บ้านชั้นเดียวแบบโมเดิร์นล้านนา ที่เรียบง่ายแฝงกลิ่นอายความญี่ปุ่น ออกแบบโดยคุณปกรณ์ อยู่ดี แห่ง INLY STUDIO เด่นด้วยการเป็นบ้านชั้นเดียวที่ตั้งใจออกแบบก้อนอาคารสลับกับสวนและคอร์ตยาร์ด เพื่อเปิดให้ธรรมชาติแทรกซึมเข้าสู่ทุกส่วนของบ้าน
DESIGNER DIRECTORY
ออกแบบ: INLY STUDIO
จุดเริ่มต้นของ บ้านชั้นเดียวแบบโมเดิร์นล้านนา ในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ หลังนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจากพื้นที่ตรงนี้เป็นที่ดินที่ติดกับบ้านคุณพ่อคุณแม่ของคุณปกรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เขาเติบโตเเละคุ้นเคยมาตั้งเเต่ยังเด็ก ต่อมาเมื่อเจ้าของที่ประกาศขาย เขาจึงรีบซื้อไว้ เเล้วออกแบบเป็นบ้านที่มีฟังก์ชันเป็นทั้งสตูดิโอเเละบ้านพักอาศัยของครอบครัวที่ประกอบด้วยตัวเขาเอง ภรรยา เเละลูกชาย
านนเดียบบโมเดิร์นล้านนา
โดยออกแบบให้ล้อไปกับบ้านของคุณพ่อคุณแม่ที่ฝั่งตรงข้ามราวกับเป็นพื้นที่เดียวกัน โดยแบ่งพื้นที่ใช้งานหลัก ๆ ออกเป็น 3 ส่วนคือ พื้นที่กึ่ง Public พื้นที่ Private และ Studio ของแบรนด์เสื้อผ้าฝ้ายญี่ปุ่นที่ออกแบบโดยคุณปกรณ์และภรรยาในนาม DIN ที่ตั้งอยู่ทางด้านหน้าของบ้าน บ้านชั้นเดียว
บ้านที่คำนึงถึงฟังก์ชันการใช้งานตามทิศทางเเสงเเละลม
เมื่อเดินเข้ามาจากรั้วบ้าน สิ่งแรกที่จะได้พบคือ สตูดิโอของแบรนด์เสื้อผ้าฝ้ายญี่ปุ่นที่ออกแบบได้อย่างน่ารัก ถัดมาเป็นคอร์ตกลางของบ้านที่ภาษาเหนือเรียกว่า “ขวงบ้าน” ในส่วนนี้คุณปกรณ์เลือกที่จะออกแบบบ้านและสตูดิโอให้ล้อมขวงบ้านนี้เอาไว้ โดยมีต้นจิกเป็นไม้ประธานข้างตัวบ้าน เเละปลูกแปลงผักสวนครัวไว้ที่ริมรั้วบ้านฝั่งตะวันออก
สังเกตได้ว่าบ้านหลังนี้จะหันหน้าไปทางทิศใต้ ซึ่งเป็นทิศที่รับแดดตลอดทั้งวัน คุณปกรณ์บอกกับเราในฐานะสถาปนิก ถือเป็นการวางบ้านขวางตะวันที่ผิดไปจากในตำรา แต่ด้วยความที่คุ้นชินกับพื้นที่บริเวณนี้ดีอยู่แล้ว จึงทำให้รู้ว่าสามารถจัดการยังไงกับบริบทรอบบ้านได้บ้าง เช่น ในส่วนหลังบ้านและทิศตะวันตกนั้นสามารถที่จะทำรั้วต้นไม้สูงเพื่อบังแดดและสร้างความเป็นส่วนตัวได้ ส่วนหน้าบ้านด้วยความที่แถวบ้านนั้นมีคอนโดมิเนียม ปลูกอยู่ใกล้ ๆ ทำให้เกิดเป็นช่องลมที่พัดเข้าสู่หน้าบ้านได้พอดี จึงตั้งใจหันหน้าบ้านไปทางทิศใต้ แล้วแก้ปัญหาแดดสาดเข้าสู่ตัวบ้าน ด้วยการทำหลังคาที่ยื่นยาวคุ้มแดดคุ้มฝนแทน ซึ่งสิ่งนี้เรียกว่า Micro Climate หรือภูมิอากาศเฉพาะที่นั่นเอง
บ้านญี่ปุ่นผสมล้านนาคือความลงตัวที่น่าอยู่
“บ้านหลังนี้ไม่มีทางเข้าหลักครับ” คุณปกรณ์พาเข้าบ้านจากประตูบานเล็กที่เลี้ยวมาทางด้านหนึ่งจากโรงรถ ก่อนที่จะเข้าสู่ห้องนั่งเล่นสำหรับรับแขก “จริง ๆไม่ต้องมีประตูก็ได้ เพราะเราทำเป็นบานเปิดบานกระจกเกือบทุกส่วนของอาคาร จะเห็นได้ว่าไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนก็ของบ้านทั้งภายนอกและภายในต่างก็สามารถเห็นกันได้หมด”
บ้านหลังนี้มีบานเปิดที่สามารถเปิดออกสู่สวนและคอร์ตได้ในเกือบทุกจุด ซึ่งเป็นการนำรูปแบบของบ้านญี่ปุ่นที่คุณปกรณ์ชื่นชอบ มาประยุกต์ให้เข้ากับบ้านแบบล้านนาดั้งเดิม จนกลายเป็นบ้านที่มีชายคายื่นยาวทรงสูง อันเป็นสถาปัตยกรรมเเบบล้านนาที่คุ้นตากันดี สำหรับส่วนที่คล้ายบ้านญี่ปุ่นนั้น คุณปกรณ์ได้ประยุกต์เอาเติ๋น หรือชานเตี้ยของบ้านมาปรับให้เป็นทางเดินรอบบ้าน ให้สามารถออกมานั่งเล่นได้ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างพื้นที่ภายนอกและภายในของบ้าน
“คิดไว้เสมอว่าอยากให้บ้านหลังนี้สามารถใช้งานได้ในทุกส่วน ถ้าไม่ได้มีประโยชน์ก็อยากให้นั่งเล่นได้ก็ยังดี สามารถเดินเท้าเปล่าจากบ้านลงผืนหญ้าไปยังอีกจุดได้ไม่ยาก”
การวางพื้นที่ภายในและภายนอกสลับกัน ประกอบกับการใช้บานเปิดของบ้านหลังนี้ ทำให้บ้านหลังนี้สามารถอยู่อาศัยร่วมกับลมธรรมชาติได้อย่างดี มีการไหลเวียนของอากาศในแนวระนาบจากภายนอกและระบายออกในแนวดิ่ง ผ่านสวนขนาดเล็กข้างห้องน้ำและห้องนอน
จากส่วนรับแขกทางด้านหน้าไปสู่ห้องนอนหลักนั้นจะมีพื้นที่เล็ก ๆ คล้ายสะพานเชื่อม ก่อนจะเข้าสู่พื้นที่ส่วนตัวอย่าง ห้องนอน โดยพื้นที่นี้ถูกออกแบบให้เป็นห้องทำงานแบบลำลอง จัดวางที่นั่งเตี้ย ๆ แบบญี่ปุ่นที่คุณปกรณ์มักใช้เวลามานั่งทำงานเป็นประจำ รวมถึงลูก ๆ ที่จะมานั่งทำการบ้านเสมอ ๆ โดยพื้นที่นี้ได้ออกแบบให้หันไปสู่สวนลับทางด้านหลังบ้าน ซึ่งตรงกับห้องนอนหลักที่เปิดสู่วิวสวนได้ด้วยเช่นกัน เเต่ทั้งสองส่วนนี้กลับไม่สามารถมองเห็นกันและกันได้เเบบถนัดตามากนัก เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นส่วนตัวอยู่นั่นเอง
จะเห็นได้ว่าห้องนอนหลักนั้นเป็นพื้นที่หนึ่งที่สามารถมองเห็นไปได้ยังทุก ๆ ส่วนในบ้าน นั่นเป็นเพราะคุณปกรณ์ตั้งใจออกแบบบ้านให้ดึงธรรมชาติเข้ามาไว้ใกล้ตัวมากที่สุด ไม่เพียงแต่มุมมองจากช่องเปิดบานใหญ่ทั้งด้านหน้าและด้านข้างเท่านั้น แต่การจัดวางไม้ใหญ่ในบ้านยังคิดคำนึงไปถึงระยะสัมพันธ์กันระหว่างผู้อยู่อาศัยกับต้นไม้ โดยเลือกใช้ไม้ประธานอย่าง “ต้นจิก” ปลูกประดับอยู่หน้าห้องนอนห่างจากตัวบ้านเพียง 3 เมตร จากรัศมีทรงพุ่มที่เกิดขึ้นจะช่วยให้ห้องนอนรู้สึกถึงบรรยากาศ “ใต้ร่มไม้” ที่เเสนสบายตลอดทั้งวัน
“อยากให้บ้านทั้งหลังคือบ้านที่รวมพื้นที่ภายนอกกับภายในเป็นพื้นที่เดียวกัน ไม่ใช่ว่าต้องอยู่ในบ้านเปิดแอร์อย่างเดียว ผมชอบที่จะได้ถอดรองเท้าเดินรอบบ้าน ไปทำสวนบ้าง ปลูกผักบ้าง นั่งเล่นที่ชานบ้าน อยากให้การอยู่อาศัยในบ้านเป็นห้วงเวลาที่เต็มไปด้วยความสุขแบบนั้น”
ใช้วัสดุเรียบง่ายเหมาะกับภูมิอากาศ
ในส่วนของวัสดุ บ้านหลังนี้เลือกใช้โครงสร้างปูน เหล็ก และไม้ โดยงานไม้นั้น “ยางนาสตูดิโอ” ได้เข้ามาช่วยคิดดีเทลให้ ทั้งเสาไม้เก่า และจันทันไม้ที่ห้องนอนใหญ่
“เรากับยางนาสตูดิโอเป็นเพื่อนกันครับ พอมาทำบ้านตัวเองเขาเลยอาสามาช่วย อย่างในส่วนของจันทัน และเชิงชาย เราก็คุยกันว่าไม่อยากใช้ไม้ท่อนยาว เราอยากจะใช้ไม้ที่มีความยาวเพียง 1.2 เมตร ก็ลองนำมาทำดู ผลที่ออกมาถือว่าลงตัวเหมาะสมครับ”
คุณปกรณ์ตั้งใจใช้วัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น ราคาไม่เเพง มาทดลองผ่านการทำดีเทลต่าง ๆ กระทั่งได้ผลสำเร็จที่ดีเกินคาด ในส่วนอื่น ๆ ก็เช่นกัน เขาได้ทดลองใช้วัสดุพื้นถิ่นที่ให้ความรู้สึกเป็นธรรมชาติ เช่น กระเบื้องหลังคาวิบูลย์ศรี ที่มีช่องว่างเล็ก ๆ ระหว่างแผ่น ช่วยให้อากาศไหลผ่านได้ดี รวมถึงการเลือกใช้อิฐเก่ามาปูเป็นแผ่นพื้นทางเดินรอบบ้าน โดยอิฐเก่าเหล่านี้จะมีคุณสมบัติอมความชื้นทำให้บ้านเย็นสบาย
ที่นี่จึงเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างดี ๆ ของบ้านที่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงที่พักอาศัยเท่านั้น แต่ยังเป็นพื้นที่ใช้ชีวิตที่ครอบคลุมทุกความต้องการ ก่อเกิดเป็นสุนทรียภาพแห่งการใช้ชีวิต ดังกับที่เราสัมผัสได้ถึงความสุขที่อิ่มเอิบอยู่ในทุก ๆ วัน คุณปกรณ์ได้บอกกับเราว่ามีหลายคนที่สนใจในบ้านหลังนี้ หลังจากที่เริ่มเห็นผ่านสื่อ แต่สิ่งที่เขาเลือกที่จะทำก็คือเชิญชวนผู้สนใจเหล่านั้นให้เข้ามาเยี่ยมเยือนบ้านหลังนี้ เพื่อให้ได้ลองสัมผัสดูว่าชีวิตแบบที่คุณปกรณ์ชอบนั้นตรงใจกับพวกเขาหรือเปล่า
“พวกเขาต้องรักมันก่อนครับ คืออย่างไม้ที่เราใช้ก็ต้องการการดูแล ไม่อย่างนั้นก็จะผุกร่อนไป หรืออิฐมอญที่ปูพื้นก็ต้องการการขัดถูตะไคร่ออกบ้าง ส่วนตัวแล้วผมค่อนข้างเพลิดเพลินกับการใช้ชีวิตบ้าน ๆ แบบนี้ และถ้าพวกเขามีทัศนคติไปในทางเดียวกัน ผมก็จะยินดีที่จะได้ออกแบบพื้นที่ชีวิตแบบนี้ ในแบบที่พวกเขาต้องการเช่นกัน”
ก่อนจากกันเราแอบถามว่า นอกจากสไตล์โมเดิร์นล้านนา คุณปกรณ์ถนัดงานแนวไหนอีกบ้าง ซึ่งคำตอบที่ได้ก็ทำให้เราสนใจ และรอคอยจะได้พบกับบ้านหลังต่อไปของ INLY
“จริง ๆ ผมไม่ได้ตั้งใจทำเป็นโมเดิร์นล้านนาขนาดนั้น แต่ผมเป็นคนที่นี่ ปลูกบ้านให้ตัวเองก็เลยออกมาเป็นบ้านเเบบล้านนา ตอนนี้ก็มีอีกหลังที่ภาคใต้ที่เริ่มออกแบบกันอยู่ ผมก็พยายามที่จะถอดรหัสว่า คนที่นั่นเขาอยู่กันอย่างไร สัดส่วนที่เขาใช้ ไปจนถึงพื้นเพวัฒนธรรม ถ้าออกมาแล้วเสร็จก็อาจจะเรียกว่าเป็น โมเดิร์นปักษ์ใต้ ก็ได้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือความเป็นบ้านที่เหมาะเจาะลงตัวกับ “ถิ่น” ที่ตั้ง ความ Vernacular ตรงนี้ จะทำให้บ้านเป็นบ้านที่ดี อยู่สบาย นั่นคือสิ่งที่เราตั้งใจครับ”
DESIGNER DIRECTORY:เจ้าของ : คุณวิภาดา หว่างจ้อย – คุณปกรณ์ อยู่ดี /สถาปนิก :INLY STUDIO Co.,Ltd โดยคุณปกรณ์ อยู่ดี /งานไม้ : ยางนาสตูดิโอ/ภูมิสถาปัตย์ : กานต์ การ์เด็น
เรื่อง : วุฒิกร สุทธิอาภา
ภาพ : Bline space