6 สเต็ปเปลี่ยนโถชักโครกใหม่ ทำง่ายใช้เวลาเพียง 1 วัน

เมื่อถึงเวลาที่เราต้องการเปลี่ยนโถสุขภัณฑ์ เพราะสุขภัณฑ์เดิมไม่ตอบโจทย์การใช้งาน โถเดิมเก่าแล้วอยากเปลี่ยนใหม่ หรือเพื่อรองรับการใช้งานของผู้สูงวัยที่บ้าน ก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง เพียงเราเข้าใจลักษณะของสุขภัณฑ์เดิมและสุขภัณฑ์ใหม่ที่จะมาเปลี่ยนทดแทน รวมถึงการติดตั้งอย่างถูกวิธีให้ตรงกับท่อน้ำทิ้งเดิม เพื่อลดปัญหาการรั่วซึมและกลิ่นรบกวน

•งานช่าง(ในห้องน้ำ) ที่ผู้หญิงทำได้
•ซ่อมพื้นห้องน้ำรั่วด้วยปูนนอนชริ้งค์
•ติดตั้งราวกันลื่นในห้องน้ำไม่ยากอย่างที่คิด

เครื่องมือและอุปกรณ์

เปลี่ยนโถชักโครก

1. ค้อนหงอน

2.ไขควงปากแบน หรือเหล็กสกัด

3. เกรียงโป๊ หรือเหล็กขูดร่องยาแนว

4. ปูนซีเมนต์ขาว หรือซิลิโคน

5. คัตเตอร์

6. ตลับเมตร

7. ถุงมือ

8. ฟองน้ำ

9. ปะเก็นแว็ก (Wax Ring) หรือขี้ผึ้งกันกลิ่นย้อน

 

ขั้นตอนการติดตั้งโถสุขภัณฑ์ด้วยตัวเอง

เปลี่ยนโถชักโครก

1 การ เปลี่ยนโถชักโครก นั้นไม่ยาก เพียงแต่เราต้องคำนึงถึงระยะระหว่างผนังถึงกึ่งกลางท่อน้ำทิ้ง ส่วนใหญ่หากเป็นโถสุขภัณฑ์แบบนั่งราบ จะมีระยะดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 30.5 เซนติเมตร ดังนั้นหากระยะจากกึ่งกลางท่อน้ำทิ้งเดิมห่างจากผนังพอดีกัน ก็สามารถติดตั้งแทนที่ได้เลย

เปลี่ยนโถชักโครก

2 ใช้ค้อนและไขควงปากแบนสกัดปูนยาแนวรอบโถเพื่อนำสุขภัณฑ์เดิมออกมา

เปลี่ยนโถชักโครก

3 เมื่อสกัดเอาเศษปูนยาแนวรอบโถสุขภัณฑ์ออกหมดแล้ว ให้ล้างทำความสะอาดพื้นบริเวณที่จะติดตั้งโถสุขภัณฑ์ใหม่ เพื่อช่วยเพิ่มการยึดเกาะให้ดียิ่งขึ้น

เปลี่ยนโถชักโครก

4 เพื่อความแม่นยำในการติดตั้ง ให้นำกระดาษแข็งที่ให้มาพร้อมกับโถสุขภัณฑ์ (ถ้ามี) ตัดเจาะรูตามรูป แล้วมาวางทาบให้ตรงกับรูท่อน้ำทิ้งเดิม แต่ถ้าไม่มีแบบกระดาษก็ ให้นำโถสุขภัณฑ์ใหม่มาลองวางเพื่อดูระยะให้รูท่อตรงกัน เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการแล้ว ให้เอาดินสอขีดที่พื้นรอบฐานสุขภัณฑ์ จากนั้นยกโถสุขภัณฑ์ออกมา

เปลี่ยนโถชักโครก

5 นำซีเมนต์ขาวมาผสมน้ำตามอัตราส่วน แล้วใช้เกรียงมาก่อบริเวณด้านในของเส้นที่ร่างไว้ โดยให้กว้างกว่าขอบโถสุขภัณฑ์เล็กน้อย และถ้ามีปะเก็นแว็ก (Wax Ring) หรือขี้ผึ้งกันกลิ่นย้อนก็นำไปสวมเข้ากับท่อน้ำทิ้งได้เลย เพื่อป้องกันกลิ่นย้อนกลับ

เปลี่ยนโถชักโครก

6 นำโถสุขภัณฑ์มาวางในตำแหน่งที่ได้ร่างไว้ ปรับระดับไม่ให้เอียงซ้ายหรือขวา แล้วใช้นิ้วมือปาดซีเมนต์ขาวรอบโถเพื่อความสวยงาม และปล่อยทิ้งไว้สักพักเพื่อให้ซีเมนต์ขาวเซ็ตตัว แล้วใช้ฟองน้ำเก็บงานอีกครั้ง จากนั้นต่อระบบน้ำต่างๆ อาทิ สายท่อน้ำดีเข้าโถสุขภัณฑ์ รวมถึงสายฉีดชำระให้เรียบร้อย แล้วปล่อยทิ้งไว้อีกประมาณ 24 ชั่วโมง สุขภัณฑ์ใหม่ก็พร้อมใช้งานได้ทันที

 

TIPS

การติดตั้งโถสุขภัณฑ์แบบชักโครก นอกจากจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานการติดตั้งในคู่มือแล้ว การใช้อุปกรณ์เสริมอย่างปะเก็นแว็ก (Wax Ring) ครอบที่รอยต่อระหว่างท่อน้ำทิ้งที่พื้นกับปลายท่อจากคอห่านโถสุขภัณฑ์ สามารถป้องกันกลิ่นย้อนกลับและการรั่วซึมได้ หรือเลือกใช้โถสุขภัณฑ์รุ่นที่มีระบบ Floor Flange ที่ช่วยยึดสุขภัณฑ์ติดกับท่อน้ำทิ้งได้แน่นยิ่งขึ้น สามารถป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์ไม่ให้ผ่านขึ้นมาได้นั่นเอง

 

เรื่อง : คันยิก้า

ภาพประกอบ : เอกรินทร์ พันธุนิล

แก้ปัญหาพื้นห้องน้ำลื่น

ซ่อมท่อน้ำรั่วซึมจากห้องน้ำชั้นบนบ้าน  

ห้องน้ำมีกลิ่นเหม็นแม้ว่าจะไม่มีคนใช้งาน เพราะอะไร