บ้านไทยร่วมสมัยใต้ถุนสูง ในจังหวัดจันทบุรี ที่ทำบ้านให้เป็นกึ่งโฮมสเตย์อารมณ์เหมือนบ้านต่างจังหวัด ซึ่งมีทั้งความเรียบง่ายเเละกลมกลืนกับบริบทของที่ตั้งที่คำนึงถึงสภาพอากาศเเสงเเละลม
บ้านไทยร่วมสมัยใต้ถุนสูง นี้มีชื่อว่า “ บ้านเล็กวิลล่า ” ที่พักจันทบุรี ซึ่งเกิดขึ้นจากความตั้งใจของคุณแก้ว – คุณรินระดา นิโรจน์ เจ้าของเเละเป็นหนึ่งในผู้ออกแบบจาก GLA DESIGN STUDIO ร่วมกับคุณพิชญ์ นิ่มจินดา โดยเธอต้องการทำบ้านของตนเองให้เป็นบ้านพักกึ่งโฮมสเตย์ของครอบครัว คอยต้อนรับเเขกเพื่อน ๆ ของคุณเเม่เล็ก (ครูเล็ก – คุณกุณา นิโรจน์) เเละด้วยความที่เป็นบ้านชนบท เจ้าของจึงเลือกออกแบบให้ที่นี่มีลักษณะเด่นเเบบบ้านไทยร่วมสมัย ใต้ถุนสูง เพื่อให้ใช้งานพื้นที่ได้ทั้งชั้นบนเเละล่าง เเยกพื้นที่ “สาธารณะ” เเละ “ส่วนตัว” ออกจากกัน โดยใช้พื้นที่ใต้ถุนเป็นส่วนรับเเขกเเละมุมรับประทานอาหาร เเล้วเเยกพื้นที่ส่วนตัวไปอยู่ชั้นบนของบ้านอย่างชัดเจน ตามเเบบบ้านไทยดั้งเดิมที่นิยมเห็นตามต่างจังหวัด
บ้านใหม่เเต่เข้ากับชุมชนเก่าได้อย่างถ่อมตัว
คุณเเก้วเล่าว่าเธอเป็นคนจันท์โดยกำเนิด เเต่เมื่อเข้ามาเรียนต่อในกรุงเทพฯ หลังจากเรียนจบก็ทำงานอยู่ที่นั่นยาวเรื่อยมา กระทั่งถึงจุดหนึ่งเธออยากกลับมาสร้างบ้านไว้ที่จันทบุรี เวลากลับมาจะได้เป็นทั้งที่พักและที่ทำงานเล็ก ๆ ของเธอ เเต่ด้วยความที่อยากให้บ้านหลังใหม่นี้ดูเรียบง่าย ใช้งบประมาณไม่มาก เเละเข้ากับชุมชนซึ่งเป็นชนบทโดยรอบ การสร้างบ้านเเบบบ้านสองชั้นสไตล์โมเดิร์นไทยร่วมสมัยยกใต้ถุนสูงจึงกลายเป็นเเบบบ้านในใจ โดยตั้งใจให้บ้านหลังนี้เป็นบ้านกึ่งโฮมสเตย์ เพราะคุณแก้วคิดว่าการใช้ชีวิตของคนทุกวันนี้มีความเรียบง่ายมากขึ้น เทคโนโลยีช่วยให้เราสามารถอยู่อาศัยที่ไหนก็ได้ เพียงถือกระเป๋าเสื้อผ้าสักใบกับคอมพิวเตอร์สักเครื่องกลับมาบ้านก็เพียงพอแล้ว แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อเป็นบ้านของตัวเองก็ต้องมีความรู้สึกผ่อนคลายจากธรรมชาติและบรรยากาศโดยรอบแบบ “ต่างจังหวัด” แม้จะสร้างเสร็จเมื่อไม่นานมานี้ แต่บ้านนี้ก็ได้ต้อนรับแขกของครอบครัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนฝูงของคุณแก้ว น้องชาย หรือคุณแม่
“เราไม่ได้ตั้งใจให้เป็นธุรกิจของครอบครัว คือเรามีความชอบในการออกแบบโรงแรมอยู่แล้ว พอเป็นบ้านตัวเอง เห็นแม่ชวนเพื่อนมาค้างแล้วเขาชอบ เขาก็ไปบอกต่อกัน เราก็เลยคิดว่าให้คนใกล้ ๆ ตัวมาพักที่นี่ แล้วรู้จักเมืองจันท์ให้มากขึ้นในมุมสบาย ๆ แบบที่เราชอบแบบนี้ก็คงดี”
เอกลักษณ์ของบ้านหลังนี้ คือรูปทรงของตัวบ้านที่คล้ายบ้านชนบทยกใต้ถุนสูง นอกจากความตั้งใจที่คุณเเก้วอยากให้บ้านของเธอดูกลมกลืนกับบ้านของเพื่อนบ้านรอบ ๆ เหนืออื่นใดเเบบบ้านลักษณะนี้นับเป็นสถาปัตยกรรมที่เข้ากับสภาพภูมิอากาศของไทยที่สุด โดยเป็นการคำนึงถึงเเสงเเละลมเป็นสำคัญเพื่อให้บ้านมีสภาวะน่าสบาย ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ชั้นล่าง หรือพื้นที่สำหรับพักผ่อนส่วนตัวบนชั้นบน
ที่สำคัญเนื่องจากความเป็นสวนผลไม้เเบบจันทบุรี เเละความที่เป็นบ้านพื้นถิ่นของชุมชน วัสดุพื้นบ้านหรือไม้เก่าที่คุณแก้วเลือกมาใช้ทั้งหมดล้วนช่วยให้บ้านดูไม่เด่นจนเกินไป เป็นความถ่อมตัวที่ตั้งใจเเทรกเข้ามาเพื่อให้บ้านหลังนี้อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างกลมกลืน
โครงสร้างที่เบา บาง เเต่เพียงพอต่อการใช้งาน
บ้านหลังนี้เน้นใช้การผสมผสานกันระหว่างปูน เหล็ก และไม้ โดยมีโครงสร้างหลักเป็นปูน แต่ด้วยความที่คุณแก้วต้องการให้มีชานไม้ในบ้าน การออกแบบจึงต้องเอื้อให้ความงามของไม้สามารถแสดงตัวออกมาได้ และเพื่อความแข็งแรงจึงเลือกใช้โครงสร้างเหล็กมาผสม โดยให้เป็นคานยื่นออกไปเพื่อสร้างพื้นที่ที่ลอยออกไปในอากาศได้โดยยังคงดูบาง ไม่หนาหนักเหมือนโครงสร้างปูน เเละลักษณะของชิ้นงานก็เข้ากันได้อย่างดีกับองค์ประกอบไม้ที่ต้องการโชว์โครงสร้าง
บ้านเเนวคิดไทย
บ้านหลังนี้เป็นบ้านยกใต้ถุนสูง เพื่อแบ่งพื้นที่ “สาธารณะ” และ “ส่วนตัว” ออกจากกัน โดยบริเวณใต้ถุนนั้นคุณแก้วได้แรงบันดาลใจมาจากคำทักทายของคนไทยที่ว่า “กินข้าวมาหรือยัง” ซึ่งเปี่ยมด้วยความห่วงใยและอบอุ่น จึงปรับให้โต๊ะกินข้าวกลายเป็นพื้นที่รับแขกร่วมกับเคาน์เตอร์ครัวได้ บางครั้งเมื่อมิตรสหายแวะเวียนเข้ามาในเวลาที่เจ้าของไม่อยู่บ้าน ก็อาจนั่งเล่นนั่งรอที่ใต้ถุนนี้ได้ก่อนเหมือนบ้านไทยสมัยโบราณ ส่วนพื้นที่ที่มีความเป็นส่วนตัวมากขึ้นก็จะต้องเดินขึ้นบันไดไปบนชานและเรือนชั้นบน
นอกจากนี้การออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมโดยการโรยกรวดที่ใต้ถุนก็ทำให้พื้นที่ใช้งานถูกเชื่อมโยงออกไปยังลานข้างบ้านได้อย่างลงตัว รวมถึงการวางตัวของบ้านในทิศตะวันตกยังช่วยสร้างร่มเงาให้ลานข้างบ้าน และการจัดให้ตัวบ้านอยู่ด้านในสุดของที่ดิน ก็เพื่อเปิดโอกาสให้สามารถเพิ่มบ้านหลังอื่นได้ในภายหลัง และตามแผนที่คุณแก้วตั้งใจไว้คือการทำสวนให้เต็มพื้นที่ด้านหน้าซึ่งตอนนี้ก็วางต้นไม้ใหญ่ไว้หมดแล้ว หลังจากนี้ก็จะเป็นไม้จำพวกสวนกินได้และแปลงผักต่าง ๆ ซึ่งสวนก็จะช่วยบังสายตาและสร้างความเป็นส่วนตัวให้บ้านได้มากขึ้นอีกด้วย
เมื่อถามถึงหัวใจสำคัญของการออกแบบบ้านหลังนี้ คุณแก้วก็บอกกับเราว่าความเข้าใจใน “บริบท” คือสิ่งสำคัญ คำนี้ไม่ใช่แค่ทิศแดดทิศลมของสถานที่ตั้งเพียงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบต่าง ๆ ทั้งความเป็นสวนผลไม้แบบจันทบุรี ความเป็นบ้านพื้นถิ่นของชุมชน วัสดุพื้นบ้านหรือไม้เก่าที่คุณแก้วได้เลือกมาใช้ ทั้งหมดทำให้บ้านดูไม่เด่นจนเกินไป เป็นความถ่อมตัวที่ตั้งใจแทรกเข้ามา เพื่อให้บ้านหลังนี้อยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่ากลมกลืน เหมือนที่คุณแก้วบอกกับเราไว้ตั้งแต่ต้นว่า “ถ้าจะทำบ้านของตัวเองก็อยากจะทำให้รู้สึกว่านี่คือบ้านที่เมืองจันทบุรี” และก็ดูเหมือนว่าบ้านหลังนี้จะทำได้จริง ๆ
DESIGNER DIRECTORY : เจ้าของ : ครอบครัวนิโรจน์
สถาปนิก : GLA DESIGN STUDIO โดยคุณรินระดา นิโรจน์ เเละคุณพิชญ์ นิ่มจินดา
เรื่อง: วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ : ศุภกร ศรีสกุล