“Harmony of Living” เปลี่ยนสุขภาพของโลกให้ดีขึ้นกับ Bloody Hell Big Head - บ้านและสวน

“Harmony of Living” เปลี่ยนสุขภาพของโลกให้ดีขึ้นกับ Bloody Hell Big Head

นับเป็นกระแสที่ผ่านหูผ่านตากันมาหลายครั้งสำหรับการรณรงค์อนุรักษ์พลังงานที่ในโลกนี้มีอยู่อย่างจำกัด การกระทุ้ง เพื่อตอกย้ำกระแสอย่างต่อเนื่องจึงยังเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกคนในสังคมต้องมีส่วนร่วม รวมไปถึงงานศิลปะลายเส้นเฉียบคมในแบบของ “Bloody Hell Big Head” หรือ คุณเบนซ์ – ธนวัต ศักดาวิษรักษ์ จึงเป็นงานที่ทรงพลังสำหรับโอกาสนี้

“ช่วงแรกเราทำงานเกี่ยวกับงาน Lettering และพวกงาน Typography ตอนนั้นเป็นการทดลองนำพวกรูปทรงเรขาคณิตมาผสมกันเป็นชุดตัวหนังสือก่อน จากนั้นก็ได้พัฒนากับมันมากขึ้นโดยออกแบบให้อยู่ในฟอร์มของ Object แบบสถาปัตย์” คุณเบนซ์เล่าให้ฟังเมื่อถามถึงจุดเริ่มต้นของสไตล์งานในแบบของเขา ซึ่งมีลายเส้นงานศิลปะแบบ 2D หรือ Flats โดยมีแสงเงาและฟอร์มของ Object ที่ดูคมชัดเป็นเอกลักษณ์ หรือที่คุณเบนซ์ให้นิยามลายเส้นของเขาว่าเป็นลายเส้นที่แข็งกระด้าง

มูลนิธิชัยพัฒนา

คุณเบนซ์เป็นหนึ่งใน 8 ศิลปินที่ได้ร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในแคมเปญ “8 ลายเส้น ชัยชนะแห่งการพัฒนา” ที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสการดำเนินงานครบรอบ 30 ปีของมูลนิธิชัยพัฒนา ซึ่งคาแร็กเตอร์งานศิลปะในแบบ Bloody Hell Big Head ก็ดูสอดคล้องกับโจทย์ที่คุณเบนซ์ได้รับ

“เราได้รับโจทย์เป็นโครงการด้านพลังงาน จากที่ศึกษาข้อมูลโครงการจะเกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนที่มุ่งหวังให้นำมาประยุกต์ใช้กับสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งพลังงานเป็นสิ่งที่มีโอกาสจะหมดไป ตรงจุดนี้จึงเป็นการตั้งคำถามว่า เราจะนำพลังงานทดแทนมาใช้กับการดำเนินชีวิตอย่างไร และด้วยวิธีไหน”

มูลนิธิชัยพัฒนา

โครงการด้านพลังงานของมูลนิธิชัยพัฒนานั้นมุ่งประเด็นไปที่เรื่องไบโอดีเซลซึ่งเป็นเชื้อเพลิงทางเลือกที่ผลิตจากแหล่งทรัพยากรหมุนเวียน เช่น น้ำมันพืช ไขมันสัตว์ สาหร่าย ฯลฯ แต่ในการตีโจทย์เป็นคอนเซ็ปต์สำหรับคุณเบนซ์ เขาเลือกมองภาพรวมแบบสังคมใหญ่ ซึ่งไม่ใช่แค่ภายในประเทศไทย แต่หมายรวมถึงมนุษย์ทุกคนมีส่วนช่วยสร้างโลกของเราให้มีสุขภาพที่ดีขึ้นได้

“เรามาคิดถึงว่าพลังงานทดแทนมันสามารถเป็นผลลัพธ์อย่างไรกับเราได้บ้าง ก็เลยมีความคิดว่าถ้าทุกคนบนโลกหันมาใช้พลังงานอื่นที่ไม่ใช่น้ำมัน ถ่านหิน โรงงานนิวเคลียร์ โรงงานที่มันทำให้โลกเราลำบาก ก็คงเป็นโลกที่ดูเปลี่ยนไปเยอะเหมือนกัน คิดเหมือนเป็นยูโทเปียของเราเอง มันก็จะเป็นเมืองที่กลมกลืนกับระบบนิเวศหรือธรรมชาติ เราก็เลยจำลองเมืองนี้ขึ้นมา ไม่ต้องแยกโซนเมืองกับโซนธรรมชาติ”

มูลนิธิชัยพัฒนา

คุณเบนซ์เสริมในเรื่องชื่อผลงานว่า “เราอยากให้ความเป็นเมืองกับความเป็นธรรมชาติมันเบลนด์เข้าหากัน ซึ่งเป็นที่มาของชื่องานว่า ‘Harmony of Living’ ซึ่งก็คือความกลมกลืนของการอยู่อาศัย”

มูลนิธิชัยพัฒนา

เมื่อได้ลองทำความรู้จักกับโครงการด้านพลังงานอย่างจริงจัง จึงทำให้คุณเบนซ์เห็นว่าหัวใจหลักของแต่ละโครงการก็คล้ายกับการช่วยเหลือผู้อื่นซึ่งถือเป็นเรื่องดีที่จะทำให้มนุษย์ได้อยู่ร่วมกันและอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างกลมกลืนและกลมเกลียว

“สิ่งที่อยากจะสื่อสารต่อผู้คนผ่าน Harmony of Living คือ ความรู้สึกตัวว่าตอนนี้โลกเรากำลังเปลี่ยนไปในทางที่ค่อนข้างแย่แล้วนะ จะทำอย่างไรให้การที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกวันนี้สอดคล้องไปกับธรรมชาติที่กำลังจะหายไป และจะทำอย่างไรให้ได้กลับมาอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุขอีกครั้ง”