เชฟผู้ใช้ผ้ามาปรุงอาหารนำไปสู่การกระจายรายได้สู่พื้นถิ่น

สงสัยกันใช่ไหมคะ ว่าผ้านำมาปรุงอาหารได้อย่างไร ที่จริงแล้วเป็นการเปรียบเปรยการทำงานของ คุณอู๋ – วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข เจ้าของแบรนด์ดัง Wisharawish ดีไซเนอร์ไทยที่นำผ้าไทยไปเฉิดฉายอยู่บนรันเวย์นานาชาติ ไม่ว่าจะเป็น ELLE Fashion Week 2019, Amazon Fashion Week 2019 และ Rakuten Fashion Week Tokyo S/S 2020

“ทำกับข้าวไม่ต้องปรุงเยอะ ถ้าวัตถุดิบสดอร่อย”คุณอู๋ – วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข เปรียบการทำงานออกแบบของเขาเป็นเหมือนการทำอาหาร เเละการไปตลาดเพื่อเลือกซื้อหาวัตถุดิบ ซึ่งเป็นการทำงานที่ต้องเน้นกระบวนการ และการลงไปคลุกคลีกับช่างแต่ละพื้นถิ่น แล้วนำวัตถุดิบที่ได้มานั้น มาผสมผสานจนเกิดผลงานที่น่าสนใจ เเม้จะต่างเเหล่งที่มาเเละต่างสไตล์เเต่ทุกอย่างสามารถอยู่ด้วยกันได้ โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นเทคนิคเดียวจากพื้นถิ่นแหล่งกำเนิดเท่านั้น เพราะเขาเลือกที่จะนำเทคนิคเและเอกลักษณ์ของผ้าไทยแต่ละพื้นถิ่นมาผสมผสานกัน จัดวางแพตเทิร์นใหม่ เเละกล้าที่จะเล่นกับวัสดุที่ออกจากแนวคิดและกรอบเดิม ๆ ทำให้ผ้าไทยที่มีภาพลักษณ์ดูเป็นทางการ จำกัดรูปแบบในการใช้งาน กลายเป็นเสื้อผ้าที่โดดเด่นร่วมสมัยสวยงามอยู่บนเวทีระดับโลก โดยมีความเชื่อว่า “ทุกอย่างเป็นไปได้”

วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข
คุณอู๋-วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข กับนิทรรศการคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าที่เขาออกแบบ
เสื้อผ้าที่คุณอู๋ออกแบบ

หลังศึกษาจบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะอักษรศาสตร์ สาขาวิชาศิลปะการละคร เนื่องจากคุณอู๋มีความสนใจด้านแฟชั่นเป็นทุนเดิม ทำให้หลังจากนั้นเขาได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการออกแบบที่ฝรั่งเศส และได้มองเห็นว่าประเทศไทยมีจุดแข็งเรื่องงานฝีมือ และรู้สึกว่าภูมิปัญญานั้นกำลังจะสูญหายไป เขาจึงเน้นการนำผ้าไทยพื้นถิ่นจากภูมิภาคต่าง ๆ มาใช้ในการออกแบบของตนเอง เเละนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานด้านออกแบบที่สร้างชื่อให้กับดีไซเนอร์ผู้นี้

โดยหนึ่งในผ้าพื้นถิ่นที่นำมาใช้ มาจาก Cotton Farm : Chiang Mai Craft ของ คุณกุ้ง – เปรมฤดี กุลสุ ผู้ผลิตผ้าย้อมธรรมชาติ
ย้อนไปเมื่อ 23 ปีที่แล้ว คุณกุ้งก่อตั้ง Cotton Farm ขึ้นมาหลังจากได้ไปใช้ชีวิตที่ญี่ปุ่นแล้วพบว่าผ้าไทยเป็นที่สนใจของคนญี่ปุ่น บวกกับในวัยเด็กได้รับการหล่อหลอมจากคุณตาที่เป็นช่างฝีมือ ทำให้ซึมซับและชอบงานฝีมือไปเองโดยธรรมชาติ เมื่อมีความคิดริเริ่มอยากทำงานคราฟต์ จึงเริ่มมองหาช่างท้องถิ่นเพื่อผลิตชิ้นงาน แต่พบว่าช่างรุ่นเก่าก็เหลือน้อยเต็มที ด้วยความกลัวว่างานพื้นถิ่นจะตายไปพร้อมกับช่างฝีมือ จึงเกิดแนวคิดที่จะอนุรักษ์งานพื้นถิ่นขึ้น

ผ้าไหมที่นำมาออกแบบตัดเย็บจนมีสไตล์ร่วมสมัย
เส้นใยย้อมสีธรรมชาติจาก Cotton Farm
ผ้าไหมที่นำมาออกแบบตัดเย็บจนมีสไตล์ร่วมสมัย
วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข
จากซ้าย คุณกุ้ง คุณอู๋ กำลังให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับแนวทางการทำงาน

เมื่อคนที่มีความชอบความเชื่อเหมือนกันได้มาพบกัน การได้ร่วมงานกันจึงเป็นการร่วมงานที่ส่งต่อไปยังชุมชน จุดมุ่งหมายของการทำโชว์แต่ละครั้งของคุณอู๋คือส่งต่อให้ชุมชนได้รายได้จากการได้นำเสนอผ้าไทยสู่สายตาโลกในแนวทางใหม่ และให้คนรุ่นใหม่ได้มองเห็นแนวทางในการใช้ผ้าพื้นถิ่นไปสร้างงาน เพื่อให้ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่านี้ยังคงอยู่

แถวยืน จากซ้าย คุณจูเลี่ยนฮวง เจ้าของ Weave Artisan Society และกลุ่มช่างทอ แถวนั่ง จากซ้าย คุณนก หุ้นส่วน Weave Artisan Society คุณอู๋ และคุณกุ้ง
แถวยืน จากซ้าย คุณจูเลี่ยนฮวง เจ้าของ Weave Artisan Society และกลุ่มช่างทอ แถวนั่ง จากซ้าย คุณนก หุ้นส่วน Weave Artisan Society คุณอู๋ และคุณกุ้ง

ครั้งนี้ Weave Artisan Society เชียงใหม่ พื้นที่ของศิลปิน และผู้ที่สนใจงานคราฟต์งานออกแบบ จึงได้เชิญคุณอู๋ และคุณกุ้งมาจัดแสดงผลงาน พูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์การสร้างสรรค์ผลงาน ในหัวข้อ Local Fabric / Global Fashion และจัด Workshop ขึ้น โดยการจัดงานครั้งนี้เหมือนเป็นการเปิดตัวโครงการ Workshop with Master ที่จะจัดขึ้นตลอดทั้งปีของ Weave Artisan Society ด้วย

ชมผลงานของคุณอู๋ วิชระวิชญ์ อัครสันติสุข ได้ที่ http://wisharawish.com

ติดตามผลงานของ Cotton Farm ได้ที่
https://www.facebook.com/cottonfarmthai/

ติดตามกิจกรรมดีๆ จาก Weave Artisan Society ได้ที่
https://www.facebook.com/weavesociety/ และ
https://weaveartisansociety.com

เรื่อง Hoong
ภาพ ชัยฤทธิ์ เทพผสม