FLEXIBLE HOUSE บ้านเตรียมโตที่ออกแบบไว้เผื่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

Flexible House คือประเด็นเรื่อง แบบบ้านชั้นเดียว ที่ได้รับการพูดถึงกันมากในยุคที่ที่ดินในเมืองมีขนาดจำกัด กับการใช้งานพื้นที่ของบ้านให้คุ้มค่า อันเป็นโจทย์ท้าทายความคิดสร้างสรรค์ของสถาปนิกเป็นอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับบ้านหลังนี้ที่สถาปนิกได้ออกแบบพื้นที่ใช้สอยของบ้านไว้อย่างเเยบยล เพื่อเตรียมพร้อมสู่การใช้งานขยายในอนาคต

DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: Studiomake

แบบบ้านชั้นเดียว บ้านหน้าจั่ว

แต่ในขณะเดียวกัน ความหมายของบ้านที่ยืดหยุ่นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเรื่องของการใช้งานพื้นที่ภายในอย่างคุ้มค่าเท่านั้น แต่สถาปนิกอย่างทีม Studiomake ยังทดลองและค้นหาแนวทางใหม่ ๆ ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบ แบบบ้านชั้นเดียว ไปสู่การออกแบบสร้างสรรค์เรื่องโครงสร้าง เพื่อให้บ้านสามารถพลิกแพลง หรือขยับขยายฟังก์ชันได้ในอนาคต หรือที่เรียกว่า “บ้านเตรียมโต” โดยทำการทดลองกับบ้านของ อาจารย์อำนวยวุฒิ และ รศ.พิศประไพ สาระศาลิน ซึ่งทั้งคู่ถือเป็นคุณตาคุณยายของครอบครัว Studiomake โดยมีทีมสถาปนิกและทีมช่างของออฟฟิศเป็นผู้รับหน้าที่ออกแบบก่อสร้างเองทั้งหมด

แบบบ้านชั้นเดียว บ้านหน้าจั่ว

เพราะเป็นบ้านพักอาศัยชั้นเดียวที่มีฟังก์ชันง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ซึ่งประกอบไปด้วยห้องพื้นฐานทั่วไปอย่าง ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร ครัว และส่วนเซอร์วิส โดยการทดลองเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ชั้น 1 ซึ่งใช้เป็นส่วนออฟฟิศ กับการเลือกออกแบบโครงสร้างผนังรับน้ำหนัก รวมถึงการใช้ผนังเบากั้นระหว่างห้อง เผื่อสำหรับการเปลี่ยนแปลงฟังก์ชันพื้นที่ใช้งานภายใน ทั้งยังเผื่อไปถึงการต่อเติมพื้นที่เป็นบ้านสองชั้นในอนาคต โดยได้คำนวณการรับน้ำหนักของโครงสร้างไว้อย่างแข็งแรงทั้งหมดแล้ว

อีกส่วนที่บ้านหลังนี้ให้ความสำคัญคือการเชื่อมต่อกับพื้นที่สวนธรรมชาติด้านนอก ด้วยการเปิดด้านยาวของอาคารทั้งหมดออกสู่วิวสวน ผ่านผนังกระจกบานใหญ่ยาวตลอดแนวระเบียง  นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งจุดสำคัญของบ้านนั่นคือ คอร์ตกลาง ซึ่งเป็นส่วนของห้องนั่งเล่น ห้องรับประทานอาหาร และครัวแบบโอเพ่นแปลน ที่เชื่อมต่อการใช้งานออกไปถึงคอร์ตหน้าบ้านซึ่งเป็นพื้นที่ใต้ร่มเงาไม้ใหญ่

แบบบ้านชั้นเดียว บ้านหน้าจั่ว แบบบ้านชั้นเดียว บ้านหน้าจั่ว แบบบ้านชั้นเดียว บ้านหน้าจั่ว

การทดลองอีกอย่างที่เกิดขึ้นกับบ้านหลังนี้ คือ การทดลองใช้วัสดุ เริ่มจากการใช้วัสดุตามรูปแบบการใช้งาน โดยไม่กีดขวางทัศนียภาพ และไม่จำกัดการแบ่งพื้นที่ของบ้านแต่อย่างใด เช่น พื้นที่โถงกลางบ้านและครัวที่ปูพื้นด้วยกระเบื้องโมเสก เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งานทำอาหาร ส่วนไฟรางติดตั้งล้อมคอร์ตกลางบ้าน โดยสามารถปรับเปลี่ยนตำแหน่งของดวงโคมได้ตามความต้องการ การตกแต่งภายในจึงมีความยืดหยุ่น ไม่ว่าจะใช้เป็นไฟเพื่อสร้างบรรยากาศ หรือขับเน้นงานศิลปะบนผนัง รวมทั้งยังปรับเป็นไฟฟ้าแสงสว่างในยามค่ำคืน

แบบบ้านชั้นเดียว บ้านหน้าจั่ว แบบบ้านชั้นเดียว บ้านหน้าจั่ว พื้นลายก้างปลา แบบบ้านชั้นเดียว บ้านหน้าจั่ว แบบบ้านชั้นเดียว บ้านหน้าจั่ว แบบห้องน้ำ

เฟอร์นิเจอร์หลายชิ้นในบ้านเกิดจากการทดลองของ Studiomake ที่ทำทั้งงานสถาปัตยกรรมและงานเฟอร์นิเจอร์ เพื่อค้นหาไอเดียใหม่ ๆ ทั้งเรื่องเทคนิค และวัสดุ เช่น เก้าอี้สีน้ำเงินเข้มในห้องรับประทานอาหารที่เกิดจากการนำเก้าอี้ทรงนกยูงแบบธรรมดา ๆ มาทำสีให้ดูป็อปขึ้น แล้วบทสนทนาระหว่างบ้านกับเก้าอี้ตัวนี้ก็ดำเนินไปอย่างสนุกสนาน เมื่ออาจารย์พิศเปลี่ยนผนังด้านหนึ่งให้เป็นสีชมพูตัดกับบรรยากาศและสีสันของเก้าอี้ รวมทั้งยังหยิบเฟอร์นิเจอร์ไม้ธรรมดา ๆ มาทดลองพ่นสีเพื่อสร้างเท็กซ์เจอร์ใหม่ ผลจากการทดลองทำให้เฟอร์นิเจอร์หลาย ๆ ชิ้นสามารถบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าของบ้านออกมาได้อย่างชัดเจน

เรียกได้ว่าแต่ละโปรเจ็กต์การทำงาน ทั้งในบ้านของตัวเอง งานทดลองในช็อป งานช่างของออฟฟิศ หรือสถาปัตยกรรมที่ทำให้ลูกค้า ต่างล้วนเป็น Know-How ที่ทีมนักออกแบบได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทดลอง เพื่อสร้างสรรค์และพัฒนาเป็นเทคนิคสำหรับโปรเจ็กต์ชิ้นต่อ ๆ ไป เกิดเป็นทิศทางการทำงานรูปแบบใหม่ ในขณะที่คนทำงานเองก็เติบโตไปพร้อมกับโปรเจ็กต์ที่ตนเองรับผิดชอบ ไม่ต่างจากตัวบ้านหลังนี้ที่ค่อย ๆ เติบโตไปตามวิถีของอนาคต ซึ่งไม่อาจรู้ได้ว่าหน้าตาของงานสถาปัตยกรรมนี้จะเปลี่ยนไปในทิศทางไหน แต่ไม่ว่ารูปแบบนั้นจะเป็นอย่างไร ทุกอย่างได้ถูกจัดเตรียมไว้เพื่อรองรับการเติบโตและการปรับตัวต่าง ๆ อย่างเต็มที่แล้ว

แบบบ้านชั้นเดียว บ้านหน้าจั่ว

Designer’s Talk

DAVID SCHAFER แห่ง Studiomake กับมุมมองของเขาต่อเฟอร์นิเจอร์

โปรเจ็กต์ของ Studiomake มีความหลากหลายครอบคลุมทั้งงานสถาปัตยกรรม อินทีเรียร์ ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ แต่ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของการค้นคว้า ทดลอง และลงมือทำ เราจึงชวนคุณ David Schafer มาคุยถึงมุมมองของเขาที่มีต่อเฟอร์นิเจอร์ในฐานะสถาปนิกผู้ออกแบบและใช้งานเฟอร์นิเจอร์

room – นิยามของเฟอร์นิเจอร์สำหรับคุณคืออะไร

DS – “ในฐานะสถาปนิกที่หันมาทดลองทำเฟอร์นิเจอร์ ผมคิดว่ามันไม่ได้มีเส้นแบ่งที่ชัดเจน จะมีแต่ก็เฉพาะเรื่องของสัดส่วน และความคุ้นเคยมากกว่า ยกตัวอย่างบนบ้านของผมในส่วนรับประทานอาหาร โต๊ะค่อนข้างเตี้ยมาก เราจึงใช้การยกสเต็ปเป็นเหมือนกับที่นั่ง ซึ่งเป็นสเต็ปที่แบ่งระหว่างส่วนทางเดินกับพื้นที่ครัว สเต็ปแบบนี้เป็นงานทางสถาปัตยกรรม แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถปรับเป็นเก้าอี้ได้ นี่จึงเป็นตัวอย่างหนึ่งของสถาปัตยกรรมที่ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์ และเฟอร์นิเจอร์ก็ไม่ใช่สถาปัตยกรรม

room – ในความเห็นของคุณเฟอร์นิเจอร์มีความสำคัญต่อชีวิตประจำวันของผู้คนอย่างไร

DS – “ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องสำคัญมาก ผู้คนอาจประเมินความสำคัญของเฟอร์นิเจอร์ต่ำไป สิ่งที่ดีของเฟอร์นิเจอร์คือคุณจะพบมันอยู่ในทุก ๆ ที่ที่คุณไป เพื่อใช้รองรับการใช้งานที่เกิดขึ้นในหลากหลายรูปแบบ”

room – คุณคิดว่าอนาคตของงานเฟอร์นิเจอร์ ทั้งในแง่การออกแบบ และกระบวนการลงมือทำจะเป็นอย่างไร

DS –  “จริง ๆ ผมไม่รู้หรอกว่าอนาคตมันจะเป็นอย่างไร ผมว่าสิ่งที่เราทำหรือทดลองคือการให้เฟอร์นิเจอร์สามารถปรับเปลี่ยนและพัฒนาได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังค้นหาในงานสถาปัตยกรรมเช่นเดียวกัน โดยเราพยายามออกแบบอาคารที่อยู่ได้นาน ๆ ไม่ใช่แค่การทำโครงสร้างให้แข็งแรง แต่ต้องสามารถปรับเปลี่ยนได้ง่ายดาย ซึ่งหากผู้คนสามารถเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานได้ตามต้องการ ก็จะช่วยให้คุณภาพชีวิตได้รับการพัฒนาขึ้น ผมคิดว่าเฟอร์นิเจอร์ก็สามารถเป็นแบบเดียวกันได้ แต่ผมคิดว่ามุมมองของเฟอร์นิเจอร์สามารถทำให้สามัญได้มากกว่านั้น  เหมือนโต๊ะที่สามารถปรับเปลี่ยนได้หลากหลายสถานการณ์ ผมพยายามทำการทดลองไอเดียของเฟอร์นิเจอร์ที่ยังคงมีคุณค่า แม้ตัวมันจะถูกปรับเปลี่ยนการใช้งานไปก็ตาม”

เฟอร์นิเจอร์ studiomake

โต๊ะตัวนี้ Studiomake ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษให้กับออฟฟิศของ Ube r โดยใช้เทคนิคเคลือบลามิเนตฟิล์มสีสดใสไปกับท็อปกระจก ร่วมกับขาโต๊ะที่ทำจากเหล็กพับเป็นรูปซิกแซก เกิดการตัดกันระหว่างเหลี่ยมมุมที่เฉียบคมของขาโต๊ะกับท็อปกระจกโค้งมน ที่คุณเดวิดให้นิยามว่า “It’s delighted from far away, and surprised on the light when you close up as well – เห็นจากไกล ๆ ก็ประทับใจ และยิ่งเซอร์ไพร้ส์มากขึ้นเมื่อเข้ามามองใกล้ ๆ ”

ส่วนคอลเล็กชันเก้าอี้เป็นงานทดลองประกอบขึ้นโครงสร้าง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการที่มหาวิทยาลัยรังสิต ด้วยการเก็บนำวัสดุจากรอบๆ ช็อป มาประกอบขึ้นเป็นรูปฟอร์มตามคาแรกเตอร์ของวัตถุนั้น ๆ คาดทับด้วยแถบสีนีออน เพื่อแสดงให้เห็นว่าทั้งหมดนี้เป็นของชั่วคราว ถูกประกอบขึ้นและทลายลงได้


เรื่อง  :  skiixy
ภาพ  : นันทิยา
สไตล์  : วรวัฒน์

อ่านต่อ MITR’S FRIENDS HOUSESCAPES
บ้านที่ออกแบบให้ “มิตร” มีความเป็น “มิตร” กับธรรมชาติ โดย “มิตร อาคิเต็กส์”

อ่านต่อ BASIC HOUSE ความเรียบง่ายในพื้นที่พิเศษของครอบครัว

อ่านต่อ ICONIC TASTE ห่อหุ้มดีไซน์ไอคอนิกด้วยบ้านมินิมัล