บ้านสีขาวสไตล์มินิมัลแบบญี่ปุ่นที่มีทุ่งนาสีทองเป็นฉากหลัง
บ้านสีขาวสไตล์ญี่ปุ่น ทรงจั่ว ในอำเภอเเม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เด่นด้วยดีไซน์โฉบเฉี่ยวอันเกิดจากการออกแบบเเละคำนวณองศาความลาดเอียงมาเป็นอย่างดี เพื่อช่วยสร้างมิติเเละเเสงเงาให้ดูน่าสนใจ รวมถึงเส้นสายเรขาคณิตที่กลายเป็นกรอบของช่องเปิดหลากรูปเเบบ ทำหน้าที่นำพาวิวธรรมชาติ เเสงเเดด เเละอากาศบริสุทธิ์เย็นสบายของชนบทมาสู่ตัวบ้าน
DESIGNER DIRECTORY : เจ้าของ : คุณณัฐ ปราชญากูล / สถาปนิก : Depth Architect โดยคุณธนกร ฉัตรทิพากร และคุณอภิญญา กุระคาน บ้านสีขาวสไตล์ญี่ปุ่น
บ้านอยู่สบาย LIVING COMFORT
ความงามของแสงเช้าที่ย้อมทุ่งข้าวให้กลายเป็นสีทองอร่ามตา ช่วยสร้างภูมิทัศน์ให้ บ้านสีขาว รูปทรงโมเดิร์นของ คุณณัฐ ปราชญากูล ยิ่งดูน่าประทับใจ โดดเด่นด้วยดีไซน์เรียบเท่เจือกลิ่นอายมินิมัลสไตล์ญี่ปุ่น เเละการใช้เส้นสายเรขาคณิตเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้บ้าน ซึ่งเป็นฝีมือการออกแบบโดย คุณธนกร ฉัตรทิพากร และคุณอภิญญา กุระคาน สถาปนิกจากบริษัท Depth Architect เพื่อสะท้อนถึงภาพความเป็นเชียงใหม่ในมุมมองของเจ้าของบ้าน ซึ่งเต็มไปด้วยความสงบงามเเละเรียบง่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฐานะที่คุณณัฐเพิ่งย้ายถิ่นฐานจากกรุงเทพฯ มาเป็นชาวเชียงใหม่อย่างเต็มตัว ดังนั้นเเทบทุกมุมของบ้านนอกจากจะต้องตอบโจทย์ฟังก์ชันการใช้งานที่ดีเเล้ว ยังต้องเน้นการสร้างมุมมองในการเปิดรับวิวธรรมชาติ รวมถึงเเสงเเละอากาศที่ปลอดโปร่ง เพื่อให้ทุก ๆ วันของการใช้ชีวิตในบ้านเต็มไปด้วยความรู้สึกอบอุ่นเเละผ่อนคลาย
บ้านที่มองธรรมชาติผ่านเส้นเรขาคณิต“ผมชอบเชียงใหม่มาตั้งนานแล้วครับ ได้มาเที่ยวบ่อย ๆ ก็เลยตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่นี่เสียเลย ขับรถตระเวนดูอยู่หลายที่จนมาหลงรักที่ตรงนี้ ก็พอดีกับมีน้องที่รู้จักแนะนำ คุณธนกร ฉัตรทิพากร ให้มาช่วยเป็นสถาปนิกออกแบบบ้านให้ ผมบอกเขาเลยว่าชอบบ้านชั้นเดียวสไตล์มินิมัลแบบญี่ปุ่นในโทนสีขาวกับไม้และเน้นให้ดูแลง่ายๆ เป็นหลัก”
ความตั้งใจแรกจึงเป็นบ้านชั้นเดียวในพื้นที่ใช้สอยไม่มากนัก แต่เมื่อคุณโปลก้าเห็นภูมิทัศน์ทุ่งนาข้าวสวย ๆ ก็เลยแนะนำให้ขยายเป็นบ้านสองชั้นขนาดเล็ก เพื่อยกระดับมุมมองออกสู่ธรรมชาติได้เต็มอิ่มมากขึ้น โดยคุณธนกร ผู้ออกแบบ เล่าว่า
“พอดีทุ่งนาสวย ๆ อยู่ทางทิศใต้ของพื้นที่ ซึ่งถ้าหันด้านเปิดของบ้านตรง ๆ ก็จะทำให้บ้านร้อน ผมจึงเริ่มวางผังบ้านโดยเน้นพื้นที่ใช้งานภายในก่อนแล้วค่อยขึ้นรูปแบบของตัวอาคาร เพราะสำหรับผมผังบ้านสำคัญที่สุด ผังผังหนึ่งจึงขึ้นเป็นรูปแบบอาคารได้เป็นร้อยสไตล์ตามแต่ความชอบ สำหรับผังบ้านนี้ต้องแก้ปัญหาเรื่องทิศทาง ผมเลยออกแบบให้มีห้องนั่งเล่นชั้นล่างอยู่ทางทิศเหนือสำหรับใช้งานตอนกลางวันเพื่อไม่ให้ร้อน และเพิ่มห้องนั่งเล่นชั้น 2 ที่เปิดวิวทิศใต้สำหรับนั่งเล่นตอนกลางคืน แล้วใส่ช่องเปิดที่มองเห็นวิวนอกบ้านได้ในแต่ละมุมให้แตกต่างกันไป
“ทำให้เกิดเป็นบ้านรูปทรงเรขาคณิตที่ต้องการลบเลือนเส้นแบ่งขอบเขตระหว่างพื้นที่ภายในกับภายนอก โดยเน้นใช้วัสดุชนิดเดียวกันมาเชื่อมโยงความรู้สึก องศาการเอียงของรูปทรงเรขาคณิตทุกจุดจึงต้องคิดคำนวณอย่างดี เพื่อเปิดให้แสงและเงาเข้ามาในบ้านในเวลาที่เหมาะสม และยังพยายามดึงความเป็นธรรมชาติเข้ามาในบ้าน รวมทั้งผลักดันพื้นที่ภายในให้ออกไปเชื่อมกับธรรมชาติด้านนอกด้วย เมื่ออยู่ในบ้านจึงสามารถมองเห็นพื้นดินและท้องฟ้าได้กว้างกว่าที่เคย”
ให้ธรรมชาติเข้ามามีบทบาทอยู่ในทุกมุมมอง
ผังภายในบ้านเป็นแบบ Open Plan ที่เปิดโล่งเชื่อมต่อมุมมองถึงกันได้ในพื้นที่ 165 ตารางเมตร แต่สร้างขอบเขตของส่วนนั่งเล่นกับรับประทานอาหารด้วยการลดระดับส่วนนั่งเล่นให้ต่ำลงไปคล้ายเวิ้งเล็ก ๆ ของบ้านซึ่งอยู่ใกล้ระดับพื้นดิน พร้อมกับก่อกระถางปูนเป็นแนวยาวขึ้นเพื่อปลูกต้นไม้ไว้กลางบ้าน ตามแนวคิดที่อยากดึงความเป็นธรรมชาติภายนอกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพักผ่อนภายในให้มากที่สุด
“ผมชอบไม้ใบเพราะดูแลง่ายกว่าไม้ดอก อย่างที่ปลูกกลางบ้านนี้ตอนแรกปลูกลิ้นมังกร เพราะเป็นต้นไม้ที่ชอบ แต่ปรากฏว่ามันตาย ผมก็เลยเปลี่ยนเป็นกวักมรกต ไม้อวบน้ำที่เลี้ยงในบ้านได้ง่ายและไม่ต้องรดน้ำบ่อย ได้มีพื้นที่สีเขียวในบ้านก็ทำให้รู้สึกสดชื่นดีครับ”
นอกจากพรรณไม้ดูเเลง่ายที่ประดับอยู่ภายในบ้านเเล้ว อีกองค์ประกอบหนึ่งที่อดพูดถึงไม่ได้นั่นคือ การนำไม้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงานตกแต่ง ภายใต้โทนสีขาวนวลของบ้านผสมผสานด้วยงานไม้ในส่วนตกแต่งต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวที่เป็นไม้สัก ส่วนบิลท์อินที่ปิดผิวด้วยไม้อัดสัก ท็อปครัวไม้สัก กรอบประตูหน้าต่างไม้ และกระเบื้องยางลายไม้ โดยความเนี้ยบที่คุณณัฐต้องการคือโทนสีอุ่น ๆ ของไม้ต้องอยู่ในเฉดเดียวกันทั้งหมด ซึ่งคุณโปลก้ายอมรับว่าใช้เวลาในการเลือกโทนสีไม้นี้อยู่พอสมควรกว่าจะลงตัว
ส่วนมุมอื่น ๆ ของบ้านมีการถมระดับความสูงขึ้นมาอีกราว 20 เซนติเมตร ช่วยลดปัญหาความชื้นจากพื้นดินไปในตัว อีกทั้งโทนสีไม้นี้ยังนำมาใช้ต่อเนื่องไปถึงพื้นที่ภายนอกของบ้านในส่วนของเฉลียงนั่งเล่นหน้าบ้าน ซึ่งปูด้วยกระเบื้องลายไม้ เสริมมุมมองเขียว ๆ ผ่านต้นหญ้าถอดปล้องที่ปลูกเป็นแนวตามขอบเฉลียงให้ดูสวยงาม โดยมีต้นอินจันเป็นไม้ใหญ่ของบ้านตัดแต่งเป็นพุ่มสีเขียวขับให้ตัวบ้านสีขาวยิ่งน่ามอง
เมื่อถามถึงมุมโปรด คุณณัฐบอกว่า “ปกติผมจะใช้พื้นที่ห้องนั่งเล่นชั้นล่างมากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นมุมโปรดเลย ด้วยมุมมองที่ปลอดโปร่งเห็นทั้งไม้ใบสีเขียวในบ้านและมองออกไปทุ่งนาข้าวด้านนอกได้ ส่วนชั้นบนก็มองเห็นท้องฟ้าได้กว้างตา ทำให้รู้สึกผ่อนคลายสบายใจและอยากใช้เวลาอยู่กับบ้านมากขึ้นไปด้วย” นั่นเพราะการมองผ่านเส้นสายที่เรียบง่ายออกไปสู่ธรรมชาติที่สงบนิ่ง จิตใจก็สามารถสัมผัสได้ถึงความสุขอันจริงแท้นี้ได้ไม่ยากเลย
เรื่อง : ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ