Takaharu Tezuka

สำรวจผลงาน Takaharu Tezuka ในงานเข้าสู่ปีที่ 25 คณะสถาปัตย์ฯ เชียงใหม่

Takaharu Tezuka
Takaharu Tezuka

โรงเรียนอนุบาลฟูจิ (Fuji Kindergarten) ถูกสร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ.2007 แตกต่างด้วยแนวคิดการทำดาดฟ้าของห้องเรียนให้เป็น “ลานวิ่งเล่นวงกลม” ขนาดกว้าง เชื่อมต่อไปกับลานดินและต้นไม้เบื้องล่างอย่างเป็นผืนเดียว

ในเวลานั้น แนวคิดดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเป็นการยกระดับโรงเรียนอนุบาลที่เดิมต่างมีรูปแบบเหมือนๆ กันไปหมดทั่วญี่ปุ่น แต่มันยังเป็นการตั้งคำถามกับพื้นที่การเรียนรู้ และวิธีการเรียนรู้ของเด็กในวัยเล็ก ว่าควรจะมีวิธีการเรียนรู้แบบใด และพื้นที่แบบใดที่จะสร้างเสริมพัฒนาการและประสบการณ์ให้เด็กๆ ได้จริงๆ

ทาคาฮารุ เทะซึกะ (Professor Takaharu Tezuka) สถาปนิกผู้เป็นที่ยอมรับทั้งในญี่ปุ่นและระดับสากล เป็นผู้ออกแบบโรงเรียนหลังที่ว่า และเรื่องราวของโรงเรียนหลังนี้ ก็เพิ่งถูกเขานำมาบรรยายในตอนหนึ่งของงาน “25th Year Anniversary Architecture CMU Lecture Series x FLIP : FACMUAA Lecture Improvement to Professional” หรือกิจกรรมการบรรยายพิเศษ (Lecture Series) ในวาระก้าวสู่ปีที่ 25 ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้กับเหล่านักศึกษาและผู้ที่สนใจรับฟังกันเมื่อไม่นานมานี้

“เขาอยากวิ่งก็ให้เขาวิ่งไปเลย ถ้าฝนตกหรือเล่นน้ำตัวเปียกก็ไปเปลี่ยนเสื้อผ้า เรื่องไปห้องเรียนพวกเขาก็หาทางไปจนได้เอง” Takaharu Tezuka กล่าวถึงผลงานของเขา “สิ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือ บางทีเราต้องปล่อยให้เด็กๆ ได้ลองทำสิ่งต่างๆ ได้เจออันตรายเล็กๆ น้อยๆ บ้าง พวกเขารับมือได้ครับ เราไม่ต้องไปกังวลแทนพวกเขาหรอก”

โดยนอกจากแนวคิดการให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากสภาพแวดล้อมจริง ได้รู้จักแก้ปัญหาด้วยตัวเอง และได้หัดเรียนรู้เอง นอกจากการมีคุณครูเป็นผู้สอนอยู่ฝ่ายเดียว ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าฟังได้อย่างเหลือล้นแล้ว คุณเทะซึเกะยังได้นำอีกหลายโครงการ หลายแนวคิดสร้างสรรค์ มาแลกเปลี่ยนเพิ่มเติมอีกบนเวที

อาทิ บ้าน Roof House อันมีที่มาจากการที่เจ้าของบ้านทุกคนชอบขึ้นไปใช้เวลาร่วมกันบนดาดฟ้า ดาดฟ้าของบ้านนี้จึงกว้างขวาง และมีองค์ประกอบสอดคล้องกับวิถีชีวิต เช่น การกั้นพื้นที่บางส่วนสำหรับคนที่ยังต้องการความเป็นส่วนตัว หรือแม้กระทั่งการมีฝักบัวอาบน้ำกลางแจ้ง

หรือผลงาน Asahi Kindergarten การซ่อมและสร้างโรงเรียนเดิมที่ถูกทำลายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในปี 2011 ด้วยการนำไม้จากต้นไม้ที่ตายจากเหตุการณ์สึนามิในปีเดียวกันมาสร้างอาคาร ซึ่งคล้ายเป็นการส่งต่อความทรงจำและเรื่องราวในท้องถิ่นสู่คนรุ่นถัดไปโดยเฉพาะกับนักเรียนที่มาเรียนที่นี่ หรืออีกหนึ่งงานจากไม้ที่น่าสนใจ พาวิลเลียน Woods of Net ก็แปลกตาด้วยการนำโครงสร้างไม้มาสานต่อกันและกระตุ้นให้ผู้คนปีนป่ายหรือใช้งานได้หลากหลายในพื้นที่ภายในโดยไม่ต้องมีเฟอร์นิเจอร์ และท้ายสุด Sora No Mori Clinic ศูนย์การแพทย์เพื่อการมีบุตร (Fertility Clinic) ในโอกินาว่า ที่ใช้ไม้เป็นหลักเพื่อกระตุ้นการเสริมสร้างการพัฒนาป่าในพื้นที่ที่ไม้สูญไปจากเหตุสงครามโลก อันคล้ายเป็นการนำเอาไปเดียเรื่องการกำเนิดและความอุดมสมบูรณ์ของทั้งคนและป่ามารวมไว้ในทำนองเดียวกัน

นอกจากการให้แรงบันดาลใจจากผลงานดีๆ ทั้งหมดแล้ว ในตอนท้ายของงาน คุณเทะซึเกะยังได้ตอบคำถามหนึ่งจากผู้ร่วมงานที่น่าสนใจ ที่ว่า “เขารู้สึกอย่างไรเวลาที่คนไม่เข้าใจในสิงที่เขาทำ หรือสิ่งที่เขากำลังออกแบบอยู่?”

“Do the Right Thing.” คือคำตอบของคุณเทะซึเกะ “เป็นเรื่องปกติที่จะมีคนไม่เข้าใจหรือไม่เห็นด้วยในสิ่งที่เราทำ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เขาเรียนรู้จากการทำงานมานานหลายปีก็คือ ถ้าคุณทำงานโดยมีแนวทางที่ชัดเจน จนกระทั่งคนเริ่มเข้าใจว่าคุณทำงานแบบไหน งานของคุณเป็นยังไง ตัวงานนั้นจะดึงดูดคนที่ต้องการงานในแบบของเราเข้ามาหาเรา”

“สิ่งที่คุณต้องทำก็คือ ทำสิ่งที่คุณคิดว่าดี คิดว่าเหมาะสมออกไป ทำให้เต็มที่ เวลาที่งานของคุณมีแนวทางที่ชัดเจน คุณแค่ต้องรอเวลา แล้วจะมีคนเห็นงานของคุณเอง”