ICONIC TASTE ห่อหุ้มดีไซน์ไอคอนิกด้วยบ้านมินิมัล
ด้วยความที่คลุกคลีอยู่ในวงการออกแบบและเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโดยอาชีพ คุณต่อโชค จุลสุคนธ์ จึงเนรมิต แบบบ้านปูนโมเดิร์น หลังใหญ่บนที่ดิน 200 ตารางวาของตัวเอง ตามความรู้และประสบการณ์ที่มีได้อย่างมีเอกลักษณ์
เจ้าของ – ออกแบบ: คุณต่อโชค จุลสุคนธ์ บริษัท Spc Technocons Co.,Ltd
ความโปร่งโล่ง กว้างขวาง ที่ผสานไปกับการเลือกใช้วัสดุ และเทคนิคการก่อสร้างอย่างมีประสบการณ์ เป็นจุดเด่นที่เราสัมผัสได้จากการมาเยือนบ้านหลังนี้ ภายใต้หน้าตาที่แลดูทึบตันของบ้านทรงกล่องคอนกรีตขนาด 2 ชั้น เมื่อมองจากภายนอก ไม่น่าเชื่อว่าบรรยากาศภายในกลับสร้างความประหลาดใจด้วยสเปซที่โปร่งโล่ง ลื่นไหล ทั้งด้านการใช้งานและมุมมอง
“ผมไม่อยากแบ่งเป็นห้อง ๆ เพราะจะทำให้ดูบ้านเล็กกว่าที่ควรจะเป็น” คุณต่อโชคเล่าให้ฟังถึงแนวคิดการออกแบบให้ฟัง “แบบนี้สเปซจะสวยกว่า เป็นโอเพ่นสเปซยาว ๆ ตลอดชั้นล่าง”
จากทางเข้าจะพบกับพื้นที่ใช้สอยหลักของบ้านซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายมือ โดยชั้น 1 จัดให้เป็นโซนนั่งเล่นผสานกับครัวแพนทรี่แบบโอเพ่นแปลนยาวตลอดทั้งชั้น นอกจากการทำโอเพ่นแปลนตามความต้องการเพื่อให้บ้านดูโปร่งโล่งแล้ว ตลอดแนวผนังทางยาวบริเวณนี้ทั้งหมดยังเลือกกรุผนังกระจกใสแบบเต็มบานสูงจรดเพดาน ช่วยเปิดมุมมองและเพิ่มความลื่นไหลให้แก่มุมมองทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะคอร์ตสระว่ายน้ำตรงกลางซึ่งเป็นส่วนนำแสงและความโปร่งโล่งเข้าสู่ใจกลางตัวบ้าน
ความลื่นไหลนี้ต่อเนื่องไปถึงชั้น 2 ด้วยบันไดเหล็กโปร่ง มองเห็นโถงฝ้าสูงแบบดับเบิ้ลสเปซ ก่อนจะนำขึ้นสู่ห้องนอนหลักชั้นบนซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับห้องทำงาน โดยทั้งสองห้องนี้ถูกเชื่อมด้วยทางเดินกระจก เสริมให้พื้นที่ดับเบิ้ลสเปซดูโปร่งไม่มีท้องคานใด ๆ มาบดบังสายตา
และห้องทำงานนี้เองที่เป็นอีกหนึ่งส่วนช่วยสร้างจุดเด่นให้ภายในบ้าน รวมถึงยังเป็นภาพลักษณ์ให้อาคารดูโดดเด่นเมื่อมองจากภายนอก โดยผนัง 3 ด้านของห้องทำงานได้รับการกรุด้วยกระจกทั้งหมดเพื่อให้สามารถมองออกไปเห็นวิวทิวทัศน์ด้านนอก และรับแสงธรรมชาติได้อย่างเพียงพอกับการทำงาน ส่วนผนังด้านที่หันออกสู่หน้าบ้าน ออกแบบให้เป็นผนังคอนกรีตทึบแทรกด้วยช่องแสงกระจกขนาดเล็ก มีลักษณะยื่นล้ำออกไปแบบไร้เสา หรือ Cantilever ซึ่งต้องใช้การคำนวณและทดแทนโครงสร้างคอนกรีตค่อนข้างมาก ดังนั้นการทำผนังกระจกขนาบตลอด 3 ด้านของห้อง จึงเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งทางด้านวิศวกรรม เพื่อให้สเปซภายในเกิดภาพความโปร่งโล่งอย่างที่ต้องการ
อย่างไรก็ตามปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่โดดเด่นที่สุดในบ้านหลังนี้ คือบรรดาเฟอร์นิเจอร์ทั้งหลาย ทั้งในห้องโถงโล่งกว้าง และทั่วทั้งบ้าน
“เฟอร์นิเจอร์เหล่านี้เป็นของที่ผมสะสมไว้ครับ แต่ก่อนซื้อเป็นงานอดิเรก” คุณต่อโชคกล่าวถึงบรรดาเฟอร์นิเจอร์ของเขา “ผมชอบแบบสไตล์โมเดิร์น มินิมัล รวมถึง Mid-Century และพวกไอคอนิก
“ผมชอบความเป็น Timeless รวมถึงตัวบ้านด้วย คือทุกอย่างมันค่อนข้างมินิมัล ไม่โดดเด่น ไม่หวือหวา ถ้าคุณมาใหม่อีกครั้งในสิบปีข้างหน้า ผมว่ามันก็ยังดูดี เรียบ ๆ เหมือนเสื้อสูทดี ๆ ที่ใส่ได้นาน อย่างเฟอร์นิเจอร์พวกนี้ บางตัวออกแบบตั้งแต่ปีค.ศ. 1927 มันก็ยังอยู่มาได้ แถมยังสวยด้วย เช่นเดียวกับบ้านผมอยากได้อะไรที่อยู่ได้นาน ไม่น่าเบื่อ ไม่ต้องมารีโนเวต โดยทำให้มันเรียบเข้าไว้ เติมความพิเศษลงไปบ้างแต่ก็แค่บางจุดเท่านั้น”
LC4 Armchair by Le Corbusier
เดย์เบดตัวนี้นับเป็นงานดีไซน์ที่น่าจดจำมากที่สุดตัวหนึ่งของโลก ออกแบบโดยสถาปนิกระดับตำนานอย่าง Le Corbusier ซึ่งออกแบบขึ้นในปีค.ศ.1928 มีจุดเด่นอยู่ที่การแสดงเส้นสายของโครงสร้างที่ได้รับการวิเคราะห์มาแล้วอย่างแม่นยำตามหลักสรีระศาสตร์ ภายใต้อิทธิพลของดีไซน์ “สมัยใหม่” หรือ Modern ที่ต้องตอบรับการใช้งานอย่างตรงไปตรงมาในยุคสมัยนั้น
Serie Up 2000
เก้าอี้นวมดึงดูดสายตาตัวนี้ออกเบบขึ้นในปีค.ศ.1969 มีคอนเซ็ปต์การออกแบบมาจากการเปรียบเปรยถึงรังไหม และรูปปั้นเทพียุคโบราณ (ซึ่งอาจหมายความต่อถึงความอุดมสมบูรณ์ การกำเนิด และเพศแม่) ดีไซน์ของเก้าอี้จึงมีลักษณะเหมือนสรีระผู้หญิงอย่างจงใจ ด้วยเส้นสายคดโค้งตามความตั้งใจของ Gaetano Pesce ผู้ออกแบบ
เรื่อง: กรกฎา
ภาพ: นันทิยา
สไตล์: วรวัฒน์ ตุลยทิพย์