วิธีซักหมอน ในแต่ละครั้ง ควรลงมือทำให้ถูกวิธี เพราะในแต่ละคืนที่เราใช้เวลานอนหลับพักผ่อนนั้น หมอนเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ และ สัมผัสกับใบหน้ามากที่สุด ระหว่างที่นอนหลับ ก็มีทั้ง เหงื่อ และ คราบจากน้ำมันในเส้นผมค่อย ๆ ซึมลงไปในหมอน ไหนจะไรฝุ่น รวมทั้งกลิ่น และ คราบต่าง ๆ ควรทำความสะอาดหมอนเป็นประจำ เพื่อให้หมอนใบเก่าได้กลับมาสะอาดพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มที่อีกครั้งธีซักหมอน
ก่อนจะลงมือซักหมอนแต่ละใบควรตรวจสอบ วิธีซักหมอน ที่เหมาะสมให้ดีก่อน ว่ามีข้อจำกัดในการดูแลอย่างไรบ้าง ซึ่งข้อควรระวังนั้น สามารถดูได้จากป้ายคำแนะนำนั่นเอง โดยหมอนบางชนิดก็ไม่สามารถซักได้ และหมอนบางชนิด ไม่ควรนำเข้าเครื่องอบ จึงต้องตรวจสอบให้แน่ใจก่อน
ด้วยขนาดของหมอนที่ใหญ่กว่าผ้าชิ้นอื่นๆ แถมนาน ๆ ครั้งจะได้นำออกมาซักทำควมสะอาดสักที จึงควรแยกซักจากผ้าชิ้นอื่น ๆ เพราะอาจทำความสะอาดได้ไม่เต็มที่ และเครื่องซักผ้ายังทำงานหนักเกินไปด้วย
การซักหมอนที่มีทั้งคราบฝัง และ ฝุ่นสะสม ควรใช้น้ำร้อนตั้งแต่ 40 องศาเซลเซียส ขึ้นไป เพราะน้ำร้อนสามารถช่วยฆ่าเชื้อโรค และ ไรฝุ่น รวมทั้งสามารถขจัดคราบต่าง ๆ ได้ดีกว่า ทำให้หมอนสะอาดหมดจด ทั้งด้านนอก และ ด้านใน
วิธีซักหมอน ด้วยวิธีต่างๆ
1.การปั่นด้วยเครื่องซักผ้า
หากดูที่ป้ายคำแนะนำแล้วว่าหมอนใบนี้สามารถซักเครื่องได้ ก็จัดการใส่หมอนเข้าเครื่องได้เลยค่ะ ซึ่งส่วนใหญ่หมอนที่สามารถซักเครื่องได้ มักจะเป็นหมอนประเภทใยสังเคราะห์ทั่วไป โดยในการซักแต่ละครั้งควรใส่หมอนเข้าไป 2 ใบ พร้อมกับลูกเทนนิสอีก 2-3 ลูก เพื่อให้น้ำหนักสมดุลกัน และ ปั่นได้โดยไม่เสียรูปทรง จากนั้นก็สามารถตั้งอุณหภูมิ และเลือกโหมดการซักแบบปกติได้เลย แค่ในส่วนของการล้างน้ำสุดท้ายควรตั้งให้ล้างเพิ่มอีก 1 รอบ เพื่อไม่ให้คราบน้ำยาหลงเหลืออยู่ด้านใน
2.การซักด้วยมือ
หมอนบางประเภทอย่างหมอนโฟมนั้น อาจไม่ทนแรงปั่นจากเครื่องซักผ้าจึงควรซักด้วยมือมากกว่า แต่หากที่หมอนมีคราบเลอะเฉพาะจุด ก็สามารถใช้น้ำยาทำความสะอาดป้ายลงไป และค่อย ๆ ขัดให้คราบจางลงก่อนได้ โดยขั้นตอนการซักนั้นจะใช้น้ำอุ่น ผสมกับผงซักฟอกลงในถังซักผ้าหรือกะละมัง และนำหมอนมาแช่ไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง ก่อนจะค่อย ๆ ขยำให้ทั่ว จากนั้นค่อยนำไปล้างด้วยการเปิดน้ำผ่านเรื่อย ๆ ซึ่งขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาพอสมควร เพราะต้องล้างจนมั่นใจว่าสะอาดเกลี้ยงแบบไม่เหลือคราบน้ำยาทิ้งไว้แล้วนั่นเอง
3.การดูดฝุ่น
สำหรับหมอนประเภทอื่น ๆ ที่ทำมาจากนุ่น ฟองน้ำหรือวัสดุต่าง ๆ ที่ป้ายนำแนะนำไม่ให้ซัก สามารถใช้การดูดฝุ่นได้ค่ะ ซึ่งหากที่หมอนมีคราบเลอะ ให้ใช้น้ำยามาป้ายและค่อย ๆ เช็ดออกก่อนเหมือนกับวิธีการซักมือได้เลย เมื่อเช็ดคราบแล้ว จึงค่อยใช้เครื่องดูดฝุ่น มาดูดทำความสะอาด และนำไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค
กำจัดคราบสะสม
1.คราบเหลือง
หมอนใบเก่าที่ใช้มานาน อาจมีคราบเหลืองกระจายอยู่ทั่ว จนเหมือนซักออกได้ยาก ซึ่งการกำจัดคราบลักษณะนี้ไม่ต้องเสียเวลามานั่งขัดให้เมื่อยเลยค่ะ เพราะสามารถใช้วิธีการแช่ให้คราบหลุดออกได้ โดยก่อนนำไปซักนั้น ให้นำหมอนไปแช่ในน้ำอุ่นที่ผสมผงซักฟอก และน้ำยาล้างจานอย่างละ 1 ถ้วยตวง กับผงบอแรกซ์อีกครึ่งถ้วยตวงไว้ประมาณ 30 นาที จากนั้นค่อยนำหมอนไปซัก คราบเหลืองก็จะหลุดออกมาทำให้หมอนขาวสะอาดเหมือนใหม่
2.คราบเชื้อรา
คราบเชื้อราสีดำ ๆ ที่กระจายอยู่บนหมอนเป็นตัวร้ายที่ปล่อยเอาไว้ไม่ได้ เพราะจะส่งผลเสียต่อระบบหายใจ การกำจัดคราบเชื้อราบนหมอนให้หมดไปนั้น เริ่มตั้งแต่การแช่หมอนลงในน้ำที่ผสมไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 1 ถ้วยตวง และน้ำส้มสายชูอีกครึ่งถ้วยไว้สักพัก ส่วนในขั้นตอนการซักนั้นจะใช้เบกกิ้งโซดาผสมกับน้ำส้มสายชู อย่างละครึ่งถ้วยตวงแทนผงซักฟอก ส่วนผสมต่าง ๆ จะเข้าไปทำความสะอาดให้คราบเชื้อราหลุดออก แต่ถ้าหากอยากให้หมอนมีกลิ่นหอมสะอาด ก็สามารถซักด้วยน้ำยาทำความสะอาดตามปกติอีกรอบได้ค่ะ
ขั้นตอนการตากและทำให้แห้งสนิท
1.นำเข้าเครื่องอบผ้า
การนำหมอนเข้าเครื่องอบผ้านั้น ควรปรับให้เครื่องใช้ความร้อนต่ำ เพื่อไม้ให้ด้านในหมอนจับตัวกันเป็นก้อน และเสียรูปทรง โดยหลังจากนำออกจากเครื่องแล้ว ควรวางหมอนไว้ในที่อากาศถ่ายเทสัก 1-2 วันเพื่อให้มั่นใจว่าหมอนแห้งสนิท ไม่อับชื้นอยู่ด้านใน
2.การนำไปตากแดด
การตากหมอนที่เปียกชุ่มอยู่นั้น ควรจัดให้หมอนวางอยู่ในแนวราบเพื่อไม่ให้หมอนเสียรูปทรง ซึ่งถ้าหากใช้ไม้แขวนหรือตาข่ายตากหมอนโดยเฉพาะ แต่ถ้าหากต้องวางในพื้นที่ปกติ สามารถใช้ผ้าขนหนูมาวางรองด้านล่าง เพื่อช่วยซับน้ำออกในช่วงแรกได้ วิธีนี้จะทำให้หมอนแห้งไวขึ้น และแน่นอนว่าไม่ควรนำหมอนเข้าไปเก็บในตู้ หรือพื้นที่ปิดช่วง 1-2 วันแรก เพื่อป้องกันกลิ่นอับชื้นหากด้านในยังแห้งไม่สนิทค่ะ
story : Kamonchanok.L
แก้ปัญหาสารพัดงานซักผ้าด้วยน้ำส้มสายชู
แก้ปัญหาผ้าสีตก ด้วย 4 วิธีง่ายๆ
ติดตามบ้านและสวนเพิ่มเติมได้ที่เพจ บ้านและสวน Baanlaesuan.com