นักสะสมงานศิลปะและผู้ก่อตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ

บ้านพิพิธภัณฑ์ของนักสะสมงานศิลปะและผู้ก่อตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ

นักสะสมงานศิลปะและผู้ก่อตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ
นักสะสมงานศิลปะและผู้ก่อตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ

DESIGNER DIRECTORY :

สถาปนิก: ดร.ชเล คุณาวงศ์


โดยปกติแล้วคำว่า “พิพิธภัณฑ์” มักชวนให้นึกถึงสถานที่ขนาดใหญ่ เป็นทางการ และเต็มไปด้วยผลงานจัดแสดงต่างๆ มากมาย จนไม่คิดว่าจะสามารถนำมาผนวกรวมเข้ากับบรรยากาศผ่อนคลายของบ้านอยู่อาศัยได้ บ้านพิพิธภัณฑ์

แต่ คุณจก-เสริมคุณ คุณาวงศ์ นักสะสมงานศิลปะและผู้ก่อตั้งศูนย์ประติมากรรมกรุงเทพ ก็ได้สร้างชีวิตชีวาใหม่ๆ ให้พิพิธภัณฑ์โดยปรับปรุงบ้านของตัวเองให้เป็น บ้านพิพิธภัณฑ์ เพื่อเปิดให้บุคคลภายนอกได้เข้าชมผลงานศิลปะไทยที่เขาสะสมไว้ตั้งแต่ปีพ.ศ.2535 ทั้งโบราณวัตถุ พระพุทธรูป จิตรกรรม ประติมากรรม หุ่นประเภทต่างๆ เครื่องสวมศีรษะ เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ และงานฝีมือแบบไทยกว่า 300 ผลงาน โดยตกแต่งจัดวางให้ผสมผสานไปกับพื้นที่ใช้สอยจริงในชีวิตประจำวันได้อย่างงดงามและลงตัว

“ผมเคยไปเยี่ยมชมบ้านพิพิธภัณฑ์ของ Sir John Soane ในลอนดอน เป็นบ้านสไตล์ทาวน์เฮ้าส์ 3 ห้องอายุร้อยกว่าปี เขาเป็นสถาปนิกที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุยังน้อยและมีศิลปะของเก่าสะสมไว้มากมาย ผมชอบมากและไปดูมาหลายรอบ เห็นความรุ่มรวยของการตกแต่งพิพิธภัณฑ์ในบ้านหลังนั้นจนเกิดแรงบันดาลใจมาทำบ้านของตัวเองเป็นพิพิธภัณฑ์ จริงๆ คิดอยู่นานแล้วแต่เพิ่งมีโอกาสได้ลงมือทำ โดยผมเป็นภัณฑารักษ์ที่เลือกสรรงานศิลปะสะสมเข้ามาตกแต่งไปตามพื้นที่ในบ้าน 800 ตารางเมตรด้วยตัวเองทั้งหมด”

บ้านสีขาวอายุร่วม 20 ปีที่ยังดูทันสมัยมาจนถึงปัจจุบัน คุณจกใช้พื้นที่สวนหน้าบ้านจัดวางงานประติมากรรมเชิงพระพุทธศาสนา สะท้อนแนวคิดการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ภายใต้ร่มงาไม้อันร่มรื่นและสวยงาม
ผนังอาคารคล้ายเป็นผ้าใบสีขาวสำหรับงานศิลปะโลหะที่ตัดมาเป็นฝูงนกต่างพันธุ์บินเกาะไปตามแนวผนัง ผลงานของฉัตรมงคล อินสว่าง

คุณจกใช้วิธีการรีโนเวตพื้นที่ภายในใหม่ ทั้งเพื่อรองรับชีวิตคู่ครั้งใหม่และเพื่อปรับให้เหมาะกับความเป็นบ้านพิพิธภัณฑ์มากขึ้น ภายใต้โครงสร้างบ้านหลังเดิมที่อายุราว 20 ปี ซึ่งเป็นฝีมือการออกแบบของ ดร.ชเล คุณาวงศ์ สถาปนิกผู้เป็นพี่ชาย โดยงานศิลปะเริ่มเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของบ้านตั้งแต่ผนังภายนอกอาคารในรูปแบบของโลหะที่ตัดมาเป็นฝูงนกต่างพันธุ์บินเกาะไปตามแนวผนังขาว ส่งต่อมาถึงพื้นที่สวนหน้าบ้านผ่านงานประติมากรรมเชิงพระพุทธศาสนา สะท้อนแนวคิดการเวียนว่ายตายเกิดอยู่ภายใต้ร่มงาไม้อันร่มรื่นและสวยงาม

โถงนั่งเล่นที่สูงโปร่งตกแต่งสไตล์ Eclectic แวดล้อมไปด้วยงานศิลปะและเฟอร์นิเจอร์หลากหลายรูปทรงต่างยุคสมัย เช่น เก้าอี้ยุควิกตอเรียกอทิก สมัยพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เก้าอี้ “Marquise Bergere” สมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 เก้าอี้ “Red and Blue” ปี 1918 เก้าอี้คู่รัก และโซฟาโมเดิร์นสไตล์อิตาลี ส่วนภาพติดผนังเป็นพระพักตร์ของพระพุทธเจ้า ผลงานของปัญญา วิจินธนสาร ภาพแนวเซอร์เรียลลิสต์ของประทีป คชบัว และศิลปะแสงและเงาของปรีชา เถาทอง
โถงนั่งเล่นเปิดโล่งถึงบันไดทางเดินชั้น 2 และยังมองเห็นการเชื่อมต่อไปถึงโถงบันไดทางขึ้น

ส่วนภายในบ้านนั้นเริ่มต้นสร้างความประทับใจด้วยโถงรับแขกเพดานสูงตกแต่งสไตล์ Eclectic ท่ามกลางงานศิลปะและเฟอร์นิเจอร์ต่างรูปทรงต่างยุคสมัย จนคุณจกเรียกว่าเป็นบทสนทนาของเฟอร์นิเจอร์ต่างยุค ผนังประดับด้วยงานจิตรกรรมโดยศิลปินหลากหลาย ขณะที่เพดานมีประติมากรรมที่คุณจกออกแบบเองให้เป็นรูปน้ำวนกลางดวงตาฮอรัสของอียิปต์โบราณพร้อมกับสัตว์สัญลักษณ์ราศีเกิดของคนในครอบครัว

พื้นที่ด้านในสุดของบ้านกั้นไว้เป็นห้องหนังสือที่โดดเด่นด้วยตู้หนังสือใหญ่เต็มผนังพร้อมด้วยเฟอร์นิเจอร์สไตล์คลาสสิกเน้นความภูมิฐานสง่างาม งานศิลปะที่เหมาะสำหรับห้องนี้จึงเป็นงานศิลปะไทยประเพณีโบราณ ส่วนหนึ่งจากโครงการอนุรักษ์จิตรกรรมไทยประเพณีสกุลช่างจักรพันธุ์ โปษยกฤต รวมถึงเครื่องเคลือบโบราณ และเครื่องสวมศีรษะซึ่งเป็นงานฝีมือชั้นครู

โถงบันไดวนที่ประดับด้วยภาพพอร์เทรตและประติมากรรมใบหน้าผู้คนหลายมุมมองหลายอารมณ์ซึ่งเป็นผลงานของศิลปินไร้นามไปจนถึงศิลปินแห่งชาติ เช่น ภาพทนายความใส่ชุดครุยสีดำ ผลงานของชูล โจเซฟ อัลเล ภาพของจักรพันธุ์ โปษยกฤต ภาพของศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ภาพของโลเล ฯลฯ
ห้องอาหารตกแต่งให้สดใสด้วยสีเหลืองมัสตาร์ด จัดวางโต๊ะรับประทานอาหารทรงกลมโดยมีผนังรายรอบด้วยงานศิลปะไทยสมัยใหม่ในยุคที่ได้รับอิทธิพลความคิดจากตะวันตกมาตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5
ห้องหนังสือได้ชื่อว่าเป็นห้องมรดกไทย เพราะรวบรวมผลงานศิลปะไทยประเพณีโบราณอันงดงามและมีอารยธรรมมายาวนาน รวมถึงจิตรกรรมไทยจากโครงการอนุรักษ์จิตรกรรมไทยประเพณีสกุลช่างจักรพันธุ์ โปษยกฤต ตลอดจนเครื่องเคลือบอยุธยา หีบพระธรรมคัมภีร์สมัยรัชกาลที่ 4 หุ่นและศีรษะโขนฝีมือชั้นครู

อีกฟากหนึ่งของบ้านเป็นห้องอาหารที่สดใสด้วยสีเหลืองมัสตาร์ดจัดวางโต๊ะรับประทานอาหารทรงกลมขนาด 10 ที่นั่ง เพื่อให้ทุกคนสามารถมองเห็นงานศิลปะซึ่งประดับไว้ตามผนังรอบตัว โดยเน้นเป็นงานศิลปะไทยสมัยใหม่ในยุคที่ได้รับอิทธิพลความคิดจากตะวันตกมาตั้งแต่ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 ช่วยเพิ่มอรรถรสและเสริมเรื่องราวการสนทนาระหว่างมื้ออาหารได้อย่างไม่รู้จบ

ต่อเนื่องมาถึงโถงบันไดวนที่สะกดทุกสายตาไว้ด้วยภาพพอร์เทรตและประติมากรรมใบหน้าผู้คนมากมาย มีตั้งแต่ผลงานของศิลปินไร้นามไปจนถึงศิลปินแห่งชาติ แสดงนัยถึงความหลากหลายของมนุษยพันธุ์ ทำให้ทุกก้าวย่างที่ขึ้นบันไดนั้นให้อารมณ์ที่แตกต่างกันไป ก่อนจะนำไปสู่พื้นที่สำหรับงานศิลปะพุทธศิลป์ในส่วนของโดมเล็กๆ และห้องนั่งสมาธิ ซึ่งรวมผลงานของศิลปินชั้นนำ เช่น นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ปรีชา เถาทอง, ช่วง มูลพินิจ, ปัญญา วิจินธนสาร และพิชัย นิรันต์

จากชานพักชั้น 2 เดินขึ้นไปสู่โดมชั้น 3 มีจิตรกรรมแนวประเพณีและแนวพุทธศิลป์ประดับตลอดแนวผนังทั้งสองด้าน รวมถึงประติมากรรม “รอยยิ้มแห่งกาลเวลา” ของธนะ เลาหกัยกุล
โดมสีทองแดงประดิษฐานประติมากรรมพระพุทธเหนือทุกข์และสุขปางนาคปรก ชิ้นที่ 10/10 โดยเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์
คุณจกตั้งใจออกแบบห้องนั่งสมาธิมาให้พอดีสำหรับการใช้งานหนึ่งคน โดยประดิษฐานพระพุทธรูปสไตล์มินิมัล ผลงานของนนทิวรรธน์ จันทนะผะลินไว้กลางห้อง ใต้โคมไฟอินฟินิตีเชื่อมโยงกับแนวคิดการเวียนว่ายตายเกิดที่ไม่รู้จบ
คุณจกกับสตูดิโอส่วนตัวที่ใช้สีเขียวตกแต่งผนังด้านในให้โดดเด่น โดยห้องนี้จัดแสดงผลงานศิลปะหลายด้านของเขาเอง รวมถึงเป็นที่ทำงานภาพพิมพ์แกะไม้ วาดภาพ และงานถ่ายภาพร่วมสมัย

บริเวณชั้น 2 ยังมีห้องนอนคุณเหมือนฝันผู้เป็นลูกสาวที่งดงามไปด้วยงานจิตรกรรมของจักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินคนสำคัญในยุครัตนโกสินทร์ ก่อนจะขึ้นไปสู่ห้องนอนส่วนตัวของคุณจกบริเวณชั้น 3 ซึ่งตกแต่งให้เหมือนเพ้นต์เฮ้าส์ จึงมีมุมต่างๆ ไว้ครบครัน ทั้งห้องนั่งเล่นและแพนทรี่ โดยเน้นการตกแต่งในสไตล์ร่วมสมัยขึ้น ทั้งจากเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์โมเดิร์นและงานศิลปะสไตล์แอ็บสแตร็กส์กว่า 10 ชิ้น

“นอกจากจะอนุรักษ์และสืบทอดผลงานศิลปะให้รุ่นลูกรุ่นหลานได้ชมแล้ว ผมยังหวังสร้างแรงบันดาลใจให้คนสนใจนำงานศิลปะมาแต่งบ้านด้วย เรามีศิลปินไทยที่สร้างผลงานดีๆ เยอะ ลองเริ่มศึกษาผ่านทางพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หรือดูจากหนังสือเพื่อค้นหาความชอบของตัวเองก่อนก็ได้ ค่อยตัดสินใจเลือกสรรงานศิลปะมาแต่งบ้าน ผมเชื่อว่าศิลปะดีๆ มีภาษาในตัวเอง ดูแล้วไม่ต้องอธิบายว่าทำไมถึงสวย แค่กระทบใจเราก็พอ” คุณเสริมคุณกล่าวทิ้งท้าย ก่อนจะพาเราชมงานศิลปะทั้งหมดภายในบ้าน

บ้านพิพิธภัณฑ์จะเปิดให้เข้าชมทุกวันเสาร์ที่ 3 ของเดือน วันละ 3 รอบ รอบละ 10 ท่าน ราคาค่าเข้าชม 300 บาท หากต้องการเข้าร่วมชมงานศิลปะร่วม 300 ชิ้น สามารถเข้าไปจองรอบชมล่วงหน้าได้ทาง Error! Hyperlink reference not valid.

ห้องนอนของคุณเหมือนฝัน ลูกสาวคนโตของคุณจก เน้นการจัดวางเฟอร์นิเจอร์ไม่มากชิ้น กับผลงานของจักรพันธุ์ โปษยกฤต ศิลปินคนสำคัญที่ผูกพันกับคุณจกมายาวนานกว่า 10 ปี ในห้องนี้จึงมีทั้งผลงานศิลปินและความทรงจำแทรกตัวอยู่ตามมุมต่างๆ มากมาย
ไอเดียสนุกๆ ของคุณจกที่นำโซฟานั่งเล่นและโต๊ะทำงานมาจัดแต่งในมุมหนึ่งของห้องน้ำภายในห้องนอนของคุณเหมือนฝัน

Inspiring Museum House เสพงานศิลป์ที่บ้านพิพิธภัณฑ์ (บ้านสวย ก.ย.62)
ที่ตั้ง : กรุงเทพมหานคร
เจ้าของ :คุณเสริมคุณ คุณาวงศ์
สถาปนิก :ดร.ชเล คุณาวงศ์

เรื่อง :ภัทรสิริ โขติพงศ์สันติ์
ภาพ :ฤทธิรงค์ จันทองสุข