ก่อนจะมาเป็นนักเลี้ยงแคคตัสหรือ กระบองเพชร ที่มีผลงานเป็นหนังสือแคคตัสฉบับสมบูรณ์ ที่สุดในไทยด้วยความหนาเกือบ 400 หน้า คุณ โอห์ม-ภวพล ศุภนันทนานนท์ ยังเคยเป็นนักเลี้ยง แอฟริกันไวโอเลต กล้วยไม้ และสับปะรดสีมาก่อนด้วย เพราะชอบต้นไม้มาตั้งแต่เด็ก จึงหัดเลี้ยงต้นนั้นต้นนี้มาเรื่อย
รู้ตัวอีกที โอห์ม-ภวพล ศุภนันทนานนท์ ก็หลงรักบรรดา กระบองเพชร และต้นไม้เหล่านี้ กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญที่มีผลงาน หนังสือไม้ประดับกับสำนักพิมพ์บ้านและสวนอยู่หลายเล่ม แม้จะบอกว่าทำเป็นงานอดิเรก แต่เมื่อ ได้ทำสิ่งที่หลงรักอย่างเต็มที่โดยไม่คิดถึงปลายทาง ผลลัพธ์มักเหนือความคาดหมายเสมอ เหมือนอย่างที่เขากำลังทำหนังสือไม้อวบน้ำที่สมบูรณ์แบบไม่แพ้หนังสือแคคตัสให้เหล่าสาวก ได้ติดตามกัน
เพื่อนใหม่ที่รู้จักกันตอน ป.5 และกลายเป็นเพื่อนสนิทจนปัจจุบัน
“จำได้ว่าตอนเด็กๆ เห็นคุณตาเลี้ยงต้นโป๊ยเซียนโดยที่ผมเป็นลูกมือคอยช่วยหยิบกระถางหยิบดินให้มาตลอด จนโต มาช่วงป. 5 -ป. 6 ก็เริ่มอยากปลูกต้นไม้เองบ้าง เลยลองซื้อต้น แอฟริกันไวโอเลตซึ่งเป็นที่นิยมในยุคนั้นมาเลี้ยงดู ผมชอบรูปทรงของต้นไม้และชอบสีของดอกไม้ที่ดูพิเศษ พอช่วงจังหวะที่ย้ายมาอยู่บ้านใหม่ซึ่งมีพื้นที่กว้างขึ้น ผมก็เริ่มซื้อกล้วยไม้มาเลี้ยงเพิ่มเติม” ช่วงแรกที่คุณโอห์มหัดเลี้ยงต้นไม้ยังไม่มีแหล่งข้อมูลแบ่งปันทางอินเทอร์เน็ต จึงต้องอาศัยการซักถามจากผู้ขายบ่อยๆ จน คุ้นเคยและได้ความรู้สะสมมาเรื่อยๆ ความสนุกในการเลี้ยงต้นไม้ จึงเริ่มขยายต่อไปถึงพรรณไม้อื่นอย่างสับปะรดสีและกระบองเพชร ทำให้ตัดสินใจเลิกเลี้ยงแอฟริกันไวโอเลตไป เพราะไม่มีเวลาเพียงพอที่จะดูแล “ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดานะที่เวลาเราเลี้ยงอะไรแล้วมัน อาจไม่ประสบความสำเร็จ ด้วยสภาพอากาศและวิธีการดูแล ที่แตกต่างกัน แถมต้นไม้แต่ละต้นก็ไม่ได้เหมาะกับเราทุกอย่าง ต้องลองค้นหาดูว่าตารางชีวิตหรือไลฟ์สไตล์เราเหมาะกับอะไร ไม่ใช่แค่เลี้ยงไปตามกระแสนิยมอย่างเดียว”
กระบองเพชรและไม้อวบน้ำคือคำตอบที่ใช่
ปลูกโรงเรือนเพาะชำ เพราะหลงเสน่ห์ของต้นไม้รูปทรงแปลกเป็นหลัก กระบองเพชรและไม้อวบน้ำจึงดูจะเป็นทางเลือกที่ใช่ที่สุดสำหรับเขา “จริงๆ ผมชอบกระบองเพชรมาตั้งแต่เด็กแล้วนะ แต่ตอนนั้นไม่ได้เลี้ยงจริงจัง เพราะไม่มีโรงเรือน เลยเลี้ยงไว้ข้างบ้าน พอโดนฝนสาดมันก็ล้มหายตายจากไปบ้าง ระหว่างนั้นก็ศึกษามาเรื่อยๆ จนปัจจุบันร่วม 13 – 14 ปีแล้ว เพิ่งจะมีโรงเรือนกระจกของตัวเอง เมื่อสักสองปีกว่านี้เองมันช่วยกันฝน ควบคุมแสง และระบายลมให้พวกกระบองเพชรได้ดี โดยไม่ต้องใช้เวลาดูแลมากนักเพราะ 4 – 5 วันค่อยรดน้ำที”
ภายในโรงเรือนกระจกสีขาวนี้ คุณโอห์มได้จัดชั้นวางกระบองเพชรไว้ 3 ระดับเพื่อการ รับแสงที่แตกต่างกัน รวมถึงจัดเรียงสายพันธุ์ซึ่งเขามีอยู่นับร้อยไว้เป็นหมวดหมู่เพื่อให้ดูแลได้ง่าย มีช่องทางเดินเล็กๆ ตรงกลางสำหรับเข้าไปรดน้ำและตรวจดูความเรียบร้อยของแต่ละ ต้น ส่วนบรรดาไม้อวบน้ำสามารถวางไว้รอบนอกชานบ้านได้โดยไม่ต้องอบแดดอยู่ในโรงเรือน “ทางแถบอเมริกาและยุโรปเขาเน้นเลี้ยงสายพันธุ์แท้ แต่ญี่ปุ่นกับบ้านเราเน้นพัฒนา สายพันธุ์ใหม่ ความสนุกของผมจึงอยู่ที่การได้เพาะสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมา ถึงมันจะโตช้ามากแต่เวลาได้เห็นลายที่ผิวเริ่มเปลี่ยนซึ่งแต่ละต้นก็ไม่เหมือนกัน ทำให้เราตื่นเต้นอยู่เรื่อยๆ และสนุกกับการเฝ้ามองพัฒนาการที่ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป”
การรอคอยที่ไม่เร่งรีบ เพราะต้นไม้คือความสบายใจ
นอกจากความสุขที่ได้จากการเพาะสายพันธุ์ใหม่ๆ และแบ่งปันข่าวสาร กับกลุ่มเพื่อนๆ ในแวดวงไม้ประดับ รวมถึงรางวัลที่ได้จากการส่งเข้าประกวด พันธุ์ไม้แล้ว ยังมีสิ่งสำคัญที่คุณโอห์มได้จากการปลูกต้นไม้อีกก็คือ “ความสบายใจครับ เวลาได้นั่งมองต้นไม้เขียวๆ แล้วรู้สึกผ่อนคลายเป็นงานอดิเรกที่ใครๆ ก็ทำได้นะ ไม่ต้องลงทุนมาก เริ่มจากพื้นที่เล็กๆ ก็ได้ เวลาแค่ 2 – 3 ชั่วโมง ที่อยู่กับต้นไม้พวกนี้จะช่วยให้เราเรียนรู้ถึงความอดทน และการรอคอย เพราะบางอย่างไปเร่งไม่ได้ แล้วก็ยังฝึกให้สังเกตสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เริ่มรู้ถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของธรรมชาติหรือแสงแดดที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละวัน และถ้าจะมีบางต้นที่เลี้ยงไม่รอด เราก็ต้องทำใจเพราะมันเป็นเรื่องของธรรมชาติจริงๆ ”
เป็นสัจธรรมง่ายๆ ที่ธรรมชาติสอนมนุษย์ให้เข้าใจ ถ้าคุณเองก็เป็นคนหนึ่งที่รักต้นไม้ รักธรรมชาติเหมือนคุณโอห์ม และอยากจะลองมาเริ่มต้นทำความรู้จักกระบองเพชรหรือไม้อวบน้ำซึ่งเป็นไม้ประดับรูปทรงแปลกที่สามารถใช้ แต่งบ้านสไตล์โมเดิร์นเท่ๆ ได้อย่างมีเสน่ห์สวยงาม หรือจะทำสวนกระบองเพชร แนวตั้งที่ระเบียงตามสไตล์คนเมืองสามารถหาข้อมูลการเพาะเลี้ยงเพิ่มเติมได้ในหนังสือ แคคตัส (Cactus) ในราคา 650 บาท และหนังสือ ไม้อวบน้ำ (Succulent) จากสำนักพิมพ์บ้านและสวน ซึ่งเขียนโดยคุณภวพล ศุภนันทนานนท์
สั่งซื้อได้ที่ สำนักพิมพ์บ้านและสวน
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ผู้ช่วยกองบรรณาธิการ : สหภาพ เสนาคำ
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ