หลังจากที่เราได้ชมการแสดง Knit ของ กวิตา วัฒนะชยังกูร ที่ ถักทอศิลปะการแสดงสดเข้ากับ การจิบชายามบ่าย ที่ โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ เมื่อตอนต้นปีที่ผ่านมาไปแล้ว วันนี้ทางโรงแรม นำเสนอ ประสบการณ์การจิบชารูปแบบใหม่ ที่จะนำทุกท่านเข้าสู่โลกของ ป่าหิมพานต์ ในแบบ AR (augmented reality)
ด้วยแนวคิด Triple A – Afternoon Tea, Art และ เทคโนโลยี AR (augmented reality) นัส – พิชฐญาณ์ โอสถเจริญผล ศิลปินและนักออกแบบผลิตภัณฑ์ (และศิลปินในโครงการ Artist in Residence คนที่ 2 ของทางโรงแรมฯ) ได้ร่วมมือกับ เชฟ Nicolas Pelloie หัวหน้าพ่อครัวเบเกอรี่ ผู้ทึ่ได้ออกแบบชุดน้ำชาในงานแสดง Knit มาร่วมรังสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งตั้งแต่แผ่นเมนู ไปจนถึง พาชนะชุดชาที่นำมาเสริฟ์จะแฝงความลับแห่งหิมพานต์ไว้ ซึ่งสามารถเข้าถึงได้ด้วย Smartphone และ Mobile Application ที่ชื่อว่า Recall จะเป็นอย่างไรเชิญไปชมกัน
เมื่อใช้ Smart Phone ส่องไปที่เมนู ดอกไม้ก็จะค่อยๆเบ่งบานขึ้นมา
บ้านและสวนได้พูดคุยกับ นัส – พิชฐญาณ์ โอสถเจริญผล เกี่ยวกับ การทำงานในครั้งนี้ และ เส้นทางสายศิลปะของเธอที่เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยที่เธอยังเด็ก
“คุณแม่เล่าให้ฟังว่านัสชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็กๆแล้ว วาดรูปได้ก่อนที่จะเขียน ก.ไก่ สมัยเด็กๆเขียนกำแพงบ้านเต็มไปหมดเลย (หัวเราะ)”
เธอเล่าต่อไปว่า ตัวเธอนั้นเติบโตตามแบบครอบครัวชาวไทยเชื้อสายจีนที่เคร่งครัด โดย ในวัยเด็ก นัส ถูกปลูกฝังให้รักการเรียน และต้องเรียนอย่างหนัก ต้องเป็นนักเรียนที่เก่ง เพื่อจะได้มีอนาคตการงานที่เจริญก้าวหน้า หรือเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งเธอรู้สึกว่าไม่ใช่ทาง สิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกเป็นอิสระและเป็นตัวของตัวเองมาที่สุดคือ 2 สิ่งนี้
“เวลาที่ได้วาดรูป หรือ อ่านหนังสือ นัส รู้สึกว่าเป็นตัวเองมากที่สุด มันรู้สึกเพลินทำได้แบบไม่หลับไม่นอนเลยทีเดียว ถึงแม้ที่บ้านอาจจะไม่สนับสนุนให้เรียนศิลปะแบบเต็มตัว แต่ตอนเด็กๆครอบครัวจะซื้อหนังสือนิทานปกแข็ง หนังสือที่ Pop Up ได้ หรือ หนังสือระบายสีอะไรแบบนี้ ซื้อให้เยอะมาก เลยทำให้ชอบอ่านหนังสือ ซึ่งทุกวันนี้เวลาจะทำงานสักชิ้นก็จะ Research หนักมาก แบบเป็นคนเนริด์เลยก็ว่าได้ ”
หลังจากเรียนจบปริญญาตรี สาขา ออกแบบผลิตภัณฑ์ นัส ทำงานอยู่ในวงการทำภาพประกอบ การออกแบบ และค่อยๆทำงานเบนเข็มเข้าสู่เส้นทางศิลปะตามที่ใจเรียกร้อง และในวันหนึ่งเธอได้พบกับเพื่อนชาวเยอรมันที่เล่าเรื่องของเทคโนโลยี AR ให้เธอฟัง
“ตอนนั้นเขาบอกว่า เอเจนซีที่เขาทำอยู่ กระแสของ AR กำลังมาแรงมาก นัสก็เลยลองศึกษาดูบ้าง รู้สึกว่ามันน่าสนใจ มันสามารถทำให้คนชมผลงานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง มีปฏิสัมพันธ์กับงานได้ ซึ่งงานหนึ่งชิ้นมันสามารถให้อารมณ์ที่แตกต่างไปได้เป็นร้อยเลยนะ ขึ้นอยู่กับจินตนาการของผู้ที่มาชมงานแต่ละคน”
ซึ่งงานแรกที่ นัส ลองทำงานศิลปะกับ AR นั้นคือผลงานที่ได้ร่วมทำกับ ART for CANCER by Ireal และได้จัดแสดงในงาน Hotel Art Fair 2018 ซึ่งเธอเล่าให้ฟังว่า วันนั้น เธอรู้สึกดีใจมาก ที่เห็นมีคนไปรอต่อคิวเพื่อชมงานของเธอทีเดียว
สำหรับผลงานสำหรับชุดน้ำชา Triple A ศิลปินสาวพราวไอเดียคนนี้ ได้คิดนำเสนอชุดน้ำชาในรูปแบบของป่าหิมพานต์ ดินแดนในตำนานที่เต็มไปด้วยธรรมชาติ และ สัตว์นานาชนิด ตามความเชื่อของชาวพุทธ และ ฮินดู
“ตอนที่ได้โจทย์มาเรื่องชุดน้ำชา ก็เลยนึกไปถึง Alice in Wonderland แต่เราอยากทำในบริบทของความเป็นไทย เพราะโรงแรมนี้รอบๆก็มีความเป็นไทยเยอะมาก ทั้งการใช้ไม้สัก ทั้งเรือ ทั้งทำเลที่ตั้ง ซึ่งตรงนี้ ป่าหิมพานต์ ตอบโจทย์ได้ดีมาก เพราะเป็นสถานที่ ที่แฟนตาซีมาก มีทั้ง สระอโนดาต กินนรี หรือ ไกรสรสีหะ ที่คำรามทีเสียงดังไปไกลถึงสามโยชน์ เลยคิดว่าแนวทางนี้หละมันใช่แล้ว”
เมื่อตัดสินใจเลือก สัตว์และดอกไม้นานาพันธุ์จากป่าหิมพานต์ได้แล้ว นัส ได้เริ่มจากร่างแบบก่อน จากนั้นในส่วนของภาพเคลื่อนไหว นัส จะเริ่มวาดเฟรมหลัก (Key Frame) ของการขยับในแต่ละท่าทาง ซึ่งในงานนี้เธอบอกกับเราว่า เธอหาข้อมูลเยอะมาก ทั้งลงพื้นที่ไปชมวัดต่างๆ อย่างเช่น ไปชม ลายประจำยาม จากวัดราชบพิธ หรือ ภายในโบสถ์ และ จิตรกรรมฝาผนัง วัด วัดมกุฏกษัตริยารามราชวรวิหาร จากนั้นเธอนำลายเส้นมาปรับให้เป็นสไตล์ตะวันตกมากขึ้น จะได้ไม่ดูเคร่งขรึมจนเกินไป
พิชฐญาณ์ โอสถเจริญผล กับ บรรรดาไกรสรสีหะ ที่มาบรรจบพบกันด้วยเทคโนโลยี AR
นอกจากนี้ ในโอกาสเทศกาลไหวพระจันทร์ ทางโรงแรมฯได้เชิญ นัส มาร่วมออกแบบ กล่องขนมไหว้พระจันทร์ดีไซน์พิเศษแบบลิมิเต็ด เอดิชั่น ซึ่งมีเพียง 300 กล่องเท่านั้น ซึ่งเป็นกล่องลักษณะป๊อปอัพ นำเสนอตำนานความเชื่อโบราณของชาวจีนในเรื่องเทศกาลไหว้พระจันทร์ และมีลวดลายของสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความมงคลตาม วัฒนธรรมจีน อาทิ ค้างคาว และ ผีเสื้อ ซึ่งตำนานความเชื่อโบราณของชาวจีนในเรื่องกำเนิดแห่งเทศกาลไหว้พระจันทร์ และ เทพธิดาฉางเอ๋อ ซึ่งเป็นเทพธิดาแห่งดวงจันทร์ จะถูกปลุกฟื้นให้มีชีวิตขึ้นบนกล่องขนมแบบลิมิเต็ด เอดิชั่นนี้ ด้วยการนำเทคโนโลยี AR เข้ามาประยุกต์ใช้กับฝีมือการวาดลายของนัส โดยรายได้จากการจำหน่ายขนมไหว้พระจันทร์ในกล่องดีไซน์พิเศษ แบบลิมิเต็ด เอดิชั่น จะนำไปมอบเป็นทุนการศึกษาให้แก่นิสิตที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่ศึกษาในคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยจะมอบให้เป็นทุนการศึกษาตลอด 4 ปีการศึกษา จนสำเร็จปริญญาตรี เพื่อให้กล่องขนมไหว้พระจันทร์ดีไซน์พิเศษนี้ได้มีส่วนร่วมช่วยผลิตศิลปินไทยเพิ่มขึ้นในสังคม
โดยงานนี้ทางโรงแรมได้ร่วมกับศิลปินอีกท่าน อ.เมธา วามวาณิชย์ (Master Yu Shiyi) ศิลปินศิลปะโคมไฟชื่อดังที่ปกติแล้วจะทำแต่ผลงานขนาดใหญ่ อย่างเช่น โคมไฟมังกรยาว 20 เมตร ที่เรามักจะเห็นอยู่ตามห้างต่างๆ ในโอกาสนี้ อ.เมธา ได้มาออกแบบโคมไฟกระต่ายขนาดเล็กซึ่งเหมาะสำหรับการตกแต่งบ้าน และ มังกรจีนซึ่งขนาดไม่สูงมาก
“ตอนแรกในใจผม ตัดสินใจว่า จะทำโคมไฟ ธิดาจันทร์ ดวงจันทร์ หรือ กระต่ายดี แต่สุดท้ายก็เลือกกระต่ายเพราะรู้สึกว่ากระต่ายเข้าใจง่ายที่สุด โดยขั้นตอนการออกแบบผมใช้เวลา 2 วัน และใช้เส้นเชื่อมโครงสร้างประมาณ 8 เส้น ซึ่งผมก็จำไม่ได้แล้วว่าเคยทำงานชิ้นเล็กเช่นนี้ล่าสุดเมื่อไหร่ ”
สำหรับใครที่อยากจะจิบชายามบ่ายในบรรยากาศป่าหิมพานต์ ทางโรงแรม เปิดให้บริการทุกวัน จนถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2562 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. – 18.00 น. ชุดน้ำชายามบ่าย ราคา 1,600++ บาท สำหรับสองท่าน โดยท่านที่มารับประทานชุดน้ำชาและของว่างยามบ่ายยังสามารถเข้าเยี่ยมชมสตูดิโอห้องทำงานของ พิชฐญาณ์ ที่ตั้งอยู่ในโรงแรมฯ ได้อีกด้วย ซึ่งการนำชมสตูดิโอห้องทำงานของศิลปินจะมีทุกวันพุธ วันศุกร์ วันเสาร์ และวันอาทิตย์ เวลา 15.30 น. (โดยสงวนสิทธิ์เฉพาะแขกที่พักที่โรงแรมฯ และ แขกที่มารับประทานชุดน้ำชายามบ่าย) ติตต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และสำรองที่นั่งได้ที่ โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ โทร 0 2020 2888 อีเมล [email protected]
ส่วนสำหรับใครที่สนใจ ท่านสามารถเป็นเจ้าของ ขนมไหว้พระจันทร์ไส้คัสตาร์ดไข่แดง ชุดดีไซน์พิเศษลิมิเต็ด เอดิชั่น ในราคาชุดละ 3,888 บาท โดยทางโรงแรมเริ่มจำหน่ายแล้ว ตั้งแต่วันนี้ จนถึงวันที่ 13 กันยายน 2562 ทุกวันตั้งแต่เวลา 07.30 น. – 20.00 น. ที่ เดอะ เพนนินซูลา บูติค ณ โรงแรมเพนนินซูลา กรุงเทพฯ และ ยังมีจำหน่ายที่บูธเพนนินซูลา บริเวณ ชั้น G ศูนย์การค้าสยามพารากอน
เรื่อง และ วิดิโอ สิงหนาท นาคพงศ์พันธุ์
ภาพ สิทธิศักดิ์ น้ำคำ, ศุภกร ศรีสกุล