บ้านดาดฟ้า ชั้นเดียว บนลานดาดฟ้าอพาร์ตเมนต์ชั้น 5 โดดเด่นด้วยดีไซน์ทรงกล่องแบบโมเดิร์น เเละใช้ไม้เต็งสำหรับต่อทำลังซึ่งมีตำหนิตามธรรมชาติมาเป็นวัสดุหลักในการออกแบบ พร้อมเติมพื้นที่สีเขียวได้อย่างร่มรื่นและอยู่อาศัยได้จริง
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: WARchitect
เจ้าของ : คุณขจี เกศจุมพล
คุณขจี เกศจุมพล เจ้าของอาคารขนาด 5 ชั้นซึ่งเป็นอพาร์ตเมนต์ให้เช่าที่เด่นด้วยฟาซาดหน้าจั่วดีไซน์สวยในชื่อ Hachi เขามีแนวคิดอยากสร้างประโยชน์ให้พื้นที่ดาดฟ้าเป็นมากกว่าพื้นที่โล่ง ๆ เพื่อให้คุ้มค่ากับราคาที่ดินภายในซอยลาดพร้าวที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยมี คุณวิน-ธาวิน หาญบุญเศรษฐ สถาปนิกแห่ง WARchitect ผู้มีส่วนในการออกแบบอาคาร Hachi เป็นผู้ขยายแนวคิดนี้ให้ กระทั่งออกมาเป็นรูปแบบ บ้านดาดฟ้า ไม้ชั้นเดียว บนดาดฟ้าขนาด 200 ตารางเมตร เด่นด้วยรูปทรงคล้ายกล่องไม้ โดยผลักตำแหน่งของ บ้านดาดฟ้า หลังนี้ ให้ลึกเข้ามาด้านใน เผื่อพื้นที่ขนาดกว้างด้านหน้าไว้สำหรับทำเป็นสวนสไตล์โมเดิร์นดูแลรักษาง่าย แม้จะอยู่บนชั้นดาดฟ้าแต่บรรยากาศกลับอบอุ่นน่าอยู่ไม่ต่างจากบ้านบนดินเลยทีเดียว จนได้เป็นหนึ่งในงานดีไซน์ที่ได้รับรางวัล Best Architectural Projects of 2019 จากสื่อดังของต่างประเทศอย่าง ArchDaily มาสดๆ ร้อนๆ บ้านดาดฟ้า บ้านดาดฟ้า
“การสร้างบ้านบนดาดฟ้านี้เป็นแนวคิดที่เราวางไว้ตั้งแต่เริ่มออกแบบอาคารในตอนแรก ก็เลยขึ้นโครงสร้างรอไว้เลย แต่มีเหตุต้องหยุดทำไปกลางคัน หลังจากที่สร้าง Hachi เสร็จ ทิ้งไว้เป็นปีกว่าช่างจะกลับมาทำงานต่อ ซึ่งตอนนั้นก็มีคนเข้ามาอาศัยอยู่ในอพาร์ตเมนต์เต็มหมดแล้ว งานต่อเติมพื้นที่ดาดฟ้าตรงนี้จึงจำเป็นต้องรบกวนคนที่อยู่อาศัยบางห้อง แต่หลายคนก็เข้าใจ เพราะช่างทำงานกันช่วงกลางวันตอนที่ผู้อาศัยออกไปข้างนอก ใช้เวลาเร่งงานอยู่ 2-3 เดือนก็เสร็จครับ” คุณวิน กล่าว
เลือกวัสดุ “ไม้” ที่มีตำหนิเพื่อประหยัดงบประมาณ
ด้วยแนวคิดการออกแบบบ้านที่อยากให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นบวกกับเจ้าของมีความชื่นชอบวัสดุอย่างไม้เป็นพิเศษ สถาปนิกจึงเลือกนำไม้มาเป็นวัสดุหลัก ซึ่งเป็นแผ่นไม้เต็งที่คุณขจีเหมาซื้อมาเป็นตู้คอนเทนเนอร์จากประเทศลาวอย่างถูกกฎหมาย ทำให้ได้ไม้คละสีคละขนาด บางแผ่นมีตาไม้ มีรอยตำหนิแตก และรอยเลื่อยที่ยังไม่ได้ขัดเรียบ ซึ่งเจ้าของบ้านทั่วไปไม่นิยมใช้ แต่คุณขจีผู้ทำธุรกิจก่อสร้างมาตลอดกลับมองร่องรอยเหล่านี้เป็นเสน่ห์ที่สวยงามเหมือนงานศิลปะจากธรรมชาติ
คุณขจีชี้ชวนให้ดูเนื้อไม้แล้วบอกว่า “ผมชอบสีของไม้เต็ง สีอ่อนๆ ดูสวยอบอุ่นและเป็นธรรมชาติ แต่ข้อเสียของไม้ที่ได้มาคือตาไม้มันชัดและมีรอยแตก ซึ่งผมว่ามันดูอาร์ตดี เหมือนยีนขาด ๆ ที่ดูเท่ ไม่ต้องเนี้ยบมาก มันช่วยประหยัดเวลาและงบประมาณด้วย เพราะไม้ที่ใช้ในบ้านเราแค่ทายูรีเทน ส่วนด้านนอกก็ปล่อยตากแดดตามธรรมชาติไม่ได้ไปฟอกอะไร”
วางเเปลนเเบบโมเดิร์นพร้อมเติมคอร์ตกลางบ้าน
ในส่วนของการวางฟังก์ชันในบ้านสถาปนิกได้ออกแบบแปลนให้ตรงกับกริดของอาคารแบ่งเป็น 6 พื้นที่ใช้สอย คือ ส่วนของห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ห้องครัว ห้องนอน ห้องน้ำ และคอร์ตกลางบ้าน ภายใต้รูปทรงกล่องสี่เหลี่ยมที่ดูเรียบและมินิมัลที่สุด โดยห้องนั่งเล่นถูกเชื่อมต่อกับมุมรับประทานอาหารเปิดโปร่ง ห้องครัววางฟังก์ชันให้ขนานไปกับผนังสองฝั่ง ด้านหนึ่งเปิดโล่งสู่คอร์ตกลางบ้านเห็นต้นจิกน้ำ ห้องน้ำอยู่อีกด้านจากห้องครัวซึ่งมีคอร์ตคั่นตรงกลาง สุดท้ายส่วนของห้องนอนจัดวางตามสไตล์มินิมัล มีแค่เตียงนอนเป็นเฟอร์นิเจอร์หลัก สามารถมองออกไปชมวิวเมืองด้านนอกได้เต็มตาผ่านผนังกระจกขนาดใหญ่
แต่เนื่องจากบ้านนี้อยู่บนชั้นดาดฟ้าของอาคารอพาร์ตเมนต์ จึงปะทะกับแสงแดดและความร้อนโดยตรง คุณวินจึงแก้ปัญหาด้วยการทำช่องหลังคาและใส่ฉนวนป้องกันความร้อน นอกจากนี้ยังออกแบบประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่ที่สามารถเปิดกว้างให้ลมพัดผ่านเข้า-ออกได้สะดวกเพื่อช่วยในการระบายอากาศ ขณะที่ลานกว้างหน้าบ้านปลูก น้ำเต้าต้น ซึ่งมีฟอร์มสวยเเบบโมเดิร์นที่ให้ใบสีเขียวเล็ก ๆ โดยวางจังหวะของต้นไม้ให้พอดีกับมุมมองจากภายในบ้าน
ความสุขเฉพาะตัวบนบ้านดาดฟ้า
“ผมเชื่อเรื่องความพอดีของจังหวะการออกแบบ ของแต่ละอย่างจะมีขนาดเท่าไหร่วางตรงไหนเป็นเรื่องสำคัญทั้งหมด อย่างความกว้างของโต๊ะอาหารที่พอดีกับโซฟาและตู้วางทีวี เวลามองจากหน้าบ้านเข้าไปยังตำแหน่งของเฟอร์นิเจอร์เองก็พอดีกับช่องของแต่ละกริด เพื่อให้เกิดมุมมองที่สวยงาม”
แล้วคุณขจีก็เดินมาพร้อมกาแฟในมือและนั่งลงบนเก้าอี้ที่ระเบียงรับกับแสงแดดสวยๆ ยามเช้า รอยยิ้มบนใบหน้าบอกถึงความสุขได้ดี เหมือนที่เขาเอ่ยยืนยันทิ้งท้ายว่า
“ผมชอบบ้านหลังนี้มาก มันเหมือนได้เปิดมุมมองกว้าง ๆ ได้พักสายตา และมีความเป็นส่วนตัวสูง ทุกมุมของบ้านทำให้รู้สึกผ่อนคลายและสะดวกเหมือนอยู่เพ้นต์เฮ้าส์ ยิ่งตอนเย็น ๆ แสงยิ่งสวย รู้สึกเลยว่าทุกสัมผัสมันทำให้ผมมีความสุขมาก” คุณขจีกล่าวทิ้งท้ายถึงบ้านดาดฟ้าแสนสวยหลังนี้
เรื่อง: ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ