“Together” ความอบอุ่นของการได้อยู่ร่วมกัน ถ่ายทอดผ่านผลงานจาก Sundae Kids
หลากหลายเหตุการณ์ที่เราเคยผ่านมาอาจเป็นเครื่องสอนให้เกิดการเรียนรู้และตระหนักถึงการมีอยู่ รวมทั้งการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้นั้นคือความอบอุ่นในหัวใจ
โดยที่คุณค่าของมันอยู่ที่การส่งต่อความรู้สึกดีๆ จากคนคนหนึ่งแล้วถ่ายทอดไปสู่หมู่คนอีกนับร้อยนับพันคน ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้เรามักจะเห็นได้จากผลงานศิลปะของ Sundae Kids ซึ่งเกิดจากการผลิตงานศิลปะร่วมกันระหว่าง คุณโป๊ยเซียน ปราชญา มหาเปารยะ กับคุณกวิน เทียนวุฒิชัย
“เรามีเพจของเราสำหรับใช้ในการโชว์งานศิลปะในชื่อว่า ‘Sundae Kids’ ที่เราคิดว่าวันหนึ่งมันอาจจะกลายมาเป็นอาชีพของเราได้จริงๆ” คุณโป๊ยเซียนเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการสร้างเพจโชว์งานอาร์ตในโซเชียลมีเดีย ซึ่งปัจจุบันเป็นที่รู้จักและมีการติดตามจากชาวโซเชียลมากถึง 1.6 ล้านเพจไลก์
“ตอนแรกๆ ลายเส้นของเราจะค่อนข้างแตกต่างจากในตอนนี้ แต่ทางเราก็ชื่นชอบที่จะปรับเปลี่ยนมันไปเรื่อยๆ เราพยายามพัฒนาทั้งลายเส้นและคอนเทนต์อยู่ตลอดเวลา ถ้าสังเกตคอนเทนต์แรกๆ ไล่มาจนถึงทุกวันนี้ก็จะเห็นพัฒนาการที่เกิดขึ้น เพราะเราไม่อยากหยุดอยู่กับที่”
แม้ว่าสไตล์และลายเส้นของพวกเขาจะเปลี่ยนไปและมีการพัฒนาให้เราได้เห็นอยู่เป็นระยะ แต่สิ่งที่คุณโป๊ยเซียนและคุณกวินให้ความสำคัญที่สุดคือ ภาพที่เล่าเรื่อง เพราะไม่ว่าจะผ่านไปอีกกี่ปีคอนเทนต์ก็ยังคงเป็นสิ่งที่น่าสนใจอยู่เสมอ
ในแคมเปญ “8 ลายเส้น ชัยชนะแห่งการพัฒนา” ที่จัดขึ้นเนื่องในโอกาสการดำเนินงานครบรอบ 30 ปีของมูลนิธิชัยพัฒนา Sundae Kids ได้รับโจทย์เป็นโครงการด้านการพัฒนาสังคม ซึ่งดูเป็นโครงการที่สอดคล้องกับสไตล์งานศิลปะของพวกเขา และจากการพูดคุยทำให้เรายิ่งเชื่อว่า ภาพเล่าเรื่องผ่านเทคนิค Digital Painting ของพวกเขามีพลังมากพอที่จะส่งต่อแก่นความคิดดีๆ ที่พอได้รับชมเมื่อไรก็ยังคงมีคุณค่าที่เหนือกาลเวลาจริงๆ
“จากการที่ได้ศึกษาโครงการด้านพัฒนาสังคม มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการอยู่ร่วมกัน ทางมูลนิธิได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา ทั้งการใช้ชีวิต ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่แค่การนำทรัพยากรไปให้คนให้สังคมอย่างเดียว แต่เขาจะมีการสอนให้คนในชุมชนสามารถนำความรู้ไปพัฒนาต่อเองได้ในอนาคต ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เข้ามาช่วยเหลือแล้วก็ตาม เป็นการสอนให้คนรู้จักที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง เราเลยหยิบตรงจุดนี้มาตีโจทย์เป็นชิ้นงาน
“เราตีโจทย์ออกมาเป็นพ่อกับลูก เป็นเหมือนครอบครัว ก็คือจะได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกที่พ่อกำลังสอนลูกในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผัก หรือในด้านการศึกษา การใช้ชีวิตต่างๆ เหมือนเป็นชีวิตประจำวัน ก็สามารถตีความได้ว่าพ่อจะค่อยๆ สอนลูกใช้ชีวิต ไปจนถึงวันหนึ่งที่พ่อไม่ได้อยู่แล้ว แต่ลูกก็สามารถใช้สิ่งที่พ่อสอนในการดำรงชีวิตต่อไปได้ด้วยตัวเอง” คุณโป๊ยเซียนอธิบายคอนเซ็ปต์ของภาพงานศิลปะสำหรับโครงการนี้
คำถามสุดท้ายเพื่อจบการพูดคุยถึงงานศิลปะในครั้งนี้คือ อยากให้งานศิลปะจาก Sundae Kids ในครั้งนี้ ได้บอกอะไรกับผู้ที่ได้รับชมบ้าง คุณโป๊ยเซียนก็ให้คำตอบกับเราว่า “เราอยากให้คนตระหนักถึงการใช้ชีวิต พวกเราน่าจะได้บทเรียนจากคุณพ่อกันมาแล้วแหละ เราเลยอยากให้นำบทเรียนเหล่านี้กลับไปใช้ชีวิตตัวเองได้”