ช่องว่างผนังที่เกิดจากการเดินท่อแอร์หรือท่อประปามักสร้างความยุ่งยากในการซ่อมแซมอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่แคบๆ ปัจจุบันจึงมี สเปรย์โฟม ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้เราซ่อมช่องเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น
สเปรย์โฟม หรือ โฟมโพลิยูรีเทน มีคุณสมบัติในการขยายตัวได้ดีมาก เมื่อฉีดออกมาครั้งแรก เนื้อโฟมจะคล้ายมูสใส่ผมและค่อย ๆ แข็งตัวเร็วเมื่อสัมผัสกับอากาศกลายเป็นวัสดุกึ่งแข็ง ใช้อุดช่องว่างหรือรอยต่อต่างๆ เช่น กรอบประตู หน้าต่าง และยังใช้เป็นฉนวนกันความร้อน กันเสียงรบกวนได้ด้วย สามารถยึดติดกับพื้นผิวได้หลายประเภท เช่น ปูน เหล็ก ไม้ ฯลฯ
เครื่องมือและอุปกรณ์
1. สเปรย์โฟมอเนกประสงค์หรือโฟมพอลิยูรีเทน (PU-Foam)
2. ถุงมือยาง
3. แว่นตา
4. คัตเตอร์
5. แปรงทาสีและสีทับหน้า
ขั้นตอนการใช้งาน
1. ทำความสะอาดพื้นผิวให้ปราศจากฝุ่นและคราบน้ำมัน รวมทั้งเศษวัสดุที่หลุดล่อน
2. ฉีดพ่นน้ำสะอาดบนพื้นผิวเพื่อให้สเปรย์โฟมทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3. เปิดฝากระป๋อง แล้วนำหลอดพลาสติกที่แนบมาข้างกระป๋อง สวมเข้ากับหัวฉีดให้แน่น
4. เขย่ากระป๋องก่อนใช้งานประมาณ 20 – 30 ครั้ง
5. จากนั้นให้จับกระป๋องสเปรย์โฟมในท่าหงายมือ แล้วทดลองฉีดออกมาเล็กน้อยเพื่อดูเนื้อโฟม
6. ฉีดสเปรย์โฟมบนพื้นผิวที่ต้องการ โดยขณะฉีดให้คว่ำกระป๋องตลอดเวลา และหลังจากฉีดสเปรย์โฟมเสร็จแล้ว ให้รอเนื้อโฟมขยายและแข็งตัวประมาณ 30 นาที
7. หลังจากเนื้อโฟมแห้งแล้ว สามารถใช้คัดเตอร์ตัดแต่งส่วนเกินที่ไม่ต้องการได้ และทาสีทับได้
TIPS
– ปริมาณเนื้อโฟมที่ออกมามากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแรงกดที่กดหัวฉีด และไม่ควรฉีดสเปรย์โฟมจนเต็มร่องหรือช่องว่าง เนื่องจากเนื้อโฟมจะขยายตัวอีกประมาณ 2-3 เท่า โดยจะใช้เวลาแข็งตัวเต็มที่ประมาณ 12 ชั่วโมง และเมื่อเปิดใช้สเปรย์โฟมแล้ว ควรใช้ให้หมดภายในระยะเวลา 1 เดือน เพราะเนื้อโฟมอาจแข็งตัวได้
– หากเนื้อโฟมเปื้อนเสื้อผ้าหรือผิวหนัง สามารถล้างออกด้วยสบู่ น้ำอุ่น หรือใช้น้ำยาล้างเล็บก็ได้
เรื่อง : คันยิก้า
ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล