“รักษ์คลอง ข้าว และคน” ในภูมิทัศน์ที่กำลังเลือนหายไป
สถาบันลูกโลกสีเขียว และคณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียว ภาคกลางตะวันออก จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ บทบาทของภูมิทัศน์กับการบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ประโยชน์ที่ดิน กับกรณีศึกษา “คลอง ข้าว คน…วิถีชุมชนในเครือข่าย มัสยิดกมาลุลอิสลาม” สถาบันลูกโลกสีเขียว
เพื่อให้ชุมชนในเครือข่ายมัสยิดกมาลุลอิสลาม เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ เข้าใจเรื่องภูมิทัศน์ ที่เกี่ยวข้องกับองค์ประกอบโครงสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อภูมิทัศน์ และการฝึกทักษะในการประเมินภูมิทัศน์ ครอบคลุมระบบนิเวศ/สิ่งแวดล้อม สังคมวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ผู้เข้าร่วมการอบรมกับ สถาบันลูกโลกสีเขียว ในครั้งนี้ประกอบด้วย ครูและนักเรียน ผู้นำเยาวชน แกนนำชุมชน และผู้นำทางจิตวิญญาณ ประมาณ 50 คน สถาบันลูกโลกสีเขียว
ด้วยความที่พื้นที่นี้มีความผสมผสานระหว่างความเป็นเมืองใหญ่กับวิถีชีวิตของผู้คนดั้งเดิมที่ยังทำการเกษตร ทำนา และประมงพื้นบ้าน มีพื้นที่สีเขียวที่เป็นบึงน้ำและพรุซึ่งทำหน้าที่เป็นแก้มลิงตามธรรมชาติช่วยกักเก็บน้ำและป้องกันน้ำท่วม ขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินตามการพัฒนาของเมือง ในลักษณะต่างๆ เช่น การตัดถนนใหม่ๆ การสร้างบ้านจัดสรรที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาชุมชนร่วมกันแก้ปัญหาน้ำเน่าเสียในคลองแสนแสบโดยฟื้นฟูคุณภาพของน้ำจนเปลี่ยนให้คลองช่วงที่ไหลผ่านชุมชนให้ใสสะอาด ขนาดที่สามารถเลี้ยงปลาในกระชัง และลงเล่นน้ำได้ กระทั่งได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ในปี 2550 และรางวัล “สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน” ปี 2556
แต่ท่ามกลางการรุกคืบของการพัฒนา จำเป็นที่ชุมชนจะต้องตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยอาศัยการเรียนรู้และฝึกทักษะการประเมินภูมิทัศน์เป็นเครื่องมือในการกำหนดแนวทาง แผนงาน และการทำงานต่อไปข้างหน้า
ดร.สมศักดิ์ สุขวงศ์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ คณะกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว ได้ปูพื้นฐานถึงความสำคัญของภูมิทัศน์ อะไรคือภูมิทัศน์ ที่มีทั้งภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ ได้แก่ คูคลอง นา ป่า เขา และภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมที่ถูกสร้างขึ้น หรือเกิดจากการกระทำของมนุษย์ เช่น สิ่งก่อสร้างถนนหนทาง เป็นต้น ในแต่ละภูมิทัศน์จะมีองค์ประกอบโครงสร้าง บทบาทหน้าที่ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างไร ทำให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับพื้นที่ โดยคุณภาพของภูมิทัศน์เกี่ยวข้องกับประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อธรรมชาติหรือระบบนิเวศสังคม และเศรษฐกิจของชุมชน
ด้าน ดร.โกมล แพรกทอง กรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียว เน้นย้ำเรื่องการจัดการร่วมระหว่างชุมชน หน่วยงานรัฐ และเอกชน ซึ่งเป็น “บทเรียนความสำเร็จ” ที่ปรากฏในผลงานรางวัลลูกโลกสีเขียว โดยที่การทำงานร่วมมักจะเกิดขึ้นจากการเผชิญวิกฤติ แล้วมีผู้นำชุมชนที่เข้มแข็งในการแก้ไขปัญหาและแสวงหาความร่วมมือจากทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหา เกิดการวางกฎกติกาของชุมชนในการใช้ประโยชน์ การอนุรักษ์พื้นที่ดิน น้ำ ป่า เพื่อลดภัยพิบัติธรรมชาติ และร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกเพื่อการเติมความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการดำเนินกิจกรรมและกระบวนการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
“ขั้นตอนการร่วมจัดการทรัพยากรที่สำคัญคือ การทำความเข้าใจระบบนิเวศและสังคมที่เป็นจุดเป้าหมายแสวงหาความร่วมมือกำหนดผู้ร่วมในขบวนการแก้ไขให้ถูกคนถูกองค์กรรวมถึงการประเมินความสามารถ และความต้องการในการเพิ่มศักยภาพของชุมชน”
เมื่อเข้าใจความสำคัญภูมิทัศน์ และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแล้ว เมื่อลงฝึกภาคปฏิบัติ จะเป็นการนำเกณฑ์การประเมินภูมิทัศน์ ที่มี 20 ตัวชี้วัดมาใช้ ซึ่งครอบคลุมมิติทางธรรมชาติ สังคม และวัฒนธรรม โดยแบ่งผลเป็น 5 ระดับ ตั้งแต่มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และไม่มีเลย เช่น ตัวชี้วัดเรื่ององค์ประกอบของพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เป็นการประเมินว่าชนิดพันธุ์และจำนวนที่มีอยู่ว่าเพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างไร เช่น หากมีปลาน้อยลง ผลการประเมินอยู่ในระดับปานกลาง หรือน้อยเป็นต้น แล้วตั้งสมมุติฐาน หรือหาสาเหตุประกอบด้วย
จากการลงพื้นที่ประเมินภูมิทัศน์ที่สำคัญของชุมชน ได้แก่ คลองแสนแสบ ลำคลองสาขา พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุ่มน้ำ และแก้มลิงตามธรรมชาติ ผลประเมินอยู่ในระดับดี เพราะมีความร่วมมือของชุมชนในการอนุรักษ์ โดยเฉพาะการกำหนดกติกาให้ต้องปฏิบัติร่วมกัน อย่างไรก็ตามพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ดินของเอกชน ดังนั้นจึงมีการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์สูงมาก ซึ่งจะส่งผลกระทบกับสภาพสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติในอนาคต จำเป็นต้องหาแนวทาง จัดทำแผนงาน วิธีการที่ใช้ในการเจรจาต่อรอง การจัดการร่วม และการสร้างสำนึกความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อการดูแลรักษาพื้นที่สีเขียวของชุมชนที่เหมาะสมต่อ ไป โดยมีข้อเสนอที่เห็นร่วมกันครั้งนี้คือการรักษาพันธุ์ไม้ดั้งเดิม เช่น ธูปฤาษี ต้นกก ในแหล่งน้ำธรรมชาติ ควบคู่กับการปลูกไม้ริมคลอง เพื่อรักษาน้ำ ป้องกันการชะล้างและการพังทลายของดิน
นางสาวนงนุช ฤทธิ์เต็ม ครูวิทยาศาสตร์ โรงเรียนสุเหร่าทรายกองดิน ซึ่งเป็นโรงเรียนในชุมชน สะท้อนว่าการอบรมในครั้งนี้ทำให้ได้รู้จักชุมชนมากขึ้น เห็นถึงความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น คิดว่าจะนำความรู้และกระบวนการประเมิน ภูมิทัศน์ไปขยายผลกับนักเรียนแกนนำ สร้างจิตสำ นึกในการดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง เพราะเมื่ออยู่กับคลอง ต้องช่วยกันดูแลคลองให้สะอาด ไม่มีขยะ หรือเกิดมลพิษ
เด็กชายนัฐกรณ์ ดอเลาะ กับเพื่อนๆ นักเรียนชั้น ป. 6 โรงเรียนพิทยพัฒน์ศึกษา บอกว่าดีใจที่ได้ไปเห็นคลอง บึงน้ำที่นา และควายเผือก รวมทั้ง นก กระยาง นกปากห่างในธรรมชาติ แม้ว่าเขาจะเคยไปวิ่งเล่นบางแห่งช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์ แต่ไม่เหมือนที่ได้อบรมกับคุณครู ลุงป้าน้าอาและเพื่อนๆ ครั้งนี้ เขารู้สึกว่าชุมชนมีน้ำและอากาศดีมากๆ อยากรักษาไว้ให้ดีอย่างนี้ โดยจะช่วยรักษาความสะอาด ณัฐกรณ์ ดอเลาะ เก็บขยะตามถนน และในคลองด้วย