พัดลมไอเย็น

รู้จัก “พัดลมไอเย็น” ที่ไม่ใช่ “พัดลมไอน้ำ”

พัดลมไอเย็น
พัดลมไอเย็น

พัดลมไอเย็น หนึ่งในไอเท็มคลายร้อนที่หลายคนมักสับสนกับ พัดลมไอน้ำ ซึ่งเเท้จริง แล้วเป็นคนละประเภทกัน เเถมยังอาจมีคำถามเกี่ยวกับความชื้น ไอน้ำ และเชื้อราที่มักเกิดขึ้นกับพัดลมประเภทนี้

แต่ครั้นจะพึ่งพาแต่พัดลมธรรมดา ก็คงสู้กับความร้อนไม่ไหว หรือหากตัดสินใจติดเครื่องปรับอากาศอาจมีงบที่สูงเกินไป เเละไม่สามารถโยกย้ายไปใช้งานตามมุมต่าง ๆ ของบ้านได้สะดวก ฉะนั้นก่อนตัดสินใจซื้อ พัดลมไอเย็น มาใช้งานสักเครื่อง ต้องรู้เรื่องอะไรบ้าง วันนี้เรามีข้อมูลมาฝาก เพื่อเป็นตัวช่วยดี ๆ ในยามที่อุณหภูมิบ้านเราสูงลิบลิ่วอย่างช่วงนี้กัน

เลือกพัดลมแบบไหนดี

พัดลมไอเย็น ไม่ใช่ พัดลมไอน้ำ

หลายท่านมักเข้าใจว่า พัดลมไอเย็น กับ พัดลมไอน้ำ คือพัดลมแบบเดียวกัน แต่ความจริงไม่เหมือนกันเลย เพราะพัดลมไอเย็นจะส่งลมผ่านแผ่นทำความเย็นภายในตัวเครื่อง ส่วนพัดลมไอน้ำเมื่อเปิดใช้งานจะพ่นเป็นละอองน้ำออกมา (ลักษณะคล้ายหมอก แต่มีความละเอียดน้อยกว่า) โดยใช้ลมเป่าให้กระจายตัวในอากาศ ดังนั้นพัดลมไอเย็นจึงเหมาะกับการใช้งานภายในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก ส่วนพัดลมไอน้ำเหมาะกับการใช้งานภายนอกบ้านที่มีพื้นที่โล่งหรือกลางแจ้งมากกว่า

หลักการทำงานและส่วนประกอบของพัดลมไอเย็น

สิ่งที่ทำให้อากาศที่ออกมาจากพัดลมไอเย็นมีอุณหภูมิที่ต่ำกว่าสภาพแวดล้อมรอบ ๆ คือ การระเหยของน้ำ(evaporation) ซึ่งน้ำจะถูกปล่อยผ่านแผงแลกเปลี่ยนความร้อน ซึ่งเรียกว่า Evaporation Pad หรือ Cooling Pad  โดยแผงนี้มักจะทำด้วยกระดาษอัดพับเป็นจีบ เพื่อให้อุ้มน้ำ และมีพื้นที่แลกเปลี่ยนความร้อนเยอะ ๆ  เมื่อเปิดเครื่องน้ำจากถังเก็บ(Reservoir) จะถูกส่งขึ้นสู่ระบบจ่ายน้ำที่ปล่อยน้ำให้อาบลงมาที่แผง Cooling Pad ลมร้อนที่ผ่านแผงนี้จะกลายเป็นลมเย็นเป่าออกไปในที่สุด และถ้าการแลกเปลี่ยนความร้อนด้วยการระเหยนั้นยังเย็นไม่พอ เราสามารถนำเจลทำความเย็น หรือ Cooling Pack ที่นำไปทำให้เย็นแล้วใส่ลงไปในถังเก็บน้ำได้ เป็นการช่วย Cool Pad ให้สามารถลดอุณหภูมิได้มากกว่าเดิม

ข้อดี

  • ช่วยลดอุณหภูมิภายในห้องได้ประมาณ 2-10 องศาเซลเซียส (ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพ และวิธีการเตรียมการใช้งาน)
  • ไม่มีละอองน้ำ จึงไม่ทำให้เกิดความเปียกชื้นในพื้นที่เหมือนพัดลมไอน้ำ
  • ออกแบบมาให้เคลื่อนย้ายได้สะดวก จึงสามารถนำไปใช้ได้ทั้งพื้นที่ภายนอกและภายในบ้าน
  • สิ้นเปลืองพลังงานใกล้เคียงกับพัดลมธรรมดา แต่สามารถสร้างลมเย็นได้มากกว่า

มารู้จัก..พัดลมไฟฟ้ากันเถอะ

ข้อสังเกต

  • ไม่เหมาะกับการใช้งานในห้องที่ปิดทึบ เพราะอาจทำให้เกิดความชื้นสะสม ซึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดปัญหาเชื้อราตามมาได้
  • ต้องมีการทำความสะอาดช่องใส่น้ำอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มีคราบสกปรก ตะไคร่น้ำ รวมถึงเชื้อราสะสม
  • ก่อนใช้งานควรนำเจลทำความเย็น หรือ Cooling Pack ไปแช่ในช่องแช่แข็งในตู้เย็นเสียก่อน แล้วค่อยนำไปใส่ในถังบรรจุน้ำของตัวเครื่อง หากต้องการความเย็นเพิ่มขึ้น
  • ต้องคอยหมั่นเติมน้ำ เพื่อให้เครื่องทำงานได้เต็มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
  • ไม่ตอบโจทย์สำหรับห้องที่มีขนาดพื้นที่กว้าง ๆ หรือห้องขนาดใหญ่ เพราะการกระจายความเย็นจะอยู่เฉพาะบริเวณที่ช่องลมปล่อยออกมาเท่านั้น ไม่สามารถกระจายความเย็นไปได้ทั่วทั้งห้องเหมือนอย่างเครื่องปรับอากาศ

การดูแลหลังใช้งานทุกครั้ง

หลังการใช้งานทุกครั้ง ควรเปิดให้ลมเป่าผ่าน Cooling Pad เสียก่อน โดยกดปุ่มให้เครื่องทำงานแบบไม่ทำความเย็น เพื่อไล่ความชื้นบน Cooling Pad ออกให้หมด เพื่อจะได้ไม่ทำให้เกิดเชื้อรา และความอับชื้นบน Cooling Pad จากนั้นจึงนำน้ำที่เหลืออยู่ในถังเก็บไปเททิ้ง ไม่ให้เกิดคราบสกปรกและตะไคร่ การใช้น้ำเก่าซ้ำโดยไม่ล้างเลยอาจทำให้คราบสกปรกเข้าไปอุดตันระบบได้ในระยะยาว

พัดลมไอเย็น

การทำความสะอาด

พัดลมไอเย็นสามารถถอดอุปกรณ์ภายในมาล้างได้ ไม่ว่าจะเป็นถังเก็บน้ำ และแผงทำความเย็น ซึ่งทั้งสองส่วนนี้ควรถอดออกมาทำความสะอาดทุก ๆ สัปดาห์เป็นอย่างน้อย หรืออาจบ่อยกว่านั้นหากมีการใช้งานหนัก เช่น การใช้งานในสำนักงาน หรือออฟฟิศ  โดยขั้นตอนของการทำความสะอาดนั้นประกอบไปด้วย

  1. เริ่มจากการถอดแผ่นกรองออกมาทำความสะอาดเสียก่อน โดยการฉีดน้ำ(ที่ไม่แรงมาก) เพื่อไล่ฝุ่นออก จากนั้นจึงนำไปตากแห้งในที่ลมผ่าน แต่อย่าตากแดดพัดลมไอเย็น
  2. เมื่อเปิดแผ่นกรองแล้วจะพบกับแผงทำความเย็น ให้นำแผงทำความเย็นนั้นออกมาทำความสะอาด โดยการเปิดน้ำผ่านเพื่อไล่ฝุ่น แต่ไม่ควรผสมน้ำยาทำความสะอาดใด ๆ ระหว่างการล้าง เพราะอาจทำให้แผงทำความเย็นที่ทำจากกระดาษเกิดความเสียหายได้ พัดลมไอเย็นในพัดลมไอเย็นบางรุ่น อาจมีแผงทำความเย็นมากกว่า 1 แผง ให้ถอดออกมาล้างจนครบ
  3. ในส่วนของถังเก็บน้ำ หากเป็นรุ่นที่ถอดล้างได้ก็สะดวกหน่อย แต่ถ้าไม่สามารถถอดล้างได้ ให้เปิดช่องระบายออก แล้วค่อย ๆ ใช้ฟองน้ำเช็ดล้างภายในให้เรียบร้อย โดยระมัดระวังชุดอุปกรณ์ไฟฟ้าและมอเตอร์ ส่วนของใบพัดให้ใช้ฟองน้ำชุบน้ำหมาด ๆ เช็ดทำความสะอาดก็เพียงพอ
  4. เมื่อทุกชิ้นส่วนแห้งสนิทแล้ว ให้ประกอบทุกชิ้นส่วนกลับไปเข้าไปตามลำดับ ทั้งนี้ควรระวังแผงทำความเย็นเสียหาย เนื่องจากเป็นวัสดุที่ทำด้วยกระดาษ เพียงเท่านี้คราบสกปรกต่าง ๆ หรือตวการที่ทำให้เกิดเชื้อราอย่างที่หลาย ๆ คนเป็นกังวลก็จะหายไป

การจัดเก็บ

หากไม่มีการใช้งานเป็นเวลานาน ๆ และต้องการทราบวิธีการจัดเก็บที่ถูกต้อง ขอแนะนำให้ปล่อยน้ำออกจากระบบให้หมดเสียก่อน แล้วจึงเปิดเครื่องให้ลมผ่านเพื่อเป่าให้แผงทำความเย็นแห้งสนิท จากนั้นค่อยนำไปจัดเก็บไว้ในห้องที่ปราศจากฝุ่นให้เรียบร้อย หากไม่จัดการน้ำในระบบให้เเห้งสนิทแล้วละก็ อาจทำให้เกิดเชื้อราและคราบตะไคร่อุดตันระบบได้

แผงทำความเย็น เป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคหรือไม่ ล้างแล้วสะอาดจริงไหม ซื้อมาเปลี่ยนใหม่ได้หรือเปล่า

ส่วนที่มักจะเกิดปัญหาในพัดลมไอเย็นคือส่วนทำความเย็นที่เรียกว่า “แผงทำความเย็น” หรือ Cooling Pad ซึ่งเจ้าแผงทำความเย็นนี้เอง เป็นวัสดุที่ทำมาจากกระดาษเยื่อไม้คุณภาพสูงเพื่อประสิทธิภาพในการระเหยของน้ำ ซึ่งมักจะเคลือบผิวหน้า Teflon ช่วยลดการเกิดของเชื้อรา และสิ่งสกปรก เเต่หากใช้งานไปในระยะเวลาหนึ่ง หรือปล่อยให้อับชื้น ก็อาจทำให้เกิดเชื้อราในแผงทำความเย็นได้เช่นกัน (สังเกตได้จากกลิ่นเหม็นอับเวลาเริ่มเปิดเครื่อง)

พัดลมหมุนช้า น้ำมันจักร น้ำมันเครื่อง แก้ไขได้ไหม?

การป้องกัน

ให้เปิดลมไล่ความชื้นทุกครั้งก่อนปิดเครื่อง และพยายามไม่ปล่อยน้ำทิ้งไว้ในถัง อีกทั้งการปล่อยให้ฝุ่นจับตัวกันบนแผงทำความเย็น ยิ่งนานวันก็ยิ่งเพิ่มโอกาสที่จะก่อให้เกิดเชื้อราได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นจึงควรหมั่นล้างเเละทำความสะอาดบ่อย ๆ ตามความเหมาะสม จะช่วยป้องกันเชื้อราได้อีกทางหนึ่ง  แต่ถ้าหากว่าเริ่มได้กลิ่นอับชื้น หรือมองเห็นฝ้าขาวของเชื้อราแล้วละก็ คงต้องบอกว่าเกินเยียวยาให้ซื้อมาเปลี่ยนใหม่ดีกว่า เพราะจริง ๆ แล้ว แผงทำความเย็นนี้ก็ไม่ได้แพงมาก ตกประมาณชิ้นละ 200-300 บาท เท่านั้น

เพียงเท่านี้ก็สบายใจกับไอเท็มลับสู้ร้อนอย่าง พัดลมไอเย็น กันได้แล้ว ขอให้ทุกท่านผ่านหน้าร้อนนี้ไปได้โดยสวัสดิภาพครับ


เรื่อง  : “พจน์ ผลิตภัณฑ์”
ภาพประกอบ – เรียบเรียง : วุฒิกร สุทธิอาภา

ติดตามข้อมูลดีๆจากบ้านและสวนได้ที่นี่