11 | 95 AMP HOUSE บ้านชั้นเดียวที่ดูเรียบง่าย แต่โดดเด่นด้วยการเลือกใช้วัสดุสุดเนี้ยบ
เมื่อโจทย์จากเจ้าของบ้านคือต้องการบ้านชั้นเดียว มีมุมทำงานในบ้าน การาจสำหรับช่างไฟซึ่งเป็นงานอดิเรก และมีบ่อปลาในบ้านแต่ด้วยพื้นที่ที่จำกัดจึงจำเป็นต้องวางแปลนบ้านตามแนวยาวของที่ดิน แล้วแทรกคอร์ตสวนให้อยู่หลังบ้านทางฝั่งทิศตะวันออกเพื่อให้ได้รับแสงอ่อน ๆ ยามเช้า และช่วยถ่ายเทอากาศได้ดี สามารถออกมาใช้งานได้ทั้งวัน ส่วนพื้นที่เซอร์วิสต่าง ๆ จะอยู่ทางทิศตะวันตกทั้งหมด
ส่วนหน้าตาของบ้านออกแบบให้มีความเรียบง่าย ไม่หวือหวาโฉบเฉี่ยวจนเกินไป แต่เน้นความโดดเด่นด้วยการเลือกใช้วัสดุสุดเนี้ยบ จึงออกมาเป็นบ้านทรงจั่วที่ดูธรรมดา แต่แตกต่างจากบ้านจัดสรรทั่วไปด้วยรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สอดแทรกไว้ทุกอณู
ออกแบบ : D_Kwa Architect
12 |บ้านตีนดอย ความพอดีระหว่าง”บ้านไทย”กับ”บริติชสไตล์”
“บ้านตีนดอย” คือ บ้านตากอากาศมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 500 ตารางเมตร บนที่ดิน 4 ไร่ ในอำเภอหางดงจังหวัดเชียงใหม่ บ้านอิฐชั้นเดียวดูโดดเด่นด้วยรูปทรงหลังคาหน้าจั่วแหลมสูง ทว่าก็มิได้แปลกแยกจากธรรมชาติรอบข้าง นี่คืองานสถาปัตยกรรมที่ตั้งใจนำเสนอการประนีประนอมระหว่างโจทย์ด้านรูปลักษณ์กับความสอดคล้องด้านบริบท โดยมีวัสดุร่วมสมัยอย่าง “อิฐ” เป็นสื่อกลางสะท้อนให้เห็นถึง “วัฒนธรรมร่วม” ได้อย่างน่าสนใจ
เมื่อเจ้าของบ้านอยากได้บ้านพักตากอากาศสไตล์อังกฤษ ที่มีเอกลักษณ์คือหลังคาหน้าจั่วทรงสูง แต่เพื่อปรับให้เข้ากับบริบทของเมืองไทยที่มีอากาศแบบร้อนชื้นจึงเลือกออกแบบให้เหมาะกับเขตทรอปิคัลมากกว่า ผลลัพธ์จึงออกมาเป็นอาคารอิฐหลังคาหน้าจั่วทรงสูง ผสมผสานกับวัสดุสมัยใหม่ อย่าง กระจก เด่นด้วยเส้นสาย และระนาบสีดำสร้างกลิ่นอายของ Half-Timbering ตั้งตระหง่านท่ามกลางกลุ่มอาคารหลังเล็กสีขาวเรียบง่าย
ออกแบบ : Site-Specific : Architecture & Research
13 |I HOUSE บ้านที่เกิดจากการแตกทอนของก้อนอาคาร
ด้วยข้อจำกัดเรื่องที่ดินแบบลึกแคบ ทำให้ผู้เป็นทั้งเจ้าของบ้านและผู้ออกแบบ สร้าง open space และ green area ให้กับบ้านได้ค่อนข้างยาก จึงตัดสินใจเลือกพื้นที่ตำแหน่งกลางบ้านให้เป็นพื้นที่ดังกล่าว จนเกิดเป็น court เพื่อลดความอึดอัดของพื้นที่ไปจนถึงสร้างวิวสีเขียวและการระบายอากาศให้กับบ้านทั้งหลัง
ตัวบ้านออกแบบ Mass ให้แยกเป็นชิ้นส่วนและลดทอนให้เล็กลงเรื่อยๆ เพื่อให้เกิดเป็นสื่อสัญลักษณ์สร้างภาพจำให้กับงานสถาปัตยกรรม อีกทั้งยังสร้างแพทเทิร์นเพื่อเป็นเปลือกอาคารบางส่วนด้วยการนำเหล็กมาออกแบบเป็นกระถางต้นไม้ สร้างความพิเศษด้วยการให้ทุกชิ้นเป็นแบบโมดูลาร์ ทำให้สามารถสามารถสร้างรูปแบบได้หลากหลาย รวมไปถึงแพทเทิร์ที่เกิดขึ้นก็บ่งบอกอัตลักษณ์ให้กับบ้านได้อย่างชัดเจน
ออกแบบ : Gooseberry design
14| TIN HOME TOY บ้านเหล็กของครอบครัวสุขสันต์ ปรับฟังก์ชันเข้ากับพฤติกรรมผู้อยู่
บ้านหลังคาจั่วบนเนื้อที่กว่า 400 ตารางวา เด่นที่การเลือกใช้วัสดุเรียบง่ายจนได้บ้านเหล็กสไตล์โมเดิร์นที่สวยแบบยั่งยืน ภายนอกออกแบบเป็นหลังคาโครงเหล็กทรงจั่วครอบคลุมพื้นที่ทั้งหลัง ดูโปร่งโล่ง ไม่หนาหนัก เลือกใช้วัสดุยั่งยืนอย่าง เหล็ก ปูน และไม้ มาเป็นวัสดุหลัก
พื้นที่ภายในเน้นออกแบบฟังก์ชันการใช้งานให้เหมาะกับพฤติกรรมของคนในบ้าน ประกอบกับพื้นที่โล่งแบบดับเบิ้ลสเปซ มีมุมนั่งเล่นมองเห็นบรรยากาศได้โดยรอบไม่ว่าจะเป็นสวนหย่อม สระว่ายน้ำ ผ่านหน้าต่างกระจกสูงจรดหลังคาจั่วด้านบน พร้อมเปิดรับลมให้พัดผ่านเข้ามาได้สบายตลอดทั้งวัน มีโทนสีน้ำตาลของไม้ดูอบอุ่นสบายตา แต่ก็ยังคงความเท่ด้วยโครงสร้างเหล็กสีดำดูสอดคล้องกันทั่วทั้งบ้าน
ออกแบบ : คุณนุตร์ เชนยวณิช และคุณจิรายุทธ ชัยจํารูญผล
15 | URBAN BREEZE บ้านอยู่เย็น
ครอบคลุมทุกโจทย์ความต้องการที่แตกต่างของครอบครัวขยาย จนกลายเป็นคอนเซ็ปต์หลักของบ้าน บนพื้นที่ 450 ตารางเมตร ด้วยการออกแบบสเปซที่พัฒนารูปแบบมาจากการวางผังบ้านเรือนไทยภาคกลางสมัยก่อน ซึ่งจะมีต้นไม้อยู่ตรงกลาง มีชานล้อมรอบ และมีเรือนอยู่ 4 มุม เพื่อปรับดีไซน์ให้เข้ากับบ้านสมัยปัจจุบัน พื้นที่ใช้สอยหลักได้รับการผนวกรวมเข้าเป็นแมสสองข้าง โดยยังคงต้นไม้กับชานบ้านไว้ตรงกลาง เหมือนใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางสำหรับทุกคนในครอบครัว นอกจากนี้ รายละเอียดต่าง ๆ ตามแนวคิดของบ้านไทย ยังได้รับการนำมาตีความใหม่ในรูปแบบที่ร่วมสมัยขึ้น มองจากข้างบ้านสะดุดตาด้วยหลังคาทรงแปลกที่ประยุกต์ให้เข้ากับฟังก์ชั่นและสเปซการใช้งานแบบไทย ๆ
ออกแบบ : TA-CHA Design
Desinger Directory : TA-CHA Design
เรียบเรียง : Woofverine
ภาพ : แฟ้มภาพนิตยสาร room,my home, บ้านและสวน