บ้านต้นไม้กลางสวนป่าเชิงเขาในเชียงใหม่ ที่ออกแบบจากตู้คอนเทนเนอร์เพื่อตอบโจทย์การพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติภายใต้งบประมาณจำกัดได้อย่างน่าสนใจ บ้านคอนเทนเนอร์
ณ เชิงเขาลาดชันในตำบลสันป่ายาง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ บ้านตู้คอนเทนเนอร์ หลังเล็กแทรกตัวอยู่อย่างกลมกลืนกับบริบทโดยรอบ ตัวบ้านประกอบด้วยตู้คอนเทนเนอร์สองตู้บนโครงสร้างเหล็กดิบเท่ ยกพื้นสูงชะลูดกลมกลืนไปกับเรือนยอดของต้นไม้ใหญ่ในพื้นที่ บ้านคอนเทนเนอร์
“เจ้าของที่ดินผืนนี้วางแผนจะทำที่พักกลางสวน โดยตั้งใจจะให้เป็นที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ตอนนี้ก็ปลูกพืชผลอย่างเชอรี่ อะโวคาโด ฯลฯ ไว้เรียบร้อยแล้ว เลยเริ่มต้นโครงการด้วยการทดลองทำบ้านหลังนี้ให้เป็นที่พักชั่วคราวหลังแรก และจะค่อยๆ ขยับขยายสร้างเพิ่มขึ้นอีกสองหลังต่อจากนี้”
คุณสาริน นิลสนธิ จาก D Kwa Architect บอกเล่าถึงการออกแบบ บ้านตู้คอนเทนเนอร์ หลังนี้ให้เสร็จสมบูรณ์ภายใต้งบประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่เจ้าของที่ดินวางไว้ ดังนั้น นอกเหนือไปจากการเลือกใช้วัสดุที่เรียบง่าย ประหยัด และหาได้ในท้องถิ่นอย่าง เหล็ก ปูน อิฐบล็อก ไม้ไผ่ กระเบื้องลอนโปร่งแสง ฯลฯ ยังต้องคำนึงถึงระบบการก่อสร้างในที่ตั้งบนเขาสูง ซึ่งห่างไกลจากตัวเมือง และมีการขนส่งที่ค่อนข้างยากลำบาก โดยเน้นการออกแบบระบบการก่อสร้างให้สะดวก รวดเร็ว เพื่อควบคุมต้นทุนและค่าแรงให้อยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้
“เนื่องจากเจ้าของต้องการห้องนอนหนึ่งห้อง และห้องนั่งเล่นทำกิจกรรมอีกหนึ่งห้อง ผมเลยเลือกใช้ตู้คอนเทนเนอร์สองตู้ ซึ่งเราสามารถนำไปเจาะใส่หน้าต่าง เตรียมความพร้อมที่เวิร์คช็อปในตัวเมืองก่อน และค่อยขนขึ้นมาติดตั้งได้ง่าย ส่วนงานบนเขาส่วนใหญ่ก็จะมีแค่งานโครงสร้างเหล็กไอบีม (I-Beam) ส่วนฐานรากก็ใช้เข็มเหล็ก ซึ่งเจาะลงไปในชั้นดินได้โดยไม่ต้องมีการขุดก่อนลงเข็ม จะมีงานก่อสร้างแบบเปียกก็แค่ตรงส่วนก่อผนังห้องน้ำเล็กน้อย”
ดัวยลักษณะของที่ดินเชิงเขาซึ่งมีความลาดชัน จึงเปิดมุมมองสู่วิวทิวทัศน์สุดลูกหูลูกตาเบื้องล่าง การวางเลย์เอ้าของบ้านหลังนี้รวมถึงอีกสองหลังที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจึงเน้นให้เปิดรับวิวได้อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งวางจังหวะให้แทรกตัวอยู่ระหว่างต้นไม้ใหญ่ดั้งเดิมได้อย่างลงตัว
ตู้คอนเทนเนอร์ทั้งสองตู้ถูกตัดเจาะจนกลายเป็นห้องที่มีช่องเปิดโปร่งโล่ง ตู้ห้องนอนยกพื้นสูงกว่าอีกห้องเพื่อเปิดรับวิว เชื่อมต่อกันด้วยระเบียงพื้นไม้ไผ่ หลังคาโปร่งแสงเชื่อมต่อจากระนาบด้านบนลงมาสู่ระนาบผนังเพื่อช่วยกันฝนสาดบริเวณบันได ส่วนชั้นล่างเป็นพื้นที่ครัวและห้องน้ำ
แม้ว่าการใช้ตู้คอนเทนเนอร์จะมีข้อได้เปรียบเรื่องโครงสร้างสำเร็จรูปที่มีความแข็งแรง เนื่องจากตู้คอนเทนเนอร์ถูกออกแบบให้ทนทานต่อการโยกย้ายขนส่งกลางทะเล แต่เมื่อนำมาใช้สำหรับการอยู่อาศัยก็จำเป็นต้องคำนึงถึงการควบคุมอุณหภูมิด้วย
“ตู้คอนเทนเนอร์ มีข้อควรระวังหลักๆ คือเรื่องความร้อน เนื่องจากเป็นวัสดุเหล็ก ถ้าอยู่ในจุดที่รับแสงแดดจัดโดยตรง ตัวตู้จะสะสมความร้อนในตอนกลางวัน และถ่ายเทความร้อนออกมาอย่างต่อเนื่อง เราจึงต้องคิดเรื่องฉนวนต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัย แต่ถ้าอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ ใต้ร่มเงาต้นไม้ อย่างบ้านนี้ก็จะไม่ร้อนเท่าไหร่”
ภายใต้งบประมาณ 1 ล้านบาท คือเงื่อนไขและข้อจำกัดสำคัญในการเลือกใช้วิธีการก่อสร้าง การขนส่งและการใช้วัสดุที่ประหยัดและคุ้มค่าที่สุด แต่หากเพิ่มงบประมาณได้ ก็จะช่วยให้สามารถออกแบบรายละเอียดให้น่าสนใจและมีฟังก์ชันอำนวยความสะดวกมากขึ้นอีกด้วย
ออกแบบสถาปัตยกรรม: คุณสาริน นิลสนธิ D Kwa Architect โทร. 08-9552-4591
รับเหมาก่อสร้าง: คุณอำนวย ดวงนนท์
เรื่อง : MNSD
ภาพ : ศุภกร