บ้านทรงกล่องสไตล์โมเดิร์น ของดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย นักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมเเละเจ้าของแบรนด์รองเท้า Tlejourn : ทะเลจร หลังนี้ โดดเด่นด้วยการออกแบบพื้นที่ใช้งานให้ลื่นไหลดูต่อเนื่อง พร้อมความโปร่งโล่งเเบบ Outside In, Inside Out เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวสามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกันได้ เชื่อมความรักของทุกคนให้อบอุ่นยิ่งขึ้น
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: 10 Design
อาจารย์อาร์ม – ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย นอกจากจะทำหน้าที่เป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี อีกบทบาทหนึ่งที่ทำให้เรารู้จักเขามากขึ้น นั่นคือการเป็นนักกิจกรรมด้านสิ่งเเวดล้อม โดยทำงานร่วมกับกลุ่ม Trash Hero ด้วยการนำรองเท้าเก่าขยะจากทะเลที่ถูกคลื่นซัดเข้าหาฝั่ง เก็บมารีไซเคิลใหม่ กลายเป็นที่มาของเเบรนด์รองเท้าทะเลจร ภายใต้เเนวคิดที่ต้องการลดขยะในท้องทะเล เเละกระตุ้นให้ผู้คนหันมาสนใจสิ่งเเวดล้อมมากขึ้น โดยวันนี้เราจะมาทำความรู้จักเขาอีกฐานะหนึ่งในบทบาทของการเป็นหัวหน้าครอบครัว กับการใช้ชีวิตใน บ้านทรงกล่องสไตล์โมเดิร์น ที่เขาบอกว่าเน้นที่ความเรียบง่าย ตามเรเฟอเรนซ์บ้านระดับมาสเตอร์พีชอย่างที่เขาชื่นชอบ ซึ่งออกแบบโดย Ludwig Mies van der Rohe ในปี 1945 ที่ให้อารมณ์ Outside In, Inside Out เป็นโครงแบน ๆ ดูโล่ง ๆ มีทั้งความเรียบง่ายเเละฟังก์ชันที่เอื้อให้ทุกคนในบ้านสามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้อย่างอบอุ่น
สเปซเชื่อมต่อภายในและภายนอก
จุดเริ่มต้นของบ้านหลังนี้มาจากการที่อาจารย์อาร์ม เเละคุณลี่-พันทิภา นิธิอุทัย ภรรยา ต้องการอยู่ใกล้คุณพ่อคุณแม่ ทั้งคู่เเละลูก ๆ อีก 3 คน จึงได้ย้ายออกมาสร้างบ้านหลังใหม่ในเขตโรงงานของทางบ้าน โดยได้พูดคุยกับ คุณเท็น – วรการ ทิพย์ประภา แห่ง 10 Design ซึ่งรู้จักกันด้วยเรื่องของดนตรีที่คุยกันในเว็บบอร์ดเครื่องเสียงสมัยไปศึกษาที่ต่างประเทศมารับหน้าที่ออกแบบบ้านให้
“พอกลับมาเมืองไทยก็ได้คุยกัน เขาเองก็ทำบ้านของตัวเอง เราก็จะทำบ้านพอดี ความต้องการของเราคืออยากได้พื้นที่โล่ง เพราะชอบบรรยากาศแบบเอ๊าต์ดอร์ แล้วพื้นที่ส่วนต่าง ๆ เชื่อมต่อกันได้ ใครอยู่ตรงไหนก็สามารถเห็นกันหรือตะโกนหากันได้”
ขณะเดียวกันอาจารย์อาร์มเองก็มีความชื่นชอบบ้านเเบบสไตล์โมเดิร์น “ชอบ Farnsworth House (บ้านระดับมาสเตอร์พีซของสถาปัตยกรรมแบบโมเดิร์น ออกแบบโดย Ludwig Mies van der Rohe ในปี 1945) ให้อารมณ์ Outside In, Inside Out เป็นโครงแบน ๆ ดูโล่ง ๆ”
จากความต้องการดังกล่าวจึงได้รับการถ่ายทอดออกมาเป็นสถาปัตยกรรมบ้านทรงกล่องดีไซน์เรียบง่ายขนาดสองชั้น ที่มีช่องเปิดขนาดใหญ่ทะลุชั้นบนเเละชั้นล่าง พร้อมการออกแบบให้มีทางเดินวนเป็นวงกลมได้รอบบ้าน ทั้งครัว ห้องนั่งเล่น เเละห้องกิจกรรมของครอบครัว ซึ่งเด็ก ๆ ใช้เป็นห้องวาดรูป เล่นดนตรี ซึ่งเดิมทีห้องนี้ออกแบบมาเพื่อเป็นห้องรับเเขก โดยมีประตูบานเลื่อนเป็นตัวกั้นสำหรับเเขกที่ไม่สนิทมาก เมื่อเปลี่ยนมาเป็นห้องกิจกรรมพ่อเเม่ก็สามารถเดินเข้าไปร่วมเล่นกับลูกได้อย่างสะดวกสบาย ขณะที่ตัวคุณลี่ชอบทำกับข้าวจึงมีพื้นที่ครัวใหญ่เป็นพิเศษและมีอุปกรณ์ครบครันเป็นหนึ่งในจุดที่เชื่อมต่อพื้นที่หลายส่วน ทั้งยังมีโต๊ะรับประทานอาหารที่สามารถมองไปยังมุมนั่งเล่นฟังเพลงของคุณอาร์ม และเปิดเป็นช่องโล่งทะลุไปยังชั้น 2 ที่เด็ก ๆ สามารถมองลงมาจากโต๊ะทำการบ้านบริเวณชั้นหนังสือ
แปลนแบบเดินได้รอบในบ้านโมเดิร์น
การสร้างบ้านพักอาศัยสักหลังหนึ่ง นอกจากจะต้องคำนึงถึงเรื่องงบประมาณ สไตล์ที่ชื่นชอบ เเละฟังก์ชันให้เหมาะสมกับการใช้งานเเล้ว ยังต้องคำนึงถึงเรื่องของสภาพเเวดล้อมเเละอากาศของพื้นที่ตั้ง เพื่อให้บ้านมีสภาวะที่น่าอยู่ บ้านของอาจารย์อาร์มก็เช่นกัน เเม้จะเป็นบ้านสไตล์โมเดิร์นที่ทำหลังคาเเบนไม่ได้เป็นหน้าจั่วเเบบสถาปัตยกรรมเขตร้อนดั้งเดิม เเต่กลับสามารถเเก้ปัญหาการระบายน้ำฝนได้ดี นั่นเป็นเพราะสถาปนิกได้ซ่อนหลังคาที่มีความลาดเอียงที่เหมาะสมไว้ภายใน เเล้วทำกรอบผนังปูนขึ้นมากั้นบัง โดยได้กำหนดให้มีหลังคาเมทัลชีตเอียง 5 องศา อยู่ภายในหลังคาอีกที ขณะที่ผังการใช้งานในบ้านก็ออกแบบอย่างเรียบง่าย มีทางเดินที่สามารถเดินวนได้รอบบ้าน ทั้งครัว มุมนั่งเล่นหลัก มุมทำงาน มุมนั่งฟังเพลงของคุณอาร์ม และห้องริมสุดที่เป็นห้องกิจกรรมของครอบครัว ซึ่งเด็กๆ ใช้เป็นห้องวาดรูป เล่นดนตรี ต่อเลโก้ โดยเดิมทีห้องนี้ออกแบบมาเพื่อเป็นห้องรับแขก โดยมีประตูบานเลื่อนเป็นตัวกั้นสำหรับแขกที่ไม่สนิทมาก เมื่อเปลี่ยนมาเป็นห้องกิจกรรมพ่อแม่จึงสามารถเดินเข้าไปร่วมเล่นกับลูกได้อย่างสะดวกสบาย
เนื่องจากบ้านหลังนี้ออกแบบแบบร่างไว้ก่อน แต่ต้องพักไม่ได้สร้างจริงอยู่หลายปี บางส่วนจึงมีการปรับเปลี่ยนไปบ้าง อาทิ ไม่ได้สร้างโรงรถด้านริมห้องรับแขกเดิม ทางเข้าหลักที่ใช้ในปัจจุบันจึงเปิดประตูมาเจอครัวเลย คล้ายกับการเจอหลังบ้านก่อน
“จริง ๆ แล้วการออกแบบให้เหมือนเดินเข้าหลังบ้านก็เป็นเจตนาเพื่อสมาชิกในบ้าน คือถ้าซื้อของมาก็วางบนโต๊ะใหญ่ได้เลย เพราะพื้นที่ตรงนี้จะถูกใช้มากที่สุด” อาจารย์อาร์มกล่าวถึงการใช้งานจริงซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของสมาชิกในบ้าน
นอกจากนี้ยังสร้างสระว่ายน้ำเพิ่มขึ้นมา โดยเดิมทีวางรูปแบบไว้คร่าว ๆ แต่เมื่อมีการสร้างภายหลัง ทำให้ตัวสระต้องเขยิบออกไปจากตัวบ้าน แล้วสร้างชานไม้ต่อเนื่องไปแทน รอบ ๆ ยังเป็นสวนที่เริ่มลงต้นไม้ใหญ่รอให้โต จากการปลูกของเจ้าของบ้านเอง โดยพยายามใช้แนวคิด Permaculture เพื่อให้ต้นไม้อยู่อย่างยั่งยืนและดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องตกแต่งให้สวยตลอดเวลา พร้อมติดตั้งเครื่องแปลงขยะให้เป็นดินและปุ๋ยโดยธรรมชาติ
สุดท้ายแล้วหากพูดถึงบ้านโมเดิร์นหลังนี้ซึ่งซ้อนกันด้วยพื้นที่กิจกรรมต่าง ๆ ของสมาชิกในครอบครัวนิธิอุทัย
ก่อนจากกันอาจารย์อาร์มบอกกับเราว่า “คำหนึ่งที่ขึ้นมาในหัวเมื่อพูดถึงบ้านหลังนี้คือ ผมจะใช้คำว่า ‘Home’ มันคือเช่นนั้น เมื่อเทียบกับคำว่า ‘House’ ที่ต่างกันออกไป”
ซึ่งนั่นเป็นเรื่องจริงอย่างที่สุด เห็นได้จากรอยยิ้มที่ปรากฏอยู่บนใบหน้าของสมาชิกทุกคนในครอบครัว…
เรื่อง : สมัชชา วิราพร
ภาพ : สิทธิศักดิ์ น้ำคำ