ทาวน์เฮ้าส์ ในเมืองที่ฉาบด้วยแสงประดิษฐ์ น้อยคนนักจะรับรู้ถึงการมีอยู่ของแสงจันทร์ที่เปล่งแสงอย่างอ่อนโยน หากปิดตาแล้วเปิดใจก็จะสัมผัสถึงบทสนทนาอันไร้เสียง แต่มากนัยความสัมพันธ์ของธรรมชาติแห่งชีวิตที่มีอยู่รอบตัว
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: POP Studio
คุณแมว – ภราดร กู้เกียรตินันท์ สถาปนิกและอาจารย์พิเศษมหาวิทยาลัย ผู้หลงใหลในความงามแท้แห่งวัสดุ ได้เปลี่ยนจากการอยู่คอนโดมิเนียมมาเป็น ทาวน์เฮ้าส์ สามชั้นแถวแจ้งวัฒนะ โดยเริ่มต้นออกแบบจากการฟังภายในใจตัวเอง แล้วสร้างสเปซให้เกิดบทสนทนาระหว่างคน สัตว์ และสิ่งของ ทั้งอย่างจงใจและปล่อยให้เกิดดับ บ้างทิ้งร่อยรอยความไม่สมบูรณ์ที่อาจเป็นทั้งตำหนิและความงาม ขึ้นอยู่กับการมองเป็นภาพที่กระทบตาหรือตกผลึกแก่ใจ
แม้จะคลุกคลีกับการออกแบบบ้านให้คนอื่นมามากแล้ว เมื่อได้ออกแบบบ้านตัวเองอีกครั้งจึงมีคำถามและความคิดมากมายให้ไตร่ตรอง เป็นบทสนทนาแรกที่นำพาไปสู่พื้นที่ใหม่สำหรับคนและแมว 11 ตัว
“บ้านนี้เป็นบ้านใหม่ในโครงการที่ซื้อเมื่อ 3 ปีก่อน ใช้เวลาค่อยๆ ตกแต่งร่วม 2 ปี ไอเดียแรกที่ผุดขึ้นมาคือ ต้องมีที่เก็บของให้เยอะที่สุด เพื่อให้ภายในบ้านยังดูดีเรียบร้อยแม้จะมีของเยอะ ซึ่งเป็นชีวิตจริงของการอยู่บ้าน และอยากปรับบรรยากาศของการอยู่ทาวน์เฮ้าส์ใหม่ แต่ไม่แปลกแยกจากเพื่อนบ้านมากนัก จึงออกแบบฟาซาดใหม่โดยใช้รูปแบบเส้นระแนงเดิมของโครงการมาจัดระเบียบใหม่ และใส่ฟังก์ชันตามไลฟ์สไตล์ที่เป็นตัวเรา
“สิ่งที่รับรู้ตรงหน้าอาจเป็นมากกว่าที่เห็น โดยซ่อนฟังก์ชันแท้จริงไว้ให้ขบคิด” คุณแมวอธิบายวิธีคิดเมื่อเข้ามายังบริเวณหน้าบ้านที่ปกติแทบทุกบ้านจะต่อเติมหลังคาเป็นที่จอดรถ “ให้ความสำคัญกับวิธีคิดและการใช้ชีวิต เป็นการมองย้อนกลับไปยังพื้นฐานเพื่อค้นหาตัวตนของเรา แล้วสะท้อนออกมาเป็นอย่างนั้น ผลลัพธ์ที่แตกต่างจึงเริ่มจากความคิดที่ไม่ตายตัว เมื่อหน้าบ้านมีพื้นที่จำกัดเช่นนี้ จึงต้องคุยกับตัวเองว่าอยากได้สวนหน้าบ้านหรือที่จอดรถมากกว่ากัน เมื่อคำตอบคือสวน จึงออกแบบให้เป็นสวนที่จอดรถได้ ผลลัพธ์จึงต่างจากการทำที่จอดรถแล้วตกแต่งด้วยต้นไม้”
การออกแบบบ้านนี้ไม่ได้ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง เพียงจัดสรรพื้นที่ใหม่ให้มีคุณภาพ ชั้นล่างเป็นส่วนนั่งเล่น รับประทานอาหาร แพนทรี่ ชั้นสองเป็นห้องนอนเล็กและห้องทำงาน ชั้นสามเป็นห้องนอนใหญ่ “ภายในบ้านมีหลายจุดที่ดูไม่รู้ว่าเป็นผนังห้องหรือประตู เป็นการคิดแบบภาพรวม คือในสเปซนั้นเราอยากให้ตรงไหนเด่นก็เน้นที่จุดเดียว ส่วนประกอบอื่นๆ ทำให้ดูกลมกลืนกันด้วยการซ่อน อย่างห้องนั่งเล่นออกแบบผนังทีวีเป็นจุดเด่น ฟังก์ชันอื่นก็ซ่อนไว้ในผนัง เป็นการครอบทับด้วยองค์ประกอบที่ให้ความรู้สึกเหมือนถ้ำ”
ระหว่างการสนทนา “อันโดะ” แมวตัวแรกที่นำมาเลี้ยงและตั้งชื่อตามสถาปนิกที่ชื่นชอบมาคลอเคลียอยู่ไม่ห่างเหมือนจะร่วมวงด้วย “ส่วนหนึ่งเป็นการเรียนรู้จากการเลี้ยงแมว วิธีคิดของสัตว์ไม่เหมือนคน บางครั้งเรามีความรู้จนกลบสัญชาตญาณที่แท้จริง แมวอยากนั่งนอนตรงไหนเขาก็ทำได้ จึงนำมาเป็นไอเดียของการมีหลายฟังก์ชันในชิ้นเดียว ตู้ทีวีก็นั่งได้ เก็บของได้ เป็นมากกว่าการรับรู้ที่คุ้นเคย”
การอยู่ในเมืองทำให้คนเราต่างโหยหาธรรมชาติ คุณแมวจึงเว้นสเปซหลังบ้านให้ความเป็นธรรมชาติได้เข้ามาทักทายกับสเปซภายในบ้าน “ไม่ค่อยได้ทำอาหารกัน จึงมีแพนทรี่เล็กๆ เท่าที่จำเป็น และคิดว่าพื้นที่สวนจะช่วยหล่อเลี้ยงจิตใจเราได้มากกว่า หลังบ้านจึงยังคงเป็นพื้นที่เปิดโล่งให้บ้านได้มีสีเขียวบ้าง และอยากมีบ่อน้ำ ซึ่งสำหรับเราพอใจกับบ่อปลาหางนกยูงเล็กๆ เพียงแค่นี้ก็เติมความสดชื่นให้จิตใจได้อย่างพอเหมาะ
“ชื่นชมในวิธีคิดแบบวะบิ-ซะบิ ที่เป็นเรื่องความงามของความไม่สมบูรณ์แบบ ซึ่งเป็นสัจธรรมชองชีวิตจริงๆ สนิมก็เหมือนชีวิตคนต้องมีบาดแผล เราจะอยู่กับมันอย่างไร เราไม่อาจลบบาดแผลที่เกิดขึ้นได้ อย่างก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือน ‘คุมะ’ แมวที่เลี้ยงไว้ตาย คิดถึงมันทุกวัน เมื่อผ่านความเสียใจไปแล้ว มันแสดงถึงความงามของการมีชีวิตอยู่ ความเป็นธรรมชาตินั้นจึงไม่สมบูรณ์แบบ และเราต้องอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นให้ได้” แม้เสียงพูดคุยค่อยๆ จางไป แต่บทสนทนาอันไร้เสียงยังคงบอกเล่าความเป็นไปของบ้าน คน และหมู่แมวอย่างไม่รู้จบ
Life is Transformation บทสนทนาแห่งสเปซ (บ้านสวย ส.ค.62)
เจ้าของ: คุณภราดร – คุณปียมาภรณ์ กู้เกียรตินันท์
ออกแบบ: คุณคุณภราดร กู้เกียรตินันท์ [email protected]
ที่ตั้ง : กรุงเทพมหานคร
เรื่อง: ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ผู้ช่วยกองบรรณาธิการ: ณรดี ณ ถลาง, ณัฐนิชา อิสสอาด
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์: Jeedwonder
เรื่องที่น่าสนใจ