เมล็ดพันธุ์ผักสลัด

เพราะอะไรถึงปลูกผักสลัดไม่ขึ้น เมล็ดไม่งอก? เจาะลึกเรื่อง เมล็ดพันธุ์ผักสลัด

เมล็ดพันธุ์ผักสลัด
เมล็ดพันธุ์ผักสลัด

สำหรับมือใหม่ที่อยากปลูกผักสลัด และเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูก บางคนอาจประสบปัญหาปลูกผักสลัดไม่ขึ้น เปอร์เซ็นต์การงอกค่อนข้างน้อย หรือไม่ทราบว่าควรเลือกเมล็ดพันธุ์อย่างไร วันนี้บ้านและสวน School จะมาให้ความรู้ เจาะลึกเกี่ยวกับ เมล็ดพันธุ์ผักสลัด ให้ทราบกัน

ก่อนจะไปรู้เรื่องเทคนิคการปลูก เรามาทำความรู้จัก เมล็ดพันธุ์ผักสลัด กันก่อน

1.ชนิดของเมล็ดพันธุ์

การปลูกผักสลัดไม่ว่ารูปแบบใดก็ต้องปลูกจากเมล็ดทั้งสิ้น โดยเมล็ดพันธุ์ที่ใช้มี 2 แบบคือ เมล็ดแบบไม่เคลือบและเมล็ดแบบเคลือบ ซึ่งมีข้อแตกต่างกันดังนี้

เมล็ดแบบไม่เคลือบ

เมล็ดพันธุ์ผักสลัด

เป็นเมล็ดที่ผ่านการลดความชื้นมาแล้ว แต่ไม่ได้เคลือบสารป้องกันเชื้อราและสารกระตุ้นการงอก สามารถเก็บรักษาในภาชนะปิดสนิทในตู้เย็นอุณหภูมิ 4 - 10 องศาเซลเซียสได้นานประมาณ 1 ปี

จุดเด่น ราคาถูกหาซื้อง่าย และซื้อปริมาณน้อยได้

จุดด้อย ไม่สะดวกในการเพาะเนื่องจากเมล็ดมีขนาดเล็ก อัตราการงอกต่ำกว่าเมล็ดแบบเคลือบ และมีความเสี่ยงที่จะถูกมดและแมลงกัดกิน

เมล็ดแบบเคลือบ

เมล็ดพันธุ์ผักสลัด

เป็นเมล็ดที่ผ่านการเคลือบสารป้องกันเชื้อราและสารกระตุ้นการงอก ทั้งแบบเคลือบผิวและผสมวัสดุห่อหุ้ม เช่น แป้ง ดินเหนียว เพื่อรักษาสภาพของเมล็ดเอาไว้

จุดเด่น สะดวกในการเพาะเนื่องจากเมล็ดมีขนาดใหญ่ขึ้น อัตราการงอกสูงกว่าเมล็ดแบบไม่เคลือบ เพราะ
วัสดุห่อหุ้มช่วยดูดซับความชื้นสู่เมล็ดได้อย่างทั่วถึง มีความเสี่ยงสูญเสียจากมดและแมลงมากัดกินน้อย

จุดด้อย มีชนิดและสายพันธุ์ของผักสลัดให้เลือกน้อยกว่าแบบไม่เคลือบ ต้องซื้อในปริมาณมาก เช่น
กระปุกละ 500 - 1,000 เมล็ด มีราคาสูงกกว่าเมล็ดแบบไม่เคลือบ

2.การเก็บรักษา

โดยทั่วไปเมล็ดพันธุ์ผักสลัดมีอายุประมาณ 1 ปี หลังจากนั้นอัตราการงอกจะลดลงเรื่อยๆ ผู้ปลูกสามารถยืดอายุเมล็ดพันธุ์ได้ด้วยการเก็บในที่แห้งและเย็น เช่น ตู้เย็น โดยใส่ในถุงซิปล็อกหรือซองกระดาษที่แห้งและสะอาด

เมล็ดพันธุ์ผักสลัด

กรณีไม่มีตู้เย็นให้เก็บเมล็ดพันธุ์ในถุงซิปล็อกหรือซองกระดาษที่แห้งสนิทและสะอาดแล้วใส่ในกล่องพลาสติกอีกชั้น เก็บไว้ในที่ร่ม ไม่ให้โดนแสงแดด ความร้อน และความชื้น รวมถึงเก็บให้ห่างจากแมลงและหนู วิธีนี้จะช่วยยืดอายุเมล็ดพันธุ์ได้นานหลายเดือน

นอกจากนี้อาจใช้วิธีเก็บเมล็ดจากต้นที่มีอยู่มาปลูกต่อ หลังจากเก็บเมล็ดมาควรทำความสะอาด เก็บสิ่งสกปรกออกให้หมด แล้วผึ่งในที่ร่มให้แห้งก่อนนำไปเก็บในภาชนะที่แห้งและสะอาดเพื่อป้องกันเชื้อรา แต่เมล็ดที่เก็บมาปลูกต่อจะเป็นพันธุ์ผสมเปิด (Open-Pollinated Variety หรือ OP) ซึ่งลักษณะไม่เหมือนต้นเดิม

เพราะอะไรถึงปลูกผักสลัดไม่ขึ้น?

ปัญหาของมือใหม่หัดปลูกคือ เมื่อลงมือปลูกผักสลัดคงหนีไม่พ้น “เพาะเมล็ดไม่งอก”หรือ “เพาะงอกแต่ไม่โต” โดยปัจจัยที่ทำให้เมล็ดไม่งอกมี 3 ข้อหลักๆ คือ

1.คุณภาพของเมล็ดพันธุ์

อาจเกิดจากเมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพ ก่อนเพาะจึงควรตรวจสอบว่าเมล็ดพันธุ์ของเราหมดอายุหรือไม่ และควรเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์จากผู้ผลิตหรือแหล่งที่เชื่อถือได้

2.ความชื้นและอุณหภูมิ

หากเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ดีมีคุณภาพแล้วยังไม่งอก อาจเกิดจากความชื้นและอุณหภูมิ การรดน้ำน้อยหรือมากเกินไปจนทำให้เมล็ดเน่าและมีเชื้อราเข้าทำลาย สามารถแก้ปัญหานี้ได้ง่าย โดยรดน้ำแค่พอดินชุ่ม แต่หากเผลอรดน้ำมากจนเจิ่งนองถาดเพาะก็ปล่อยให้น้ำไหลทิ้งได้เลยแล้ววันรุ่งขึ้นก็ไม่ต้องรดน้ำเพิ่ม

3.เทคนิคการวางเมล็ด

การเพาะเมล็ดไม่ควรฝังเมล็ดลงในดินหรือวัสดุเพาะลึกเกินไปเพราะอาจทำให้เมล็ดเน่า หรือฝังตื้นเกินไปก็อาจทำให้เมล็ดได้รับความชื้นไม่เพียงพอ และเสี่ยงต่อการสูญเสียเมล็ดระหว่างรดน้ำ

เมื่อทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ผักสลัด และเทคนิคการเพาะเมล็ดในเบื้องต้นแล้ว ก็สามารถนำความรู้ไปเลือกซื้อเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของตัวเองได้เลย

 

ข้อมูลจาก: My Little Farm Vol.8: ผักสลัดปลูกง่าย

เรื่อง: กัมปนาท เนตรภักดี

ภาพประกอบ: กัญญณัฐ ศิริมัย

ภาพ: ธนกิตติ์ คำอ่อน, ชัชวัสส์ เกียรติคุณโสภณ

ติดตามข้อมูลดีๆจากบ้านและสวนได้ที่นี่