หลายคนน่าจะเคยได้เห็นผลงานการวาดภาพประกอบที่มีสไตล์และลายเส้นเป็นเอกลักษณ์จาก KANITH หรือ คุณเล่ – กนิษฐรินทร์ ไทยแหลมทอง ศิลปินหญิงผู้มาพร้อมกับความมั่นใจ และชัดเจนในความชอบศิลปะจนเราสัมผัสได้
“จุดเริ่มต้นของการมาเป็นนักวาดภาพประกอบก็คือความชอบในการวาดรูป และเรียนสายศิลปะมา แต่เรียนไปทาง Motion Graphic จากนั้นทำงานประจำได้ปีหนึ่งก็รู้สึกว่าเราชอบวาดรูปมากกว่า ก็เลยวาดมาเรื่อยๆ แล้วจู่ๆ ก็เปิดเพจขึ้นมา เริ่มมีคนเห็นผลงานของเรามากขึ้น ซึ่งเอาจริงๆ เราไม่ได้วางแผนอะไรไว้เยอะ”
ส่วนใหญ่คุณเล่ชื่นชอบที่จะเขียนงานแบบพอร์เทรต แต่ถ้าพูดถึงภาพรวมของผลงานศิลปะในแบบ KANITH เรามักได้เห็นความ Semi – Realistic ในผลงานของเธอ คุณเล่เล่าให้ฟังว่าจริตและแอตติจูดบางอย่างในผลงานศิลปะของเธอมักได้แรงบันดาลใจจากจิตรกรชื่อดังที่เธอชื่นชมอย่าง Edward Hopper
ในโอกาสนี้เป็นอีกครั้งที่คุณเล่จะได้โชว์ฝีมือการวาดภาพประกอบของเธอ โดยเธอได้เป็นหนึ่งใน 8 ศิลปินที่จะร่วมสร้างสรรค์ผลงานใน “8 ลายเส้น ชัยชนะแห่งการพัฒนา” แคมเปญที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสการดำเนินงานครบรอบ 30 ปีของมูลนิธิชัยพัฒนา และ “โครงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย” ก็เป็นโจทย์สำคัญของเธอในครั้งนี้ จึงเกิดเป็นผลงานศิลปะที่ชื่อว่า “MIRRORS” ในเทคนิค Digital Painting
“สิ่งสำคัญของงานศิลปะในครั้งนี้จะเป็นการสร้างความเข้าใจให้ผู้คนว่า ภัยธรรมชาติเป็นเรื่องธรรมชาติ เราเป็นส่วนหนึ่งของมัน และเราก็ต้องอยู่กับมันอย่างเข้าใจ”
คุณเล่ได้ถ่ายทอดคอนเซ็ปต์นี้ผ่านตัวแปรสำคัญอย่าง “น้ำ” เพราะในมุมมองของคุณเล่นั้น น้ำสามารถเป็นได้หลายบทบาทในชีวิตของมนุษย์ ถ้าน้ำมาถูกจังหวะมันก็ดีมากๆ ถ้าน้ำมาผิดจังหวะมันก็ไม่ดีมากๆ เช่นกัน อีกทั้งยังเล่าเรื่องผ่านการสะท้อนภาพบนผิวน้ำ เพื่อสร้างความหมายในเชิงตั้งคำถามว่า เราสามารถปรับตัวกับธรรมชาติได้มากน้อยแค่ไหน และจะใช้ชีวิตอยู่กับมันอย่างไรได้บ้าง
รายละเอียดภายในงานศิลปะชิ้นนี้จะเป็นหลายๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นพร้อมกัน โดยแต่ละเหตุการณ์ต่างเป็นเครื่องสะท้อนความหมายให้ผู้ที่ได้รับชมตระหนักเกี่ยวกับการเยียวยาผู้ประสบภัย เช่น ภาพของต้นไม้หรือกิ่งไม้แห้งที่ใกล้จะตาย จะมีเงาสะท้อนที่ให้ความหมายว่า เมื่อต้นไม้นั้นได้รับการฟื้นฟูมันจะเติบโตและกลายเป็นผลผลิตอะไรได้บ้าง
“การช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นมากกว่า First Aids แต่มันเป็นการให้ความรู้ด้วยอีกทาง ซึ่งมูลนิธิชัยพัฒนาก็เชี่ยวชาญและรู้จักพื้นที่ในประเทศไทยเป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นในการช่วยเหลือจะมีหลายขั้นตอน หลาย Sequences ด้วยกัน ซึ่งไม่ใช่แค่ว่าทำเพื่อให้คนพออยู่ได้ แต่เป็นสิ่งที่ทำให้คนเข้าใจและปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่นั้นๆ ได้อย่างถูกหลักถูกวิธี ซึ่งเราคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้”
แง่คิดที่ได้สื่อสารอยู่ในงานศิลปะในแบบของ KANITH ครั้งนี้จึงอาจทำให้คุณตระหนักในความจริงที่ว่า แม้มนุษย์จะสร้างหลายสิ่งหลายอย่างขึ้นมาเพื่อรองรับความเป็นอยู่ของตัวเองได้ แต่มนุษย์ไม่สามารถควบคุมทุกอย่างได้ ไม่เว้นแม้แต่ธรรมชาติ การศึกษาเพื่อปรับตัวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เป็นมากกว่าการเยียวยา แต่เป็นการสร้างทักษะในการดำรงชีวิตร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน