ออกแบบ : คุณพิศิษฐ ศรีสุขวงค์ และคุณสฤษฎ์ แดงจันทร์
หลังคุณแม่นิตยา ศรีสุขวงค์จากไปอย่างกะทันหันด้วยอุบัติเหตุทางรถยนต์ เมื่อลูกชายค้นเจอสมุดบันทึกของแม่ที่บันทึกทุกเรื่องราวที่ผ่านมาในชีวิต รวมถึงความฝันของแม่ ลูก ๆ ที่เคยแยกย้ายกันไปประกอบอาชีพและสร้างครอบครัวจึงได้กลับมารวมตัวกันอีกครั้ง เพื่อร่วมกันทำตามเจตนารมณ์ของแม่
คุณเอก-พิศิษฐ ศรีสุขวงค์ บุตรชายคนที่สี่ผู้พบสมุดบันทึกและเป็นตัวตั้งตัวตีคนสำคัญในการเริ่มต้นทำในสิ่งที่แม่บันทึกไว้ โดยเปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ เมื่อ 6 ปีก่อนตามที่แม่เขียนเล่าไว้ว่า “เคยเป็นลูกจ้างในร้านกาแฟตอนยังเป็นเด็กหญิงตัวเล็ก ๆ ที่กำพร้าพ่อแม่ ต้องทำงานดิ้นรนต่อสู้ชีวิตเพียงลำพัง ฝันอยากมีร้านกาแฟร้านขนมเล็ก ๆ เป็นของตัวเอง” พร้อมตั้งชื่อร้านว่า “ฟาร์มคาเฟ่ เดอ กาลเวลา” เพื่อรวบรวมเรื่องราวของครอบครัว และสานความฝันของแม่ให้เป็นจริง
“ไร่นี้เป็นมรดกตกทอดมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า มีเนื้อที่ประมาณ 12 ไร่ อยู่ติดแม่น้ำแม่กลอง เดิมเป็นที่รกร้าง มีปลูกผลไม้บ้าง ครอบครัวเราเป็นเกษตรกรกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่า แม่เป็นรุ่นที่สามแล้ว เรากลับมาปรับปรุงฟื้นฟูไร่ ปลูกผักพื้นบ้านทั่วไป ข้าวโพด อ้อย จนเอกมาทำคาเฟ่ที่ตลาดท่าม่วง แรก ๆ เราก็ขายกันแค่กาแฟและ เบเกอรี่ จนร้านได้รับความสนใจ มีผู้คนแวะเวียนกันมามากขึ้น เราเลยเพิ่มเมนูอาหารขึ้นมา แรก ๆ ก็ซื้อผักจากที่อื่นมาใช้ แต่เราก็ไม่มั่นใจและบอกลูกค้าได้ไม่เต็มปากว่าเป็นผักปลอดสารพิษ ไหน ๆ เราก็มีที่ดินเป็นของตัวเอง ทำไมเราไม่ปลูกผักเองเลยล่ะ” คุณตุ้ม-ศุภรัตน์ แดงจันทร์ บุตรสาวคนที่สองของตระกูลศรีสุขวงศ์ อีกหัวเรี่ยวหัวแรงหลักที่ดูแลแปลงผักของ ไร่กาลเวลา เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการปลูกผักออร์แกนิกให้เราฟัง
“เริ่มปลูกผักจริงจังเมื่อ 4 ปีก่อน โดยมีลูกชาย (คุณทอส – สฤษฎ์ แดงจันทร์) ไปศึกษาหาความรู้เรื่องการปลูกผัก แล้วทดลองมาปลูกที่ไร่ แรก ๆ เราปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์ แต่ก็ไม่ตอบโจทย์เรา เพราะต้องใช้สารวิทยาศาสตร์ผสมในน้ำเพื่อให้ผักเติบโต เราไม่กล้ากินผักที่เราปลูกเอง เลยเปลี่ยนวิธีปลูกใหม่ ลองปลูกด้วยดิน จากที่เคยเริ่มปลูกผักสลัดแค่ 4 ชนิด ปัจจุบันปลูกเพิ่มขึ้นหลายชนิด ทั้งกรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก เบบี้คอส เบเบี้เรดคอส กรีนคอส กรีนปัตตาเวีย บัตเตอร์เฮด เรดโครอล ฟิลเล่ย์ไอซ์เบิร์ก ผักเคล และสวิสชาร์ด”
คุณทอส อดีตหนุ่มออฟฟิศที่ทำงานในบริษัทด้านดิจิทัลเอเจนซี่ในกรุงเทพฯ เขารักธรรมชาติ รักวิถีชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงรักและผูกพันกับคุณยายผู้เลี้ยงดูมา จึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อกลับมาพัฒนาและช่วยงานที่ไร่อย่างเต็มตัว