ตู้ไฟฟ้า

ปรับปรุงระบบไฟบ้าน (เดิม) ต้องเลือก ตู้ไฟฟ้า อย่างไรดี!

ตู้ไฟฟ้า
ตู้ไฟฟ้า

ตู้ไฟฟ้า หรือตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต คืออุปกรณ์ไฟฟ้าที่ถือว่าเป็นหัวใจหลักของระบบไฟฟ้าในบ้านของเรา ดังนั้นเจ้าของบ้านจึงไม่ควรมองข้าม หากคิดรีโนเวทบ้าน หรือต้องการปรับปรุงอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อให้แน่ใจว่าระบบไฟฟ้าในบ้านของเรายังไว้ใจได้และปลอดภัยอยู่เสมอ ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของตู้ไฟฟ้าที่เราต้องรู้ ก่อนตัดสินใจเลือกมาใช้งานในบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ในช่วงปรับปรุงซ่อมแซม ซึ่งต้องใส่ใจมากเป็นพิเศษ

1.มิเตอร์ไฟ..บอกขนาดเมนเบรกเกอร์

ก่อนจะเลือกตู้ไฟฟ้าหรือตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตมาใช้งาน เราควรตรวจสอบขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าหน่วยวัดการใช้ไฟฟ้า (kW/Hours Meter) ของการไฟฟ้า ซึ่งติดตั้งอยู่ที่บริเวณเสาไฟหน้าบ้านว่า เพียงพอต่อการใช้ไฟฟ้าทั้งบ้านหรือไม่ เช่น มิเตอร์การไฟฟ้าสำหรับบ้านพักอาศัยโดยทั่วไปนั้นจะอยู่ที่ 5(15)A จากรูปด้านล่าง

หมายความว่า ตัวเลข 5 ข้างหน้าจะบอกขนาดของมิเตอร์ไฟฟ้า สามารถรองรับกระแสไฟฟ้าต่อเนื่องได้ 5A และตัวเลขที่อยู่ในวงเล็บ (15) เป็นค่ากระแสสูงสุดที่มิเตอร์ไฟฟ้าสามารถรองรับได้ (ต่อเนื่องกันไม่เกิน 3 ชั่วโมง) กระแสไฟฟ้าชั่วขณะที่รองรับได้ 15A  ดังนั้นถ้าบ้านของเรา มีเครื่องปรับอากาศหลายตัว และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เมื่อมีการใช้ไฟฟ้าพร้อมๆกันเกิน 15A อาจจะทำให้การวัดของมิเตอร์ไฟฟ้าเริ่มเกิดความคลาดเคลื่อน และส่งผลให้มิเตอร์ไฟฟ้าอาจจะพังเสียหายได้ แนะนำว่าควรเปลี่ยนขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าใหม่เพื่อให้สามารถรองรับกระแสไฟฟ้าได้มากขึ้น เช่น เปลี่ยนขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าเป็น 15(45)A โดยสามารถติดต่อและแจ้งความประสงค์กับทางการไฟฟ้าในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบได้เลย

สรุป ขนาดมิเตอร์ไฟฟ้าจะบอกถึงขนาดเมนเบรกเกอร์ที่ต้องใช้งาน เราต้องเลือกขนาดให้เหมาะสมเพื่อที่จะสามารถตัดวงจรไฟฟ้าในขณะที่เกิดกระแสลัดวงจรหรือมีกระแสไฟฟ้าไหลเกินได้ทันท่วงที ก่อนที่สายไฟและอุปกรณ์อื่นๆ จะเสียหาย โดยแนะนำว่าถ้ามิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 5 (15)A ให้ใช้เมนเบรกเกอร์ที่ 16A และถ้ามิเตอร์ไฟฟ้าขนาด 15 (45)A ก็ควรใช้เมนเบรกเกอร์ขนาด 50A

2.เช็คตู้ไฟฟ้า (เดิม) ว่ามีอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วหรือไฟดูดติดตั้งหรือไม่

ถ้าตู้ไฟฟ้าเดิมเป็นตู้ไฟเก่าที่มีติดมาพร้อมกับตอนซื้อบ้านแล้ว เราควรตรวจสอบว่า มีอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วหรือไฟดูดหรือบางท่านเรียกว่า “เครื่องตัดไฟรั่ว” ติดตั้งมาด้วยหรือไม่ โดยทั่วไปอุปกรณ์ดังกล่าวจะมีปุ่มสำหรับกดเพื่อทดสอบการทำงาน (ดูภาพประกอบ) ถ้าไม่มีอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟหรือไฟดูดในวงจรเลย แนะนำให้ติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวเพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัยอยู่ในบ้าน

สรุป ควรติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วหรือไฟดูดในวงจรสำคัญ หรือในวงจรที่ต้องต่อกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เรามีโอกาสสัมผัสเมื่อตัวเปียก เช่น วงจรไฟฟ้าหรือเต้ารับนอกอาคาร ซึ่งมักมีโอกาสเกิดความชื้นหรือเปียกจากปัจจัยภายนอกบ้าน วงจรไฟฟ้าหรือเต้ารับภายในห้องน้ำและห้องครัว บริเวณเต้ารับชั้นล่าง อุปกรณ์ไฟฟ้าที่จำเป็นต้องแช่น้ำ เช่น ปั๊มน้ำหรือเครื่องกรองน้ำสำหรับตู้เลี้ยงปลา รวมถึงบริเวณที่อยู่ต่ำกว่าระดับผิวดินที่อาจมีน้ำท่วมถึง หรือทำตามคำแนะนำของการไฟฟ้า

3.อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วหรือไฟดูด หรือเครื่องตัดไฟรั่ว เลือกให้ถูก ใช้ให้เป็น

อุปกรณ์ป้องกันไฟรั่วไฟหรือดูดโดยทั่วไปมี 2 รูปแบบ คือ

# RCCB (Residual Current Circuit Breaker) ทำหน้าที่ป้องกัน “ไฟดูดและไฟรั่ว” อ้างอิงตามมาตรฐาน มอก. 2425-2552 และ IEC 61008 เครื่องตัดไฟรั่วนี้ไม่สามารถตัดกระแสไฟฟ้าลัดวงจรได้ จึงต้องติดตั้งควบคู่กับฟิวส์ หรือเซอร์กิตเบรกเกอร์ด้วยทุกครั้ง

# RCBO (Residual Current Circuit Breaker with Over Current Protection) ทำหน้าที่ป้องกันทั้ง “ไฟดูดและไฟรั่ว” รวมทั้งเพิ่มเติมด้วยการ “ป้องกันไฟฟ้าเกินพิกัด (Overload) และไฟฟ้าลัดวงจร (Short Circuit)” ในตัวเดียวกัน อ้างอิงตามมาตรฐาน มอก. 909-2548 และ IEC 61009 จุดเด่นของเบรกเกอร์ชนิดนี้คือ ไม่จำเป็นต้องติดตั้งคู่กับเบรกเกอร์ จึงประหยัดพื้นที่ภายในตู้คอนซูมเมอร์ยูนิต ลดความยุ่งยากในการเปลี่ยนหรือปรับปรุงตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตที่มีอยู่เดิมหรือติดตั้งใหม่

สรุป เครื่องตัดไฟรั่วเป็นอุปกรณ์ที่ต้องมี เพื่อการปกป้องอุปกรณ์ไฟฟ้าและตัวบ้าน (ไม่ให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจร และไฟไหม้) และผู้อยู่อาศัย(ไม่ให้ไฟดูด) ถ้าเลือกใช้ RCCB ต้องแน่ใจทุกครั้งว่าต้องติดคู่กับเซอร์กิตเบรกเกอร์ทุกครั้ง แต่ถ้าใช้ RCBO ที่ควบรวมคุณสมบัติดังกล่าวแล้วก็ไม่จำเป็นต้องมีเซอร์กิตเบรกเกอร์ โดยมาตรฐานเครื่องตัดไฟรั่ว ต้องสามารถตัดวงจรเมื่อเกิดไฟรั่วที่ไม่เกิน 30mA และต้องตัดไฟได้ภายในระยะเวลา 0.04 วินาที

4.เลือกซื้อตู้ไฟฟ้า..ดูจากความต้องการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า

ตู้ไฟฟ้าเมื่อติดตั้งแล้วจะอยู่คู่กับบ้านไปอีกนาน และอาจจะไม่เปลี่ยนอีกเลย ถ้าไม่คิดจะปรับปรุงระบบไฟฟ้าในบ้านใหม่ ดังนั้นการเลือกซื้อตู้ไฟฟ้ามาใช้งาน ให้พิจารณาจากจำนวนวงจรย่อยที่เจ้าของบ้านต้องการใช้โหลดหรืออุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ โดยช่างไฟฟ้าหรือผู้ออกแบบระบบไฟฟ้า อาจเลือกแบ่งจากตำแหน่งการใช้งาน เช่น ภายในบ้านหรือภายนอกบ้าน เป็นต้น หรือแบ่งตามโหลดใช้งาน อาทิ แสงสว่าง เต้ารับไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำน้ำอุ่น หรือปั๊มน้ำ และควรเผื่อไว้ 1-2 วงจรสำหรับโหลดในอนาคต เช่น เผื่อไว้ให้ห้องนอนอีกห้องที่ยังไม่ได้ติดเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

สรุป ควรเลือกซื้อตู้ไฟฟ้าให้ครอบคลุมความต้องการใช้ไฟฟ้า บ้านพักอาศัยทั่วไปหรือทาวน์เฮาส์ 2 ชั้น อาจพิจารณาใช้ตู้ไฟฟ้าตั้งแต่ 6 – 10 ช่องขึ้นไป หรืออาจมากกว่านั้นสำหรับรองรับโหลดที่มากขึ้น ปัจจุบันมีตู้ไฟฟ้าให้เลือกใช้หลายรุ่น โดยมีทั้งรุ่น 14, 16 และ 20 ช่อง เพื่อรองรับการใช้งานในอนาคต

TIP :

# ส่วนใหญ่แล้วผู้ผลิตเซอร์กิตเบรกเกอร์ จะผลิตตู้คอนซูมเมอร์ยูนิตควบคู่มาด้วยเพื่อความสะดวกในการติดตั้ง จึงขอแนะนำให้เลือกเบรกเกอร์กับคอนซูมเมอร์ควรเป็นแบรนด์เดียวกัน

            # Interrupting Capacity (IC) คือ ความสามารถในการตัดกระแสไฟลัดวงจรของอุปกรณ์ป้องกันทางไฟฟ้า (เซอร์กิตเบรกเกอร์) ได้อย่างปลอดภัย โดยไม่ทำให้อุปกรณ์ป้องกันนั้นเสียหาย ซึ่งค่า IC จะมีหน่วยเป็นกิโลแอมแปร์ (kA) ซึ่งเมนเบรกเกอร์ของระบบไฟฟ้าภายในบ้านพักอาศัยทั่วไปนั้น ค่า IC ต้องไม่ต่ำกว่า 10 kA

URL : www.siemens.co.th/simbox-consumer-unit

Contact : 0-2715-5578