เปลี่ยนบ้านจัดสรรทึบตันให้เปิดโปร่ง ล้อมคอร์ตสวนหิน กลิ่นอายญี่ปุ่น
เพราะความผูกพันต่อสถานที่ที่เรียกว่า “บ้าน” ซึ่งอยู่อาศัยร่วมกันมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่แต่งงานกันใหม่ ๆ กลายเป็นมรดกล้ำค่าทางความรู้สึก และทำให้ คุณกานต์ เฮงสวัสดิ์ คนรุ่นลูกไม่ได้รู้สึกอยากย้ายที่อยู่ไปสร้างบ้านหลังใหม่ของตัวเอง เป็นที่มาสู่การรีโนเวตบ้านหลังนี้ให้มีกลิ่นอาย บ้านสไตล์ญี่ปุ่น ที่ทั้งน่าอยู่เเละเชื่อมความสัมพันธ์ของทุกคนไว้ด้วยกันบ้านสไตล์ญี่ปุ่น
สไตล์ญี่ปุ่น
เริ่มด้วยการรีโนเวตปรับปรุงพื้นที่ใช้งานใหม่ทั้งหมด จากที่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ต่อเติมกันมาทีละนิดทีละหน่อย เพื่อให้ภาพรวมของบ้านเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น และสร้างความรู้สึกปลอดโปร่งให้แก่ผู้ใช้งานได้อย่างเหมาะสมตามยุคสมัย แถมด้วยกลิ่นอายของความเป็น บ้านสไตล์ญี่ปุ่น โดยคุณกานต์ได้เล่าให้ทีมงานบ้านเเละสวนฟังว่า “ผมอยู่บ้านนี้มาตั้งแต่เกิดแล้วครับ เห็นการต่อเติมบ้านมา 3 รอบได้ แต่จุดเปลี่ยนที่อยากรีโนเวตบ้านครั้งใหญ่ก็คือคุณพ่อผมเสียในช่วงที่ผมยังเรียนอยู่ ทำให้รู้สึกว่าอยากทำบ้านใหม่ให้คุณแม่ได้อยู่สบายๆ ผมเลยให้ คุณเอ็กซ์ -กึกก้อง ถิรธำรงเกียรติ เพื่อนสมัยเรียนคณะสถาปัตย์ด้วยกันมาช่วยออกแบบ ผมชอบงานเขาที่มีความเป็นเอเชียเรียบง่ายแต่มีรายละเอียดดี เพราะผมคิดว่าบ้านแบบเอเชียน่าจะเหมาะกับคนเอเชียที่สุดแล้ว จากนั้นก็ปล่อยให้เขาออกแบบเต็มที่ ขอแค่คงเสากับคานเดิมเพื่อประหยัดงบประมาณในเรื่องโครงสร้างไว้เท่านั้น” บ้านสไตล์ญี่ปุ่น
จากบ้านจัดสรรอายุกว่า 30 ปี ในรูปทรงสี่เหลี่ยมที่มีส่วนต่อเติมทั้งด้านหน้าและด้านหลังบ้าน ทำให้ภายในค่อนข้างปิดทึบมาสู่แนวคิดของการเจาะช่องกลางบ้าน เพื่อเปลี่ยนให้เป็นคอร์ตโปร่งโล่งเปิดให้แสงและลมธรรมชาติเข้าสู่ภายในกลายเป็นบ้านรูปทรงตัวยู (U) เติมคอร์ตหน้าและหลังบ้านเพิ่มขึ้นอีกทำให้มีพื้นที่ธรรมชาติสลับกับพื้นที่ใช้งานในบ้านอยู่ตลอด
คุณเอ็กซ์ สถาปนิกผู้ออกแบบพาเราเดินชมพื้นที่รอบๆ บ้านพร้อมเล่าถึงแนวคิดนี้ว่า “เพราะบ้านเดิมเน้นแปลนนิ่งแน่นๆ ผมเลยเจาะคอร์ตตรงกลางบ้านเพื่อให้บ้านหายใจได้แล้วจัดพื้นที่ใช้สอยไว้รอบคอร์ต ทำส่วนจอดรถด้านหน้าใหม่ ย้ายบ่อปลาหลังบ้านมาอยู่ข้างหน้ารวมกันเป็นพื้นที่คอร์ตแรกก่อนเข้าถึงตัวบ้าน และย้ายประตูทางเข้าบ้านมาอยู่ฝั่งขวาแทน ปรับช่องหน้าต่างใหม่ให้ดูทันสมัยขึ้นแล้วติดระแนงไม้ด้านหน้า เปิดช่องหน้าต่างทรงกลมที่อยากให้เป็นจุดเด่นอยู่กลางบ้านช่วยเพิ่มองค์ประกอบที่มีความเป็นญี่ปุ่นนิดๆ แบบที่เจ้าของบ้านชอบ แต่ทั้งหมดอยู่บนโครงสร้างบ้านหลังเดิม”
ก่อนเข้าบ้านหลังนี้จึงมีทั้งสวนสีเขียวที่ร่มรื่นและบ่อปลาขนาดย่อมพร้อมมุมนั่งเล่นรับลมธรรมชาติ ขณะที่ภายในแบ่งพื้นที่ออกเป็นฝั่งซ้ายและขวาโอบล้อมคอร์ตตรงกลางไว้ โดยฝั่งขวาเป็นห้องนั่งเล่นและห้องรับประทานอาหาร ส่วนฝั่งซ้ายเป็นแพนทรี่และครัวซึ่งเป็นมุมที่คุณกานต์ใช้งานบ่อยที่สุด
“จำความได้ผมก็มาช่วยแม่คั้นกะทิแล้วครับ คุณแม่ทำอาหารเองตลอด ชอบปลูกต้นไม้และเลี้ยงปลาด้วย ทุกอย่างก็เลยส่งต่อมาที่ผม ทำให้ผมชอบอยู่บ้านทำกับข้าว ทุกคนในครอบครัวก็จะมาช่วยกันทั้งพี่สาวและหลานๆ เพราะเราทำครัวกันจริงจังมาก”
คุณกานต์เลือกใช้ครัวโทนสีดำเข้มทั้งส่วนท็อปหินบริเวณเคาน์เตอร์เตรียมอาหารกลางห้องและชุดครัวทั้งหมด สลับกับการติดกระจกเทาที่หน้าบานเพิ่มความโปร่งแบบไม่รกตา เพราะตั้งใจเน้นมุมมองของสวนญี่ปุ่นตรงคอร์ตกลางบ้านให้โดดเด่นกว่า ไม่ว่าจะมองจากห้องนั่งเล่นฝั่งตรงข้ามหรือมองออกมาจากในครัว ขณะที่มุมอื่นของบ้านมีการนำองค์ประกอบของเอเชียเข้ามาตกแต่งผสมผสาน ไม่ว่าจะเป็นการปูพื้นห้องนั่งเล่นด้วยเสื่อทาทามิ การใช้เฟอร์นิเจอร์สไตล์จีน ร่วมไปกับการนำเฟอร์นิเจอร์เดิมของบ้านมาบุผ้าและทำสีใหม่อย่าง ชุดโซฟาไม้ในห้องนั่งเล่น และตู้เก็บของใต้บันได
เนื่องจากครอบครัวนี้มีสมาชิกในบ้านหลายคนรวมกัน 3 รุ่น บริเวณชั้นสองของบ้านจึงออกแบบให้เป็นห้องนอนทั้งหมด 4 ห้อง ขนาดเล็กใหญ่ตามพื้นที่และการใช้งาน โดยห้องคุณกานต์อยู่หน้าบ้านซึ่งเน้นความโปร่งจากช่องกระจกที่ปรับเปลี่ยนมาจากหน้าต่างเล็กๆ ของบ้านเดิมให้ใหญ่และทันสมัยขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มมุมมองของความเป็นญี่ปุ่นเข้าไปเล็กน้อยด้วยพื้นที่เล็กๆ ตรงขอบหน้าต่างที่สามารถใช้วางหนังสือหรือนั่งเล่นได้
“ผมว่าบ้านใหม่ช่วยปรับพฤติกรรมของผู้อยู่อาศัยไปด้วย จากที่เคยซื้อของเยอะๆ ก็ต้องลดลง จะซื้ออะไรก็ต้องคิดให้รอบคอบก่อน เพราะเราไม่ได้ทำที่เก็บของไว้เยอะมาก แต่ก็ชอบที่บ้านดูโล่ง ปลอดโปร่ง มองไปมุมไหนก็เห็นต้นไม้ที่เราปลูกอยู่รอบๆ บ้าน มีทางเดินเชื่อมต่อแต่ละมุมได้ง่ายๆ ไม่ต้องซอกแซกเหมือนเมื่อก่อน และก็ยังมีบางอย่างที่เป็นความทรงจำที่คุ้นเคยจากบ้านเดิม ทำให้รู้สึกว่านี่เป็นบ้านของเรา”
DESIGNER DIRECTORY : สถาปนิก : คุณกึกก้อง ถิรธำรงเกียรติ
บ้านสไตล์ญี่ปุ่น
เจ้าของ : คุณกานต์ เฮงสวัสดิ์ บ้าน
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล