เรามักพบเห็นการใช้ตู้คอนเทนเนอร์สร้างเป็นอาคารชั่วคราวจำพวกรีเทลช้อป ร้านอาหาร และคาเฟ่ ซึ่งเป็นที่นิยมในระดับหนึ่ง เนื่องจากการขนย้าย ติดตั้ง หรือต้องทำการรื้อถอนนั้นใช้เวลาไม่นานนัก
แต่สำหรับการสร้างเป็นที่อยู่อาศัยในระยะยาว หรือคนที่ฝันใฝ่อยากมี บ้านตู้คอนเทนเนอร์ สักหลังต้องทำความเข้าใจถึงข้อดี และข้อจำกัดก่อนสร้าง เนื่องจากตู้ซึ่งเป็นวัสดุเหล็กจะสะสมความร้อนในเวลากลางวัน ซึ่งต้องแก้ปัญหาด้วยการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ หรือถ้าตั้งอยู่กลางแจ้งที่มีแดดจัด จะต้องคำนึงถึงการออกแบบฉวนกันความร้อนให้เหมาะสมกับการใช้เป็นที่พักอาศัยเป็นพิเศษ
ขนาดมาตรฐานของตู้คอนเทนเนอร์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ตู้คอนเทนเนอร์ขนาดเล็ก (20 ฟุต) ขนาด 2.34 x 2.40 x 6.00 เมตร และตู้คอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ (40 ฟุต) ขนาด 2.34 x 2.40 x 12.00 เมตร สามารถเลือกจับคู่ตู้คอนเทนเนอร์กับวัสดุอื่นๆ ได้อย่างหลากหลาย ที่คือ บ้านตู้คอนเทนเนอร์ 3+1 หลัง ที่ทั้งดิบและเท่ในหลากรูปแบบ และหลายไอเดียที่น่านำไปประยุกต์ใช้กับการสร้างที่พักอาศัยจากตู้คอนเทนเนอร์ที่ room รวบรวมมาฝากกัน
-
SANPAYANG PROJECT
บ้านตู้คอนเทนเนอร์กลางสวนป่า ดิบเท่ได้ในงบหนึ่งล้าน
แนวคิดในการออกแบบ: การออกแบบพื้นที่พักอาศัยจากตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อตอบโจทย์การพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ ภายใต้งบประมาณจำกัด
ข้อจำกัดของบ้านหลังนี้: ที่ตั้งอยู่บนที่ดินลักษณะเชิงเขาที่มีความลาดชัน ห่างไกลจากตัวเมือง และมีการขนส่งที่ค่อนข้างยากลำบาก
การแก้ไขข้อจำกัดเบื้องต้น: ผู้ออกแบบเน้นการออกแบบระบบการก่อสร้างให้สะดวก รวดเร็ว เพื่อควบคุมต้นทุนและค่าแรงให้อยู่ในงบประมาณที่ตั้งไว้ พร้อมเลือกใช้วัสดุที่เรียบง่าย ประหยัด และหาได้ในท้องถิ่น
ข้อได้เปรียบของบ้านหลังนี้: ที่ดินมีต้นไม้ใหญ่จึงเป็นตัวช่วยชั้นดีในการเป็นฉนวนธรรมชาติ สถาปนิกจึงเลือกออกแบบให้อาคารแทรกตัวอยู่ระหว่างต้นไม้ใหญ่เหล่านี้ เพื่อให้ต้นไม้ทำหน้าที่ให้ร่มเงา และป้องกันความร้อนได้ในระดับหนึ่ง
การเลือกจับคู่วัสดุ: ตู้คอนเทนเนอร์, เหล็ก, คอนกรีต, อิฐบล็อก, ไม้ไผ่ และกระเบื้องลอนโปร่งแสง
ออกแบบ: คุณสาริน นิลสนธิ จาก D Kwa Architect
อ่านต่อฉบับเต็ม: บ้านตู้คอนเทนเนอร์กลางสวนป่า ดิบเท่ได้ในงบหนึ่งล้าน
-
CONTAINER HOUSE / MINI CONTAINER HOUSE
เปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ 15 ใบ เป็นบ้านหนึ่งหลังใหญ่กับอีกหนึ่งหลังน้อย
แนวคิดในการออกแบบ: การสร้างพื้นที่พักอาศัยที่มีความเป็นส่วนตัว มีพื้นที่ใช้สอยกว้าง เกิดการเชื่อมต่อของพื้นที่ทั้งภายนอกและภายใน เปิดรับลมรับแสงจากภายนอก และสามารถมองเห็นต้นไม้รอบบ้าน
ข้อจำกัดของบ้านหลังนี้: การยึดกันของแผ่นเหล็กลูกฟูก และโครงสร้างเหล็กตัวซีที่มักทำให้เกิดเสียงดังจากการสั่นสะเทือน รวมถึงแต่ละตู้จะต่างลายและมีความห่างของลูกฟูกที่ไม่เท่ากัน
การแก้ไขข้อจำกัดเบื้องต้น: แยกโครงเหล็กตัวซีและแผ่นเหล็กลูกฟูกออกจากกัน รวมถึงแก้ปัญหาเรื่องตู้ที่ระยะความห่างและลวดลายของลูกฟูกที่ไม่เท่ากันด้วยการจัดวางระยะผนังใหม่
ข้อได้เปรียบ: บ้านหลังใหญ่ที่ใช้เวลาก่อสร้างนาน 15 เดือน กลายเป็นบทเรียนที่ให้ความรู้กับผู้ออกแบบ ทำให้ช่วยร่นเวลาในการก่อสร้างบ้านมินิคอนเทนเนอร์ขนาด 100 ตารางเมตร ให้เหลือเพียง 9 เดือนเท่านั้น
การเลือกจับคู่วัสดุ: ตู้คอนเทนเนอร์, เหล็ก, ไม้, คอนกรีตขัดมัน, เมทัลชีท, หิน และกระเบื้อง
เจ้าของบ้านหลังใหญ่ : คุณพงษ์พันธ์ ชอบขาย
เจ้าของบ้านมินิคอนเทนเนอร์ : คุณรัชดาภรณ์ ชัยเสนา
ออกแบบ : คุณชาญวิทย์ อนันต์วัฒนกุล จาก Wish Architect Design Studio
ภาพ : เชาว์ฤทธิ์ พูนผล
อ่านต่อ : เปลี่ยนตู้คอนเทนเนอร์ 15 ใบ เป็นบ้านหนึ่งหลังใหญ่ กับอีกหนึ่งหลังน้อย
-
DC HOUSE
บ้านตู้คอนเทนเนอร์ รับวิวสวนเมืองร้อน
แนวคิดในการออกแบบ: แนวคิดด้านโครงสร้างคือการออกแบบบ้านให้มีลักษณะเป็นกล่องเล็กในกล่องใหญ่ โดยกล่องใหญ่คือโครงเหล็กและกระจกที่ช่วยให้เกิดเป็นผนังสองชั้น ลดทอนแสงแดดและความร้อนจากภายนอก ภายในบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ 18 ตู้ มีการเปิดพื้นที่โล่งเพดานสูงเป็นรูปตัวแอล (L) เพื่อใช้เป็นพื้นที่นั่งเล่นส่วนกลาง
ข้อจำกัดของบ้านหลังนี้: เจ้าของบ้านต้องการปลูกบ้านและทำออฟฟิศเล็กๆ บนที่ดินผืนนี้ แต่เจ้าของที่ไม่ยอมขาย
การแก้ไขข้อจำกัดเบื้องต้น: ผู้ออกแบบมีแนวคิดสร้าง บ้านตู้คอนเทนเนอร์ เผื่อไว้ว่าจะสามารถย้ายไปสร้างใหม่ได้ ผู้ออกแบบมองเห็นถึงความเป็นไปได้จึงนำเสนอแบบบ้าน ที่ตอบสนองความต้องการของสมาชิกในครอบครัวได้อย่างครบถ้วน
ข้อได้เปรียบของบ้านหลังนี้: ที่ดินผืนนี้มีความลาดเอียงเล็กน้อยจากด้านหน้าถนน เมื่อมองลงมาตัวบ้านจึงอยู่ต่ำกว่าระดับถนนราวครึ่งชั้น และสวนที่อยู่ลึกเข้าไปก็มีความลาดต่ำลงไปเรื่อยๆ ฉะนั้นเมื่อมองย้อนจากสวนกลับไปยังตัวบ้าน บ้านจึงเหมือนอยู่บนเนินหญ้าสีเขียวสดที่ได้บรรยากาศดีๆ จากเสียงลำธารเล็กๆ ที่อยู่ใกล้ๆ
การเลือกจับคู่วัสดุ: ตู้คอนเทนเนอร์, เหล็ก, ไม้
ออกแบบ: Studio Tana โดย Mr. Andika Japa Wibisana
อ่านต่อฉบับเต็ม: บ้านตู้คอนเทนเนอร์ รับวิวสวนเมืองร้อน
Did you know
ตู้คอนเทนเนอร์ทำอะไรได้อีกเยอะ
มีกี่ขนาด
ตู้คอนเทนเนอร์มีจำหน่ายทั้งแบบมือหนึ่ง และมือสองหรือตู้ที่ปลดระวางแล้ว โดยตู้ที่ใช้กันทั่วไป มี 2 ขนาด คือขนาดเล็ก 20 ฟุต (กว้าง 8.0 ฟุต x ยาว 19.6 ฟุต x สูง 8.6 ฟุต) และขนาดใหญ่ 40 ฟุต (กว้าง 8.0 ฟุต x ยาว 40.0 ฟุต x สูง 9.6 ฟุต)
ซื้อที่ไหน
มีบริษัทที่จำหน่ายตู้คอนเทนเนอร์มือสอง โดยมีทั้งที่จำหน่ายตู้มือสองแบบตามสภาพ ซึ่งผ่านการใช้งานมาจนปลดระวาง จึงมีสนิม และรอยรั่ว จำเป็นต้องนำมาปรับปรุงก่อนใช้งาน และตู้ที่ได้รับการปรับปรุง ซ่อมแซม ทำสีใหม่ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้แล้ว นอกจากนี้ บางบริษัทยังรับดัดแปลงตู้คอนเทนเนอร์สำเร็จรูป มีทั้งประตูและหน้าต่างพร้อมใช้งานได้ทันทีอีกด้วย
ราคาเท่าไหร่
ราคาของตู้คอนเทนเนอร์มือสองแบบตามสภาพ เริ่มต้นที่ 25,000 – 50,000 บาท ตามขนาดและสภาพจริง ถ้าสภาพดีหน่อยหรือเป็นตู้ที่ปรับปรุงซ่อมแซมแล้ว อาจมีราคาสูงกว่านั้น
เรียบเรียง: ND24, MNSD
ภาพ: ศุภกร, สิทธิศักดิ์, คลังภาพบ้านและสวน
อ่านต่อ: