ผ่านไปแล้วกับงาน SACICT Craft Trend Guru Panel 2021 โดย ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชน) หรือที่รู้จักกันในนาม SACICT
โดยงานนี้เป็นงานสัมนา Craft Trend ที่จัดเป็นประจำในทุกปี เพื่อจะได้พาเหล่ากูรูชั้นแนวหน้าจากหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องมาพูดคุยสรุปแนวทางการทำงาน และวางนโยบายการส่งเสริมงานหัตถศิลป์ หรืองานคราฟต์ ของไทยร่วมกัน เพื่อพัฒนาทิศทางและต่อยอดแนวคิดให้ก้าวไกลสู่ระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งแน่นอนที่สุดที่ baanlaesuan.com ไม่พลาดนำเสนอเนื้อหา โดยสรุปจากงาน Craft Trend Guru Panel 2021 มาฝากทุกท่านเหมือนเช่นเคย
ผ่ามุมมองทิศทางงานคราฟต์จากเวทีเสวนา CRAFT INNOVATION GURU PANEL 2020
สำหรับปีนี้งานสัมมนา Craft Trend Guru Panel 2021 นำการประชุมโดยคุณแสงระวี สิงหวิบูลย์ รองผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) และมีคุณเจรมัย พิทักษ์วงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) เป็นโมเดอร์เรเตอร์ พร้อมกับกูรูด้านต่าง ๆ อีก 8 ท่าน ได้แก่คุณสมภพ ยี่จอหอ, คุณอมรพล หุวะนันท์, คุณศุภพงศ์สอนสังข์, รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล, คุณวรทิตย์ เครือวาณิชกิจ, ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตย์เดช คุณพันธวิศ ลวเรืองโชค และคุณวิชดา สีตกะลิน ที่จะมากล่าวถึงเทรนด์ในปีนี้ภายใต้นิยามคำว่า “Fluidity” อันเกิดจาก Craft Trend หลัก ๆ 3 หัวข้อ ดังต่อไปนี้
“Fluidity”
บรรยายโดย คุณดำรง ลี้ไวโรจน์ บรรณาธิการอำนวยการกลุ่มบ้านฯ บริษัทอมรินทร์ พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)
คำว่า “Fluidity” เปรียบเสมือนกับน้ำที่มีความใสและเกิดเป็นสีได้ตามสิ่งที่ผสมเป็นตะกอนอยู่ภายใน หรือการที่น้ำสามารถแปรเปลี่ยนรูปร่างไปตามภาชนะที่ใช้บรรจุ เทรนด์ก็เหมือนกัน ปัจจุบันทิศทางและแนวโน้มของเทรนด์มีความหลากหลายมากเกินกว่าจะสามารถนิยามเทรนด์ใดเทรนด์หนึ่งให้ครอบคลุมเรื่องราวที่เกิดขึ้นแบบปีต่อปีได้
ไม่ว่าจะเป็นความตื่นตัวต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้คนหันกลับมาสนใจงานออกแบบที่สามารถใช้ทรัพยากรหมุนเวียนได้มากขึ้น หรือการพัฒนาไปของการสื่อสารที่ทำให้องค์ความรู้ ตลอดจนความเป็นเชื้อชาติได้หลอมรวมเข้าด้วยกันเป็นหนึ่งเดียว ภพแดนในความเป็นจริงเริ่มเลือนหายไป และผู้ที่สนใจเรื่องใด ๆ สามารถจับกลุ่มแลกเปลี่ยนความรู้กันได้แม้จะอยู่คนละซีกโลก
จากความเป็นไปที่เกิดขึ้น ภายใต้นิยาม “Fluidity” นี้ จึงสามารถแยกย่อยออกเป็น 3 Craft Trend ที่สอดรับซึ่งกันและกันคือ “Craft Circularity” “Craft Cloud” และ “Craft Citizen” ซึ่งจะได้รับการขยายความโดยบรรณาธิการแต่ละท่าน
“Craft Circularity”
คุณนัทธมน ตั้งตรงมิตร บรรณาธิการบริหารนิตยสาร room
ปัญหาใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของทศวรรษนี้คือปัญหาการกำจัดขยะจำนวนมหาศาลซึ่งเกิดจากการบริโภคโดยไม่ยั้งคิด ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา สิ่งนี้เองที่เป็นแรงขับดันให้เกิดแนวคิดที่พยายามจะเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน ไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบหมุนเวียน หรือที่เรียกว่า “Circular Economy” ซึ่งมีแนวคิดพยายามที่จะให้เกิดการนำสิ่งต่าง ๆ ในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ได้ให้มากที่สุด
เมื่อวัตถุดิบสามารถหมุนเวียนอยู่ในวงจรการใช้งานได้ยาวนานขึ้นมากเท่าไหร่ การผลิตขยะจากการบริโภคก็จะลดน้อยลงเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ทำให้ระบบ Circular Economy สามารถเกิดขึ้นได้จริงคือ กระบวนการคิดที่เรียกว่า “Upcycling” ซึ่งได้รับการหยิบยกมาเป็นมือของนักออกแบบทั่วโลก
เมื่อพิจารณาถึงวัตถุดิบที่เป็นเศษเหลือทิ้งในระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน เราจะค้นพบว่ามีวัตถุดิบที่ถูกปล่อยทิ้งมากมาย การทำให้วัตถุดิบเหล่านี้สามารถนำกลับมาใช้ได้อีก จึงเป็นอีกหนทางหนึ่งในการเสริมสร้าง Circular Economy ให้มีวัฏจักรที่สมบูรณ์ โดยเฉพาะเมื่อมองกลับมาที่งานหัตถศิลป์ การใช้งานออกแบบเข้าไปยกระดับการรับรู้ของวัตถุดิบเดิม ๆ จะช่วยสร้างผลิตภัณฑ์ให้เกิดคุณค่า ทั้งในแง่ของดีไซน์และคุณค่าต่อสังคมไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งนี่ก็คือ Craft Trend ที่ชื่อว่า “Craft Curcularity” นั่นเอง
คุณอมรพล หุวะนันทน์: “บางอย่างที่เรามองว่าเป็นขยะ แต่ซาเล้งเขามองเป็นเงินเลยนะ ซึ่ง Moreloop เองก็สนใจในปัญหาเหล่านี้ แต่เป็นในภาพที่ใหญ่ขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย นั่นคือหาของที่คนไม่ต้องการ มาหมุนเวียนให้คนที่ต้องการ ในที่นี้ยกตัวอย่างผ้าจากโรงงานขนาดใหญ่ที่ไม่ได้ใช้อีกแล้ว โอกาสตรงนี้ทำให้คำว่าขยะกลายเป็นงานออกแบบของคนอีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องเดียวกันกับ Circular Economy ส่วนเราก็เป็น Platform ที่ช่วยให้ทั้งสองปลายทางได้เจอกัน
“ซึ่งความน่าสนใจของกระบวนการนี้คือ คนที่เขาได้ผ้าไป เรียกได้ว่าเขาเป็น Zero Carbon Footprint เลยก็ว่าได้ จากการเป็นขยะที่กองอยู่พะเนิน ไม่ได้ผลิตขึ้นมาใหม่ เเต่กลับสามารถทำให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ เพราะฉะนั้นคำว่า Circular Economy ต้องรับรู้ไปตั้งแต่ Mindset เพื่อให้มองไปถึงกระบวนการของสิ่งต่าง ๆ ให้เห็นถึงที่มาและปลายทาง ว่ามันจะตันหรือกระทบกับสิ่งแวดล้อมหรือเปล่า หรือมีวิธีการใดอีกให้งานดีไซน์นี้ไปต่อได้”
คุณวรทิตย์ เครือวาณิชกิจ: “การตีราคางานศิลป์พวกนี้จะเป็นไปในแนวทางที่ตีราคาจากคุณค่ามากขึ้น ไม่ใช่มองว่าเป็นผลิตผลจากแรงงาน เวลา และอุปกรณ์ที่ใช้ไป ถ้าเราตั้งโจทย์โดยการคำนวณจากต้นทุน งานคราฟต์จากชาวบ้านจะถูกตีค่าแบบนั้น แต่ถ้าเราถามใหม่ว่า “คุณเตรียมงบประมาณไว้เพื่อลงทุนกับสิ่งนี้เท่าไหร่” โจทย์จะเปลี่ยนไปเลย เหมือนการทำโลโก้ ถ้าคิดแค่ค่าแรง เวลา ค่าไฟ มันแทบไม่มีค่าเลย แต่ถ้าเรามองว่านี่คือจุดเปลี่ยนของบริษัท การปลี่ยนโลโก้จะช่วยสร้างเเบรนด์ให้มีคุณภาพมากขึ้น แล้วถ้าถามกลับไปว่าคุณตีค่า Creativity ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ไว้ที่เท่าไหร่ ถ้าทำได้แบบนี้ งานคราฟต์ที่หยิบยกมาจากชุมชน เรื่องราวที่เกิดขึ้นตั้งเเต่ต้นทาง แม้จะเป็นสิ่งของธรรมดา หรือของที่เคยเป็นขยะในระบบเศรษฐกิจเดิมมาก่อน ก็จะได้รับการมองเเละยอมรับในคุณค่าที่ดีมากขึ้น เช่นเดียวกับตัวชุมชนเองก็จะเป็นที่รู้จักตามไปด้วยเช่นกัน”
รศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล: “การนำขยะรีไซเคิลมาผลิตเป็นงานคราฟต์ ถือเป็นเรื่องที่ยาก เป็น painpoint ของหลาย ๆ คน กับโจทย์การทำขยะให้ไม่เป็นขยะ หลายคนบอกว่าลองจ้างคนทำมีเดียหรือไปจ้างบล็อกเกอร์ สิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวบ้านทำเองไม่ได้ เเต่ดิฉันกลับมองว่าไม่จำเป็นเท่ากับการที่เราพยายามสร้างแนวคิดตรงนี้ร่วมกันให้แข็งแรงก่อน พอทุกคนมีแนวคิดตรงกันจะเกิดพลังที่จะพาให้ทั้งระบบเดินไปพร้อมกัน แต่อีกด้านหนึ่งเมื่อมองในมุมคราฟต์ ความพิถีพิถัน ความสวยงาม และใช้งานได้ดีถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้สินค้ามีราคา แต่อาจจะรองรับการผลิตแค่เพียงจำนวนน้อย ถ้าเราสามารถผลิตได้ 5 ชิ้นในช่วงเวลาหนึ่ง แล้วตลาดต้องการถึง 100 ชิ้น เราต้องตอบคำถามตรงนี้ให้ได้ด้วย ให้สิ่งที่เรากำลังจะสร้างขึ้นมานั้น สามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้ ถ้าทำยาก ผลิตได้น้อย ก็เล็งเป้าที่กลุ่มลูกค้ากลุ่มไฮเอนด์ แต่ถ้าทำให้เข้าถึงง่ายลงมา ผลิตได้มากก็จะสามารถเข้าถึงลูกค้าชั้นกลางได้ ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะได้ไปทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับแนวคิด Circular Economy ต่อไป”
“Craft Citizen”
คุณกรกฏ หลอดคำ บรรณาธิการฝ่ายสถาปัตยกรรม นิตยสาร room
ภูมิปัญญาจะไม่ต้องถูกจำกัดไว้แต่เพียงขอบเขตภูมิประเทศ ชนชาติ หรือกลุ่มสังคมใด ๆ รวมทั้งขอบเขตของค่านิยมเเละความงามจะไม่ถูกตัดสินด้วยหลักเกณฑ์อันคับแคบอีกต่อไป ด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรมในปัจจุบัน ประกอบกับการยอมรับและความสนใจในความต่างของทัศนคติที่มีอยู่อย่างหลากหลายมากขึ้น ทำให้โลกทุกวันนี้เกิดการผสมผสานความงามและรูปแบบของงานหัตถศิลป์ไปได้อย่างมากมายไม่รู้จบ ซึ่งการก้าวข้ามขอบเขตตรงนี้เอง ได้สร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น เปรียบเสมือนการที่คนทุกคนเป็นสมาชิกหนึ่งของสังคมโลก หรือที่เราเรียกว่าเป็น Global Citizen และโดยเฉพาะผู้ที่สนใจงานหัตถศิลป์ คนจากซีกโลกหนึ่งอาจจะมีการพูดคุย เเละแลกเปลี่ยนกับคนอีกซีกโลก จนเกิดเป็น Craft Trend ที่เรานิยามว่า “Craft Citizen” ขึ้นนั่นเอง
ในปัจจุบันงานผ้าย้อมในประเทศแถบยุโรป อาจผสมไปด้วยเทคนิคงานคราฟต์จากประเทศญี่ปุ่น หรืองานเก้าอี้ที่ออกแบบเค้าโครงโดยนักออกแบบ อาจถูกส่งต่อไปให้ชุมชนหัตถศิลป์ที่ผลิตผลงานจากผักตบชวาเป็นผู้ผลิตเเละช่วยสร้างเเพตเทิร์น รวมถึงออกแบบต่อยอดในส่วนที่ตนเองถนัด เค้าโครงที่ออกแบบไว้กับลวดลายเฉพาะแต่ละถิ่นจึงถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของงานหัตถศิลป์ที่เกิดจากเทรนด์ “Craft Citizen” แต่ในสิ่งที่มาก กว่านั้นคือ Positive Impact จากความหลากหลายทางชาติพันธ์ุ วัฒนธรรม เพศ และทัศนคติซึ่งจะได้รับการถูกยอมรับ เพื่อ Cerebrate ความแตกต่างทั้งหลายเข้าด้วยกัน สร้างสรรค์เป็นผลงานที่มีมูลค่าเเละสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนหัตถศิลป์นั้น ๆ ต่อไป
คุณวิชดา สีตกะลิน: “จากประสบการณ์การทำงานที่มีโอกาสได้ทำงานร่วมสล่าพื้นบ้าน ปัญหาและอุปสรรคจริง ๆ ที่ได้พบคือ การหาคนที่จะสืบทอดภูมิปัญญาตอนนี้ค่อนข้างยาก ตอนที่ได้ลงพื้นที่แล้วได้ทำงานกับกลุ่มคนทอผ้า คนทำงานจักสาน หรือคนทำโอ่งดินเผาปั้นมือ แต่ละอย่างเป็นเรื่องที่ยากมาก อย่างลุงอ้ายแดงที่ทำงานสานให้ที่โรงแรม เป็นคนที่อายุน้อยที่สุดซึ่งอายุ 60 ปีเข้าไปแล้ว เพราะฉะนั้นก่อนที่จะก้าวไปถึงเรื่องของวิชาการหรืออะไรก็ตาม เราต้องมาพูดถึงการที่จะช่วยให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้ไม่หายไป ซึ่งก็เจอกับตัวมาแล้วกับการที่สล่าคนหนึ่งได้เสียชีวิตระหว่างที่กำลังผลิตงานให้กับทางโรงแรม”
ห้องตัวอย่างที่ชั้นสาม JIM THOMPSON HOME FURNISHINGS SHOWROOM งานออกแบบของคุณ วิชดา สีตกะลิน
“สุดท้ายเราจึงจัดนิทรรศการที่มีชื่อว่า “เลือนจาง ไม่ลางหาย” ขึ้น แล้วเชิญสล่าทั้ง 40 ชีวิต พร้อมครอบครัวมาพักที่โรงแรมหนึ่งคืน เพราะเราอยากสร้างความภูมิใจและตอกย้ำให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญในงานที่พวกเขาทำ ซึ่งถูกจัดวางในบริบทที่แตกต่างไปจากความคุ้นชินของพวกเขา และสิ่งเหล่านี้น่าจะช่วยยังประโยชน์ให้ลูกหลานเลือกที่จะสืบสานภูมิปัญญาเหล่านี้ต่อไปได้ไม่มากก็น้อย เพราะเราตั้งใจทำงานร่วมไปกับชุมชน คือลงไปดูว่าพวกเขาผลิตอะไร ทำอะไร แล้วต่อยอดงานออกแบบจากตรงนั้นเลย “why be a part of the trend ? why don’t to be a trend ?” คือคำที่เราใช้ เพราะถือว่าเป็นการสร้างงานให้ชุมชน เป็นการสร้างความยั่งยืน ทั้งในเเง่ของเศรษฐกิจชุมชน การอนุรักษ์ไว้ซึ่งภูมิปัญหา และงานช่างไปพร้อม ๆ กัน ถือเป็นการนำของบ้าน ๆ มาเรียบเรียงในบริบทใหม่ เพื่อเสริมคุณค่าผ่านเรื่องราวเบื้องหลังที่พาให้งานคราฟต์ ก้าวผ่านคำว่าค่านิยมไปสู่ความงามที่เป็นสากล”
คุณสมภพ ยี่จอหอ: “อย่างเราเองก็ต้องจับกระแสเหมือนกันว่าทุกวันนี้มีเทคโนโลยีอะไรใหม่ ๆ เข้ามาบ้าง อย่างพอเริ่มทำสีธรรมชาติบ่อย ๆ ก็เริ่มมีคนเบื่อ มีคนทำเยอะขึ้นทำ Eco Print ไหม อะไรที่กำลังเป็นทรนด์ เราก็ต้องจับกระแสเหมือนกันว่า ทุกวันนี้มีเทคโนโลยี หรือว่านวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ มาให้เราพัฒนาต่อไปหรือเปล่า ซึ่งเทคนิคใหม่ ๆ เหล่านี้ คิดว่าน่าจะต้องมี Platform เฉพาะเรื่องนวัตกรรมที่ใช้ในกระบวนการผลิตอะไรอย่างนี้ให้คนเข้าไปหาความรู้ เพียงแต่ว่าทุกวันนี้เราอาจจะยังไม่เข้าถึง ถ้ามี conference แบบนี้ การบูรณาการก็จะเกิดขึ้นได้ เป็นนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เสริมทั้งดีไซเนอร์ ผู้ประกอบการรวม ชุมชน และพี่เลี้ยงที่ทำงานในชุมชนด้วย”
คุณพันธวิศ ลวเรืองโชค : “สำหรับคำว่า Craft Citizenไม่ใช่แค่ผู้ผลิต แต่ยังต้องใส่ใจกับผู้ซื้อด้วยพฤติกรรมผู้บริโภค อาจจะต้องแบ่งเป็น Segment ต่าง ๆ กัน เช่น คนที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ก็จะซื้อเพราะความชอบความสวยงาม แต่ถ้ามากกว่านั้นจะเริ่มเป็นเรื่องของการลงทุนแล้ว ผมรู้สึกว่าการวิเคราะห์ผู้บริโภคที่เป็น Segment จริง ๆ อันนี้น่าจะส่งเสริมตรงนี้ ไม่ใช่การวิเคราะห์การตลาดที่แบบอ่านเจอในแบบทั่ว ๆ ไป เพราะการขายในปัจจุบัน มันมี agenda มากกว่าแค่ชอบแล้วก็ซื้อ การซื้อเพื่อ Influence บางอย่าง ซื้อเพื่อเก็งกำไร เพื่อคอนเน็กชั่น มันควรถูกวิเคราะห์ให้ละเอียด เพื่อจะได้เข้าใจทั้งฝั่งของ Designer และ ฝั่งของ Customer ควบคู่กันไป”
“Craft Cloud”
คุณสมัชชา วิราพร บรรณาธิการบริหาร baanlaesuan.com
แม้เราจะเริ่มคุ้นชินกับ Cloud หรือระบบเครือข่ายฐานข้อมูลที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในทุกวัน แต่กับ “Craft Cloud” มันเป็นมากกว่านั้น ด้วยความปัจจุบันความรู้และเทคนิคต่าง ๆ สามารถถูกแชร์ผ่านเครือข่ายฐานข้อมูลเหล่านี้ และเข้าถึงได้โดยง่ายในรูปแบบ OpenSouce หรือข้อมูลสาธารณะที่ใครจะเลือกนำไปใช้ก็ได้ เช่น แบบเฟอร์นิเจอร์ที่ผู้ออกแบบตั้งใจแบ่งปันให้ดาวน์โหลดไปลองทำดูเองได้
วัฒนธรรมในรูปแบบ Cloud นี้ ยังส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มกันตามความสนใจร่วมกันของผู้คนในอินเทอร์เนต สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ แหล่งวัตถุดิบ บอกเล่าคุณค่า และเรื่องราวเบื้องหลังชิ้นงาน ตลอดจนแผ่ขยายเครือข่ายไปสู่ความเป็นไปได้ที่มากขึ้น โดยนักออกแบบ ช่าง เเละผู้ซื้อ สามารถเข้ามารวมกลุ่มกันอยู่ใน Community Online เดียวกันได้ตลอดเวลา
ในแง่ของเศรฐศาสตร์เองระบบ Cloud ยังเอื้อให้เกิดการระดมทุนอย่างที่เรียกว่า “Cloud Funding” ได้โดยง่ายอีกด้วย และเหตุนี้เอง วัฒนธรรมใหม่ที่เรียกว่า Cloud จึงเสมือนเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้โลกของงานคราฟต์ สามารถก้าวไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วและแข็งแรงขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
คุณอมรพล หุวะนันทน์: “ผมมองว่า Cloud และ Internet คือ Tool ช่างเก่ง ๆ บางคนเขาใช้แค่เฟซบุ๊ก เฉย ๆ เท่านั้น ด้วยฝีมือและเรื่องราวก็สามารถขายงานตรงสู่มือผู้ซื้อได้แล้ว ด้วย Quality และ Story ที่เขามี คือ cloud มันเป็นคำตอบของวันนี้อย่างแน่นอน แต่มันใหญ่มากเป็นดินแดนเมกกะใหม่ของทุกคน คำถามคือเราจะไปอยู่ตรงไหนในโลกใบนั้น เราจะต้องถามคำถามอะไรบ้าง เพื่อที่เราจะตอบได้ว่าเราจะต้องตั้งเสาหลักอย่างไรมากกว่า”
คุณศุภพงศ์ สอนสังข์: “ข้อเท็จจริงคือหนึ่งในเชิง physical แล้ว Quality ต้องมาก่อน บอกว่าเราพยายามทำโต๊ะดี ๆ หรือทำมีดดี ๆ เล่มหนึ่งให้ใช้งานได้ ความสวยงามต้องตามมาทีหลัง และเรื่องราวของการได้มาซึ่งคุณภาพจะกลายเป็น Story ชั้นดี ซึ่งเมื่อมี quality selling และ story telling แล้วโลกของ Cloud จะช่วยให้ผลงานเหล่านั้นสามารถเป็นรู้จักออกไปได้มากขึ้น”
ดร.ภูมิพร ธรรมสถิตเดช: “เรื่องของ knowledge sharing สามารถเป็นไปได้หลายกลุ่ม User ผมมองว่าต่อไปเป็นสังคมผู้สูงอายุ ใช่ไหมครับ คนที่เขาอยากได้ skill ก็มีที่เปิดสอนให้ผู้สูงอายุมาทำเรื่อง Internet of Thing หรือเรียน programming ผู้สูงอายุมีเวลาเยอะ ถ้าเขาสนใจ เขาก็จะสามารถใช้เวลทำเรื่องเหล่านี้ได้ ถ้าเขาสนใจเรื่องของคราฟต์ก็จะเกิดเป็นกลุ่มงานคราฟต์ได้ไม่ยาก และ Cloud ก็สามารถเสริมในจุดนั้นได้ จนถึงการที่ skill ทั้งหลายจะ cross กันได้ เพราะฉะนั้นพรมแดนก็อาจจะง่ายขึ้น มีประสบการณ์ให้แลกเปลี่ยนจากหลากมุมมองมากขึ้น ซึ่งเราเองก็น่าจะลอง test ดูเหมือน craft simulation หรือ craft lab อะไรสักอย่างหนึ่ง แล้วดูสิว่าตอนจบของเรื่อง เรื่องของตัวนิยามแบบใหม่ที่ทำมันจะเป็นอย่างไรเพราะผมเชื่อว่าผู้เชี่ยวชาญที่มี skill ก็จะมีบทบาทกว้างขวางขึ้นในอนาคต”