บ้านไทยพื้นถิ่น ในแต่ละภูมิภาคมีลักษณะที่แตกต่างออกไปตามลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งในปัจจุบันมรดกทางสถาปัตยกรรมเหล่านี้อาจมีเหลือให้ชมไม่มากนัก มาทำความรู้จักกับเอกลักษณ์ของเรือนไทยแต่ละภาคกัน
บ้านไทยพื้นถิ่น คืออะไร
ความหมายของ บ้านไทยพื้นถิ่น อาจอ้างอิงได้จากงานเขียนของ Bernard Rudofsky นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ผู้เป็นที่รู้จักผ่านข้อเขียน “Architecture Without Architects: A Short Introduction to Non-Pedigreed Architecture” ซึ่งเป็นตำราเล่มสำคัญของแนวคิดสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นในพ.ศ. 2507 ได้กล่าวถึงสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น หรือ Vernacular Architecture ว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ผ่านมือสถาปนิก เช่น หมู่บ้านบ้านดินที่สร้างแฝงไปในภูเขาของชนเผ่าในประเทศแถบแอฟริกา หมู่บ้านใต้ดินของชุมชนในประเทศจีน เต็นท์ของกลุ่มคนพเนจรในทะเลทราย แม้แต่เรือนแพของชุมชนผู้อาศัยบนน้ำในนครเซี่ยงไฮ้
จึงสรุปได้ว่า บ้านไทยพื้นถิ่น คือสิ่งก่อสร้างที่มีลักษณะแปรไปตามสภาพแวดล้อม เกิดจากการหยิบใช้วัสดุใกล้ตัว เเละใช้เทคนิควิธี หรือภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น เพื่อตอบสนองสภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของคนในท้องถิ่นนั้น ทั้งยังเป็นตัวแทนบ่งบอกวิถีชีวิตสภาพแวดล้อม การแก้ปัญหา และการปรับตัวของผู้คนในท้องถิ่นต่าง ๆ เป็นเหตุให้ทุกวันนี้ มีผู้สนใจศึกษาสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นมากขึ้นเรื่อย ๆ และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นก็มีบทบาทในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมร่วมสมัยของคนยุคปัจจุบันมากขึ้นเช่นกัน
สำหรับในประเทศไทยนั้น แต่ละภูมิภาคมีลักษณะภูมิประเทศ ภูมิอากาศ และวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นแตกต่างกัน จึงทำให้ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลาง และภาคใต้ มีลักษณะสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเฉพาะตัว ซึ่งมีลักษณะเด่นในภาพรวม ดังนี้
บ้านไทยพื้นถิ่น ภาคเหนือ
บางส่วนของภาคเหนือเดิมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรล้านนา จึงมีรูปแบบสถาปัตยกรรมเฉพาะ แตกต่างจากภาคอื่น สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นที่สุดคือ “เรือนกาแล” เป็นเรือนสำหรับผู้มีฐานะ หรือผู้นำชุมชน แตกต่างจากเรือนสามัญชนตรงที่จะก่อสร้างด้วยความประณีต มีแบบแผนการสร้างเป็นระเบียบชัดเจน และมีการประดับ “กาแล” ซึ่งเป็นไม้แกะสลักสวยงามบนยอดจั่ว เรือนกาแลเป็นเรือนไม้เนื้อแข็ง ยกใต้ถุนสูงไม่มาก มักเป็นเรือนแฝด นิยมสร้างหลังหนึ่งใหญ่กว่าอีกหลังตามความเชื่อ มีหลังคาใหญ่ ชายคาคลุมเรือนเกือบทั้งหมด มีหน้าต่างน้อย ผนังผายออก มักมี “ฝาไหล” เป็นฝาไม้กระดานที่เลื่อนเปิด – ปิดได้เพื่อช่วยรับลมเข้าบ้าน และมีครัวไฟแยกออกไปเป็นสัดส่วน มี “เติ๋น” เป็นพื้นที่กึ่งเปิดโล่งอเนกประสงค์สำหรับใช้นั่งเล่น ซึ่งมีตำเเหน่งอยู่ระหว่างห้องกับ “นอกชาน” ที่เป็นพื้นที่เปิดโล่ง
บ้านไทยพื้นถิ่นภาคอีสาน
เรือนในสำเนียงอีสานเรียก “เฮือน” เฮือนถาวรในภาคอีสานมี 3 รูปแบบเด่น ๆ คือ
เฮือนเกย
เป็นเฮือนเดี่ยว แต่ยื่นขยายชายคาหลังคาด้านหนึ่งยาวออกไปคลุมพื้นที่ใช้สอย ส่วนที่ยื่นออกไปนี้เรียกว่า “เกย”
เฮือนแฝด
เป็นเฮือนหลังคาทรงจั่วสองเรือนสร้างชิดกัน และใช้โครงสร้างร่วมกัน โดยมีเฮือนหนึ่งเป็นเฮือนนอน มีผนังครบทุกด้าน เรียก “เฮือนใหญ่” อีกเฮือนอาจมีผนัง 3 ด้าน ใช้เชื่อมระหว่างชานภายนอกกับเฮือนนอน
เฮือนโข่ง
คล้ายเฮือนแฝด แต่แยกโครงสร้างออกจากกัน ทำให้เกิดช่องทางเดินตรงกลางเชื่อมต่อพื้นที่ โดยสามารถรื้อแยกเฮือนโข่งไปปลูกในที่ใหม่ได้ เฮือนอีสานมักมีเฮือนไฟเป็นส่วนทำครัวแยกออกไปต่างหาก มีหลังคาลาดชันน้อยกว่าภูมิภาคอื่น ๆ และมักพบ ลายตะเว็น (ตะวัน) ประดับตามความเชื่อ
บ้านไทยพื้นถิ่นภาคกลาง
ภาคกลางมีกลุ่มชาติพันธุ์หลากหลาย ทำให้มีรูปแบบเรือนพื้นถิ่นแตกต่างไปมากมาย ที่น่าจะรู้จักและคุ้นตามากที่สุดเรียกว่า “เรือนไทยภาคกลาง” โดยแบ่งเป็นเรือนเครื่องผูกที่สร้างด้วยไม้ไผ่ เรือนเครื่องสับสร้างด้วยไม้เนื้อแข็ง และเรือนเครื่องก่อที่สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน โดยในที่นี้จะขอยกตัวอย่างเฉพาะเรือนเครื่องสับ เพื่อให้เปรียบเทียบเรือนในภูมิภาคอื่นที่ใช้วัสดุประเภทเดียวกัน
เรือนเครื่องสับของเรือนไทยภาคกลางมักรู้จักในอีกชื่อคือ “เรือนไทยเดิม” เป็นเรือนสำหรับผู้ที่มีฐานะ เจ้านาย หรือคหบดี มี 2 ประเภท คือ
เรือนเดี่ยว
เป็นเรือนสำหรับครอบครัวขนาดเล็กมีเรือนนอนหนึ่งหลังแยกกับเรือนครัวและเชื่อมด้วยชาน
เรือนหมู่
เป็นเรือนหลายหลังเชื่อมต่อกันด้วยชาน ประกอบด้วยเรือนหลักของพ่อแม่ และเรือนนอนของลูกที่แต่งงานแล้ว ซึ่งอาจปลูกเพิ่มไว้ด้านหน้า หรือหากเป็นเรือนของผู้มีฐานะมาก นิยมวางผังใหญ่โต เรียกว่า “เรือนคหบดี” นอกจาก เรือนนอน ก็มี หอกลาง ตั้งอยู่กลางชานสำหรับใช้นั่งเล่น รับแขก หรือจัดพิธี ในขณะที่ “หอนก” ใช้สำหรับเลี้ยงนก “หอพระ” ใช้สำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปต่าง ๆ ลักษณะที่มีร่วมกันของเรือนไทยภาคกลาง คือเป็นเรือนไม้เนื้อแข็งใต้ถุนสูงเพื่อหนีน้ำหลาก ใช้งานอเนกประสงค์ หรือเลี้ยงสัตว์ มีหลังคาจั่วทรงสูงและอ่อนโค้ง ประดับด้านจั่วด้วยปั้นลมไม้ทำเป็น “เหงา” หรือ “หางปลา” และมีชานกว้างมาก รวมถึงมี “ระเบียง” เป็นพื้นที่กึ่งภายนอกเชื่อมต่อระหว่างชานเข้าสู่ในตัวเรือน
บ้านไทยพื้นถิ่นภาคใต้
ด้วยความหลากหลายของวัฒนธรรมและความเชื่อของคนภาคใต้ ทำให้เราแบ่งรูปแบบเรือนไทยพื้นถิ่นของภาคใต้ได้เป็น 2 แบบ คือ เรือนไทยมุสลิม และเรือนไทยพุทธ
เรือนไทยมุสลิมภาคใต้
เป็นเรือนไม้ ใต้ถุนสูง แต่ไม่ใช้ประโยชน์ใต้ถุนมากนัก มีหลังคา 3 แบบ เรียกว่า “ลีมะ” (ปั้นหยา) “บลานอ” (มนิลา) และ “แมและ” (จั่ว) รูปแบบที่พบส่วนใหญ่เป็นแบบบลานอ ที่น่าสนใจคือภายในเรือนมักจะเปิดโล่งต่อเนื่องถึงกันหมด รวมถึงครัวที่อยู่หลังบ้าน กั้นเพียงห้องนอน หรือห้องละหมาดขนาดไม่ใหญ่ พื้นที่เปิดโล่งนั้นแบ่งพื้นที่เป็น 4 ส่วนตามการใช้งาน ได้แก่ ส่วนรับแขก เป็นพื้นที่ใต้หลังคาปีกนกที่ยื่นยาวออกมา เป็นส่วนแรกของการเข้าสู่ตัวเรือน แขกจะอยู่แต่ภายในพื้นที่นั้น ไม่ก้าวล้ำเข้าไปมากกว่านี้ เว้นแต่เจ้าของบ้านจะเชิญชวน ถัดเข้าไปเป็นส่วนโถง ซึ่งเป็นที่อยู่ของเจ้าของบ้าน ใช้นั่งเล่นและทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบริเวณนี้จะมีการกั้นเป็นห้องนอนและห้องละหมาดไว้บริเวณกลางเรือน ท้ายเรือนเป็นส่วนครัว และยังเป็นส่วนของผู้หญิงโดยเฉพาะ คนภายนอกหรือผู้ชายจะไม่รุกล้ำเข้าไป รวมถึงยังมีบันไดขึ้น-ลงทางด้านหลังเฉพาะของผู้หญิง
เรือนไทยพุทธภาคใต้
เป็นเรือนไม้ใต้ถุนสูงหลังคาใหญ่เป็นทรงปั้นหยาและจั่ว ภายในมักจะกั้นห้องอย่างมิดชิด ไม่เปิดโล่งเท่าเรือนไทยมุสลิม โดยจะแบ่งเป็นห้องนอน มีโถงเชื่อมต่อทำหน้าที่เป็นส่วนนั่งเล่นและรับแขก ส่วนครัวจะอยู่ด้านหลัง องค์ประกอบเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรือนพื้นถิ่นที่พบในไทย เพราะยังมีเรือนพื้นถิ่นรูปแบบอื่นที่แตกต่างกันไปตามอิทธิพลที่ไม่เหมือนกันในแต่ละจังหวัด อย่างไรก็ตามการอยู่ภายใต้พื้นที่มรสุมที่คล้ายกัน เรือนไทยพื้นถิ่นจึงมีจุดสังเกตได้ชัด อย่างการเป็นเรือนยกใต้ถุนสูง หลังคาทรงจั่ว ชายคายื่นยาว มีพื้นที่ข้างนอก หรือ “ชาน” เชื่อมแต่ละเรือนเข้าด้วยกัน รวมถึงนิยมสร้างด้วยไม้และไม้ไผ่ นั่นเพราะเรามีป่าไม้เป็นวัตถุดิบใกล้ตัว รวมถึงสร้างได้ด้วยการใช้แรงงานคนจำนวนไม่มาก และใช้เครื่องมือที่ไม่ซับซ้อน
อีกนิยามของ บ้านไทยพื้นถิ่น
สิ่งที่น่าสนใจคือ หากการดำเนินชีวิตของคนทุกวันนี้ไม่ได้ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์อย่างแต่ก่อน หรืออยู่ในที่โล่งกว้างท่ามกลางป่าเขาและเรือกสวนไร่นา หากแต่แวดล้อมไปด้วยตึกและยานพาหนะ สิ่งของใกล้มือหาใช่ไม้ หรือไม้ไผ่ แต่เป็นอิฐปูน สังกะสี สิ่งปลูกสร้างภายใต้บริบทนี้จะเรียกว่าเป็น “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่น” หรือไม่นั้น เเต่ในทางวิชาการเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า “สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นเมือง” ซึ่งมักเกิดจากการแก้ปัญหาเพื่อสนองกับสภาพแวดล้อมและการดำเนินชีวิตของคนในชุมชนนั้น ๆ อันเกิดขึ้นจากวัสดุใกล้ตัว ฝีมือจากช่างประจำถิ่น และเครื่องมือในท้องถิ่น ซึ่งจะว่าไปแล้วเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ต่างจากการเกิดสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่พบในชนบทแต่อย่างใดความเป็น “พื้นถิ่นเมือง” จึงถือเป็นความท้าทายใหม่ของความเข้าใจเรื่องพื้นถิ่น และด้วยเหตุนี้สถาปัตยกรรมพื้นถิ่นจึงยังเป็นขอบเขตที่กว้างใหญ่ น่าศึกษาค้นหาเพื่อนำกลับมาใช้ต่อยอดสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ชมความงามของ บ้านไทยพื้นถิ่น สมัยใหม่ ได้จากหนังสือ Modern Vernacular Homes
สั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ สำนักพิมพ์บ้านและสวน
เรื่อง : กรกฎา
ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล
ขอบคุณสถานที่ถ่ายภาพบ้านไทย 4 ภาค : ณ สัทธา อุทยานไทย จ.ราชบุรี
https://www.nasatta.com/th/