PIE HOUSE บ้านเรียบเท่ของผู้หญิงที่มีความกรอบนอกนุ่มใน
โจทย์ความฝันและความชอบที่ชัดเจนของเจ้าของบ้านผสมกับการทำงานร่วมกันเป็นทีมกับสถาปนิกด้วยความคิดเปิดกว้างคือที่มาของ แบบบ้านโมเดิร์น สีขาวสองชั้นเรียบง่ายตรงไปตรงมาในเมืองเชียงใหม่หลังนี้
เจ้าของ : คุณภัสรัญ ตรีวัฒนกูล และ คุณดิษย์ศิรินทร์ จึงอยู่สุข / สถาปนิก Greenbox Design โดยคุณสุรัตน์ พงษ์สุพรรณ์
“ลูกค้าบินมาเจอผมที่กรุงเทพและชวนไปเชียงใหม่เพื่อให้ช่วยออกความเห็นว่าควรซื้อที่ดินผืนนี้หรือไม่ ที่ดินนี้เป็นที่จัดสรรในโครงการรูปสี่เหลี่ยมคางหมู เจ้าของเป็นผู้หญิงคู่รัก โดยมีโจทย์แรกคือต้องการสร้างบ้านให้ครอบครัวตนเองและลูกน้อยในอนาคตอีกสองคน โจทย์ที่สองคือมีโครงการที่จะเปิดร้านเบเกอรี่ในที่ดินผืนเดียวกันนี้”
คุณสุรัตน์ พงษ์สุพรรณ์ สถาปนิกจาก Greenbox Design เริ่มบทสนทนาถึงจุดเริ่มต้นของบ้านที่ได้มีส่วนร่วมตั้งแต่ก่อนเจ้าของตัดสินใจซื้อที่ดิน ผังของบ้านถูกจัดวางตามเงื่อนไขที่สามารถเข้าได้สองทางคือจากถนนสาธารณะและด้านถนนของหมู่บ้าน
เมื่อเริ่มเดินผ่านประตูทางเข้าความทึบของผนังรั้วหน้าบ้านฝั่งถนนสาธารณะเข้ามา ภาษาทางสถาปัตยกรรมค่อนข้างดูแข็งแรง แต่ด้วยโทนสีขาวของบ้านทำให้ฟอร์มที่หนักแน่นดูเบาลงและค่อย ๆ คลี่คลายเมื่อเปิดประตูผ่านเข้ามาถึงลานบ้าน
เมื่อเดินผ่านเข้ามาด้านในตัวบ้านที่ออกแบบเป็นรูปตัวยู (U) ซึ่งโอบล้อมสระว่ายน้ำและระเบียงพักผ่อนไว้กลายเป็นพื้นที่คอร์ตกลางบ้าน ด้านหนึ่งเห็นส่วนนั่งเล่นและส่วนรับประทานอาหารที่อยู่ทางทิศเหนือเป็นห้องโถงสูง กรุด้วยกระจกใสจากพื้นถึงเพดาน อีกด้านเห็นระเบียงห้องนอนชั้นสอง ภาพเงาสะท้อนของตัวบ้านลงสระว่ายน้ำทำให้พื้นที่คอร์ตบ้านเกิดความโปร่งโล่งจากทุกมุมมอง แต่ความโปร่งโล่งนี้ไม่ได้ทำลายความเป็นพื้นที่ส่วนตัวของครอบครัวแต่อย่างใด
พื้นที่โดยรอบคอร์ตต่อเนื่องในทุกทิศทางเพื่อเชื่อมผู้อยู่อาศัยเข้าด้วยกันผ่านการมองเห็น การได้ยินและกิจกรรมที่ทำร่วมกัน อีกทั้งพื้นที่นี้ยังมีสัมพันธ์กับธรรมชาติจากลมและแสงแดดที่ได้รับอย่างพอเหมาะตลอดทั้งวัน
ด้านในสุดของบ้านชั้นล่างเป็นส่วนทำงานซึ่งทำหน้าที่เชื่อมต่อชั้น 1 และ ชั้น 2ให้มีปฏิสัมพันธ์กัน ผ่านบันไดสีขาวโดยมีสองห้องนอนใหญ่ของเจ้าของบ้านอยู่สุดทางเดินเป็นปลายตา คุณสุรัตน์เล่าว่าในอนาคตเจ้าของบ้านต้องการความเป็นส่วนตัวให้กับทุกคนจึงแบ่งพื้นที่ชั้นสองเป็นพื้นที่หลักของลูก ๆ ทั้งสองคน
งานออกแบบภายในเป็นไปทิศทางเดียวกับตัวสถาปัตยกรรมภายนอกที่เน้นสีขาว วัสดุพื้นใช้ไม้และกระเบื้องลายหินสีขาว เฟอร์นิเจอร์ลอยตัวและบิลท์อินใช้ไม้เช่นกัน ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ลอยตัวใช้สีเบจและสีเทาอ่อนเป็นหลัก การออกแบบวัสดุและสีทั้งหมดแม้จะเป็นสีกลางโทนอ่อนแต่กลับส่งเสริมความสัมพันธ์ของพื้นที่ในบ้านให้โดดเด่น ดูสอดคล้องกัน เมื่อมองจากทั้งภายในออกไปหรือมองจากภายนอกเข้ามา
มุมมองที่ดูปิดจากภายนอกเกิดความน่าค้นหาของพื้นที่ภายใน เส้นเอียงของรั้วบ้านเกิดจากการเล่นระดับของพื้นที่ที่ประกอบเป็นฟังก์ชันหลากหลายซ่อนอยู่บนที่ดิน 180 ตารางวา ผืนนี้ ผนังตะแกรงเหล็กรูสล็อตถูกออกแบบให้พรางสายตาจากที่ทิ้งขยะของที่ดินข้างเคียงทั้งยังช่วยกันแสงแดดที่ส่องมาทางทิศตะวันตกยามบ่าย และการมีต้นไม้ข้างเคียงนับเป็นข้อดีที่แม้บ้านจะทาสีขาวทั้งหลัง แต่เมื่อแสงแดดส่องผ่านทำให้เกิดเงาตกกระทบบนผนังบ้านเกิดมิติเคลื่อนไหวลดความแข็งกระด้างของตัวบ้านลง
จากที่ดินจัดสรรสู่บ้านในฝัน จากวันแรกที่ทั้งคุณสุรัตน์และเจ้าของบ้านไม่ทราบด้วยซ้ำว่าท้ายสุดบ้านนี้จะออกมาเป็นอย่างไร จนกระทั่งวันที่เห็นความดีใจของเจ้าของบ้านเมื่อบ้านเสร็จ ทั้งหมดเกิดจากการทำงานร่วมกันและข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าของบ้านที่คุณสุรัตน์มักให้ความสำคัญเสมอตอนพัฒนาแบบ เพื่อให้บ้านตอนแล้วเสร็จมีเอกลักษณ์และตอบโจทย์คนใช้ชีวิตในบ้านอย่างเต็มที่จริง ๆ
คุณสุรัตน์เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าสถาปนิกมีหน้าที่คล้ายพ่อครัว และข้อมูลของลูกค้าก็เปรียบเหมือนวัตถุดิบ ก่อนปรุงอาหาร การเตรียมวัตถุดิบที่ดี และเข้าใจธรรมชาติของวัตดุดิบเป็นเรื่องสำคัญของพ่อครัวทุกคน แต่รสชาติจะถูกปากลูกค้าหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับพ่อครัวที่มีวิธีปรุงแตกต่างกัน ทำให้อาหารแต่ละจานมีรสชาติเอกลักษณ์เฉพาะ และลูกค้าแต่ละคนก็มีรสชาติอร่อยไม่เคยเหมือนกัน
เรื่อง : เจนศิลป์ พัฒนยินดี
ภาพ : PanoramicStudio