วิชชาลัยลูกโลกสีเขียว: ชุมชนแห่งการเรียนรู้วิถีพอเพียง ผูกพัน แบ่งปัน ดิน น้ำ ป่า

สถาบันลูกโลกสีเขียว เชื่อมั่นว่าการอยู่ร่วมกันของคนกับป่าที่เรียกว่า “คนอยู่-ป่ายัง” จะเป็นแนวทางการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนจากชุมชน บุคคล และกลุ่มเยาวชนที่ได้รับ “รางวัลลูกโลกสีเขียว” รวมแล้วเกือบ 800 ผลงานที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะรักษา คุ้มครอง ฟื้นฟู และมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ

 

ด้วยความตระหนักถึงคุณค่าทางนิเวศ ความหลากหลายทางชีวภาพ ความมั่นคงทางอาหาร และการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น เพื่อหาทางจัดสรรประโยชน์ที่เป็นธรรมแก่ทุกชีวิต

การดำเนินการอย่างเป็นกระบวนการนี้เอง สร้างความรู้ หรือ “บทเรียน” ที่ควรแก่การถ่ายทอด ขยายผลไปยังชุมชนและสังคมที่กำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม หรือกำลังมองหาวิธีการเครื่องมือที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพเพื่อรักษาทรัพยากรธรรมชาติ

บทบาทสำคัญหนึ่งของสถาบันลูกโลกสีเขียวคือการส่งต่อ “บทเรียน” เหล่านี้ออกไป เพื่อสนับสนุนงานอนุรักษ์ ซึ่งนำมาสู่การผลักดันให้เกิด “วิชชาลัยลูกโลกสีเขียว” ที่จะรวบรวมวิเคราะห์ สังเคราะห์ความรู้ในผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียว จัดกระบวนการเรียนรู้ เผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ รวมถึงพัฒนาให้เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ต่อเนื่อง

คำว่า “วิชชาลัย” ได้รับอิทธิพลจากพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร เรื่อง “พระมหาชนก” ซึ่งเป็นการสนธิกันระหว่าง “วิชชา” และ “อาลัย” โดย “วิชชา” คือ วิทยาการ ความรู้ ภูมิปัญญา ส่วน “อาลัย” คือแหล่งที่อยู่ เกิดเป็นความหมายว่า “แหล่งที่อยู่อาศัยของความรู้” หรือ “บ้านของความรู้” นั่นเอง ส่วน “ความรู้” นั้นจะเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ การฟื้นฟู การพัฒนา

และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิดวิถีพอเพียง ผูกพัน แบ่งปัน ดิน น้ำ ป่า ซึ่งแต่ละชุมชนที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ได้ดำเนินการโดยใช้ความรู้สมัยใหม่และความรู้ภูมิปัญญาดั้งเดิม มาผสมผสานกัน เกิดเป็นความรู้ที่ “กินได้ เพื่อคนกับป่าอยู่รอดปลอดภัย”

คณะกรรมการภาค “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ภาคเหนือ เริ่มต้นนำร่องการดำเนินงาน “วิชชาลัยลูกโลกสีเขียวภาคเหนือ” ตั้งแต่ปลายปี 2561 และได้จัดสัมมนากระบวนการจัดการความรู้ชุมชนเพื่อวิชชาลัยลูกโลกสีเขียวภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 14-17 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา โดยได้นำเสนอให้เห็นถึงกระบวนการในการพัฒนาวิชชาลัยฯ ในแต่ละขั้นตอน ประกอบด้วย

  1. การพัฒนาแนวคิด เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันว่าอะไรคือความรู้การได้มาของความรู้ และการจัดการความรู้
  2. การถอดบทเรียน เป็นการกำหนดเป้าหมายและขอบเขตในพื้นที่ชุมชนที่ได้รับรางวัลสิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน ซึ่งเป็นแบบอย่างของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตในพื้นที่ลุ่มน้ำ วิธีการรวมถึงเครื่องมือที่จะใช้ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นความรู้การดำเนินงาน ทางกรรมการภาคเหนือฯ จัดสัมมนาผู้รู้ตัวแทนชุมชนเป้าหมาย ทำความเข้าใจกระบวนการวิชชาลัย แล้วแบ่งงานภายในคณะกรรมการฯ ลงพื้นที่เพื่อรวบรวมข้อมูลในชุมชน โดยใช้เครื่องมือหลากหลายได้แก่ การสัมภาษณ์เจาะลึกการสนทนากลุ่ม เทคนิคเส้นเวลา (Time Line) การทำ Mind Map จากนั้นนำมาประมวลข้อมูล จัดทำเป็นชุดข้อมูลประสบการณ์ บทเรียน ภูมิปัญญาชุมชน
  3. การวิเคราะห์/สังเคราะห์ เป็นการยกระดับข้อมูลเชิงประสบการณ์อยู่ในตัวบุคคล (Tacit Knowledge) และมีความจำเพาะท้องถิ่น ให้เป็นความรู้เชิงวิชาการที่สามารถประยุกต์ใช้ทั่วไปได้ (Explicit Knowledge) ตามกระบวนการสร้างความรู้ของ Danny Wallace (2007) ที่ค่อยพัฒนาจากข้อมูล (Data) สารสนเทศ (Information) ความรู้ (Knowledge) และองค์ความรู้ (Wisdom) มีคำถามหลักในการแสวงหาข้อมูลได้แก่ อะไรที่ทำให้เกิดการจัดการทรัพยากร ชุมชนมีวิธีการในการจัดการอย่างไร มีโครงสร้างอย่างไรในการบริหารจัดการทรัพยากร และมีการใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างไร
  4. การขับเคลื่อน เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความรู้วิชชาลัยลูกโลกสีเขียว ที่ต้องวางยุทธศาสตร์ มีแผนงานกลไกสนับสนุน และการบริหารจัดการความรู้ แหล่งเรียนรู้ ผู้รู้และผู้เรียนรู้ที่จะนำความรู้ไปใช้ประโยชน์
  5. การประเมินผล เพื่อชี้ให้เห็นผลสำเร็จในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จำนวนกลุ่ม/ชุมชนได้เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ได้ สามารถจะเป็น “แบบอย่าง” ที่จะเข้าสู่การพิจารณาผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียว
  6. การสร้างเครือข่าย เกิดการขยายผล สร้างความร่วมมือวิชชาลัยลูกโลกสีเขียวให้คนอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างเกื้อกูล

กระบวนการวิชชาลัยลูกโลกสีเขียว

ผลการดำเนินงานในช่วงปีแรก สามารถดำเนินการไปใน 2 ขั้นตอน ซึ่งได้ประมวลข้อมูลความรู้จากชุมชนเป้าหมาย 3 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนบ้านม่วงชุม อ.เชียงของ จ.เชียงราย ชุมชนบ้านห้วยหินลาด ใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย และชุมชนบ้านสามขา อ.แม่ทะ จ.ลำปาง

ชุมชนบ้านม่วงชุม : การจัดการสายน้ำเพื่อชีวิต

ชุมชนเกษตรกรรมที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางธรรมชาติทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า “ป่าชุ่มน้ำ” ป่าต้นน้ำ และหนองน้ำ แต่การใช้ประโยชน์ที่มากเกินไป จากการบุกรุกทำลายพื้นที่ป่าเพื่อทำนาและการเกษตร ประกอบกับขาดการจัดการน้ำที่เหมาะสม ทำให้ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ในหน้าแล้ง และน้ำท่วมนาข้าวในหน้าฝน

การดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาสามารถยุติการบุกรุกและการจับจองที่ดินทำกินหันมาร่วมกันอนุรักษ์พื้นที่ป่าและแหล่งน้ำ รวมถึงการจัดการน้ำที่ผสมผสานความรู้สมัยใหม่และภูมิปัญญา “เหมือง-ฝาย” โดยสามารถวิเคราะห์หารูปแบบที่เหมาะสมเพื่อการใช้ประโยชน์แต่ละพื้นที่ นอกจากนี้การสร้างระบบและโครงสร้างที่เป็นลำรางอ่างเก็บน้ำคอนกรีต เสริมด้วยท่อพีวีซี แต่ยังรักษาคลองดินบางช่วงไว้ เพื่อรักษาระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในห่วงโซ่อาหารรอบ ๆ คลองส่งน้ำ

ปัจจัยความสำเร็จในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนม่วงชุม มี 3 องค์ประกอบ เป็นตัวขับเคลื่อน “ชัยภูมิ-ผู้นำ-การหนุนเสริมจากภายนอก” เกิดชุดความรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบตามแนวพระราชดำริ ตั้งแต่การฟื้นป่าต้นน้ำ การสร้างระบบกักเก็บน้ำและจ่ายน้ำ ซึ่งเป็นการทำงานกลางน้ำ จนถึงระบบกระจายน้ำและสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำทั้งชุมชน ซึ่งเป็นงานปลายน้ำ สิ่งที่สำคัญยังสะท้อนในวิสัยทัศน์ของผู้นำ นั่นคือ การคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม หากไม่ช่วยกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชนทั้งหมดจะอยู่ไม่ได้ และไม่มีใครที่จะอยู่ได้เพียงลำพัง

ชุมชนบ้านห้วยหินลาดใน : จริยธรรมสำนึกของคนต้นน้ำ

บ้านห้วยหินลาดใน เป็นชุมชนปกาเกอะญอในพื้นที่สูงซึ่งถูกประกาศเป็นเขตอนุรักษ์ ด้วยการบริหารจัดการของผู้นำและท่าทีที่นุ่มนวล สุภาพ สามารถสร้างแนวทางการทำงานที่ดีกับเจ้าหน้าที่รัฐทั้งยังเป็นต้นแบบที่ได้รับการยกย่องจากภาครัฐ เอกชน ทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ จากการใช้วัฒนธรรมปกาเกอะญอในการสร้างจริยธรรมสำนึกเพื่อรักษาดิน น้ำป่า ปรับตัวจนสามารถสร้างเศรษฐกิจชุมชนในรูปวนเกษตร ก่อเกิดรายได้ทั้งรายวัน-รายเดือน-รายปี (ชันโรง ไผ่หก ชา) และใช้ประโยชน์จากความสมบูรณ์ของป่า และการดูแลป่า ให้หวนกลับไปเป็นต้นทุนของเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน

เครื่องมือในการบริหารจัดการองค์กรชุมชนของบ้านห้วยหินลาดใน เกิดขึ้นตามธรรมชาติของวัฒนธรรม สภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และบธรรมชาติของคนปกาเกอะญอ เรียกว่า “สภากองไฟ” ที่สามารถยึดโยงจิตใจของคนทุกรุ่นไว้ได้ รวมถึงการปลูกฝังจริยธรรมสำนึกในคนรุ่นใหม่

ชุมชนบ้านสามขา : เรียนรู้อดีตที่ผิดพลาด เพื่อวาดอนาคตที่มั่นคง

บ้านสามขาเป็นชุมชนที่สืบสายมาจาก “ติ๊บปาละ” หนึ่งในสี่นักรบผู้กล้าแห่งล้านนาที่ร่วมกันปลดแอกจากการถูกพม่ายึดครองในครั้งโบราณ จุดเริ่มต้นของการเป็นพื้นที่ตัวอย่างเกิดจากการปัญหาสองเรื่องหลักคือ “น้ำ” กับ “หนี้” การปรับตัวจากวิกฤติหนี้เสียของชุมชนที่สูงถึง 18 ล้านบาท มาสู่การสร้างกองทุนที่มีเงินหมุนเวียนมากกว่า 20 ล้านบาท โดยใช้กระบวนกการวิจัยแบบชาวบ้าน ขยายผลเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนเพื่อตอบโจทย์อนาคต

ในการจัดการดิน น้ำป่า เริ่มต้นจากฝายมาสู่การจัดการทรัพยากรน้ำ ทำให้บ้านสามขาเป็นต้นแบบการสร้างฝายหลากหลายรูปแบบ มีจำนวนมากกว่าหมื่นฝาย ฟื้นป่าแบบไม่ต้องปลูก เลิกใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและแมลงทำให้ดินสะอาด กลายเป็นชุมชน “เกษตรอินทรีย์” และนำผลมาสร้างหลักสูตร “ห้วยสามขา : เห็ด ป่า นา ข้าว” เป็นการเรียนรู้ชีวิตบ้านสามขา เพื่อให้เด็กรู้จักบ้านเกิด ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เลี้ยงตัวได้

นางฉัตราภรณ์ ชาญเชาว์ ผู้จัดการสถาบันลูกโลกสีเขียว กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาวิชชาลัยลูกโลกสีเขียวภาคเหนือจะได้ขยายผลไปสู่การจัดตั้ง “วิชชาลัยลูกโลกสีเขียว” ในภาคต่างๆ ได้ เพื่อให้เป็นช่องทางในการเรียนรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีผลสำเร็จ แก้ปัญหาของชุมชน สร้างพื้นที่สีเขียวที่คนกับป่าได้อยู่ร่วมกัน สามารถนำไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ตามบริบทและเงื่อนไขของพื้นที่ต่อไป

ผู้สนใจสามารถติดตามและสืบค้นชุดความรู้วิชชาลัยลูกโลกสีเขียวได้

 

[1] อนันต์ ดวงแก้วเรือน ประธานคณะกรรมการภาค “รางวัลลูกโลกสีเขียว” ภาคเหนือ กล่าวในงานสัมมนากระบวนการจัดทำความรู้ชุมชนเพื่อวิชชาลัยลูกโลกสีเขียว ภาคเหนือ