บ้านชั้นเดียวมินิมัล แบบมูจิ ที่สนทนากับธรรมชาติและผู้สูงอายุ
บ้านชั้นเดียวมินิมัล แบบมูจิ ที่รวมเอาประสบการณ์ 15 ปีในการออกแบบบ้านของ MUJI มาเรียงร้อยเพื่อนำเสนอรูปแบบการอยู่อาศัยตามปรัชญา “ความสุขเล็กๆที่เรียบง่ายและอบอุ่น”
นี่คือหัวใจสำคัญของ Yō no Ie House บ้านชั้นเดียวมินิมัล แบบมูจิ ขนาดกะทัดรัดกับแปลนบ้านแบบผังอิสระที่ไร้ผนังกั้น พร้อมทั้งชานไม้ขนาดใหญ่ที่เน้นการเชื่อมโยงกับธรรมชาติ ยืดหยุ่นต่อรูปแบบการอยู่อาศัย และเอื้อต่อการเติบโตของครอบครัว
“ไม่ใช่แค่สิ่งก่อสร้างที่เรียกว่าบ้าน แต่เป็นวิถีการดำเนินชีวิต” Yō no Ie House คือแบบบ้านที่มูจิเลือกนำเสนอในวาระครบรอบ 15 ปีที่ได้เริ่มธุรกิจบ้านสำเร็จของตนขึ้น ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปในปี 2004 สิ่งที่ทำให้ MUJI สนใจในธุรกิจบ้านสำเร็จรูปก็คือ คำถามคาใจว่าทำยังไงจะแก้ปัญหาความเสื่อมราคาของตัวบ้านตั้งแต่วันที่ซื้อและถูกรื้อทิ้งเมื่อผ่านไป 30 ปี (ที่ญี่ปุ่นมีกฎหมายที่บังคับให้ต้องรื้อบ้านทิ้งหรือรีโนเวตทุกๆ 30 ปี เพื่อความปลอดภัยของชุมชนโดยรวม) ด้วยเหตุนี้เอง MUJI จึงตั้งใจที่จะนำเสนอบ้านที่สามารถอยู่อาศัยไปได้อย่างมั่นคง และผูกพันธ์กับครอบครัวของเจ้าของบ้านตราบทศวรรษจากรุ่นสู่รุ่นด้วยความเชื่อใน “ความสุขที่เรียบง่ายและอบอุ่น” ซึ่งจะนำพา “ชีวิตที่ดี” มาสู่เจ้าของและชุมชนโดยรวม
ความพิเศษของ “ บ้านชั้นเดียวมินิมัล แบบมูจิ ” เรียบง่าย อยู่สบาย ใช้ชีวิตอย่างเป็นธรรมชาติ
Yō no Ie House ถูกออกแบบให้เป็น “บ้านชั้นเดียว” ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่ใช้สอยภายในที่สามารถออกแบบให้โล่งกว้างขึ้นได้เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการแผ่ขยายออกไปยังพื้นที่รอบๆบ้านด้วยบานเปิดขนาดใหญ่ สามารถเชื่อมโยงธรรมชาติให้เสมือนหนึ่งเป็นห้องนั่งเล่นอีกห้องหนึ่งเลยทีเดียว
แนวความคิดในการออกแบบนั้นอิงจากความต้องการที่จะให้ “กิจวัตร” ของบ้านหลังนี้เชื่อมโยงกับธรรมชาติภายนอก การได้ออกมาเดินเหยียบดิน ใช้ชีวิตนอกบ้าน รับแดดอ่อนๆยามเช้า และผ่อนคลายในยามบ่ายคือจุดมุ่งหมายที่จะ “เติมเต็ม” สิ่งดีๆเหล่านี้ให้กลับมาสู่ชีวิตคนเมืองอีกครั้ง
ในเขตเมืองที่มีประชากรและบ้านเรือนอยู่หนาแน่น ที่อยู่อาศัยมักจะเติบโตขึ้นโดยการสร้างซ้อนทับเหลื่อมกันไปจากชั้นหนึ่งสู่ชั้นสองชั้นสาม ด้วยเหตุนี้ Muji จึงได้ออกแบบการใช้งานโดยคำนึงถึงรูปแบบที่มากกว่าแค่การใช้พื้นที่ในรูปแบบตายตัว แต่ยังมองไปถึงการใช้งานที่หลากหลายในพื้นที่เดียวกัน ทั้งยังเลือกที่จะเอาผนังหรือสิ่งปิดกั้นอื่นๆออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ในอีกทางหนึ่ง การที่บ้านจะสามารถเป็น “บ้านชั้นเดียว” ซึ่งสามารถอยู่อาศัยได้อย่างดีโดยไม่จำเป็นต้องมีบันไดอยู่ในบ้านนั้น จะทำให้การอยู่อาศัยเป็นไปโดยธรรมชาติมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเด็ก หรือผู้สูงอายุก็จะสามารถใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้ได้โดยง่าย และ Yō no Ie House ยังได้คิดไปถึงการใช้งานพื้นที่ที่ไม่ใช้เพียงพื้นที่ภายใน แต่ยังต่อเนื่องออกไปยังพื้นที่ภายนอก เจ้าของบ้านอาจเปลี่ยนสวนให้กลายเป็นห้องนั่งเล่นในวันหยุดพักผ่อน ให้พื้นที่สีเขียวในเขตเมืองได้ใกล้ชิดกับผู้อยู่อาศัยทั้งที่อาจจะเคยเป็นเรื่องยาก สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นกิจวัตรที่เกิดขึ้นได้โดยอยู่ในชีวิตประจำวัน “เพราะบ้านหลังนี้อาจจะเป็นบ้านหลังแรกของใครบางคน แต่ก็ยืดหยุ่นพอที่จะปรับปรุงให้เป็นบ้านที่อยู่ไปได้จนแก่เฒ่า ไม่ว่าจะครอบครัวเดี่ยว หรือครอบครัวขยาย MUJI เชื่อว่าบ้านชั้นเดียวหลังนี้สามารถจะตอบโจทย์ “ชีวิตที่ดี” ให้กับผู้คนได้อย่างแน่นอน”
แค่เปิดหน้าต่างบานใหญ่…ก็กลายเป็นห้องนั่งเล่นกลางแจ้ง
หน้าต่างขนาดใหญ่ที่เปิดและปิดได้อย่างง่ายดาย ไม่เพียงแต่รับวิวสวนเข้าสู่ภายในบ้าน Yō no Ie House ถูกออกแบบมาโดยยึดแนวคิดที่ว่าต้องไม่มีขอบเขตกั้นระหว่างบ้านและสวน หน้าต่างกระจกบานใหญ่นั่นสามารถที่จะเปิดออกได้จนสุดและสามารถเก็บซ่อนเอาไว้ภายในผนัง บานกระจกเหล่านี้ใช่เพียงทำหน้าที่แบ่งกั้นบ้านหลังนี้ออกจากธรรมชาติภายนอกเท่านั้น หากแต่ยังเป็นสะพานที่เชื่อมโยงบ้านและสวนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ลบขอบเขตที่เคยมีให้หายไป และสร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆในการใช้ชีวิตให้เกิดขึ้น
ด้วยการออกแบบที่ไร้ซึ่งขอบเขตระหว่างภายในห้องและชานบ้าน สวนและพื้นที่นั่งเล่นจึงถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกันได้โดยง่าย ในวันหยุดนั้นเจ้าของบ้านอาจจะเลือกนำเอาโต๊ะทานข้าวออกมานั่งเล่นกันที่นอกชาน รับประทานอาหารในสวนกับเพื่อนๆและครอบครัว แวดล้อมไปด้วยธรรมชาติเล็กๆของสวนรอบบ้าน เป็นความสุขง่ายๆที่ทำได้บ่อยๆภายในบ้านของเราเอง “ความสุขเล็กๆที่เกิดขึ้นได้ในทุกๆวัน” คือปรัญญาที่ MUJI ยึดถือตลอดมา
หลากนิยามการใช้งานในพื้นที่เปิดกว้างไร้ผนังมาแบ่งกั้น
สำหรับการบริหารจัดการพื้นที่ในบ้านหลังนี้นั้น ด้วยขนาดราว 80 ตารางเมตร อาจจะดูเหมือนไม่ใหญ่โตนัก แต่ด้วยการจัดการพื้นที่ใช้สอยให้มีความหลากหลายแม้ในพื้นที่หนึ่งๆ บ้านหลังนี้จึงสามารถตอบสนองการอยู่อาศัยได้อย่างครบครับ อาทิเช่นพื้นที่ครัวที่ติดตั้งบนเคาน์เตอร์นั้นจะไม่ถูกใช้งานเป็นพื้นที่ประกอบอาหารเพียงเท่านั้น แต่ยังสามารถกลายเป็นพื้นที่ที่ครอบครัวจะมารวมตัวกับสังสรรค์และนั่งเล่นกันได้ หรืออย่างส่วนสำคัญของบ้านเช่นห้องนอน MUJI ก็เลือกที่จะออกแบบให้สามารถเป็นได้มากกว่าพื้นที่สำหรับพักผ่อน โดยเลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่จะสามารถตอบสนองการใช้งานได้หลากเวลาและโอกาสมากขึ้น อย่างการนอนอ่านหนังสือ นั่งทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่ทานอาหารเช้าบนเคาน์เตอร์หัวเตียง ซึ่งถ้าเราเลือกที่จะใช้ประโยชน์อันหลากหลายจากพื้นที่หนึ่งๆ ผ่านงานออกแบบและเฟอร์นิเจอร์โดยไม่ยึดติดการใช้งานจากเพียงนิยามของชื่อห้องเท่านั้น พื้นที่เดิมๆก็สามารถจะเป็นได้มากกว่าที่เคยเป็น และ Yō no Ie House ก็ทำตัวเหมือนเป็นห้องหนึ่งห้อง ที่อัดแน่นไปด้วยความเป็นไปได้เหล่านั้นอย่างเต็มเปี่ยม
บ้านเหมือนๆกัน…เป็นไปได้ไม่เหมือนกัน
ถึงแม้ว่าขนาดของบ้านจะเท่ากัน แต่ด้วยผังบ้านที่ถูกออกแบบมานั้นทำให้บ้านหลังนี้สามารถจะรองรับไลฟ์สไตล์ที่หลากหลาย ดังเช่นตัวอย่างของไลฟ์สไตล์ที่ต่างกันสองแบบในตัวอย่างนี้
บ้านผู้สูงอายุที่เปิดรับธรรมชาติอย่างเต็มที่
บ้านชั้นเดียวที่มีพื้นที่ต่อเนื่องกันแบบเปิดโล่ง จัดวางห้องครัวไว้ทิศเหนือของบ้าน(ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จะเสียพื้นที่ไปหากต้องมีบันไดบ้าน) พื้นที่ทั้งหมดต่อเนื่องไปยังชานและสวนในทางทิศใต้ ด้วยห้องขนาด 80 ตารางเมตรซึ่งไม่มีเสาและกำแพงกั้น จึงทำให้ได้พื้นที่ขนาดใหญ่ที่รวมเอาทั้งห้องนั่งเล่น ห้องทานข้าว และห้องนอนเอาไว้เป็นพื้นที่เดียวกันได้ ในส่วนห้องนอนนั้นเลือกใช้ผนังบานเลื่อนสำหรับกั้นแบ่งพื้นที่ แต่ละส่วนนั้นสามารถเชื่อมโยงออกไปยังภายนอกได้โดยสะดวกผ่านบานเลื่อนกระจกที่สามารถเปิดออกได้จนสุด มากกว่านั้นบ้านหลังนี้ยังมีเพดานสูงถึง 3.9 เมตรเสริมความโปร่งสบายอีกด้วย แม้จะเป็นผู้สูงอายุก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะการที่บ้านไม่มีบันไดและผนังกั้นจึงทำให้สามารถใช้ชีวิตได้โดยง่ายในบ้านหลังนี้
เป็นมิตรต่อเด็กๆ และพร้อมจะอยู่คู่กับเค้าจนเติบใหญ่
เมื่อเปิดบานเลื่อนกระจกออกจนสุด ด้วยลักษณะของชายคาบ้านหลังนี้ทุกๆส่วนของบ้านจะสามารถรับลมเย็นๆในหน้าร้อนและแดดอันอบอุ่นในหน้าหนาว(ของประเทศญี่ปุ่น) เคาน์เตอร์และโต๊ะทานข้าวนั้นตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เชื่อมโยงไปสู่พื้นที่ภายนอกได้โดยง่าย หากนึกอยากจะรับประทานอาหารในบรรยากาศกึ่งเอาต์ดอร์ก็เพียงเปิดบานหน้าต่างออกเท่านั้น ซึ่งเคาน์เตอร์ครัวในตำแหน่งนี้นั้นก็สามารถที่จะมองเห็นไปได้ยังทุกพื้นที่ของบ้าน สร้างให้คนในบ้านมีกิจกรรมร่วมกันได้มากขึ้น ทั้งเด็กๆยังสามารถวิ่งเล่นผ่านบานเปิดเหล่านี้จากห้องนั่งเล่นสู่ชานและสวนได้ตลอดเวลา
สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เด่นชัดที่สุดของบ้าน Yō no Ie House ก็คือการสร้างโอกาสที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติให้เกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน สิ่งนี้จะเข้ามาเติมเต็มความต้องการหลีกหนีจากความวุ่นวายในโลกดิจิตอลของผู้คนในปัจจุบัน อีกทั้งในแง่ของความเป็นครอบครัว ไม่ว่าจะผู้สูงอายุที่ต้องการการพักผ่อน หรือเด็กๆที่ต้องการการผจญภัยเล็กๆในสวนรอบบ้าน Yō no Ie House สามารถจะเชื่อมโยงช่วงวัยที่แตกต่าง และสมาชิกในครอบครัวเข้าหากันได้ผ่านพื้นที่ปฏิสัมพันธ์ที่ถูกออกแบบไว้อย่างดี พี้นที่ที่ถูกออกแบบเพื่อสร้าง “ความเป็นไปได้ที่หลากหลาย” ของการใช้ชีวิตร่วมกัน และนี่ก็คือบ้าน Yō no Ie House โดย MUJI ที่น่าจะเป็นหนึ่งแนวทางสำหรับใครหลายๆคนที่ต้องการสร้าง “ความสุขเล็กๆ” ในบ้านให้มากขึ้นในทุกๆวัน
เรื่อง วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ Ryohin Keikaku