ART BRUT: Figure of Unknown Beauty ความงามนิรนาม - บ้านและสวน

ART BRUT: Figure of Unknown Beauty ความงามนิรนาม

เรียกได้ว่าเป็นนิทรรศการศิลปะอาร์ตบรูต (Art Brut) ครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศเลยก็ว่าได้กับ นิทรรศการความงามนิรนาม (Thailand and Japan ART BRUT: Figure of Unknown Beauty) ที่กำลังจัดขึ้นที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2562

ศิลปะอาร์ตบรูต (Art Brut) เป็นภาษาฝรั่งเศส ที่แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Raw Art” เกิดขึ้นในช่วงปี 40s  โดย ศิลปินชาวฝรั่งเศส ฌอง ดูบุฟเฟต์ (Jean Dubuffet) ที่เชื่อว่าบุคคลนอกกระแสสังคมนั้น อาทิ ผู้ป่วยที่ต้องได้รับการดูและพิเศษ ผู้ต้องขัง เด็ก หรือ ผู้ที่ไม่ได้ศึกษาผ่านสถาบันศิลปะ คนเหล่านี้สามารถแสดงอัตลักษณ์ทางศิลปะของตน ผ่าน อารมณ์ และ ความรู้สึกภายในจิตใจที่แท้จริง เพราะพวกเขาสร้างงานโดยไม่ได้สนใจว่า ผลงานของเขานั้นจะขายได้ไหม จะมีใครมาเยี่ยมชมหรือเปล่า ดูบุฟเฟต์ คิดว่าผลงานศิลปะจากคนกลุ่มนี้ สามารถเข้าถึงความเป็นศิลป์บริสุทธิ์(Pure Art) ที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การครอบงำจากอิทธิพลของวัฒนธรรม และ กระแสสังคม

นิทรรศการความงามนิรนาม (Thailand and Japan ART BRUT: Figure of Unknown Beauty) ในครั้งนี้ เป็นนิทรรศการอาร์ตบรูตขนาดใหญ่ที่จัดขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น นำเสนอผลงานหลากหลายรูปแบบจากศิลปินชาวไทยและชาวญี่ปุ่น 51 คน ไม่ว่าจะเป็น งานจิตรกรรม ประติมากรรม เซรามิก หรือภาพถ่าย โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 หัวข้อ ได้แก่

  1. “การทำซ้ำ ความหนักแน่น และความกลมกลืน” นำเสนอประเด็น “ความดิบ” ที่สะท้อนลักษณะเฉพาะของผลงานอาร์ตบรูต คือความสดใหม่และการแสดงออกที่หลั่งล้นออกมาจากภายใน
  2. “นานาสิ่งจากชีวิตประจำวัน” นำเสนอผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นจากวัสดุที่หาง่ายในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะความพิเศษในการสร้างสรรค์วัสดุเหล่านั้น
  3. “ความปรารถนาคือบ่อเกิดการสร้างสรรค์” นำเสนอความคิดและแรงปรารถนาของผู้สร้างสรรค์ผลงาน
  4. “ศิลปะที่เกิดจากความสัมพันธ์” นำเสนอเบื้องหลังการสร้างผลงานและความสัมพันธ์ระหว่างผู้สร้างและคนรอบตัว เนื่องจากหลายครั้งศิลปินอาร์ตบรูตไม่ได้ตั้งใจเปิดเผยผลงานของตน ผู้ที่เปิดเผยผลงานสู่โลกภายนอกจึงเป็นคนรอบตัวศิลปิน เช่น สมาชิกในครอบครัว หรือผู้สนับสนุนการจัดแสดง หัวข้อนี้จึงมุ่งไปที่การสื่อสารระหว่างผู้สร้างที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังและผู้ที่เปิดเผยผลงานสู่ภายนอก
  5. “สู่มิติใหม่แห่งการสร้างสรรค์” นำเสนอผลงานที่ศิลปินร่วมสมัยและผู้สร้างสรรค์ผลงาน อาร์ตบรูตได้ร่วมกันสร้างขึ้นเพื่อให้เกิดงานศิลปะรูปแบบใหม่ ๆ

โดยงานนี้ได้ อ.สืบแสง แสงวชิระภิบาล และ เซนะ คิโมะโตะ ภัณฑารักษ์จากไทยและญี่ปุ่นร่วมกันสร้างสรรค์งาน

(จากซ้าย) ผศ. ปวิตร มหาสารินันท์ อ.สืบแสง แสงวชิระภิบาล คุณโรสลีนา อเล็กซานเดอร์ มิสเตอร์เคนโกะ คิตะโอกะ มิสเตอร์ คาซึมะ ทะคะโก รศ. ดร. บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย ดร.โยชิตากะ คาซาฮาระ คุณเซนะ คิโมโตะ | เครดิตภาพ หอศิลป์กรุงเทพฯ (BACC)

เราลองไปชมตัวอย่างผลงาน ในนิทรรศการนี้ ซึ่งเราขอบอกว่าไม่อยากให้พลาดจริงๆ

โนริโกะ ฮิกะชิโมโตะ

โนริโกะ ฮิกะชิโมโตะ กับ ผลงานที่ไม่มีชื่อของเธอ | เครดิตภาพ หอศิลป์กรุงเทพฯ (BACC)

ผลงานศิลปะแต่งแต้มจุดสีลงบนแผ่น Bubble Wrap ขนาด 12.15 x 25.45 เมตร โดย โนริโกะ ฮิกะชิโมโตะ ที่เธอใช้เวลาถึงตลอดระยะเวลาหกปีเต็มการสร้างสรรคผลงานชิ้นนี้ เธอได้เติมสีลงไปทีละจุดตามความรู้สึก ทำซ้ําแล้วซ้ําเล่า จนกลายเป็นผลงาน ภาพนามธรรมขนาดใหญ่โดยใช้วัสดุใกล้ตัวอย่างแผ่น Bubble Wrap ที่หลายคนอาจจะคาดไม่ถึงว่าสามารถนำมาสร้างงานศิลปะได้

Detail ผลงานของ โนริโกะ ฮิกะชิโมโตะ
จุดสีเรียงออกมาเป็นรูปทรงต่างๆ

เมกุมุ โช

ชุดผลงานลายเส้นแสนน่ารัก ของ เมกุมุ โช ศิลปินยามเกษียณวัย 77 ปี จากเดิมเขาเคยทำงานและสนับสนุนกิจกรรมต่างๆที่ศูนย์พึ่งพิงผู้บกพร่องทางร่างกายมาหลายปี จนหลังจากที่เกษียณเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เขาก็เริ่มวาดรูปโดยใช้ผ้าใบที่หาซื้อได้จากร้าน 100 เยน แต่แล้วผ้าใบที่เขาใช้ประจำเลิกผลิตไป  โช เลยนำกล่องที่ไม่ใช้แล้วมาใช้แทน ซึ่งภาพวาดของเขานั้นมักจะเล่นกับพื้นที่และรูปทรงของกล่องไดอย่างน่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการวาดสนามฟุตบอลจากกล่องทรงสีเหลื่ยมผืนผ้า หรือ วาดรูปในลักษณะ 2 กรอบ (diptych) จากภายในกล่องที่ถูกแบ่งครึ่ง และด้วยในความศรัทธาในศาสนาคริสต์ เขาได้วาดภาพเหล่าเทวดาตุ้ยนุ้ยแสนน่ารักตามกล่องต่างๆเหล่านี้

 

 

ฮานาโกะ อิมะมุระ

ระหว่างที่ภัณฑารักษ์ชาวญี่ปุ่น เซนะ คิโมโตะ พาเราชมงานต่างๆ เมื่อมาถึงผลงานนี้ เธอบอกกับ บ้านและสวนว่า ส่วนตัวแล้วเธอชื่นชอบถึงผลงานนี้เป็นอย่างมาก ผลงานภาพถ่ายเหล่านี้สื่อถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ฮานาโกะ อิมะมุระ ซึ่งเป็นเด็กที่ต้องการการดูแลพิเศษ กับ คุณแม่ของเธอ ได้อย่างลึกซึ้ง ฮานาโกะ มักจะทานอาหารอย่างช้าๆ แล้ว เขี่ยอาหารทิ้งไว้ตามจุดต่างๆ ซึ่งในมุมหนึ่งคือความเลอะเทะที่ต้องมาทำความสะอาด แต่คุณแม่ของ ฮานาโกะไม่ได้คิดเช่นนั้น คุณแม่รู้สึกทึ่งในการจัดวางองค์ประกอบของกลุ่มเศษอาหารที่ ฮานาโกะ ได้นำมาจัดวางเรียงกัน คุณแม่เลยได้บันทึกภาพการจัดวางนี้ไว้ตลอด 20 ปี ที่ผ่านมา แล้วนำทั้งหมด 99 รูปมา ติดเรียงต่อกัน จนได้เป็นผลงานศิลปะชิ้นนี้

 

ชูกลิ่น ผ่องแผ้ว

นี่คือชุดผลงานภาพวาดตัวละครจากวรรณคดีเรื่อง รามเกียรติ์ โดย ชูกลิ่น ผ่องแผ้ว ศิลปินหญิง ที่มีอาการกล้ามเนื้อ อ่อนแรง เธอหลงรักในงานจิตรกรรมไทย และต้องการส่งต่อกำลังใจและความสุขผ่านผลงานศิลปะของเธอ โดย ผลงานจิตรกรรมไทย เน้นอัตลักษณ์ของเส้นที่พริ้วไหว มั่นคง เด็ดเดี่ยวในการลากเส้นแต่ละเส้น แม้ว่าข้อจำกัดทาง กายภาพ ของ ชูกลิ่น ที่ทำให้เธอต้องพยายามมากกว่าปกติ เธอค่อยๆ บรรจงลากเส้นแต่ละเส้นอย่างช้า พยายามรักษาอัตลักษณ์ผลงานจิตรกรรมไทยไว้ให้มากที่สุด และ เส่นห์ที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของผลงานชุดนี้ไม่ได้อยู่ที่ความสวยงามของสิ่งที่เธอวาดอย่างเดียว หากอยู่ที่ข้อความอวยพร การส่งมอบ ความสุข ความปรารถนาดีให้แก่ผู้รับ สะท้อนมุมมองความหมายของชีวิต ตลอดจนความสุขของชีวิต (ทั้งที่จริงๆแล้วเธอเป็นผู้ป่วยที่ควรจะได้รับกำลังใจจากผู้อื่น เป็นมุมมองเชิงบวกที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง)

 เสมอ พีระชัย และ จักรวาล นิลธำรง

ผลงานไม่มีชื่อ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแผนผัง ของอะไรสักอย่าง โดย เสมอ พีระชัย

เสมอ พีระชัย คือชายไร้บ้าน ผู้ที่มักจะไปสร้างศิลปะ รูปแบบ Street Art ตามพื้นที่ต่างๆในกรุงเทพฯ  ไม่ว่าจะ เสาตอม่อ พื้นถนน ป้ายรถเมล์ กําแพงบ้างถนน หรือบนกระดาษลัง ซึ่งสร้างความฉงนสงสัยให้กับผู้ที่พบเห็นว่า ภาพวาดที่มีสัญลักษณ์และเลขรหัสมากมายเหล่านี้ โยงใยอยู่ในผลงานราวกับเป็นแผนผังความคิดอะไรสักอย่าง  สิ่งเหล่านี้คืออะไรกันแน่ และ ใครคือผู้สร้าง โดย เสมอ คิดว่าเขาผูกปมความลับบางอย่างที่ไม่อยากบอกใครโดยตรง และ เขาเชื่อว่าความลับนี้มีเขารู้อยู่แค่คนเดียวในโลก ซึ่งเรื่องราวของเสมอนั้นได้ถูกนำมาสร้างเป็นศิลปะสื่อวีดิทัศน์ของ จักรวาล นิลธำรง ซึ่งเขาได้ตั้งคำถามว่า หาก มนุษย์ทุกคนมีความสามารถที่จะเป็นศิลปิน เป็นจริงตามที่โจเซฟ บอยส์ (ศิลปินที่มีอิทธิพลต้องวงการศิลปะสมัยใหม่มากที่สุดคนหนึ่งของโลกหลังสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง) พูดไว้ แล้วภาพ วาดปริศนาของ เสมอ จะเรียกได้ว่าเป็นศิลปะหรือไม่? โดยผลงานของ จักรวาล และ เสมอ นั้น ติดตั้งอยู่คนละด้านกัน

ด้านหลังผลงานขอ เสมอ พีระชัย
ในผนังด้านตรงข้ามนั้นเป็นศิลปะภาพยนตร์ของ จักรวาล นิลธำรง

ต่อสวัสดิ์ สวัสดิ์-ชูโต

 

ผลงานภาพยนตร์สั้นกึ่งสารคดี “จากจิตใจสู่ศิลปะ” ของ ต่อสวัสดิ์ สวัสดิ์-ชูโต ซึ่งติดตั้ง อยู่บริเวณทางออกของนิทรรศการนี้ เป็นภาพยนตร์ที่เปิดเผยบทสัมภาษณ์ของศิลปิน Art Brut สามท่านได้แก่ ชูกลิ่น, มาดี และ แคทลียา ซึ่ง อ.สืบแสง เล่าให้เราฟังถึงผลงานชิ้นนี้ว่า

“ผลงานนี้ ผมตั้งใจให้คนได้มาชมบริเวณนี้ เพราะมันเป็นเหมือนบทสรุป ของนิทรรศการนี้ทั้งหมด ผมอยากให้ทุกท่านก่อนที่จะออกจากงานนี้ได้ชม แล้วจะรู้จักคำว่า Art Brut และ ตัวศิลปิน Art Brut มากยิ่งขึ้น”

ซึ๋งผู้เขียนได้ชมแล้วไม่อยากเล่าให้หมดความตื่นเต้น แต่เป็นอย่างที่ อ.สืบแสง ว่าไว้จริงๆ ฉะนั้นหากใครได้ไปชมนิทรรศการนี้ เราแนะนำให้ชมผลงาน “จากจิตใจสู่ศิลปะ” ชิ้นนี้ก่อนกลับ

นอกจากนี้ยังมีผลงานที่น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งท่านสามารถไปชม  นิทรรศการ ART BRUT: Figure of Unknown Beauty ความงามนิรนาม ได้ตั้งแต่วันนี้ – 3 พฤศจิกายน 2562 ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

 

ซึ่งนอกจากจะมีนิทรรศการศิลปะให้ได้ชมกันแล้วยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจดังนี้

1 วันศุกร์ที่ 2 สิงหาคม 2562 เวลา 18.30 – 20.00 น.

กิจกรรมฉายภาพยนตร์เรื่อง Creation from the Obscure

 

2 วันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2562 เวลา 14.00 – 16.00 น.

กิจกรรมนำชมนิทรรศการ โดยภัณฑารักษ์ เซนะ คิโมะโตะ และสืบแสง แสงวชิระภิบาล

 

3 วันศุกร์ที่ 18 – วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2562 เวลา 10.00 – 16.00 น.

กิจกรรมเสวนา International Forum “Art Activities of Disabled People in Asia”

 

เรื่อง ภาพ และ วิดิโอ : สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์

เปิดประตูสู่ 11 ห้องสุดอาร์ต ใน Hotel Art Fair 2019

เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 58 ความงามของศิลปะ กับ คำสาบแห่งกาลเวลา : ตอนที่ 1 – Arsenale