ภายใต้ บ้านทรงกล่องสไตล์โมเดิร์น ที่ดูเรียบง่ายไม่ซับซ้อน แต่กลับอบอวลไปด้วยความรู้สึกที่เกิดจากการออกแบบพื้นที่ (Sense of Space) ที่ถ่ายทอดความรักและห่วงใยให้สื่อถึง “กันและกัน” ของคุณอู๊ด – ชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษา และคุณณัฐ – ณัฐพร พงษ์ชาญชวลิต ผ่านการมองและรับรู้ร่วมกันในห้วงเวลาของแสงและเงาที่กระทบดวงตาแล้วตกผลึกไปสู่ใจ ซึ่งออกแบบโดย คุณวรพจน์ เตชะอำนวยสุข คุณปัทมา พรภิรมย์ และคุณสหวุฒ ปานะภาค แห่ง Monotello
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Monotello
แสงยามเช้าไล้ผนังบ้านสีขาวให้ค่อยๆ สว่างไสวด้วยประกายแดด แม้เมื่อมองจากด้านหน้าตัวบ้านดูเป็นกล่องทึบตันตั้งประชิดถนน แต่เมื่อเข้ามาภายในกลับโปร่งโล่งด้วยการเปิดคอร์ตเป็นสระว่ายน้ำ และมีความต่อเนื่องระหว่างภายนอกและภายในบ้าน คุณอู๊ดเล่าย้อนกลับไปวันที่เริ่มคิดสร้างบ้านว่า “เราตั้งใจจะอยู่กันสองคน และเรามีบ้านอยู่แล้วอีกที่หนึ่ง แต่บ่อยครั้งที่ผมกลับดึกหรือไม่อยู่บ้านก็เป็นห่วงภรรยาที่อยู่บ้านคนเดียว ประจวบกับคุณพ่อภรรยามีที่ดินข้างบ้านและอยากให้ลูกมาอยู่ใกล้ๆ จึงคิดสร้างบ้านหลังนี้บนที่ดินประมาณ 180 ตารางวา และย้ายมาอยู่ที่นี่ ทำให้ผมก็จะได้ไม่ต้องห่วง ภรรยาก็ไม่เหงา และคุณพ่อก็สบายใจ” บ้านทรงกล่องสไตล์โมเดิร์น
การออกแบบบ้านต้องเปิดมุมมองในหลายมิติ ซึ่งสถาปนิก คุณพจน์-วรพจน์ เตชะอำนวยสุข เล่าถึงการออกแบบว่า “เมื่อจะเริ่มออกแบบบ้าน เราจะนั่งคุยกันว่าเจ้าของบ้านมีประสบการณ์มาแบบไหนบ้าง เพื่อปรับความคิดและดูทิศทางการทำงานร่วมกัน โดยทำความเข้าใจเขาทั้งสองคน แล้วนำความสัมพันธ์มาร้อยเรียงเป็นฟังก์ชันต่างๆ หลังจากคุยกันแล้วมีประเด็นที่น่าสนใจ คือ เขาอยากมองเห็นกันและกัน นั่นไม่ใช่เพราะความเป็นห่วงหรือกลัวว่าถ้าเธอไม่อยู่แล้วฉันจะเหงา แต่คู่นี้เขาอยากเห็นอีกคนมีความสุข เพราะต่างเป็นความสุขที่เติมเต็มซึ่งกันและกัน บ้านนี้จึงเป็นการแปลงสาสน์แห่งความรักของทั้งสองคนมาสร้างเป็นสเปซ ที่แม้ต่างคนต่างทำกิจวัตรแต่เขาจะยังคงอยู่ด้วยกันเสมอ และนำมาซึ่งการเปิดมุมมองในหลายมิติที่ทำให้แม้จะอยู่ในฟังก์ชั่นต่างกัน แต่ก็รู้สึกว่าได้อยู่ด้วยกัน”
ด้วยที่ดินมีลักษณะลึกยาว บ้านจึงมีรูปทรงคล้ายตัวแอล (L) “แน่นนอนว่าไม่สามารถทำทุกห้องให้มองเห็นกันได้ทั้งหมด จึงต้องสร้างการรับรู้ถึงกันและกัน ทั้งรับรู้ด้วยการมองเห็นกันตรงๆ หรือถ้าอยู่คนละห้องก็รับรู้ด้วยเปิดสเปซให้มีส่วนเชื่อมถึงกัน ทำให้รับรู้ถึงเสียงหรือการเคลื่อนไหว และทุกห้องจะต้องรับรู้เรื่องเวลาด้วยการเห็นแสงธรรมชาติ ทำให้เกิดความรู้สึกถึงการใช้เวลาร่วมกันตลอดเวลา”
ทางเข้าด้านหน้าเป็นโถงทางเข้าแบบเปิดโล่งสำหรับนั่งพักหรือแขกนั่งรอได้ ภายในบ้านทำห้องอ่านหนังสือที่มีมุมทำงานของคุณอู๊ดให้อยู่ด้านหน้า เพื่อใช้เป็นพื้นที่คุยงานและสามารถเปิดให้ต่อเนื่องกับระเบียงนั่งเล่นริมสระว่ายน้ำได้ ถัดเข้าไปเป็นห้องนั่งเล่นที่เป็นห้องโถงสูงโล่งถึงชั้นบน มีผนังกระจกบานใหญ่ดูต่อเนื่องระหว่างภายในและภายนอกให้แสงธรรมชาติและเงาเคลื่อนคล้อยไปตามเวลา สุดปลายทางเดินแต่ละมุมมีแสงสว่างส่องเข้ามา ซึ่งเป็นเทคนิคการออกแบบของสถาปนิก “ออกแบบมุมมองภายในบ้านไม่ให้รู้สึกว่ามีปลายตัน (Dead end) จึงออกแบบให้มีแสงสว่างอยู่ที่สุดปลายทางเดินเสมอ” ส่วนชั้นบนเป็นห้องนอนใหญ่และห้องออกกำลังกายที่มองลงมาเห็นสระว่ายน้ำและสวนด้านล่างได้
“แกนบ้านวางตามแนวทิศเหนือใต้ โดยสระว่ายน้ำอยู่ทิศตะวันตก เพราะต้องการเปิดสเปซให้ต่อเนื่องกับบ้านคุณพ่อ แต่ทิศนี้จะมีแสงแดดส่องช่วงบ่ายถึงเย็น จึงปลูกต้นซิลเวอร์โอ๊คเป็นแนวช่วยบังแดด และทำให้เกิดเงาต้นไม้ทอดยาวเป็นตัวเชื่อมโยงจากภายนอกสู่ภายในบ้าน”
เมื่อแสงแดดเปลี่ยนมุม บรรยากาศบ้านก็เปลี่ยนไป การได้มองเห็นกันในมุมต่างองศาที่แม้ไม่ได้สบตากันใกล้ๆ กลับก่อให้เกิดความสุขใจที่ได้เห็นคนรักมีความสุขในแบบที่เขาเป็น เป็นมวลความสุขที่เติมเต็มสเปซของบ้านให้เป็น “บ้าน” ในแบบฉบับของเขาทั้งสองคน
TWOgether Home สเปซความสุขในมุมมองต่างองศาของสองเรา (บ้านสวย พ.ย. 62)
เจ้าของ : คุณชาญวิทย์ เขียวนาวาวงศ์ษา และคุณณัฐพร พงษ์ชาญชวลิต
ออกแบบ : Monotello โดยคุณวรพจน์ เตชะอำนวยสุข คุณปัทมา พรภิรมย์ และคุณสหวุฒ ปานะภาค
ที่ตั้ง : กรุงเทพฯ
เรื่อง: ศรายุทธ ศรีทิพย์อาสน์
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์: วรวัฒน์ ตุลยทิพย์