รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ ให้ทุกพื้นที่เป็นมุมพักผ่อนได้ไม่มีเบื่อ

เซอร์ไพร้ส์ตั้งเเต่เปิดประตูบ้านกับการ รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ ให้ใช้งานได้อย่างโปร่งโล่ง ทำลายความเป็นกล่อง สร้างห้องน้ำบรรยากาศรีสอร์ต ระเบียงสุดชิล เเละห้องนอนครบฟังก์ชัน ใช้ได้ทั้งให้เช่าเเละอยู่เอง

ช่วงเวลาผ่อนคลายของคุณรุจิราและคุณดอน ภายในห้องนั่งเล่น ส่วนวันไหนถ้าอากาศดี คุณดอนมักชอบออกไปนอนรับลมที่เปลญวนซึ่งผูกไว้ตรงระเบียงหน้าบ้าน
ราว 5 ปีก่อน หลังจากเกษียณงานที่ทำอยู่ในต่างประเทศคุณดอน เบเกอร์ และภรรยา คุณรุจิรา เตปา ตัดสินใจย้ายกลับมาสร้างบ้านอยู่ที่เชียงใหม่ แถววัดพระธาตุดอยคำ เพื่อใช้ชีวิตผ่อนคลายไปกับธรรมชาติอันร่มรื่นรอบตัว พร้อมการหาบ้านในเมืองสักหลังเพื่อให้ลูก ๆ เดินทางมาเยี่ยมเยือนได้สะดวก เเละสามารถเปิดให้เช่าเป็นรายได้พิเศษในอนาคต กระทั่งเจอกับทาวน์เฮ้าส์เก่าหลังนี้ ก่อนจะเป็นหน้าที่ของคุณดอนในการเป็นผู้จัดการ รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์ หลังเก่าอายุกว่ายี่สิบปี ให้กลายเป็นบ้านในเมืองสุดเท่
บริเวณชั้นล่างเปิดโล่งถึงกันหมดคล้ายห้องชุด ซึ่งมีฟังก์ชันใช้งานครบในตัว จัดวางเรียงไปตามพื้นที่รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า จากส่วนนั่งเล่นด้านหน้า มาถึงแพนทรี่ ห้องนอน และห้องน้ำด้านในสุด

เพื่อการใช้พื้นที่ทุกตารางนิ้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่ว่างใต้บันไดจึงกลายเป็นแพนทรี่ขนาดเล็กโดยบิลท์อินส่วนเคาน์เตอร์ให้พอดีกับพื้นที่
เวลาไม่ใช้งานครัวยังสามารถเลื่อนกระจกสีฟ้ามาปิดซ่อนให้กลายเป็นผนังดีไซน์สวย ๆ แทนได้

ทลายความเป็น Boxy ของทาวน์เฮ้าส์ที่เเสนน่าเบื่อ

เพราะคุณดอนมีความสนใจและศึกษาเรื่องการแต่งบ้านมาอยู่แล้วจึงมีแนวคิดดี ๆ เก็บไว้มากมาย แต่เพื่อให้ถูกหลักในเรื่องโครงสร้างและการออกแบบ คุณดอนจึงนำแนวคิดทั้งหมดไปปรึกษา คุณแป๊ก-ศตวัชร ขัตลิวงศ์ สถาปนิกแห่ง Blank Studio

“แนวคิดหลักเลยคือคุณดอนอยากทำลายความเป็น Boxy ของทาวน์เฮ้าส์ออก และต้องการใช้พื้นที่ทุกมุมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ดังนั้นแทนที่จะกั้นห้องเป็นฉากตรง ผมก็เลยใช้เส้นเฉียงมาสร้างดีไซน์ของผนังส่วนต่าง ๆ ในบ้านเพื่อไม่ให้สเปซดูเป็นกล่องที่น่าเบื่อ” คุณแป๊กเล่าให้ฟัง พลางยกตัวอย่างตั้งแต่จุดแรกคือ ผนังเฉียงตรงห้องเก็บของชั้นล่างหน้าบ้าน ที่แบ่งพื้นที่กับส่วนจอดรถด้วยระแนงอะลูมิเนียมเฉียง ตามมาด้วยผนังทางเข้าพื้นที่ชั้นล่าง ซึ่งต่อกับระเบียงชั้น 2 และผนังห้องน้ำชั้น 3

ผนังระหว่างห้องนอนและห้องน้ำเป็นกระจกบานเลื่อน นอกจากช่วยประหยัดพื้นที่แทนการใช้บานเปิด-ปิดแล้ว ตัวกระจกสียังช่วยเพิ่มความสดใสให้พื้นที่รวมด้วย
พื้นที่หลังทาวน์เฮ้าส์ที่หลายคนมักจะต่อเติมให้เป็นส่วนครัว แต่ที่นี่ปรับให้เป็นส่วนของห้องน้ำที่หรูหราด้วยฟังก์ชันใช้งานแยกส่วนแห้งกับส่วนเปียกไว้ชัดเจน

เปลี่ยนแปลงแปลนเดิมใหม่จนเกิดสเปซที่ชวนเซอร์ไพร้ส์

ด้วยแนวคิดที่ต้องการแยกพื้นที่ใช้งานออกเป็นสองยูนิตคล้ายกับบ้านเล็ก ๆ สองหลังในอาคารเดียวกัน ทำให้ต้องมีทางเข้าบ้านสองด้านคือทางเข้าพื้นที่ชั้นล่าง และบันไดทางเข้าสำหรับพื้นที่ชั้น 2-3 โดยชั้นล่างมีฟังก์ชันครบถ้วนในตัวคล้าย ๆ ห้องชุดในคอนโดมิเนียม พร้อมดีไซน์พิเศษที่ห้องน้ำด้านในสุด ซึ่งคนส่วนใหญ่มักต่อเติมพื้นที่ด้านหลังนี้ให้เป็นครัว แต่ที่นี่ตกแต่งเป็นห้องน้ำไว้อย่างหรูหรา เพราะมีทั้งส่วนชาวเวอร์ อ่างอาบน้ำ และห้องสตรีม ล้อมรอบด้วยผนังกระจกโปร่งไปถึงส่วนเพดาน เเละมีกำแพงรั้วด้านนอกคอยกั้นความเป็นส่วนตัวไว้อยู่แล้ว

ระเบียงชั้น 2 ที่ต้องการเปิดโล่งรับแสงสว่างจึงมุงด้านบนด้วยแผ่นโปร่งแสงเพื่อให้สามารถใช้งานได้แม้วันฝนตก
ขึ้นมาสู่ชั้น 2 จะพบกับความโปร่งของห้องนั่งเล่นที่เปิดโล่งออกไปสู่ระเบียงกว้างหน้าบ้าน โดยพยายามเปิดระดับความสูงให้สุดฝ้าเพดานจนมองเห็นคานเปลือยในมุมมองเท่ ๆ

วิธีแก้ไขความทึบตันของทาวน์เฮ้าส์“ปัญหาหลักของทาวน์เฮ้าส์คือ ขาดช่องแสง เพราะไม่มีหน้าต่าง ผมเลยพยายามเปิดช่องแสงให้ทุกชั้น เพราะแสงและลมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้บ้านอยู่สบาย” อย่างชั้นล่างนอกจากแสงที่เข้าทางด้านหน้าแล้วก็ยังแชร์ช่องแสงด้านหลังบ้านจากชั้นสองผ่านผนังกระจกลงมาในห้องน้ำ เป็นดีไซน์พิเศษ ๆ ที่ผมพยายามใส่ไว้ในทุกชั้นให้แตกต่างกันไป”

บันไดวนที่ออกแบบขึ้นมาใหม่เพื่อประหยัดพื้นที่จากการใช้บันไดแบบทอดยาว
มีดีไซน์พิเศษอยู่ตรงโต๊ะรับประทานอาหารซึ่งเป็นไม้มะค่าขนาดใหญ่ ยึดปลายโต๊ะด้วยฐานหลักที่เป็นคอนกรีตเพื่อเปิดโล่งอีกด้านให้เหมือนลอยได้ แต่ยังขึงเส้นอะลูมิเนียมติดไว้กับฝ้าเพดานให้รู้สึกว่ายังเเข็งเเรง
ห้องครัวบนชั้น 2 ที่ออกแบบเคาน์เตอร์ครัวเป็นรูปตัวเเอล (L) โดยเน้นโทนสีดำเข้มที่เคาน์เตอร์ล่าง แต่ใช้ชั้นโปร่งแสงสีเหลืองสำหรับส่วนเก็บของด้านบนเพื่อให้ดูสบายตาขึ้น

ชั้น 2-3 เป็นเหมือนบ้านอีกหลังที่เริ่มต้นด้วยโซฟานั่งเล่น ซึ่งสามารถเลื่อนประตูกระจกเชื่อมต่อออกไปถึงระเบียงกว้างได้ ด้านในเป็นครัวบิลท์อินติดผนัง และโต๊ะรับประทานอาหารดีไซน์พิเศษ ซึ่งทำจากไม้มะค่าแผ่นหนายึดด้วยฐานคอนกรีตเฉพาะด้านหลังที่เป็นส่วนของเตากับอ่างล้างจาน แต่ส่วนหน้าของโต๊ะปล่อยให้ดูเหมือนลอยจากพื้นโดยมีเส้นอะลูมิเนียมยึดติดผนังไว้ให้ดูเเข็งเเรง เพราะคุณดอนไม่ต้องการให้มีขาโต๊ะมาเกะกะการใช้งาน

การออกแบบพื้นที่ห้องนอนบนชั้น 3 ยังคงเน้นการเปิดโล่งของพื้นที่ให้เชื่อมต่อกัน แม้จะกั้นส่วนห้องน้ำจึงยังเลือกใช้ผนังกระจกฝ้าที่ดูโปร่งตากว่าการกั้นผนังปิดทึบ

กระจกปรับแสงได้ เพราะห้องน้ำส่วนนี้อยู่ภายในห้องนอน คุณดอนจึงมีไอเดียใช้กระจกปรับแสงสำหรับเปิดให้โปร่งเมื่อใช้งานคนเดียว และปิดเป็นกระจกฝ้าได้เมื่อต้องการพรางสายตา
ส่วนอาบน้ำแบบกึ่งกลางแจ้งซึ่งใช้พื้นที่ระเบียงด้านหลังให้เกิดฟังก์ชันใหม่ โดยมีระแนงอะลูมิเนียมโทนสีไม้ช่วยพรางสายตา และกั้นความเป็นส่วนตัวไว้
ห้องนอนอีกด้านบนชั้น 3 อยู่ในส่วนของสเปซที่ยกสูงพิเศษไปตามฝ้าเพดาน จึงเพิ่มฟังก์ชันให้มีชั้นลอยเพื่อจัดวางเป็นที่นอนเล็ก ๆ ได้อีก
ส่วนที่นอนบริเวณชั้นลอยมีเส้นที่กรุเป็นระแนงบนฝ้าช่วยคลายความอึดอัด เเละมีการซ่อนไฟไว้ด้านใน เป็นอีกเทคนิคด้านไลต์ติ้งที่บ้านนี้เลือกใช้ เช่นเดียวกับหลาย ๆ จุดในบ้าน

บันไดไม้ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับขึ้นชั้นลอย มีฟังก์ชันที่ออกแบบให้สามารถเลื่อนเก็บซ่อนไปกับชั้นวางติดผนังได้ เพื่อไม่ให้ดูเกะกะเวลาไม่ใช้งาน

ชั้นบนสุดของบ้านคือส่วนของ 2 ห้องนอนพร้อมห้องน้ำในตัว ดีไซน์พิเศษอยู่ที่ผนังกระจกปรับแสงในห้องน้ำที่สามารถเลือกเปิดให้โปร่งตาหรือปรับฟังก์ชันให้เป็นกระจกฝ้าเพื่อความเป็นส่วนตัวได้ พร้อมกับส่วนชาวเวอร์กึ่งกลางแจ้งที่มีระแนงอะลูมิเนียมกั้นพรางสายตาภายนอกไว้ ขณะที่อีกห้องมีฝ้าเพดานสูงพิเศษจึงเพิ่มฟังก์ชันให้มีชั้นลอยเป็นที่นอนเล่นอีกส่วนหนึ่ง โดยทำบันไดทางขึ้นที่สามารถเก็บซ่อนไปกับตู้เก็บของติดผนังได้เวลาไม่ใช้งาน เป็นไอเดียที่คุณดอนได้มาจากงานดีไซน์ของญี่ปุ่น

ห้องเก็บของและงานระบบ แบ่งพื้นที่จอดรถหน้าบ้านให้เป็นห้องเก็บถังน้ำและงานระบบ โดยกั้นด้วยระแนงอะลูมิเนียมแนวเฉียง เพื่อให้เกิดเส้นดีไซน์ที่ไม่น่าเบื่อ แต่มีพื้นที่เหลือพอดีสำหรับจอดรถได้

เก้าอี้นั่งพับเก็บได้ เป็นไอเดียที่เกิดขึ้นระหว่างงานก่อสร้าง เมื่อคุณดอนอยากให้มีเก้าอี้นั่งใส่รองเท้าหน้าบ้าน จึงให้สถาปนิกเพิ่มฟังก์ชันเก้าอี้ไม้ต่อขาสเตนเลสที่สามารถพับเก็บซ่อนไปกับผนังได้
ด้านหน้าทาวน์เฮ้าส์ที่แม้จะมีการออกแบบใหม่แต่ก็พยายามให้กลมกลืนไปกับบริบทรอบข้าง เพื่อไม่สร้างความแตกต่างจากเพื่อนบ้านมากเกินไป

กว่าจะได้งานออกแบบที่ซ่อนฟังก์ชันอย่างละเอียดลออมากมายขนาดนี้ ก็ต้องอาศัยการพูดคุยและพัฒนาแนวคิดระหว่างเจ้าของบ้านกับสถาปนิกไปด้วยกัน เหมือนอย่างที่คุณแป๊กบอกไว้ว่า

“ผมว่านิยามของงานนี้คือโจทย์ที่ละเอียดและแตกต่างจากทาวน์เฮ้าส์ทั่วไป ซึ่งสิ่งที่ผมรักในงานนี้ก็คือการได้ทำงานร่วมกับเจ้าของอย่างเต็มที่ เวลามีปัญหาจึงสามารถปรับเปลี่ยนได้ทันที ทำให้งานออกมาดีและเจ้าของก็ได้ตามที่ต้องการมากที่สุดด้วย”


เรื่อง: ภัทรสิริ โชติพงศ์สันติ์
ภาพ: สิทธิศักดิ์ น้ำคำ
สไตล์: วรวัฒน์ ตุลยทิพย์

อ่านต่อ รีโนเวตทาวน์เฮ้าส์เก่าอายุ 30 ปี ให้กลับมามีชีวิตชีวากว่าเดิม

ทาวน์เฮ้าส์