“พิพิธภัณฑ์กำพล วัชรพล” แท่นพิมพ์และน้ำหมึกของคนหนังสือพิมพ์ ในสมุดบันทึกฉบับไทยรัฐ

หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว “กำพล วัชพล” เติบโตขึ้นมาจากครอบครัวที่เรียกได้ว่า ยากจน ต้องดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงตนเองและครอบครัว แต่เมื่อเขาเติบใหญ่ความมุมานะพยายาม และอาจรวมถึงโชคชะตา ได้พาให้เขากลายเป็นหนึ่งในบุคคลของโลก และเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ของวงการหนังสือพิมพ์ไทย

“ไทยรัฐ” หัวหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ที่มียอดจำหน่ายมากที่สุดในเมืองไทย ยังคงมอบคุณค่าของข่าวที่อยู่เคียงข้างประชาชนในทุก ๆ บรรทัด  แม้ว่าวันนี้ “กำพล วัชพล” บุคคลที่ให้กำเนิดสื่อสิ่งพิมพ์ฉบับนี้จะเหลือไว้ให้ได้ยินเพียงชื่อ แต่คุณความดีของเขาโลกได้จารึกไว้ในฐานะ “บุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษาและสื่อมวลชน โดย UNESCO ระหว่างปี 2019-2020” เช่นเดียวกับ Leonardo da Vinci ศิลปินผู้เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ศิลป์ที่เคยมีชีวิตเมื่อ 300 ปีก่อน หากแต่ปีนี้มีคนไทยและคนเอเชียเพียงคนเดียวเท่านั้นที่ได้รับการยกย่องเช่นนี้

พิพิธภัณฑ์กำพล วัชพล

เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีชาตกาลของท่าน จึงเป็นที่มาของการเปิด “พิพิธภัณฑ์กำพล วัชรพล” ซึ่งตั้งอยู่ภายในสำนักงานใหญ่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ  ถนนวิภาวดีรังสิต สถานที่เก็บบันทึกเรื่องราวประวัติศาสตร์ที่ไม่เคยเผยแพร่บนหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ หากแต่เป็นเรื่องราวของชายนักสู้สามัญชนสู่บุคคลสำคัญของโลก ทั้งชีวิต ปณิธาน อุดมการณ์ เเละวิสัยทัศน์ในการทำงานของเขาได้หลอมรวมจนกลายเป็นประวัติศาสตร์อีกบทหนึ่งของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ไทยในช่วงเวลากว่า 6 ทศวรรษที่ผ่านมา ภายในพิพิธภัณฑ์ได้แบ่งโซนจัดแสดงไว้ให้ประชาชน นักเรียนนักศึกษา และสื่อมวลชนได้เข้าชม 5 โซน ได้แก่

พิพิธภัณฑ์กำพล วัชพล

Museum Hall  พิพิธภัณฑ์กำพล วัชรพล : โซนแรกที่เป็นดั่งคำนำ จัดแสดงคำสดุดี กำพล วัชรพล ผ่านบทกวีของเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ และภาพวาดลายเส้นโดย ชัย ราชวัฒน์ นักวาดการ์ตูนผู้อยู่เคียงข้างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาช้านาน

พิพิธภัณฑ์กำพล วัชพล

พิพิธภัณฑ์กำพล วัชพล

นักสู้สามัญชน…คนของโลก : โซนนี้จัดแสดงกิตติกรรมประกาศจาก UNESCO ที่กล่าวยกย่องให้นักหนังสือพิมพ์ไทยท่านนี้เป็นบุคคลสำคัญของโลก นอกจากนี้ยังได้จัดแสดงเครื่องราชฯที่ได้รับพระราชทาน เครื่องแบบนายทหารเรืออาชีพก่อนการผันตัวมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ รวมถึงเครื่องแต่งกายสามัญที่แสนเรียบง่าย ซึ่งกลายเป็นหนึ่งสัญลักษณ์ที่ทำให้ผู้คนต่างจดจำในตัวเขา

พิพิธภัณฑ์กำพล วัชพล

ชีวิตบนถนนน้ำหมึก : เมื่อชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ต้นทุนชีวิตที่มีเพียงความมุมานะ ความพยายาม และความอดทนอันเป็นสมบัติติดตัว จากนายทหารเรือปลดประจำการ นำพาเขาให้ผลิกผันเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์รายใหญ่ของไทย โดยเริ่มต้นงานด้านสื่อสิ่งพิมพ์ เมื่อปี พ.ศ.2490 ด้วยการทำหน้าที่เป็นผู้สื่อข่าวให้กับหนังสือพิมพ์หลักไทย ต่อมาได้ออกหนังสือพิเศษชื่อ “นรกใต้ดินไทย” ที่ร่วมตีพิมพ์กับบรรณาธิการคู่คิดอย่าง เลิศ อัศเวศน์ โดยใช้เงินลงทุนจำนวน 2,000 บาทจากทุนส่วนตัว เเค่ก้าวเเรกเขาก็ประสบความสำเร็จสร้างรายได้มหาศาล ก่อนจะนำกำไรจำนวนหนึ่งมาออกนิตยสารรายสัปดาห์ใช้ชื่อว่า “ข่าวภาพ”  (พ.ศ.2493 – 2501) ขายในราคาฉบับละ 1 บาท ซึ่งได้รับการตอบรับจากประชาชนที่กระหายความจริงเเละความเเปลกใหม่ในการนำเสนอเป็นอย่างมาก จนต้องตีพิมพ์ซ้ำและเพิ่มความถี่ในการจัดจำหน่าย แต่ไม่ถึง 10 ปีก็ต้องปิดตัวลง และเป็นช่วงเดียวกันกับที่หนังสือพิมพ์ “เสียงอ่างทอง” (พ.ศ.2502 – 2505) กำเนิดขึ้น และสร้างประวัติศาสตร์ยอดขายถล่มทลายจากข่าวสืบสวนสอบสวน เเละการนำเสนอข่าวการเมืองที่เข้มข้น เเต่ก็ต้องถูกสั่งปิด เพราะมีผลมาจากการเสนอข่าวการเมือง ทำให้ผู้บริหารขณะนั้นต้องทำการขอเปิดหนังสือพิมพ์หัวใหม่ ซึ่งได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือพิมพ์ “ไทยรัฐ” นั่นเอง

โดยภายในโซนนี้จะพาทุกคนรำลึกถึงเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่ได้รับการบันทึกไว้ในหน้าหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ด้วยการพาย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาในอดีตที่เรียงลำดับเหตุการณ์ตามปีพ.ศ. อย่างภาพในอดีตของสถานที่ทำการไทยรัฐในปัจจุบันบนถนนวิภาวดีรังสิต เเละภาพบันทึกช่วงไว้อาลัยของนักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่เพื่อให้หวนระลึกถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้น พร้อมสะท้อนความรุ่งโรจน์ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ได้รับความนิยมเรื่อยมาจนมียอดจำหน่ายมากถึง 1 ล้านฉบับต่อวัน

พิพิธภัณฑ์กำพล วัชพล

พิพิธภัณฑ์กำพล วัชพล พิพิธภัณฑ์กำพล วัชพล

อีกหนึ่งนิทรรศการที่น่าสนใจคือประวัติศาสตร์การพิมพ์ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ จัดแสดงวิวัฒนาการของแท่นพิมพ์ในระบบ Letter Press หรือระบบตะกั่ว ก่อนเปลี่ยนสู่การพิมพ์ด้วยระบบโรตารี่ และระบบ web offset ตามลำดับ โซนนี้เป็นเสมือนการเล่าเรื่องที่เป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งโรงพิมพ์ ด้วยการจัดเเสดงเครื่องมือที่ใช้ในกระบวนการพิมพ์ เช่น แท่นพิมพ์ที่นำเข้ามาจากเยอรมนีซึ่งมีความทันสมัยที่สุด โต๊ะจัดเรียงตัวอักษรตะกั่วกลับด้านหลายร้อยชิ้นเพื่อใช้เรียงให้เป็นประโยคในเนื้อหาข่าว กล้องถ่ายภาพทางการพิมพ์แนวนอนที่ใช้งานในช่วงปีพ.ศ. 2518 บล็อกพิมพ์กลับด้านสำหรับพิมพ์ภาพข่าวหน้าหนึ่ง เครื่องส่งภาพวิถีไกลที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐสั่งมาใช้เป็นฉบับแรก เพื่อความรวดเร็วในการส่งข่าวในพื้นที่ต่างจังหวัด เครื่องสแกนเพลตที่ช่วยลดเวลาการปรับแต่งหน้าสีให้เร็วขึ้น เครื่องพิมพ์ด้วยแสงซึ่งเป็นเทคโนโลยีการพิมพ์ที่ใช้เวลาสั้นเเละทันสมัยก่อนเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์จะถือกำเนิดขึ้น เเละคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่ใช้สำหรับพาดหัวข่าวในปีพ.ศ. 2530

พิพิธภัณฑ์กำพล วัชพล พิพิธภัณฑ์กำพล วัชพล

เรียกได้ว่าความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเเละเทคโนโลยี ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับเปลี่ยนตาม ซึ่งเห็นได้ชัดในโซนนี้ ไล่เรียงจากการพิมพ์ด้วยระบบตะกั่ว เปลี่ยนผ่านสู่การพิมพ์ด้วยแสง จวบจนเข้าสู่ยุคดิจิตัลที่หนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่เริ่มใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวช่วยในการส่งข่าว ก้าวสู่ยุคคอมพิวเตอร์ที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญงานพิมพ์ และพัฒนาสู่แท่นพิมพ์ในปัจจุบันที่มีทั้งความทันสมัยและรวดเร็วที่สุดในไทยตอนนี้

พิพิธภัณฑ์กำพล วัชพล

หนังสือพิมพ์เพื่อการศึกษา : นิทรรศการที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของกำพล วัชรพล ในบทบาทของผู้ก่อตั้งโรงเรียนไทยรัฐวิทยา ซึ่งในปีนี้จะมีจำนวนครบ 111 แห่งทั่วประเทศ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เป็นโรงเรียนสำหรับเยาวชนในพื้นที่ชนบทห่างไกลความเจริญ ได้มีโอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม เพื่อเป็นการช่วยสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพเป็นทั้งคนดีและคนเก่งไปพร้อม ๆ กัน อย่างการมีหลักสูตรพลเมืองดี บรรจุในการเรียนการสอนควบคู่กับการให้ความรู้เชิงวิชาการ

ส่วนอีกโซนที่ยังไม่ได้เปิดให้ชมอย่างเป็นทางการคือ เราอยู่ด้วยศรัทธาประชาชน จัดแสดงนิทรรศการของทายาทรุ่นต่อมา เเละคนไทยรัฐที่ยังคงยึดมั่นในเเนวคิด เเละการสานต่อปณิธานของผู้ก่อตั้ง ตามคำกล่าวที่ว่า “หนังสือพิมพ์นั้นอยู่ด้วยศรัทธาของประชาชน ฉะนั้นเมื่อมีโอกาสก็ควรตอบแทนประชาชน” 

พิพิธภัณฑ์กำพล วัชพล
มานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโส หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

มานิจ สุขสมจิตร บรรณาธิการอาวุโส ผู้อยู่เคียงบ่าเคียงไหล่กับชายผู้ได้รับการยกย่อง ได้เอ่ยถึงความประทับใจที่เกิดขึ้นเมื่อครั้งที่กำพล วัชรพล ยังมีชีวิตว่า “ความมีน้ำใจที่ท่านมีต่อลูกน้อง เเละความเป็นกันเองยังคงอยู่ในความทรงจำ ผมจำได้ว่าในช่วงเกิดเหตุการณ์รถแก๊สคว่ำที่ถนนเพชรบุรี นักข่าวภาคสนามต้องลงพื้นที่ตรงนั้นอยู่หลายวัน ท่านก็ไปเยี่ยมเยียนพร้อมกับอาหาร น้ำ แถมยังเผื่อแผ่ไปยังนักข่าวสำนักอื่นด้วย คนในวงการบันเทิงจะเรียกท่านว่า ป๊ะ ซึ่งมีเรื่องอะไรก็ตามท่านจะให้ความช่วยเหลือตลอด แม้กระทั่งเรื่องการทำธุรกิจที่ไม่เคยคิดว่าหนังสือพิมพ์ฉบับอื่นคือคู่แข่งเลย แต่ท่านคิดว่านั่นคือสิ่งที่จะทำให้วงการหนังสือพิมพ์ขยายกว้าง ประชาชนได้มีทางเลือกแบบนั้นจะดีกว่า”

พิพิธภัณฑ์กำพล วัชพล

ความยิ่งใหญ่เหนือการศึกษา เงินทอง ฐานะชนชั้นทางสังคม คงหนีไม่พ้นคุณความดีที่ยังอยู่ในความจดจำของผู้อื่น เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ที่ได้บอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นให้เป็นแบบอย่างควรค่าแก่การยกย่องอย่างแท้จริง

 

เรื่อง : JOMM YB

ภาพ : กรองแก้ว ก้องวิวัฒน์สกุล


ความรู้ไม่รู้จบ พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก ของอาจารย์วราพร สุรวดี

IN-BETWEENNESS นิทรรศการศิลปะถ่ายทอดภาพจำระหว่างอดีตสู่ปัจจุบัน ที่ ONE BANGKOK