ศาสตราจารย์ ดร.ระพี สาคริก บุคคลผู้มีความสำคัญเป็นอย่างมากในวงการต้นไม้ไทย โดยท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยวัย 95 ปี อาจารย์ระพีถือเป็นปูชนียบุคคลที่ได้รับการกล่าวขานให้เป็น บิดาแห่งวงการกล้วยไม้ไทย นอกจากนี้ ยังเคยดำรงตำแหน่งเป็นอธิการบดี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในปี2518 – 2522 และรัฐมนตรีช่วยว่าการเกษตร และสหกรณ์ในปี 2522
“ผมยอมรับว่าผมเป็นนักกล้วยไม้ ผมได้เพาะกล้วยไม้เมล็ดแรกลงบนผืนแผ่นดินนี้ตั้งแต่ยังพอ จำความได้ แล้วก็มุ่งมั่นรดน้ำบำรุงรักษาจนกระทั่งเขาเจริญเติบโตขึ้นมามีดอกสวยงามให้คนเขาชื่นชมสมใจ ขยายออกไปอย่างเป็นธรรมชาติจนกระทั่งทั่วโลก แต่ว่าไม้ใช่พันธุ์กล้วยไม้ที่คนมองเห็น พันธุ์เหล่านั้น ดอกมันบานแล้วก็โรยไป แต่กล้วยไม้พันธุ์นี้นอกจากจะอยู่เป็นอมตะแล้ว ยังถ่ายทอดสู่ชนรุ่นหลังได้ด้วย ผมตั้งชื่อกล้วยไม้พันธุ์นี้ว่า ความรักในเพื่อนมนุษย์”
บทความโดยศาสตราจารย์ดร.ระพี สาคริก ในการประชุมวิชาการ Japan Flora ณ ประเทศญี่ปุ่น ในปี2543
อาจารย์ระพีมักใช้ชีวิตอยู่ในโรงเรือนเพื่อค้นคว้าและวิจัยกล้วยไม้ โดยเฉพาะการปรับปรุงสายพันธุ์พื้นเมืองจนทำให้กล้วยไม้ไทยกลายเป็นสินค้า ส่งออกสำคัญที่นำรายได้เข้าประเทศและเป็นที่รู้จักในวงการกล้วยไม้สากล นับตั้งแต่ปี 2506 ซึ่งท่านได้รับเชิญไปเป็นผู้บรรยายทางวิชาการในที่ประชุมกล้วยไม้โลกทุกครั้ง จนได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยพระราชทานเหรียญดุษฎี มาลา เข็มศิลปวิทยา สาขาเกษตรศาสตร์ ในปี2511 และทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์อีกด้วย
นอกเหนือไปจากผลงาน ด้านวิชาการเกี่ยวกับกล้วยไม้แล้ว ท่านยังมีผลงานด้านบทความและงาน แต่งหนังสือด้านต่างๆ อีกกว่า 10 เล่ม เช่น เพียงข้าวเมล็ดเดียว, หอมกลิ่น กล้วยไม้, แด่วิญญาณครูที่ฉันรักยิ่งชีวิต, วิญญาณใต้ร่มนนทรี, เกษตรกรที่รัก, เขียนจากใจ บันทึกประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
•ชมความงามของกล้วยไม้รองเท้านารี จากเส้นทางโครงการพัฒนาดอยตุงฯ
•รวม 5 กล้วยไม้สีขาว สวยบริสุทธิ์
•10 อันดับ กล้วยไม้ดอกสวยน่าปลูกในสวน !
•กล้วยไม้สายพันธุ์ต่างๆในเมืองไทย
แม้ปัจจุบันจะมีนักเพาะเลี้ยง วิจัย และปรับปรุงพันธุ์กล้วยไม้อยู่มากมาย แต่ชื่อของศาสตราจารย์ดร.ระพี สาคริก จะยังคงอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็น ที่โครงการห้องสมุดระพี สาคริก ภายในห้องสมุดแห่งชาติ หรือสวนกล้วยไม้ระพี ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ที่เป็นแหล่งเรียนรู้ให้คนรุ่นหลังสืบไป
เรื่อง : ปัญชัช
ภาพ คลังภาพบ้านและสวน และหอจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์