูปแบบเดิมสู่แนวทางแห่งความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในโลกแห่งการออกแบบ ที่จะไม่ทำให้เบญจรงค์เป็นชิ้นงานตั้งโชว์แต่เพียงอย่างเดียว
ที่ผ่านมายังได้มีการจัดแสดงผลงานเบญจรงค์คอลเลคชั่นล่าสุดนี้ ไปเมื่อ 12-14 กรกฎาคม ณ โซน ICONCRAFT ชั้น 4 ICONSIAM และในงาน SACICT Craft Trend Show 2019 ณ หอประชุมวายุภักษ์ แจ้งวัฒนะ เมื่อ 18-22 มิถุนายนนี้ สำหรับผู้สนใจสามารถติดต่อและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน)
ผลงานชุดจานจากอุไรเบญจรงค์ โดยคุณอุไร แตงเอี่ยม ซึ่งเป็นครูช่างและหัวหน้าชุมชนผู้บุกเบิกหมู่บ้านเบญจรงค์ดอนไก่ดี จังหวัดสมุทรสาคร นำลายเบญรงค์แบบดั้งเดิม 12 ลาย สมัย ร.2 มาจัดเรียงองค์ประกอบใหม่
การผสมผสานเทคนิคเครื่องศิลาดลเข้ากับลวดลายเบญจรงค์โดยคุณธนวรรธน์ ชยุทวาณิชกุล จากบ้านเบญจรงค์บางช้าง
งานปั้นกับงานเขียนเส้นทองของเบญจรงค์โดยคุณอภิชัย สินธุ์พูล จากอภิชัยเบญรงค์ มงคลศิลป์ เป็นถาดสำหรับวางจุดธูปหอม โดยมีเนื้อเรื่องราวมาจากรามเกียรติ์
สตูลเซรามิคแบบจีนที่เกิดจากเทคนิคลายครามผสมกับเบญจรงค์ ผ่านจากเผาถึง 3 ครั้งในอุณหภูมิที่ต่างกัน ผลงานคุณหัสยา ปรีชารัตน์จากไทยเบญจรงค์
ชุดภาชนะจากเบญจรงค์ทองโพธิ์พระยา โดยคุณสุเมษ ง้วนจินดา เกิดจากขึ้นดินสีเทคนิคเฉพาะตัวและเขียนลายดอกไม้ในรูปแบบใหม่
โครงลายสมัยใหม่ที่มีที่มาจากลายสักแบบ old school ในรายละเอียดของลายเบญจรงค์ พร้อมการทดลองเรื่องของสีในการ
จิวเวอรี่สมัยใหม่ผสมผสานงานเขียนเบญจรงค์และลายเส้นสมัยใหม่เข้ามาไว้ด้วยกัน ผลงานคุณจิระพงษ์ เดชรัตน์ จากแบรนด์เซราภรณ์
“เบญจธาตุ” กระจกเงาที่มีลวดลายเขียนสีที่ได้แรงบันดาลใจจากการดึงศาสตร์ฮวงจุ้ยของจีน ที่เกี่ยวกับเบญจธาตุ หรือธาตุทั้ง 5 ประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไม้ ธาตุไฟ และธาตุทอง บรรจงวาดลวดลายบนพื้นผิวเซรามิก ผลงานคุณวิรัช ทะไกรเนตร x Salt and Pepper Design Studio
“พลิก” (Flip) ต่อยอดจากถ้วยรางวัล ซึ่งจะมีฝาที่ไม่ได้นำไปใช้เหลืออยู่มาก โดยนำมาพลิกฟังก์ชันและมิติการมองที่คุ้นชินกับการวางแนวราบและมองในระยะใกล้ ให้กลายเป็นงานศิลปะตกแต่งผนังที่วางในแนวตั้งและมองระยะไกล ใช้สีน้ำเงิน ขาว และทอง วาดลวดลายชิโน-โปรตุกีสที่เป็นเอกลักษณ์ ซึ่งมีความลงตัวระหว่างความเป็นตะวันออกกับตะวันตก ผลงานคุณพนิดา แต้มจันทร์ x ease studio
“มารดาลาย” จากลวดลายที่ครูอึ่ง – สุวรรณี ปิ่นสุวรรณ มารดาของคุณสรัญญาได้ออกแบบวาดลายก้นขดลงบนผืนผ้าใบคล้ายกับลายแมนดาลา ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจ ให้คุณสรัญญานำมาอยู่บนเครื่องประดับที่ทำจากเครื่องกระเบื้องพอร์ซเลนเขียนลายเบญจรงค์บนพื้นผิว สามารถพกติดตัวไปได้ทุกหนทุกแห่ง ผลงานคุณสรัญญา สายศิริ x ease studio
เรื่อง : สมัชชา วิราพร
ภาพ: อนุพงษ์ ฉายสุขเกษม, ฤทธิรงศ์ จันทองสุข